งานวิจัย

งานวิจัย เรื่อง การพัฒนาเครือข่ายงานคุ้มครองผู้บริโภคเชิงบูรณาการในจังหวัดสงขลา กรณีศึกษา ผลิตภัณฑ์อาหารและยา

by Little Bear @November,25 2008 14.14 ( IP : 61...52 ) | Tags : งานวิจัย

การวิจัยเพื่อพัฒนาเครือข่ายการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคเชิงบูรณาการในจังหวัดสงขลา

กรณีศึกษา : ผลิตภัณฑ์อาหารและยา

ผู้วิจัยหลัก : จุฑา สังขชาติ

ผู้ร่วมวิจัย : เปรมรัตน์ อุไรรัตน์ , สายใจ ปริยวาที , สมชาย ละอองพันธุ์

โครงการนี้ได้รับทุนอุดหนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ความเห็นและข้อเสนอแนะที่ปรากฏในเอกสารนี้เป็นของผู้วิจัย มิใช่ความเห็นของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

บทคัดย่อ

การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคเชิงบูรณาการในจังหวัดสงขลา กรณีศึกษา : ผลิตภัณฑ์อาหารและยา มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาสถานการณ์ปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดสงขลาและ ปัจจัย บทบาทหน้าที่ ปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดสงขลา โดยใช้การศึกษา 2 แบบ คือ การวิจัยเชิงปริมาณ เก็บข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้บริโภคในจังหวัดสงขลา จำนวน 360 คน และการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการ สัมภาษณ์ การศึกษาจากเอกสาร และการจัดเสวนากลุ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในการศึกษาครั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศชายและหญิงใกล้เคียงกัน มีอายุเฉลี่ย 32 ปี และส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เข้าใจคำว่า “บริโภค” ว่าหมายถึง การกินการใช้สินค้าและบริการ และเข้าใจว่าคนทุกคนคือผู้บริโภค และพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ในลำดับที่ใกล้เคียงกันเนื่องจากเห็นว่าทุกหน่วยงานควรร่วมกันมีบทบาทในการคุ้มครองผู้บริโภค

สถานการณ์การบริโภคอาหารจากแหล่งต่างๆ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการบริโภคอาหารจากแหล่งต่างๆ และมีความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และความเหมาะสมของราคา ในระดับปานกลาง มีเพียงอาหารในห้างสรรพสินค้าที่ผู้ตอบแบบสอบถาม มีความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ และด้านความปลอดภัยในระดับมาก ส่วนแหล่งอาหารที่พบปัญหามากที่สุด คือ ร้านอาหารริมทางเท้า ปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นปัญหาด้านความปลอดภัย ในขณะที่สถานการณ์ปัญหาของผลิตภัณฑ์อาหารจากการเฝ้าระวังของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา พบว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสูงที่สุดคือผลิตภัณฑ์น้ำดื่มในภาชนะปิดสนิท และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกร้องเรียนจากผู้บริโภคมากที่สุดเช่นกัน

สถานการณ์การบริโภคผลิตภัณฑ์ยาพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาจากโรงพยาบาล ร้านขายยา และคลีนิค ส่วนยาจากร้านขายของชำและยาจากตลาดส่วนใหญ่ไม่เคยบริโภค และมีความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์ยาจากโรงพยาบาลในด้านคุณภาพและราคาในระดับมาก ยาจากคลีนิคมีความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความปลอดภัยในระดับมาก ยาจากร้านขายยาและร้านขายของชำมีความเชื่อมั่นด้านต่างๆ ในระดับปานกลาง และยาจากตลาดมีความเชื่อมั่นในระดับน้อย ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ไม่เคยพบปัญหาจากการบริโภคยาจากแหล่งต่างๆ

การได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารและยาของผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลจากโทรทัศน์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในระดับมาก ส่วนวิธีการจัดการปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารและยา ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จัดการโดยการทิ้งหรือไม่ดำเนินการใดๆ หน่วยงานที่จะร้องเรียน 3 ลำดับแรก คือ อย. , สสจ. และ สคบ. ส่วนสิทธิผู้บริโภคผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่รู้สิทธิของบริโภค และสิทธิผู้บริโภคที่ถูกละเมิดมากที่สุด คือ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ

ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ การขาดนโยบายและแผนงานการคุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจน การมีทัศนคติด้านลบต่อผู้ร้องเรียน ช่องทางและกระบวนการร้องเรียนยากแก่การเข้าถึง การขาดข้อมูลทักษะที่จำเป็นในการคุ้มครองผู้บริโภค และขาดการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

แนวทางการพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคเชิงบูรณาการในจังหวัดสงขลานั้น จำเป็นต้องมีการปรับรูปแบบการดำเนินงาน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

  1. เป็นการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัด โดยการเพิ่มสัดส่วนของกรรมการในส่วนของภาคประชาชน นักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการร่วมกำหนดนโยบายในและแผนงานการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับจังหวัด
  2. จัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงานองค์กรเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดสงขลา ซึ่งต้องเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระจากระบบราชการ และการเมือง ดำเนินงานประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สร้างเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมวางแผนงานหรือนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับจังหวัด ซึ่งต้องเป็นนโยบายที่เกิดจากกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และเป็นศูนย์ฯ ที่ตั้งขึ้นเพื่อเสริมกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่ระบบการคุ้มครองผู้บริโภคแบบเดิมไม่สามารถแก้ไขได้

อ่านงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้จากไฟล์ กรณีศึกษา ผลิตภัณฑ์อาหารและยา

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง