จันทร์, 07 กรกฎาคม 2008
"สบท." เดินหน้าจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย หลังประกาศมาตรฐานสัญญาบริการโทรคมนาคม ระบุชัดห้ามกำหนดวันหมดอายุบริการ "พรีเพด" ย้ำชัดยักษ์มือถือต้อง "คืนเงิน" ลูกค้า แต่เปิดทางเลือก "โอนเงิน" ให้เบอร์อื่นได้ พร้อมยืดอายุบัตรเติมเงินขั้นต่ำ 90 วัน ส่วนกรณีร้องเรียน "ทรูมูฟ" ตกลงกันได้แล้ว วัดใจ "กทช." ทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สบท.ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการคืนเงินแก่ผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือแบบจ่ายล่วงหน้า (พรีเพด) ในกรณีซิมการ์ดหมดอายุ แต่ยังมีเงินเหลือในบัญชี โดยมีแนวปฏิบัติ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ต้องคืนเงินคงค้างในซิมการ์ดที่หมดอายุ เพราะเงินส่วนนี้ไม่ใช่เงินของโอเปอเรเตอร์ 2. ผู้บริโภคเลือกโอนเงินคงเหลือในซิมการ์ดไปยังเลขหมายอื่นที่ยังใช้งานได้ และ 3.เสนอให้เพิ่มวันหมดอายุในบัตรเติมเงินขั้นต่ำเป็น 90 วัน เพราะเวลาที่กำหนดอยู่ทุกวันนี้สั้นเกินไป
"บัตรโทรศัพท์ของทีโอที ราคา 50 บาท แต่ใช้งานได้ 3 ปี ทำไมบัตรเติมเงินราคา 100 บาท กลับใช้งานได้แค่ 10 วัน เราคงต้องขอให้โอเปอเรเตอร์ชี้แจงต้นทุนต่างๆ หรือเรื่องการคืนเงิน โอเปอเรเตอร์มีเงื่อนไข เช่น หักภาษีไปแล้วหรือแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้คนขายบัตรแล้ว แต่เรายืนยันตามเดิมว่า ต้องคืนเงินเต็มจำนวนคงเหลือทั้งหมด"
ก่อนหน้านี้ สบท.ได้เชิญตัวแทนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกรายมาหารือร่วมกันเพื่อหาทางคลี่คลายปัญหาดังกล่าว รวมถึงขอให้ทุกรายกลับไปหาวิธีดำเนินการในการคืนเงินแก่ผู้บริโภค แต่มีเพียงทรูมูฟรายเดียวทำหนังสือกลับมา แต่เป็นการชี้แจงภาระต้นทุนของโอเปอเรเตอร์ ซึ่ง สบท.ได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวให้คณะกรรมการ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) พิจารณาแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะบรรจุเข้าในวาระการพิจารณาเมื่อใด
ทั้งนี้ เมื่อ กทช.พิจารณาในประเด็นดังกล่าวแล้ว สบท.จะนำแนวทางนั้นกลับมาจัดทำเป็นประกาศ กทช.เพื่อใช้บังคับต่อไป
แหล่งข่าวจากบริษัท ทรูมูฟ จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ประเด็นนี้ต้องแล้วแต่ กทช.ว่าจะกำหนดนโยบายอย่างไร เพื่อให้เกิดความชัดเจน แต่โดยภาพรวมแล้วผู้ประกอบการคงไม่สามารถคืนเงินได้ทั้ง 100% เพราะมีการจ่ายส่วนแบ่ง รายได้ให้ผู้ให้สัมปทานไปแล้ว อย่างทรูมูฟและ ดีแทคจ่ายส่วนแบ่ง 25% ขณะที่เอไอเอสอยู่ที่ 20% ดังนั้นหากมีเงินคงเหลือในซิมการ์ด 100 บาทก็อาจจะคืนได้แค่ 75-80 บาทเท่านั้น ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมต้นทุนค่าดำเนินการอีกด้วย
"ขอตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากมีการคืนเงินในซิมการ์ดแล้วจะกลายเป็นช่องทางในการฟอกเงินหรือไม่ เช่น ช่วงเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องซื้อเสียงด้วยเงินสดแล้ว แค่เติมเงินเข้าไป 600 บาท แล้วแจกซิมการ์ดให้ชาวบ้านไปขึ้นเงินเอง ชาวบ้านก็จะได้เงินประมาณ 500 บาท กว่าจะได้เงินก็พ้นช่วงเลือกตั้งไปแล้ว เรื่องนี้ก็แล้วแต่ทาง กทช.ว่าจะมีนโยบายอย่างไร"
ด้าน พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ต้องหารือระหว่างกรรมการอีกครั้งว่าจะมีนโยบายในเรื่องดังกล่าวอย่างไร และอาจต้องเชิญผู้ประกอบการมาให้ข้อมูลด้วย อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ ต่อไปในที่ประชุม กทช.จะมีการหารือเกี่ยวกับการบังคับใช้ประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานสัญญาบริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 เพราะมีข้อกำหนดห้ามผู้ประกอบการกำหนดวันหมดอายุสำหรับบริการพรีเพด แต่ไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง
"ต่อไปคงต้องเข้มงวดกับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะเป็นผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรง" พล.อ.ชูชาติกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเสนอของ สบท. สืบเนื่องมาจากหลังประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานสัญญาบริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 มีผลบังคับใช้แล้วแต่ไม่มีการนำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับบัตรเติมเงินบริการโทรศัพท์มือถือ เนื่อง จากในข้อ 11 ของประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า บริการโทรคมนาคมในลักษณะที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการล่วงหน้า ต้องไม่มีข้อกำหนดอันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้า
และปัจจุบันบัตรเติมเงินของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแต่ละรายยังคงกำหนดวันหมดอายุ เช่น บัตรราคา 100 บาท ใช้ได้ 10 วัน หรือ 300 บาท ใช้ได้ 30 วัน เป็นต้น จนกระทั่งเมื่อเดือน พ.ค.2551 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้สิทธิร้องเรียนผ่าน สบท. โดยนายพีรพงษ์ คงธนาสมบูรณ์ ร้องเรียนบริษัท ทรูมูฟ จำกัด กรณีไม่ปฏิบัติตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานสัญญาบริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ในข้อบังคับที่ 11
ทาง สบท.จึงนัดหมายให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาให้ข้อมูล ได้ข้อสรุปว่า การกระทำของโอเปอเรเตอร์ขัดต่อประกาศ กทช.อย่างชัดเจน จึงทำข้อเสนอถึง กทช.ขอให้มีคำสั่งหรือแนวทางปฏิบัติออกมาว่า จะมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ยังไม่ทันที่จะมีการดำเนินการใดๆ ปรากฏว่านายพีรพงษ์เจรจาไกล่เกลี่ยกับทรูมูฟเป็นผลสำเร็จ จึงถอนเรื่องร้องเรียนออกจากกระบวนการดำเนินการ ทำให้กระบวนการร้องเรียนดำเนินไปไม่ถึงที่สุด สบท.จึงได้จัดทำข้อเสนอข้างต้นเสนอให้ กทช.พิจารณาแทน
ด้านนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ลูกค้าดีแทคไม่มีปัญหาเรื่องเงินเหลือค้างในซิมการ์ด เนื่องจากมีบริการใจดีแจกวันที่ให้ลูกค้าขอวันใช้เพิ่มได้คิดค่าธรรมเนียมเดือนละ 2 บาท (6 บาท 90 วัน 12 บาท 180 วัน) แต่ถ้าเป็นประโยชน์กับประชาชนผู้ใช้บริการและปฏิบัติได้จริง บริษัทก็ยินดีดำเนินการตามข้อเสนอของ สบท.
ที่มา : http://www.wiseknow.com/content/view/343/9/
สรุปประเด็นและเสนอแนะโดย นางสาวเก็จกุล วั่นเลี่ยง
ปัญหา
นายพีรพงษ์ คงธนาสมบูรณ์ได้เข้าร้องเรียนต่อสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เนื่องจากปัญหาซิมการ์ดมีกำหนดเวลาหมดอายุ ทำให้ต้องมีการเติมเงินเข้าสู่ระบบอยู่ทุกๆ30วัน เพื่อต่ออายุซิมการ์ด ทั้งๆที่ใช้ไปเพียงไม่เท่าไหร่ ซึ่งความจริงแล้วเวลาไม่ควรจะมาเป็นเงื่อนไขในการให้บริการ เนื่องจากมีการบังคับใช้ประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานสัญญาบริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามผู้ประกอบการกำหนดวันหมดอายุสำหรับบริการพรีเพด แต่ไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง
วิธีการแก้ไข
ทางบริษัทได้ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ร้องเรียนโดยให้สามารถใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินได้โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา หากแต่ต้องมีการใช้งานคือ โทรเข้า หรือรับสายอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ภายในระยะเวลา 90 วัน
สบท.ยังได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการคืนเงินแก่ผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือแบบจ่ายล่วงหน้า (พรีเพด) ในกรณีซิมการ์ดหมดอายุ แต่ยังมีเงินเหลือในบัญชี โดยมีแนวปฏิบัติ 3 ข้อ ประกอบด้วย
- ต้องคืนเงินคงค้างในซิมการ์ดที่หมดอายุ เพราะเงินส่วนนี้ไม่ใช่เงินของผู้ให้บริการ
- ผู้บริโภคเลือกโอนเงินคงเหลือในซิมการ์ดไปยังเลขหมายอื่นที่ยังใช้งานได้
- เสนอให้เพิ่มวันหมดอายุในบัตรเติมเงินขั้นต่ำเป็น 90 วัน เพราะเวลาที่กำหนดอยู่ทุกวันนี้สั้นเกินไป
Relate topics
- แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับแผนการส่งเสริมการอ่าน กลุ่มระบัดใบ
- การประชุมเชิงปฏิบัติการบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวตกรรม ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงอาหารจังหวัดสงขลา
- น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา"การตั้งราคา 3 จีมีเงื่อนงำ" "ผู้ประมูลฉลาดกว่า กสทช."
- สมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภคโดดร่วมฟ้องล้ม 3G
- อันตราย! สินค้าหลอกลวงเกลื่อนเมือง สื่อดาวเทียมตัวแพร่ระบาด