งานวิจัย

งานวิจัย เรื่อง การศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพในองค์การบริหารส่วนตำบล กรณีศึกษา : อบต.ปากพูน นครศรีธรรมราช

by twoseadj @June,11 2010 23.55 ( IP : 202...244 ) | Tags : งานวิจัย

การวิจัย เรื่อง การศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพในองค์การบริหารส่วนตำบล

กรณีศึกษา : องค์การบริหารส่วนตำบลปากพูน นครศรีธรรมราช

ผู้วิจัยหลัก : วิธิมาร์ เม่งช่วย

ผู้ร่วมวิจัย :พงค์เทพ สุธีรวุฒิ

โครงการนี้ได้รับทุนอุดหนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ความเห็นและข้อเสนอแนะที่ปรากฏในเอกสารนี้เป็นของผู้วิจัย มิใช่ความเห็นของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

บทคัดย่อ

การศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพในองค์การบริหารส่วนตำบล กรณีศึกษา : อบต.ปากพูน นครศรีธรรมราช  มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษา พัฒนารูปแบบและระบบการบริหารจัดการการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพในองค์การบริหารส่วนตำบลในประเด็น การจัดการข้อมูล การพัฒนาศักยภาพ การขยายเครือข่าย และการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ การวิจัยเป็นแบบ การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม(Participatory Action Research:PAR) โดยเริ่มจากการศึกษาสถานการณ์ปัญหาคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดนครศรีธรรมราชจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลแบบทุติยภูมิ จากเอกสารผลการดำเนินงานของหน่วยงาน ขั้นตอนที่ 2 เป็นการศึกษาสถานการณ์ปัญหาคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ อบต.ปากพูน เป็นการรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ โดยใช้กระบวนการกลุ่มแบบมีส่วนร่วมในชุมชน โดยเทคนิคการประชุมเพื่อค้นหาอนาคตร่วมกัน(Future search conferrence:F.S.C.) และขั้นตอนที่ 3 เป็นการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับองค์การบริหารส่วนตำบล ด้วยเทคนิควิธีการประชุมกลุ่ม(Group Discussion) วิเคราะห์และสังเคราะห์รูปแบบ กลไก และวิธีการบริหารจัดการงานคุ้มครองผู้บริโภคในองค์การบริหารส่วนตำบลปากพูน มีตัวแทนจาก อบต.ปากพูน นักวิชาการและตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ

ในการศึกษาสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชได้แก่ สำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช แผนกคดีผู้บริโภค ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช เทศบาลนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช  พบว่า สถานการณ์ปัญหาคุ้มครองผู้บริโภคมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่หากเปรียบเทียบสถิติการร้องเรียนผ่านช่องทางอื่นเช่นวิทยุชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ก็พบว่า สถิติเรื่องร้องเรียนผ่านหน่วยงานของรัฐยังมีจำนวนน้อยกว่าความเป็นจริง

ส่วนสถานการณ์ปัญหาด้านคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ อบต.ปากพูน ผ่านกระบวนการ F.S.C. พบว่า แนวโน้มปัญหาคุ้มครองผู้บริโภคจะมีปริมาณสูงขึ้น ได้แก่ ปัญหาความไม่เป็นธรรมจากสัญญา เช่น สัญญาซื้อขายรถ ประกันคุณภาพสินค้าและคุณภาพสินค้าได้มาตรฐาน ค่าบริการรถโดยสารในพื้นที่เกินราคา สินค้าขายตรงโอ้อวดสรรพคุณจริง เป็นต้น

ผลการวิจัยระบบบริหารจัดการงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพขององค์การบริหารส่วนตำบลจะนำข้อมูลปัญหาคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ จากการระดมความคิดเห็นของตัวแทนผู้บริโภคในอบต.ปากพูนร่วม เพื่อให้ได้หลักการของการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคและแนวทางแก้ปัญหาคุ้มครองผู้บริโภคของตำบลปากพูน ซึ่งรูปแบบการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคของ อบต.ปากพูน มีกลไกที่สอดคล้องในพื้นที่ดังนี้

-โครงสร้างการบริหารจัดการ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค อบต.ปากพูน มีรูปแบบกึ่งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีตัวแทนจากภาคประชาชนมาร่วมทำงานในศูนย์ฯ แต่อยู่ภายใต้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำตำบลอันเป็นองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมายรองรับไว้  เพื่อสามารถจัดการกลไกคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ การส่งต่อ ไกล่เกลี่ย และจัดการเรื่องร้องเรียนภายใต้อำนาจที่ทางสำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชถ่ายโอนมาให้กับคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำตำบล

-กลไกการดำเนินงานด้านคุมครองผู้บริโภค มีกลไกการดำเนินงานตามภารกิจแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคจากหลักการของการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคและแนวทางแก้ปัญหาคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้จากกระบวนการ F.S.C  และภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนจากสำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  โดยมีการสร้างความชัดเจน ในการถ่ายโอนภารกิจจากหน่วยงานภาครัฐดังกล่าวด้วยการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช และองค์การบริหารส่วนตำบลปากพูน

การจัดการโครงสร้างศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคใน อบต.ปากพูน เพื่อให้สามารถสอดคล้องกับภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอน คือการจัดตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำตำบล แต่เพื่อให้การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมีความครอบคลุมกับภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอน และสามารถพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีการทำงานจากภาคประชาชนคือการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค อบต.ปากพูน ในลักษณะองค์การอิสระ โดยมีตัวแทนจากภาคประชาชน อยู่ภายใต้การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำตำบลที่มีอำนาจตามกฎหมาย และภารกิจตามที่สำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดถ่ายโอนมาให้กับคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำตำบลที่จัดตั้งขึ้นในระดับองค์การบริหารส่วนตำบล  ซึ่งศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค อบต.ปากพูน จะดำเนินงานได้โดยการรับการสนับสนุนงบประมาณโดยตรงจาก อบต.ปากพูน ขณะเดียวกันเพื่อให้มีความยั่งยืนในการดำเนินงานจึงมีการสนันสนุนงบประมาณโดยตรงจากแหล่งทุนในพื้นที่ ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพ และกองทุนออมทรัพย์ของ อบต.ปากพูน  และเพื่อให้ผู้บริโภคมีความครอบคลุมการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคตามแผนงานที่ได้จากกระบวนการ FSC คือการสร้างและพัฒนาให้ผู้บริโภคสามารถพิทักษ์สิทธิตนเองได้

-กรอบภารกิจและแผนงานการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค

ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค อบต.ปากพูน มีกรอบภารกิจให้ครอบคลุมการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคตามแผนงานที่ได้จากกระบวนการ FSC คือการสร้างและพัฒนาให้ผู้บริโภคสามารถพิทักษ์สิทธิตนเองได้ จึงได้กำหนดกรอบภารกิจและแผนงานการดำเนินงาน ได้แก่
1)การจัดการข้อมูล ได้แก่ การผลิตสื่อและหรือเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

2)การพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคและเครือข่าย ทั้งในด้านความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งเสริมการรวมกลุ่ม
3)การเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์หรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค
4)การประสานงานในเรื่องการรับเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ย ชดเชยค่าเสียหาย
5)การสื่อสารสาธารณะ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและการดำเนินงานต่างๆ

การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานของศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคของ อบต.ปากพูน เพื่อให้มีประสิทธิภาพ และมีกลไกที่สอดคล้องในพื้นที่ สรุปได้ดังนี้

1)การดำเนินงานภายใต้กฎหมายการดำเนินงานของศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคภายใต้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำตำบลเพื่อให้ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค อบต.ปากพูน สามารถดำเนินงานได้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ สำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดถ่ายโอนภารกิจมาให้กับ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำตำบล

2)ความเป็นองค์การอิสระหรือกึ่งองค์การอิสระ การอาศัยพลังจากผู้บริโภคเพื่อให้การดำเนินงานมีความยืดหยุ่น มีอำนาจทางสังคม(Social Force) การขับเคลื่อนงานโดยพลังทางสังคมจะสามารถทำให้การทำงานเป็นไปได้ด้วยความสะดวกและคล่องตัว

3)งบประมาณของศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคอบต. มาจากงบประมาณท้องถิ่นโดยตรง(งบประมาณจาก อบต.)  และใช้ทุนที่มีอยู่ในชุมชน ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพ กองทุนออมทรัพย์ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนให้การทำงาน

4)ความครอบคลุมการดำเนินงานบทบาทและภารกิจ ต้องครอบคลุมปัจจัยทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ได้แก่ 5กรอบภารกิจ ไม่ควรทำงานเฉพาะบางประเด็น เช่นการรับเรื่องร้องเรียน แต่ควรทำให้ครอบคลุมเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพา

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง