หากย้อนกลับไปปี 2549 พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ ที่ทำให้หลายคนต้องตกตะลึงกับข่าว“พบจิ้งจกในนมเปรี้ยวยี่ห้อดัง”ข่าวดังกล่าวส่งผลสะเทือนต่อยอดขายของนมเปรี้ยวของบริษัทยี่ห้อดัง จนนำมาสู่การฟ้องร้องผู้บริโภคตามมาทีหลังว่า มีการปลอมปนจิ้งจกลงในกล่องนมเปรี้ยว แล้วขู่กรรโชกทรัพย์ เพื่อเรียกเงินถึง 5 ล้านบาท อีกทั้งทำให้บริษัทเสียชื่อเสียงและทำให้ยอดขายตก
การลุกขึ้นมาทวงสิทธิในฐานะผู้บริโภคของคุณถาวร เพชรเงินทอง หนุ่มชาวสงขลาโดยกำเนิด จนทำให้เขาต้องขึ้นศาลและส่งผลต่อชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
คุณถาวรเล่าให้ฟังถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ครั้งสำคัญว่า เย็นวันที่ 21 พฤษภาคม 2549 คุณถาวรได้ซื้อนมเปรี้ยวยี่ห้อหนึ่งจากร้านชำใกล้บ้าน ทันทีที่เขาเจาะดูดระหว่างรอรับทอนเงิน ดูดไปสักพักก็รู้สึกว่ามีอะไรมาติดที่ปลายหลอด จึงถามคนขายว่าเป็นนมเก่าหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่าเป็นนมที่เพิ่งซื้อมา คุณถาวรจึงนำนมกล่องนั้นมาที่ สภ.หาดใหญ่ เนื่องจากเป็นที่รอบคอบและเคยดูปัญหาการเจอสิ่งแปลกปลอมในกล่องนม เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นตำรวจเวรประจำวัน ใช้กรรไกรตัด ทันทีที่พนักงานตัดและเทใส่จาน ปรากฏว่ามีซากจิ้งจก ยาวประมาณ 3 นิ้ว 1 ตัว สภาพผิวหนังเปื่อยยุ่ยปนมากับนมด้วย คุณถาวรเล่าให้ฟังตอนนั้น ที่เห็นว่ามีจิ้งจกนอนตายอยู่ในจาน เกิดอาการปั่นป่วนท้องต้องวิ่งเข้าไปห้องน้ำเพื่ออาเจียน
คุณถาวรจึงแจ้งความเพื่อให้ตำรวจลงบันทึกประจำวันและถ่ายภาพนิ่งไว้เป็นหลักฐานพร้อมมอบของกลางให้ตำรวจดำเนินการตรวจสอบต่อไป ทางตำรวจจึงประสานงานให้ทางบริษัทผู้ผลิตมาชี้แจงและตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้นได้อย่างไร
หลังจากนั้นวันที่ 24 พ.ค.49 ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทผู้ผลิต จำกัด ซึ่งมีทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านห้องปฏิบัติการ และตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่หาดใหญ่ ได้มาทำการพิสูจน์กล่องนมและน้ำนม โดยละเอียด พร้อมทั้งมีการบันทึกภาพถ่ายไว้ ขณะนั้นไม่มีผู้เชี่ยวชาญรายใดที่ร่วมตรวจสอบให้ความเห็นที่โต้แย้งหรือคัดค้านว่า พบความผิดปกติหรือข้อพิรุธใดๆเกี่ยวกับกล่องนมว่ามีการแกะซีลแล้วปิดซีลเข้าไปใหม่หรือมีลักษระที่ผนึกผิดปกติใดๆต่อพนักงานสอบสวน
ภายหลังการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญแล้ว วันเดียวกันทางบริษัทได้ส่งทนายความและตัวแทนมาหาคุณถาวรที่บ้าน พร้อมกับเสนอเงินชดเชยให้ 20,000 บาท แต่ให้คุณถาวรถอนแจ้งความ เรื่องจบกันไป โดยไม่มีการขอโทษอะไรทั้งนั้น พอฟังแบบนั้น คุณถาวรไม่ยินยอม
ต่อมาในวันรุ่งขึ้นตอน 6 โมงเย็น ทางบริษัทนมยี่ห้อดัง ก็ส่งตัวแทนซึ่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสพร้อมผู้ถือหุ้นมาหาคุณถาวรอีกครั้งที่บ้าน ให้เจราเพื่อให้ถอนแจ้งความ และยอมรับกับคุณถาวรด้วยวาจาว่า มีโอกาสที่จิ้งจกจะเล็ดลอดติดไปกับม้วนกระดาษเข้าไปในห้องบรรจุน้ำนมลงกล่องและตกลงไปในกล่องได้ และเจรจาให้คุณถาวรยอมรับเงิน 20,000 บาทไป เนื่องจากการที่ข่าวออกไปนั้นส่งผลต่อชื่อเสียงของบริษัทและยอดขายตก
คุณถาวรเผยสิ่งที่คิดในตอนนั้นว่า เค้าไม่ต้องการเงิน แต่อยากได้ยินคำขอโทษจากทางบริษัทมากกว่า บริษัททำได้แค่การเสนอเงินเพื่อให้ถอนแจ้งความอย่างเดียว โดยบริษัทกล่าวกับคุณถาวรว่า การที่บริโภคซากจิ้งจกไปนั้นไม่ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตได้ หากเป็นคดีความกันแพ้บริษัทเพียงอย่างเดียวและสุภาษิตจีนเคยกล่าวไว้ว่า เป็นความกันให้กินขี้หมายังดีกว่า เกิดการโต้เถียงกันพอประมาณและมีการดูถูกกัน หากบริษัทยอมกล่าวคำว่าขอโทษและส่งกระเช้าของขวัญมาให้สักกระเช้า เค้าก็จะยินดีถอนแจ้งความกัน แต่บริษัทกลับพยายามให้ถอนแจ้งความเพียงอย่างเดียว คุณถาวรก็เลยบอกกับทางบริษัทไปว่า ถ้าจะให้ถอนแจ้งความเอาเงินมา 5 ล้าน สิแล้วจะถอนแจ้งความให้
จากวันนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่อจาดบริษัทอีกเลย จนกระทั่ง 29 พฤษภาคม ทนายความของบริษัทและเภสัชกรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้ร่วมกันตรวจสอบกล่องนมดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ในการตรวจสอบครั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่และตัวแทนบริษัทดังกล่าวไม่ได้แจ้งให้คุณถาวรทราบใดๆทั้งสิ้น ผลการตรวจพิสูจน์ลงข้อมูลว่าสภาพกล่องนมผิดปกติพบคราบสีเหลืองเป็นแนวยาว และสภาพการปิดสนิทไม่แน่นสนิทเหมือนการปิดจากโรงงานคล้ายกับการแกะฉีกมาก่อน ทุกคนที่เข้าร่วมการตรวจสอบก็ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
วันที่ 7 มิถุนายน คุณถาวรต้องแปลกใจกับท่าทีของบริษัท เมื่อเค้าถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในฐานความผิดทำพยานหลักฐานปลอมปนจิ้งจกลงในกล่องนม หมิ่นประมาทและทำให้เกิดการกระจายข่าวแพร่หลายสู่สาธารณะ เป็นเหตุให้บริษัทเสียชื่อเสียง อีกทั้งขู่กรรโชกทรัพย์จำนวน 5 ล้านบาท
วันที่ 21 สิงหาคม 2549 ก่อนเข้าห้องพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องกันที่ศาลจังหวัดสงขลา บริษัทก็ส่งตัวแทนเพื่อมาต่อรองโดยใช้การฟ้องคดีอาญามาเป็นข้อต่อรองเพื่อให้คุณถาวร ถอนฟ้องกรณีที่พบซากจิ้งจกในกล่องนมแลกเปลี่ยนกัน แต่คุณถาวรก็ปฏิเสธ เพราะต้องการให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัย
เส้นทางการต่อสู้ของหมูติดอาวุธ
ก่อนที่จะถูกฟ้องจากบริษัทนอกจากได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว วันที่ 1 มิถุนายน 2549 เขาก็ได้ไปยื่นเรื่องแจ้งความนำจับต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ซึ่งจากการตรวจสอบของอย.ก็แจ้งกลับมายังคุณถาวรว่าเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2550 ว่า อาหารดังกล่าวที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ตามมาตรา 26(1)และถือเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ฝ่าฝืนมาตรา 25(1)แห่ง พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522
และในวันที่ 27 มิถุนายน 2549 พนักงานสอบสวนได้ส่งของกลางไปตรวจพิสูจน์ว่ากล่องนมและนมเปรี้ยวที่มีสิ่งแปลกปลอมบริสุทธิ์หรือไม่ และถ้าหากมนุษย์ดื่มเข้าไปจะมีอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ และประเด็นสำคัญคือ เพื่อพิสูจน์ว่ามีร่องรอยการแกะ แก้ไขใดๆหรือไม่อย่างใด ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับการแจ้งผลกลับมาว่าผลทางกายภาพนั้นมีจิ้งจก 1 ตัว จึงไม่ควรดื่ม และได้ตรวจวิเคราะห์เชื้อจุลินทรีย์ในซากจิ้งจก พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศของ กระทรวงสาธารณสุข เพราะว่ามีเชื้ออาหารเป็นพิษ แต่ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าเชื้อโรคอาหารเป็นพิษที่พบมาจากโรงงานผลิตหรือหลังจากเปิดกล่องนม เนื่องจากตัวอย่างถูกเปิดภาชนะบรรจุแล้วบรรจุลงในถุงพลาสติกรัดด้วยยางก่อนส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนภายหลังการเปิดก็ได้ และรายงานการตรวจสอบไม่มีการระบุว่าพบร่องรอยการแก้ไขกล่องนมใดๆ ตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอให้ทำการตรวจสอบกล่องนมของกลาง
จากพยานหลักฐานทั้งเอกสาร พยานบุคคล ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 ศาลจังหวัดสงขลา ได้พิพากษายกฟ้องคุณถาวรในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เพราะพยานหลักฐานต่างๆนั้นพิสูจน์ออกมาแล้วว่า คุณถาวรพบจิ้งจกจริง ไม่ได้แกะกล่องนมเพื่อใส่จิ้งจกลงไปในกล่อง เพื่อมาขู่เรียกเงินจากบริษัทแต่อย่างใด อีกทั้งการให้ข่าวกับสื่อมวลชนและเรียกเงินนั้น ก็เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตที่จะทำได้ แต่อย่างไรก็ตามบริษัทก็มิยอมลดละ ได้ยื่นอุทธรณ์อีกครั้งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 และวันที่ 11 กรกฎาคม 2550 ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และถือเป็นข้อยุติเด็ดขาดแห่งคดี
ภายหลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่งคดีผู้บริโภค มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2551 คุณถาวรได้ยื่นฟ้องต่อบริษัทเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทเป็นเงิน 15 ล้านบาทและฟ้องกลับบริษัทฐานร่วมกันปลอมแปลงเอกสารเพื่อทำลายชื่อเสียง ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและการดำเนินชีวิตที่เคยปกติสุขให้ คนรอบข้างต่างดูถูกเหยียดหยาม ขณะนี้ทางศาลจังหวัดได้ไต่สวนเพื่อวินิจฉัยต่อไป
บทเรียนที่จะให้แก่ผู้ละเมิดสิทธิผู้บริโภคและผู้บริโภคทั่วไป
1.ความรับผิดชอบจากผู้ประกอบการที่เมื่อเกิดปัญหาที่มีผลต่อสุขภาพ ก็ไม่แสดงออกในความรับผิดชอบที่ชัดเจน ซ้ำยังโยนความผิดที่เกิดขึ้นให้ผู้บริโภคเป็นคนทำ จัดฉาก โดยอาศัยความได้เปรียบของบุคลากร อำนาจเงินตรา ที่มีอยู่ในมือเป็นข้อต่อสู้กับผู้บริโภค บางครั้งผู้บริโภคมิได้ต้องการเงินชดเชยความเสียหายด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ การแสดงความรับผิดชอบและขอโทษจากผู้ประกอบการ
2.การเป็นคนรอบคอบของคุณถาวร ที่แสดงออกมาจากการที่คุณถาวรเล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่รู้สึกฉุกคิดขึ้นมาภายหลังจากการดูดนมเปรี้ยวจากกล่องแล้ว นมไม่สามารถดูดต่อได้นั้น จึงนำพยานหลักฐานทั้งหมดที่เกิดขึ้นไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อร่วมตรวจพิสูจน์และแจ้งความเป็นหลักฐาน เพราะเคยดูข่าวทางโทรทัศน์ คุณถาวรจึงนำอุทาหรณ์ที่ปรากฏทางสื่อดังกล่าวมาใช้ในการแก้ปัญหาที่ตนเองประสบ
3.การร่วมคิดต่อสู้ร่วมกับทนายส่วนตัว เพราะจากการร่วมพูดคุยนั้นพบว่า คุณถาวรและทนายจะร่วมกันตั้งข้อสังเกตหรือช่องทางการต่อสู้กับข้อกล่าวหาร่วมกัน พร้อมพยายามศึกษาข้อกฎหมายระเบียบบังคับที่เกี่ยวข้องอันเป็นประโยชน์ในการต่อสู้คดี จนนำมาสู่การชนะคดีศาลยกฟ้อง
4.การมีจิตวิญญาณของผู้บริโภคที่ต่อสู้กับความไม่ถูกต้องแม้ตนเองต้องกลายเป็นผู้ถูกฟ้องร้องจากบริษัท โดยคุณถาวรเล่าให้ฟังว่า ที่ต้องลุกขึ้นมาดำเนินคดีอาญากับบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด เพื่อให้เป็นบทเรียนราคาแพงในภายภาคหน้าจะได้ไม่มีผู้ใดกล้าบังอาจเอาเป็นเยี่ยงอย่าง หรือประพฤติตาม เพื่อทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภครายอื่นๆในภายภาคหน้าขาข้างหนึ่งย่างก้าวสู่เรือนจำเป็นเพราะใคร รายงานโดย เภสัชกร สมชาย ละอองพันธุ์ ผู้ประสานงานวิชาการศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา (หมายเหตุ เนื้อส่วนหนึ่งอ้างอิงมาจากวารสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 90 สิงหาคม 2551)