สภาคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ (National Consumer Council-NCC)
เป็นองค์กรแห่งรัฐที่เป็นอิสระ จัดอยู่ในประเภท Executive NDPBs ในสังกัดกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม รัฐบาลอังกฤษจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1975 แหล่งเงินทุนหลักของ NCC มาจากเงินงบประมาณของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม
วัตถุประสงค์ขององค์กร คือ
เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค และสะท้อนความต้องการของผู้บริโภคแก่รัฐบาล หน่วยงานของรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจ
บทบาทหลักของ NCC มี 2 ประการ คือ
- จัดทำรายงานวิจัยประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับผู้บริโภค
- พัฒนาข้อเสนอทางนโยบาย การรณรงค์การคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอีกทางหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้อเสนอทางนโยบายจะมีผลในทางปฏิบัติ
ผลงานหลักของ NCC
งานด้านนโยบาย ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม รวมทั้งผู้กำหนดนโยบาย และให้ความสำคัญแก่ผู้บริโภคที่มีฐานะยากจนและผู้ด้อยโอกาส
ลักษณะงานของ NCC
มิใช่หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคหรือทำหน้าที่ทดสอบผลิตภัณฑ์ และมิใช่หน่วยงานที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย มีลักษณะงานดังนี้
- ศึกษาวิจัยเชิงลึกและงานวิเคราะห์นโยบาย
- นำเสนอแนวความคิด จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภคทุกระดับ
- เผยแพร่เอกสาร รายงานวิจัย นโยบาย
- รณรงค์เรียกร้องประเด็นสำคัญกับประชาชนทั่วไปและนักการเมือง
โครงสร้างองค์กร
อยู่ในรูปของคณะกรรมการ 11 คน ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมแต่งตั้งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการกำหนดและพัฒนานโยบายคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการดำเนินงานของ NCC นอกจากนี้คณะกรรมการได้แต่งตั้ง “คณะที่ปรึกษา” (Advisory Group) ในปี ค.ศ. 2002 เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำในการพัฒนายุทธศาสตร์และนโยบายผู้บริโภคใหม่ๆ คณะที่ปรึกษานี้คัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคโดยจัดประชุมปีละ 2 ครั้ง
สำหรับการผลักดันด้านแผนงานและนโยบายนั้น NCC ดำเนินการผ่าน 2 ช่องทางคือ ช่องทางแรก การจัดประชุมระดมความเห็นทางนโยบาย (policy forum) รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของกลุ่มผู้บริโภคต่างๆ แบ่งเป็นกลุ่มย่อยต่างๆ และช่องทางที่สอง เครือข่ายผู้บริโภค (consumer network) เครือข่ายผู้บริโภคประกอบด้วยอาสาสมัครทั่วประเทศ ทำหน้าที่ตอบแบบสอบถามและช่วยชี้แนะประเด็นใหม่ให้แก่ NCC ทำให้งานวิจัยลึกซึ้งและสอดรับกับสภาพความเป็นจริง
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ความเป็นอิสระของ NCC ปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจการเมือง ธุรกิจ และผลประโยชน์อื่น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือภาคธุรกิจ สิ่งใดที่เป็นหลักประกันในเรื่องนี้ จากการศึกษาพบว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการ NCC ได้ยึดถือหลักการที่เรียกว่า ‘Seven Principles of Public Life’ (the Nolan principles) ในฐานะที่คณะกรรมการชุดนี้ต้องปฏิบัติภารกิจ เพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นข้อพึงปฏิบัติหรือจริยธรรมของคณะกรรมการ NCC จะต้องถือปฏิบัติตาม “หลักโนแลน” ยังได้รับการยอมรับมาเป็นส่วนหนึ่งของบทบัญญัติกฎหมายรวมถึงคำพิพากษาของศาลอังกฤษ แม้ว่าคณะกรรมการ NCC จะได้รับแต่งตั้งจากฝ่ายการเมือง (รัฐมนตรี) แต่กรรมการทั้งหลายก็ยังเป็นอิสระอยู่ ทั้งนี้เป็นเพราะระบบควบคุมตรวจสอบการทำงานของกรรมการที่เข้มงวดของอังกฤษ รวมทั้งอาจเกิดจากวัฒนธรรม จิตสำนึกและศักดิ์ศรีของคนอังกฤษเป็นสำคัญ
Relate topics
- มูลนิธิความร่วมมือเพื่อต้านการค้าหญิง The Global Alliance Against Traffic in Women (GAATW)
- สมาคมองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด ภาคพื้นเอเชีย - แปซิฟิคAsia-Pacufic NGO on Drug and Substance Abuse Prevention
- องค์กรผู้บริโภคCCGS( CAPITAL CONSUMER GUIDANCE SOCIETY)
- องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคBelgium European Consumers’ Organazation (BEUC)
- องค์กรผู้บริโภคสากล Consumers International (CI)