Courts Compound Pain of China’s Tainted Milk
By EDWARD WONG
เหตุเกิดในกรุงปักกิ่ง - พ่อและแม่ของเด็กชายทารก Yi Kaixuan วัย 6 เดือน พาเด็กมาโรงพยาบาล หลังจากที่พบว่าเด็กมีผงอยู่ในปัสสาวะ และต่อมาปัสสาวะมีเลือดปน แต่เมื่อพามาโรงพยาบาลก็พบว่าเด็กปัสสาวะไม่ออกแล้ว แพทย์แจ้งว่าเด็กเป็นโรคนิ่วในไต และต่อมาเด็กเสียชีวิตในวันที่ 1 พฤษภาคมในโรงพยาบาล หลังจากที่พบผงอยู่ในปัสสาวะได้เพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น
พ่อและแม่ของเด็กได้ทำการฟ้องร้องต่อศาลในจังหวัด Gansu ซึ่งเป็นจังหวัดที่ครอบครัวนี้อาศัยอยู่ เพื่อเรียกค่าเสียหายทดแทนจากบริษัท Sanlu Group ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตนมผงที่ปนเปื้อน เพราะดูเหมือนว่าควรจะเป็นความรับผิดชอบของบริษัทโดยตรง
การพบสิ่งปนเปื้อนในนมผงเด็ก ถือเป็นปัญหาสำคัญในการเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารและยาที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาคอรัปชั่นและความไม่มีประสิทธิภาพของผู้ควบคุมดูแลในจีน และถือเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ “ผมรู้สึกว่าร่างกายแตกเป็นส่วนๆ เมื่อลูกชายตาย และตอนนี้ภรรยาผมก็พยายามที่จะลืม และไม่คิดถึงเรื่องที่เกิดขึ้น” Yi Yongsheng พ่อเด็กวัย 30 ปีกล่าวผ่านทางโทรศัพท์จากเมือง Xian ที่ที่เขาทำงานก่อสร้าง เพื่อส่งเงินกลับมาบ้าน และยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมไม่คาดหวังมากนักกับเรื่องคดี ผมเพียงต้องการเรียกร้องความยุติธรรมเท่านั้นเอง”
รัฐบาลจีนซึ่งอยู่ภายใต้ความกดดันที่จะต้องเร่งพัฒนาให้เศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคม มักสร้างความพอใจให้ผู้ผลิตมากกว่าผู้บริโภค กฎหมายที่ควบคุมความรับผิดชอบต่อสินค้ายังมีน้อย และผู้เสียหายยากที่จะชนะคดี โดยเฉพาะถ้าหากบริษัทนั้นมีความเกี่ยวข้องหรือใกล้ชิดกับรัฐบาล หรือมีรัฐบาลเป็นเจ้าของ
รัฐบาลมักจะมุ่งแต่คดีความใหญ่ๆ ที่มีผลทางกฎหมาย และให้โจทก์หรือผู้เสียหายยอมความมากกว่าที่จะทวงความยุติธรรมให้ และในกรณีของนมผงปนเปื้อน หน่วยงานของรัฐในหลายๆ จังหวัดได้ร่วมกันกดดันผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดี เช่น พ่อแม่เด็ก ทนายความ หรือผู้พิพากษาเพื่อให้ยุติคดี ทนายความที่อาสาทำเรื่องร้องเรียนให้กับพ่อแม่เด็กกล่าว
นักกฎหมายชาวตะวันตกต่างก็พร้อมใจกันฟ้องร้องบริษัท Sanlu หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตนมขนาดใหญ่ของจีนที่ตั้งอยู่ในเมือง Shijiazhuang ซึ่งถือว่าเป็นผู้ผลิตนมปนเปื้อนเมลามีนรายใหญ่ โดยเมลามีนนั้นเป็นสารเคมีที่นำมาใส่ในอาหารอย่างผิดกฎหมาย ในกรณีนี้มีการนำเมลามีนมาใส่ในนมที่ถูกเจือจางด้วยน้ำ เพื่อให้ผ่านการทดสอบวัดค่าโปรตีน โดยพบว่ามีทารกอย่างน้อย 4 คนเสียชีวิตด้วยโรคนิ่วในไต และกว่า 53,000 คนที่มีอาการป่วย รัฐบาลอาวุโสและผู้บริหารบริษัทต่างก็เริ่มเดือดร้อนเมื่อมีหลักฐาน และเหตุการณ์ขยายวงกว้างขึ้น
ในประเทศจีน Mr. Yi และภรรยาได้เรียกร้องเงินจำนวน $152,000 จากบริษัท Sanlu ซึ่งถือเป็นคดีส่วนน้อยที่ได้รับการดำเนินคดี ส่วนผู้เสียหายที่เป็นครอบครัวอื่นๆ ทนายความกล่าวว่าแทบจะไม่มีโอกาสที่ศาลจะพิจารณาคดี เนื่องจากเป็นเรื่องที่คัดค้านอย่างยิ่งในจีน
ทนายความบางคนกล่าวว่า มีทนายความกว่า 100 คนทั่วประเทศได้เสนอตัวเป็นอาสาสมัครเต็มใจที่จะช่วยครอบครัวผู้เสียหาย แต่รัฐบาลท้องถิ่นกดดันไม่ให้ทำคดีต่อ และกว่า 24 คนที่ได้ถอนตัวออกไป “สิ่งเหล่านี้เริ่มห่างจากระบบกฎหมาย เราไม่สามารถควบคุมระบบและกลไกทางกฎหมายในกรณีนี้ได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต่างก็กังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”
“มันเป็นความรับผิดชอบของบริษัทผู้ผลิต และจะเป็นคดีในชั้นศาล หากกรณีเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศทางตะวันตก แต่ในจีนพวกเขาจะไม่ต้องการให้ประชาชนมีการดำเนินคดีฟ้องร้อง เพราะจะมีผลต่อความมั่นคงในสังคม” Zhang Xinba อาจารย์ด้านกฎหมายของ People’s University ในประเทศจีนกล่าวถึงวิกฤตการณ์นมปนเปื้อน
Qian Weiqing หัวหน้าสำนักงานทนายความ Dacheng ในกรุงปักกิ่ง กล่าวในงานประชุมด้านกฎหมายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “รัฐบาลที่อยู่ภายใต้สภาวะกดดัน เราพลาดโอกาสในการพัฒนาระบบเพื่อที่จะเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นความเข้มแข็งของระบบกฎหมาย ระบบการตัดสินคดี”
รัฐบาลกลางได้กล่าวกับพ่อแม่ของเด็กและทนายความเกี่ยวกับคดีนมปนเปื้อนว่า คำร้องเรียนจะได้รับการแก้ไข และได้รับค่าชดเชย รัฐบาลท้องถิ่นจังหวัด Sichuan ก็ใช้วิธีเช่นเดียวกับกรณีของเด็กที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 12 พฤษภาคม รัฐบาลได้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับพ่อแม่เด็ก ถ้าหากมีการเซ็นยินยอมยุติการดำเนินคดีกับบริษัทที่ก่อสร้างโรงเรียน มีหลายครอบครัวที่ยอมรับเงิน แต่หลายคนกล่าวว่า รู้สึกโกรธมากที่ไม่มีผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของลูกพวกเขา และเมื่อคดีของโรงเรียนจบลง ก็มีคดีนมปนเปื้อนซึ่งเป็นบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง รัฐบาลควรปล่อยให้มีการพิจารณาคดีในศาลมากกว่ากดดันให้ผู้เสียหายรับเงินค่าชดเชย Teng Biao ทนายความจากปักกิ่งกล่าว “ในจีนการเมืองใหญ่กว่ากฎหมายเสมอ การปกป้อง Sanlu ก็เท่ากับการปกป้องรัฐบาลเองเช่นเอง”
วิกฤติปัญหาเรื่องสุขภาพไม่ได้มีแต่ในกรณีของ Sanlu เท่านั้น มันยังเกี่ยวโยงถึงหน่วยงานอีกหลายหน่วยตั้งแต่ Shijiazhuang จนถึงรัฐบาลกลาง มันเป็นเรื่องของการตรวจสอบของส่วนกลางในเรื่องควบคุมคุณภาพอาหารระหว่างพ่อค้าและรัฐบาล
และในกรณีนม ศาลพยายามที่จะตัดสินให้แยกคดีออกเป็นสามจังหวัด คือ Gansu, Henan และ Guangdong ทนายความใน Henan จะพบกับการก่อกวนจากรัฐบาลมากกว่าที่อื่น มีทนายความไม่น้อยกว่า 20 คนได้ถอนตัวออกไป เมื่อ 27 กันยายน รัฐบาลได้เรียกทนายเข้าไปพบเพื่อให้ยุติคดี และเมื่อ 7 ตุลาคม กลุ่มอาสาสมัครต่างชาติได้กล่าวว่า รัฐบาลได้พูดกับทนายความโดยตรง เพื่อไม่ให้ทนายให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายกับครอบครัวผู้เสียหายทนายอีกหลายคนกล่าวว่ามันยากที่จะละเลยคำขอร้องของศาลจังหวัดหรือสมาคมทนายความ เนื่องจากหน่วยงานเหล่านี้ถูกควบคุมโดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นผู้ออกกฎในการอนุญาตทนายความ
เมื่อ 10 ตุลาคม กลุ่มของทนายความ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และผู้พิพากษาจากศาลอาญา (Supreme People’s Court) ได้มีการประชุม ณ People’s University เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับกรณีนมที่เกิดขึ้น
Chen Xianjie กล่าวเตือนว่าศาลของจีนไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องการร้องเรียนในชั้นศาล ถ้าหากศาลยอมรับกรณีที่เกิดใน Sanlu ผู้บริโภคก็จะไม่เชื่อในความคุ้มครองของกฎหมาย และยังกล่าวว่า มันคงจะดีต่อคำร้องของพ่อแม่เด็กในการต่อสู้ในระบบเดิมๆ รัฐบาลควรจะจัดการเหมือนกับเป็นเรื่องของการบริหาร และจ่ายค่าชดเชยให้ และควรรับผิดชอบเรื่องการรักษา และค่าชดเชยให้ด้วย
ในขณะที่ชาวจีนบางคนเกิดคำถามขึ้นว่า รัฐบาลควรนำภาษีที่ประชาชนจ่ายให้ไปใช้เป็นค่าชดเชยให้กับบริษัทเอกชนที่ทำความผิดหรือไม่?
แนวทางการแก้ไข
ควรมีการสร้างจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้น ซึ่งในกรณีนี้การปนเปื้อนเมลามีนในนมผงจะไม่เกิดขึ้น ถ้าผู้ผลิตมีจิตสำนึกและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งทางด้านเกษตรผู้เลี้ยงวัวนมที่เติมเมลามีนลงในน้ำนมดิบ และด้านบริษัทผู้ผลิตที่ต้องการลดต้นทุน โดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภค อีกทั้งยังละเลยต่อปัญหาไม่รีบแจ้งข่าวการปนเปื้อนเมลามีนในนมผงให้ประชาชนทราบ ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงทางด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค ชื่อเสียงของบริษัทและของประเทศ และยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าจีนลดลง เกิดปัญหาความระแวงในสินค้าและอาหาร ทำให้เศรษฐกิจของจีนได้ความเสียหายอย่างมาก
จะเห็นได้ว่าผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควรในการเรียกร้องสิทธิในฐานะผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐบาลพยายามที่จะคัดค้านการยื่นคำร้องเพื่อให้มีการพิจารณาคดีในชั้นศาลกับบริษัท Sanlu หรือการที่รัฐเข้ามาแทรกแซงโดยต้องการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้เสียหายมากกว่าที่จะให้มีการดำเนินคดี เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับบริษัท
ดังนั้นการเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภคในจีน รัฐจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง โดยในกรณีนี้รัฐควรปล่อยให้มีการดำเนินคดีไปตามขั้นตอนของศาลมากกว่าที่จะเข้าไปแทรกแซงกลไกดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความคุ้มครองทางกฎหมาย และเป็นคดีความตัวอย่างให้กับผู้ผลิต เพื่อให้เกิดความตระหนักในสิทธิของผู้บริโภค
- รัฐบาลจีนควรหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีก โดยรัฐบาลควรออกมาตรการที่เข้มงวดกับภาคการผลิต และเพิ่มหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพอาหารและสินค้าให้มากขึ้น ในส่วนของบริษัทต่างๆ ก็ควรเพิ่มมาตรการบริหารจัดการและตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารเพื่อให้มั่นใจว่าสินค้ามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ควรหาแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคหากเกิดความเสียหายจากการบริโภคสินค้าที่ไม่ปลอดภัยด้วย
ปัจจุบันทางการจีนได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานมผงปนเปื้อนเมลามีนแล้ว โดยเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2551 ทางการจีนได้กำหนดปริมาณสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์นม เช่น นมผงสำหรับทารก กำหนดให้มีเมลามีนไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อนมผง 1 กิโลกรัม เป็นต้น หากผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืน จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และจะถูกขึ้นบัญชี หรืออาจถึงขั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาตการผลิตได้ (รายละเอียดดังเอกสารแนบ)
เหตุการณ์ปัจจุบัน
ศาลจีนประหาร 2 เจ้าของนมปนเปื้อนเมลามีน
ศาลจีนตัดสินคดีนมผงปนเปื้อนเมลามีนแล้วเมื่อวันพฤหัสบดี โดยจำเลยทั้งหมด 21 คนที่เกี่ยวข้องในคดี ถูกตัดสินให้ประหารชีวิต 2 คน จำคุกคลอดชีวิต 2 คน ส่วนที่เหลือจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี จากคดีนมผงปนเปื้อนที่ทำให้เด็กเสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน และล้มป่วยอีกเกือบ 300,000 คน ที่กลายเป็นข่าวดังอื้อฉาวดังไปทั่วโลกเมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ว่า ศาลสูงเมืองฉีเจียจวง ทางเหนือของจีน นัดตัดสินคดีนมผงปนเปื้อนต่อจำเลย 21 คน เมื่อวันพฤหัสบดี โดยการตัดสินศาลให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลย 2 คน คือนายจาง ยูจุน และนายเกง จีนปิง จากความผิดฐานเป็นภัยต่อความปลอดภัยของสาธารณชน เนื่องจากเป็นเจ้าของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสารเมลามีนโดยใช้ชื่อผงโปรตีน ให้กับผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เด็กที่ดื่มนมผงปนเปื้อนสารดังกล่าว เสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน และล้มป่วยอีกเกือบ 300,000 คน
คดีนี้ศาลยังตัดสินให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตนางเถียน เหวินฮัว วัย 66 ปี อดีตกรรมการผู้จัดการ และประธานบริษัทซานหลู่ กรุ๊ป หลังให้การรับสารภาพว่า มีส่วนรู้เห็นกับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมปนเปื้อน และนายจาง ยันยาง ถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตเช่นกัน จากความผิดฐานซื้อและจำหน่ายผงเมลามีน ส่วนกลุ่มผู้บริหารบริษัทซานหลู่ส่วนที่เหลือและผู้เกี่ยวข้องที่ตกเป็นจำเลยร่วมในคดี ถูกตัดสินให้ลงโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี นอกจากนั้นศาลยังตัดสินให้บริษัทซานหลู่ กรุ๊ป ต้องจ่ายค่าปรับคิดเป็นเงิน 50 ล้านหยวน หรือประมาณ 255 ล้านบาทด้วย และปรับนางเถียน เหวินฮัว ประธานบริษัทซานหลู่ กรุ๊ป เป็นส่วนตัวอีก 20 ล้านหยวน หรือประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทซานหลู่ กรุ๊ป เป็นบริษัทผู้ผลิตนมผงรายใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นบริษัทแรกที่ถูกตรวจพบว่า จำหน่ายผลิตภัณฑ์นมผงปนเปื้อนสารเมลามีน ซึ่งเป็นสารสำคัญในการผลิตพลาสติก แต่ถูกนำมาผสมในผลิตภัณฑ์นม เพื่อให้ดูเหมือนว่ามีโปรตีนผสมอยู่ในปริมาณสูง แต่การทำเช่นนี้กลับทำให้เกิดผลข้างเคียง เด็กทารกจีนที่ดื่มนมล้มป่วยและเสียชีวิตจากสาเหตุโรคนิ่วในไต
ที่มา : news.212cafe.com