โครงการพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ ปี 2552-2554

โครงการพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ ปี 2552-2553

ผู้รับผิดชอบโครงการ  ผศ.ดร.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ

หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ  **สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
                                                คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
                                                สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา

ผู้ร่วมโครงการ

  1. นายสุริยา      ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก  อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
  2. นายธีรศักดิ์    สุภาไชยสิทธิ์         ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จังหวัดสงขลา
  3. คุณวัชรี     กาญจโนภาส         สำนักงานจังหวัดสงขลา
  4. ภญ.อังคณา  ศรีนามวงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี
  5. ภญ.โสภิดา ตั้งวรางค์กูล หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล
  6. นางกัลยาทรรศน์  ติ้งหวัง          เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จ.สตูล
  7. ดร.ภญ.ศิริพา  อุดมอักษร หัวหน้าภาควิชาบริหารเภสัชกิจ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  8. นางสาว เยาวลักษณ์ ศรีสุกใส ผู้ประสานงานโครงการ
  9. ภก.สมชาย ละอองพันธุ์        ประสานงานวิชาการ
  10. นางสาววรรณา  สุวรรณชาตรี  ประสานงานขับเคลื่อนสังคม

หลักการและเหตุผล

สภาพปัญหาผู้บริโภคของพื้นที่ภาคใต้มีลักษณะสถานการณ์คล้ายคลึงกับปัญหาในระดับประเทศ อีกทั้งมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ทั้งที่เคยปรากฏและไม่ปรากฏเป็นข่าวคราวทางสื่อมวลชน สภาพปัญหาการล่วงละเมิดสิทธิจึงเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคยังคงต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา สอดคล้องกับผลการศึกษาวิจัย  จากการสำรวจสถานการณ์ผู้บริโภคภาคใต้ ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สวรส.ภาคใต้  มอ.)  พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค  มีมุมมองและแนวคิดว่ารัฐควรทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ขาดความเชื่อมั่นและตระหนักถึงพลังของผู้บริโภคเอง  ขณะที่มีผู้บริโภคเพียงร้อยละ  9 เท่านั้น ที่เห็นว่า ผู้บริโภคเองควรพิทักษ์สิทธิตนเอง วิธีจัดการกับปัญหาเมื่อผู้บริโภคถูกล่วงละเมิดสิทธินั้น พบว่า มีเพียงร้อยละ 10  เท่านั้นที่จะร้องเรียน แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 65 จัดการกับปัญหาด้วยการทิ้งหรือไม่ดำเนินการใดๆ การไม่ใช้สิทธิของผู้บริโภคดังกล่าว เป็นตัวชี้วัดความเข้มแข็งที่สำคัญของผู้บริโภค  ซึ่งผลการศึกษาชี้ว่าสภาพการณ์ของผู้บริโภคภาคใต้ยังอยู่ในระดับที่น่าห่วง ในส่วนการร้องเรียนของผู้บริโภค พบว่า มีการร้องเรียนผ่านหน่วยงานภาครัฐน้อยกว่าความเป็นจริงมาก (สคบ.จังหวัดสงขลา เฉลี่ยปีละ 40 เรื่อง  จังหวัดสตูล เฉลี่ยปีละ 5  เรื่อง และจังหวัดสุราษฎร์ธานีเฉลี่ยปีละ 50 เรื่อง) ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกช่องทางร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน (วิทยุ มอ.FM.88 MHZ มีเรื่องร้องเรียนวันละ 40 เรื่อง) เนื่องจากสามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็วกว่าหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยาก และใช้เวลานาน
การแก้ปัญหาที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามสร้างระบบเครือข่าย ให้เกิดความร่วมมือจากภาคีทุกภาคส่วน แต่พบว่า รูปธรรมของการทำงานร่วมกันยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร เนื่องจากยังขาดระบบการประสานงาน  ขาดระบบการเรียนรู้ในการทำงานร่วมกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาระบบเครือข่ายให้มีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง

ผลการดำเนินงานในปี 2550-2551 ที่ผ่านมาสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  (สวรส.ภาคใต้ มอ.)ได้ดำเนินกิจกรรมตามโครงการพัฒนาระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ที่สามารถเห็นเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย

  1. การจัดทำแผนที่ผู้บริโภคภาคใต้ ประกอบด้วยแผนที่สถานการณ์ผู้บริโภคและแผนที่หน่วยงาน องค์กรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัด สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ และจัดเวทีเสวนาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทำให้ทราบรายละเอียดของขอบเขตภารกิจหน้าที่ ที่อยู่ที่ติดต่อ ปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากการทำงาน รวบรวมเป็นข้อมูลอันมีประโยชน์สำหรับการพัฒนาให้กลุ่มองค์กรเหล่านั้นมีการเชื่อมโยงประสานการทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค

  2. การจัดทำยุทธศาสตร์การดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ ผนวกกับนำข้อมูลสภาพปัญหาผู้บริโภคที่ได้จากการศึกษาวิจัย มาร่วมกันจัดทำเป็นยุทธศาสตร์คุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ เพื่อการขับเคลื่อนงานในภาพรวมของปีถัดไป

  3. การจัดทำฐานข้อมูลทางวิชาการและข่าวสารคุ้มครองผู้บริโภคบนเว็บไซด์ คือ เว็บไซด์www.consumersouth.org ที่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อให้ข้อมูลที่มีความเป็นกลางและมีความน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภคโดยมีผู้เข้าเยี่ยมชมและใช้งานจำนวน 164,845 ครั้ง,77,837 คน ตามลำดับ(ข้อมูล ณ วันที่ 24 กันยายน 2552) มีความจำเป็นต่อการหนุนเสริมการทำงานของกลุ่มเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้

    ส่วนหนึ่งสำหรับประเด็นการถ่ายทอดความรู้ กลไก กลวิธีการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคแก่สมาชิกเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค คือ การถอดบทเรียนกระบวนการทำงานของภาคีผู้บริโภคทั้งภาครัฐ และเอกชนในการแก้ปัญหาของผู้บริโภคในพื้นที่ตนเอง นำเสนอผ่านเว็บไซด์และ “หนังสือบทเรียนสานพลังเครือข่ายผู้บริโภค”

  4. เกิดศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค 5 แห่ง คือ  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสตูล  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเทศบาลตำบลปริก  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม  ศูนย์พิทักษ์ผู้บริโภคองค์การบริหารส่วนตำบลควนรู

  5. กลไกการสื่อสารสาธารณะเรื่อง การคุ้มครองผู้บริโภค โดยการจัดรายการสมัชชาออนแอร์  ทางสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ FM. 88 MHz. วิทยุชุมชน F.M.101.0 MHz. วิทยุชุมชนเทศบาลตำบลปริก ,วิทยุชุมชนอบต.ควนรู  ,วิทยุชุมชน อบต.ท่าข้ามและเว็บไซต์www. consumersouth.org

  6. เกิดกลไกการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายผู้บริโภค โดยมีการจัดทำบันทึกความร่วมมือระหว่าง จังหวัดสงขลา ,สวรส.มอ. ,เทศบาลนครหาดใหญ่ ,เทศบาลตำบลปริก ,องค์การบริหารส่วนตำบลควนรู ,องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ,เครือข่ายสมาคมอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดสงขลา และเครือข่ายสมาคมเกษตรอินทรีย์วิถีไท  เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคที่บูรณาการพลังจากภาคีทุกภาคส่วนจังหวัดสงขลา จึงมีข้อตกลงความร่วมมือดังต่อไปนี้

    6.1 ความร่วมมือที่ 1 เรื่องการจัดรูปแบบเครือข่าย และวิธีการทำงาน** ให้มีโครงสร้างที่เรียกว่า “คณะทำงานเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสงขลา” ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงาน และเครือข่ายต่อไปนี้สำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดสงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลตำบลปริก องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม องค์การบริหารส่วนตำบลควนรู เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข กลุ่มเกษตรวิถีธรรมวิถีไท และสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ (สวรส. ภาคใต้ มอ.)
     
    คณะทำงานเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสงขลา มีภารกิจหลัก คือ

    • ผลักดันและขับเคลื่อนกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสงขลา
    • เป็นกลไกในการเชื่อมประสานภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ (เป้าหมาย ผลักดันให้จังหวัดเห็นความสำคัญ)

    6.2 ความร่วมมือที่ 2 ความร่วมมือในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค**

    • พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการเชื่อมต่อข้อมูลข่าวสารด้านคุ้มครองผู้บริโภคและการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสาธารณะในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน
    • การเสริมสร้างศักยภาพทั้งด้านความรู้ในการบริโภคและการพิทักษ์สิทธิอันเป็นธรรมของผู้บริโภค เช่น  การจัดสมัชชาผู้บริโภค การจัดประชุม การจัดเสวนา การอบรม ตลอดจนการสร้างปฏิบัติการเพื่อการเรียนรู้ในระดับพื้นที่
    • การสร้างและขยายเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การสร้างเครือข่ายอาสาสมัครผู้บริโภคในชุมชน การพัฒนาให้เกิดสภาผู้บริโภค
    • การพัฒนาระบบประสานงานการรับเรื่องร้องเรียนเพื่อพิจารณาความเป็นธรรม และชดเชยค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภค เช่น การจัดตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคระดับท้องถิ่น

วัตถุประสงค์

  1. สร้างความรู้เพื่อเป็นฐานของการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค
  2. สร้างพลังผู้บริโภค พัฒนาเครือข่ายการคุ้มครองผู้บริโภค
  3. สร้างกลไกคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ กลไกพิทักษ์สิทธิ ร้องเรียนไกล่เกลี่ย ชดเชย และกลไกการประสานการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ  ,ภาคประชาชน ,องค์กรเอกชน  ,ท้องถิ่น และภาควิชาการ
  4. สร้างกระบวนการนโยบายสาธารณะในงานคุ้มครองผู้บริโภค

พื้นที่ดำเนินโครงการ

พื้นที่ดำเนินงานในปี 2552-2553

  • จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • จังหวัดสงขลา
  • จังหวัดสตูล