โครงการสนับสนุนการบูรณาการงานอาหารในพื้นที่จังหวัดสงขลา

ความเป็นมา

ด้วยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพดี โดย สสส. ได้ดำเนินงานทั้งแนวทางเชิงรุกเพื่อพัฒนากระบวนการเชิงระบบ และแนวทางเชิงรับ เพื่อสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีนั้น สสส.จึงได้จัดทำแผนอาหารเพื่อสุขภาวะขึ้น เพื่อส่งเสริมการสร้างพฤติกรรมและค่านิยมการบริโภคอาหารของประชากรกลุ่มเป้าหมายให้มีสุขภาวะจากการบริโภคอาหารและโภชนากรที่เหมาะสม อันหมายถึง การมีอาหารที่มีคุณภาพต่อสุขภาวะและโภชนาการอย่างเพียงพอ มีการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน มีความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถในการรู้เท่าทันที่จะเลือกผลิต และเลือกบริโภคอาหารในปริมาณที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักโภชนาการ ไม่ก่อให้เกิดภาวะทุพโภชนาการที่ขาดหรือล้นเกิน ความเสี่ยงและเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และมีพัฒนาการและการเรียนรู้ที่สมวัยด้วยอาหารสุขภาพและโภชนาการ

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น แผนอาหารเพื่อสุขภาวะกำหนดยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับองค์ประกอบสำคัญของระบบห่วงโซ่อาหาร ซึ่งประกอบด้วย ระบบการผลิต ระบบการกระจาย และระบบการบริโภคอาหาร  และสอดคล้องกับแนวทางการจัดการด้านอาหารของไทยตามแผนยุทธศาสตร์อาหารแห่งชาติทั้ง 3 ด้าน ได้แก่
1. ความมั่นคงอาหาร
2. ความปลอดภัยอาหาร
3. คุณภาพอาหารและโภชนาการ

โดยจะใช้กลไกบูรณาการภายในแผนฯ ผ่านแนวทางการดำเนินงานด้วยการส่งเสริมความรู้ ขับเคลื่อนนโยบาย และสื่อสารขับเคลื่อนสังคม

เครือข่ายหลักด้านอาหารของ สสส. ได้แก่ นมแม่ โภชนาการสมวัย เด็กไทยไม่กินหวาน ร้านอาหารและแผงลอยมาตรฐาน และความมั่นคงทางอาหาร ได้จัดประชุมหารือและพิจารณาเลือกดำเนินงานใน 2 พื้นที่นำร่อง คือ 1) เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ และ 2) จังหวัดสงขลา เพื่อร่วมกันพัฒนาให้เกิดเป็นต้นแบบการ ทำงานด้านอาหาร ซึ่งได้เสนอต่อคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะและได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้เกิดการพัฒนาแผนบูรณาการอาหาร และแผนกิจกรรมบูรณาการด้านอาหาร ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
  2. เพื่อให้เกิดการเชื่อมประสานเครือข่ายในพื้นที่และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมกันพัฒนาข้อเสนอแผนงานบูรณาการทำงานตลอดทั้งห่วงโซ่อาหารในพื้นที่จังหวัดสงขลา รวมทั้งพัฒนาข้อเสนอโครงการศึกษาติดตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคและสุขภาพของคนในพื้นที่จังหวัดสงขลา

กรณีของจังหวัดสงขลา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลาทำหน้าที่ประสานงานเครือข่าย องค์กรที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดสงขลา เพื่อดำเนินการในเบื้องต้นแล้ว ดังต่อไปนี้

  1. การจัดทำแผนที่ (Mapping) สถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยด้านอาหารและสถานการณ์สุขภาวะทางอาหาร ผลการทำแผนที่ พบประเด็นที่น่าสนใจ คือ

    • สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของ จ.สงขลา อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โครงสร้างการเจริญเติบโตภาคเกษตรกรรมและแหล่งผลิตอาหารมีแนวโน้มลดลง จำนวนแรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง จำเป็นต้องเร่งปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในเรื่อง การออมในภาคครัวเรือน ต้องได้รับการอบรมมากขึ้นและมีความต่อเนื่อง เยาวชนรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทเกษตรกรไม่สนใจสืบสานอาชีพเกษตรกรรม
    • สถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหาร จ.สงขลา อยู่ในระดับที่จำเป็นต้องบูรณาการแก้ไขปัญหา เนื่องจากการตรวจพบสารปนเปื้อนในอาหารสดโดยรถตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อนเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ในปี 2554 พบว่า อันดับหนึ่ง การตรวจพบสารเคมีทางการเกษตรตกมาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 11.45 หากแยกตามประเภทอาหารที่ตกมาตรฐานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ หัวหอม ใบบัวบก ต้นหอม กะหล่ำดอก ดอกหอม ส่วนอันดับสอง คือ เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน ตกมาตรฐาน ร้อยละ 11.11 และอันดับสาม สารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำ ตกมาตรฐานร้อยละ 8.44
    • สอดคล้องกับผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสงขลา จำนวน 247 ตัวอย่างประจำปี 2555 ดำเนินการโดยกลุ่มงานอาหาร  ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา  พบว่า อันดับหนึ่ง อาหารประเภทเส้นก๋วยเตี๋ยวมีกรดเบนโซอิก(Benzoic acid) ร้อยละ 44.44 อันดับสอง คือ น้ำแข็งมีการปนเปื้อนของเชื้อ Coliform และ E.coli ร้อยละ 41.67 และอันดับ สาม คือน้ำบริโภคในภาชนะปิดสนิทขนาด 20 ลิตร มีการตกมาตรฐานและปนเปื้อนเชื้อ ColiformและE.coli ร้อยละ 35.29 - ปัญหาการพบเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในอาหาร พบว่า  มีการพบเชื้อ Coliforms ในมือผู้สัมผัสอาหารและภาชนะ ตกมาตรฐาน ร้อยละ 19.13 ส่วนการพบ Coliforms ในอาหาร ตกมาตรฐานร้อยละ 14.18 การมีเชื้อดังกล่าวส่งผลให้เกิดโรคทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ดังนั้น สรุปได้ว่า จังหวัดสงขลายังคงมีปัญหาเรื่อง สุขลักษณะของผู้สัมผัสอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหาร
    • สถานการณ์ภาวะโภชนาการ จ.สงขลา จากข้อมูลสำรวจระดับไอคิวของเด็กทั่วประเทศ พบว่า ระดับไอคิวของภาคใต้อยู่ในลำดับรองสุดท้ายของประเทศ หากแยกตามรายจังหวัด พบว่า เด็กในจังหวัดสงขลามีระดับไอคิวอยู่ในลำดับที่ 5 ของภาค นอกจากนี้จากบทความของ รศ.พญ.ลัดดา  เหมาะสุวรรณ เรื่อง 10 ปี ทศวรรษเพื่อเด็กและภูมิปัญญาครอบครัว  พบว่า เด็กไทยประสบปัญหาขาดสารอาหาร  น้ำหนักตัวลดลง ปัญหาเตี้ยกว่าเกณฑ์ การขาดธาตุไอโอดีนอันเเป็นสาเหตุของการบกพร่องทางสติปัญญา และพบภาวะโรคเด็กอ้วน ผลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลการเฝ้าระวังติดตามภาวะโภชนาการ เด็ก 0-5 ปี ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ประจำเดือนมีนาคม 2555 พบว่า  จำนวนเด็กทั้งหมด 85,052 คน ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงได้ 81,349 คน ผลภาวะโภชนาการ : น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 2.75 เตี้ย ร้อยละ 6.13เริ่มอ้วน ร้อยละ 3.79  และมีภาวะอ้วน ร้อยละ 3.10
  2. จัดทำแผนที่เครือข่ายหลักที่ทำงานด้านอาหารและโภชนาการในจังหวัดสงขลา พบว่า มีหน่วยงาน องค์กรและเครือข่ายที่ทำงานด้านอาหารจำนวน 24 แห่ง แยกตามประเภท คือ ความมั่นคงทางอาหารจำนวน 7 แห่ง ความปลอดภัยด้านอาหาร จำนวน 12 แห่ง โภชนาการสมวัย จำนวน 3 แห่ง และหน่วยงานสนับสนุน จำนวน 2 แห่ง และมีเครือข่ายเพิ่มขึ้นจากการเสาะหาด้วยวิธีการทำ snow ball ตลอดจนผ่านกระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างเครือข่าย

  3. จัดทำแผนที่นวัตกรรมด้านอาหารในพื้นที่จังหวัดสงขลา พบว่า หน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายด้านอาหารมีการดำเนินกิจกรรมที่ถือเป็นนวัตกรรม สร้างการเรียนรู้ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ อย่างไรก็ตามพบว่า การทำงานด้านอาหารยังขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและยังต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รายละเอียดของข้อ 1,2 และ 3 แสดงไว้ในรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ www.consumersouth.org/network/food นวัตกรรมด้านอาหารในจังหวัดสงขลาที่สำคัญ ประกอบด้วย

    • ความมั่นคงด้านอาหาร ประกอบด้วย แผนแม่บทพัฒนาเกษตรกรจังหวัดสงขลาประจำปี 2555-2559 การทำเกษตรธาตุ 4 ของพื้นที่เขาพระ การปลูกพืชสมรมในสวนยาง ป่าสมุนไพร ในพื้นที่ตำบลรัตภูมิ อ.ควนเนียง การมีธรรมนูญลุ่มน้ำภูมี พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลบริเวณอ่าวจะนะ ธนาคารอาหาร ขององค์การบริหารส่วนตำบลควนรู ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบก อันที่เป็นแหล่งรวบรวมและถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านตามวิถีโหนด นา เล
    • ความปลอดภัยด้านอาหาร ประกอบด้วย ครัวใบโหนด อ.สิงหนคร แหล่งจำหน่ายสินค้าและอาหารพื้นบ้าน ศูนย์เรียนรู้คู่คุณธรรมและร้านเพื่อนสุขภาพ สมาคมเกษตรอินทรีย์วิถีไท ระบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารที่เข้มแข็ง เช่น การมีเครือข่ายอาสาสมัครคุ้มครองผู้บริโภคระดับอำเภอ และการมีศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด การมีนโยบายของจังหวัดที่ชัดเจนผ่านกลไกทำงานของคณะกรรมการอาหารปลอดภัยระดับจังหวัดสงขลา ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้หน่วยงานสามารถดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง  เป็นต้น
    • คุณภาพโภชนาการอาหารและความสมวัย ประกอบด้วย การดำเนินโครงการเด็กใต้ไม่กินหวาน ที่ลดการบริโภคหวาน ขนมขบเคี้ยวในเด็ก การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กต้นแบบในการนำเอาขนมพื้นบ้าน ภายใต้การประสานงานและสนับสนุนจากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น
  4. จากข้อมูลเครือข่ายตามแผนที่ในข้อ 2 มีการประสานทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการทำงานด้านอาหารและโภชนาการที่ชัดเจนขึ้นในจังหวัดสงขลา

  5. เครือข่ายฯได้มีการพัฒนาแผนบูรณาการอาหารและ แผนกิจกรรมบูรณาการด้านอาหารในพื้นที่จังหวัดสงขลา พร้อมกับระบบติดตามผลการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะของคนจังหวัดสงขลา โดยมีการแบ่งบทบาทหน้าที่และกลไกการทำงานของแต่ละเครือข่าย

หน้า 1 · หน้า 2 · หน้า 3 · หน้า 4 · หน้า 5 · หน้า 6