อื่น ๆ

น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา"การตั้งราคา 3 จีมีเงื่อนงำ" "ผู้ประมูลฉลาดกว่า กสทช."

by twoseadj @October,28 2012 11.49 ( IP : 113...69 ) | Tags : อื่น ๆ , ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 460x386 pixel , 28,443 bytes.

ถือเป็นประเด็นร้อนแรงและเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยทั่วไป ในการประมูล 3G คลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ต้องถือเป็นงานใหญ่ระดับประเทศ เพราะเป็นการประมูลคลื่นความถี่ครั้งแรกของไทย และยิ่งเป็นประเด็นที่น่าติดตามต่อไปอีก เมื่อ น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ออกมาระบุว่า การประมูลดังกล่าว อาจขัดกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
      ทั้งนี้ การประชุมกรรมการกิจการโทรคมนาคม ( กทค.) เพื่อรับรองผลการประมูล 3 จี ในช่วงของวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังการประชุมกว่า 3 ชั่วโมง ที่ได้มีการลงมติออกมาเป็น 4 ต่อ 1 โดย กทค.ที่ให้การรับรอง 4 รายได้แก่ ได้แก่ พันเอกเศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. นายสุทธิพล ทวีชัยการ นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร และหนึ่งเสียง กทค. ที่ไม่รับรองก็คือ นพ. ประวิทย์ ซึ่งก็ถือเป็นเสียงเดียวที่สวนทางกับ กสทช.ส่วนใหญ่
      ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ได้พูดคุย น.พ.ประวิทย์ ว่าแท้จริงแล้วการประมูล 3G ในคลื่นความถี่ 2.1 GHz มีความผิดปกติอย่างไร เหตุใดจึงอาจเข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
      ในฐานะที่นั่งเป็นกรรมการกสทช.อยู่ และได้โหวตสวนกสทช.เสียงข้างมาก ที่กำลังจะผลักดัน 3 จี ให้เกิดขึ้น ดูเหมือน กสทช.กำลังมีปัญหาอะไรหรือไม่
      กสทช.ทำงานเป็นองค์คณะ ใช้หลักเสียงข้างมากอยู่แล้ว แต่กฎหมายบังคับว่า จะต้องเปิดเผยผลการลงมติเป็นรายบุคคล ฉะนั้นผมในฐานะเสียงข้างน้อยก็ต้องลงบันทึกความเห็นว่าเห็นต่างอย่างไร โดยหลักถ้าสังคมไม่ตอบรับ เห็นว่าคำค้านไม่เป็นสาระสำคัญอะไร เรื่องมันก็คงเงียบไป ไม่มีทางที่ผมคนเดียวหรือคุณสุภิญญา(กลางณรงค์) จะปลุกสังคมได้ แสดงว่าสิ่งที่เราพูดไว้มันเป็นประเด็น สังคมและสื่อมวลชนก็เลยลุกขึ้นมาถามคำถาม จนหลายฝ่ายมองว่าเป็นขบวนการล้ม กสทช. ล้มการประมูล 3 จี ผมก็เลยงงว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะสื่อมวลชนแต่ละท่านที่ตั้งคำถามในทำนองเดียวกับผมก็ถือเป็นผู้อาวุโสในวงการสื่อทั้งนั้น
      ต้องเรียนให้ทราบว่าโดยหลักไม่ใช่ความแตกแยกของ กสทช. มันเป็นเรื่องความเห็นต่างตามปกติซึ่งหน่วยงานรัฐอาจจะไม่ชิน ที่ไม่ชินคงเพราะว่าส่วนใหญ่มาจากสายข้าราชการเก่า ข้าราชการเกษียณ ผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ แต่ในพ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ระบุว่า ให้มีตัวแทนผู้บริโภคด้วย ตัวแทนที่พิทักษ์สิทธิของประชาชนด้วย อันนี้คือความแปลกใหม่ที่มีตัวเลือกเข้ามา ถ้าถามว่าความเห็นไหนถูก ง่ายนิดเดียวคือประชาชนนเป็นผู้ตัดสิน ดังนั้นการทำงานในฐานะกรรมการ กสทช.ต้องชินกับเรื่องความเห็นต่าง แน่นอนการดำเนินการก็ต้องเคารพเสียงข้างมาก ส่วนกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องก็ต้องว่ากันไป
      ความเห็นขณะนี้ยังยืนยันหรือไม่ว่า การประมูลครั้งนี้มีการกระทำผิดกฎหมาย
      ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน สมัยนั้นกทช. กังวลเรื่องการประมูลจะไม่เกิดการแข่งขัน สูตรที่เขาทำก็คือใช้ เอ็นลบ 1 กล่าวคือ ถ้ามีผู้ร่วมประมูล 3 ราย ก็ออกแค่ 2 ใบอนุญาต อีก 1 ใบ ไม่ได้ทิ้งไปไหน เดี๋ยวนี้การสร้างความสับสนให้สังคมว่า ทำให้สูญเสียทรัพยากรไปเล่นๆ แต่ความเป็นจริงก็คือนำไปจัดสรรใหม่ในอีก 1ปี หรืออีก 6 เดือนข้างหน้า เพื่อให้เกิดระยะเวลาความแตกต่างในเรื่องเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาในการประมูล แต่ กสทช.ชุดปัจจุบัน ก็หาทางเลือกคือ ซอยคลื่นให้เป็น 9 ช่อง แล้วให้รายใดก็ตามแต่ประมูลได้สูงสุด 4 ช่อง มันก็จบที่ 4-3-2 เช่นรายใหญ่อยากประมูลได้ 4 ช่อง รายเล็กก็จะเหลือ 3 ช่องหรือ 2 ช่อง คราวนี้ก็จะประมูลแข่งกันไป ถือเป็นการสู้ราคา ในลักษณะนี้ราคาตั้งต้นถือว่าไม่เป็นสาระสำคัญ
      ยกตัวอย่างเช่นว่า เหมือนมีไอโฟนอยู่ 9 เครื่อง ไปเปิดประมูลในอินเตอร์เน็ต โดยตั้งราคาไว้ 1 บาท ราคาแบบนี้ไม่ต้องห่วงว่าคนจะไม่สู้ราคาเพราะคนมีเป็นหมื่นเป็นแสนคน มันก็ต้องมีการเคาะราคาสู้ ขั้นตอนนี้อาจไม่เป็นปัญหา เพราะมีการแข่งขันด้านราคา ราคาตั้งต้นเท่าไหร่ก็ว่ากันไป แต่อยู่ๆมาลดเพดานคลื่นความถี่จาก 4 เป็น 3 ทั้งที่คาดการณ์อยู่แล้วว่าบริษัทเชิงพาณิชย์ที่แข็งแกร่งในประเทศไทยมีอยู่ 3ราย ออกมาแบบนี้ก็จะเป็นรายละ 3 ลงตัวพอดี ซึ่งตรงนี้เป็นสภาพที่ต้องยอมรับเพราะ กสทช.อยากเปิดประมูลเร็ว ถ้าเป็นประทศสหรัฐเอมริกา ประกาศก่อน 1ปี ถึงจะมีการประมูลเกิดขึ้น คือต้องให้บริษัทต่างๆ ไปทำแผนธุรกิจ ไปคุยกับพันธมิตรทางด้านการเงิน ไปสำรวจพื้นที่จริงว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม คราวนี้ก็จะเกิดผู้ประกอบการรายใหม่ขึ้นมาแข่ง
      แต่ไทยเราประกาศปุ๊บ 30 วัน เกิดการประมูล ใครจะไปตั้งบริษัทมาแข่งขันทัน ไปขอกู้แบงก์ก็คงกู้ไม่ได้ แค่ไปทำแผนธุรกิจยังไม่ทันเลย โดยรวมข้อจำกัดจึงชัดเจนว่าคงจะไม่มีรายใหม่ปรากฏมาแน่ๆ จึงเป็น 3 ราย อย่างที่เห็นในความเป็นจริง ก็ชัดว่าหากเราลดจาก 4 ราย เป็น 3รายมันจะไม่เข้มข้น
      วิธีแก้ปัญหาคือต้องปรับราคาตั้งต้น สมมุติมีไอโฟนอยู่ 9 เครื่อง มีผู้ประมูล 3 ราย ก็ลงตัวพอดีอยู่แล้ว ฉะนั้นเราจะกล้าบอกไอโฟนบาทเดียวไหม อย่างนั้นก็ขาดทุนหมด ขนาดเครื่องละหมื่นก็ยังขาดทุนอยู่ดี ฉะนั้นราคาตั้งต้นต้องใกล้เคียงกับราคาในท้องตลาดจริง ถึงจะไม่ขาดทุน เช่นเดียวกับการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ ผมก็เสนอว่าควรจะขยับราคาตั้งต้นขึ้น ถ้าเราคิดว่ามันจะเกิดการสู้ราคากัน 5 เปอร์เซ็นต์ เราก็ตั้งที่ 95 ถ้าเราคากว่าจะมีการสู้กัน 10 เปอเซ็นต์ เราก็ตั้งที่ 90 แต่ที่ประชุม กสทช.บอกว่าควรตั้งที่ 70 ผมก็เห็นแย้งว่าโอกาสที่จะจบที่ 70 มันมีสูง หลายท่านก็บอกว่าอย่าไปคาดการณ์ ต้องดูกันจริงเลยว่าจะมีการแข่งขันกันแน่นอน
      สำหรับผมจึงมีจุดยืนว่าเห็นว่าราคาตั้งต้นอาจไม่เหมาะสม พอมาประมูลจริงมันจบแบบที่เห็น คือ 6 ชุดจาก 9 ชุด จบที่ราคาตั้งต้น ซึ่งมันเป็นแบบที่ผมคาดการณ์ไว้แต่ไม่มีใครเชื่อ นั่นไม่เท่าไหร่ ยิ่งมาดูพฤติกรรมการเสนอราคาจริง เราจะพบว่ามีอยู่หนึ่งเจ้า ที่มีสิทธิ์เสนอ 3 แล้วจริงๆ อยากได้ 3 แต่ใช้เทคนิคโดยการเสนอในรอบแรกแค่ 2 เท่ากับเป็นการทำให้เกิดสล็อตว่าง ต่อให้บวกกัน 3 +3+2 ยังไงก็ต้องเป็น 8 ใครจะแข่งราคาอะไรกันก็ตามแต่ อีกรายก็จะไม่สนก็หนีไปที่สล็อตว่าง นอกจากวิธีนี้จะไม่ทำให้เกิดการแข่งขันราคาแล้วยังทำให้เกิดการดึงราคาอีกด้วย ถามว่าวิธีแบบนี้เป็นการประมูลหรือไม่ วิธีลักษณะนี้เป็นยุทธศาสตร์ ถามว่าผิดกติกาไหม ทางกสทช.บอกว่าไม่ผิด แต่ชัดเจนว่าไม่ใช่การสู้ราคา ถ้าครั้งแรกเสนอ 3 ยังพอเข้าใจได้ว่า แต่เขาเสนอ 2 ปล่อยให้ช่องว่าง พอไม่มีใครเอาเขาก็มาเอาในรอบสุดท้าย
      ที่สำคัญต้องบอกว่าบอกผู้ประมูลมองทะลุไปถึงวิธีการออกแบบการประมูลเลยด้วยซ้ำ ขนาดกรรมการที่ออกแบบการประมูลยังคาดไม่ถึง ยกตัวอย่าง ครั้งแรกในการประมูลตอนเช้า กรรมการยังยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะประมูลไม่ครบ 9 สล็อต แต่พอรอบแรกมีคนทำปุ๊บ เราก็กลับไปอ่านกติกาใหม่ ปรากฏว่าทำได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผู้ประมูลฉลาดกว่า อ่านกติกาได้ทะลุปรุโปร่งกว่า แล้วพอมารอบที่5 ที่ไม่มีการเสนอราคา สำนักงานก็บอกว่ารอบสุดท้ายละ ในรอบที่ 6 ปรากฏว่ามีเจ้าหนึ่งเสนอช่องที่ว่างอยู่ พอสำนักงานกลับไปอ่านกติกาก็ปรากฏว่าทำได้อีกแล้ว ซึ่งมันก็ไม่ผิดกติกาด้วย เท่ากับว่ากติกามันไม่รัดกุม ซึ่งช่องว่างเหล่านี้ เป็นการแสดงเจตนาไม่สู้ราคา เพราะมีสล็อตว่างเหลืออยู่จึงไม่มีใครคิดจะแข่งขันราคากัน นี้เป็นการสร้างภาพให้เห็นว่าของเหลือเกินความต้องการ ราคาจึงไม่ขึ้นสูง
      ดูเหมือนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กสทช. พยายามกำลังทำให้สังคมเห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมี 3 จีใช้ เหมือนเป็นการกดันสังคมอีกทางหนึ่ง และล่าสุดก็พลิกสถานการณ์ด้วยการออกกฎเหล็ก 6ข้อ ที่จะทำให้ไปบีบบริษัทให้ลดราคาลง
      อันที่หนึ่งคือมีการสร้างวาทกรรมให้เกิดความสับสน ความเป็นจริงคือ ณ ปัจจุบันเทคโนโลยี 3 จี ใช้เกือบทุกย่านความถี่แล้ว อย่างเช่น คลื่น 800 ทาง กสท.และดีแทค ก็ให้บริการอยู่ คลื่น 2.1 กิกะเฮิร์ตซ ทางทีโอทีก็ให้บริการ จึงมีการสร้างวาทกรรมว่ามี 3 จีแท้ เทียม ต้องถามก่อนว่า 2.1 ที่ทีโอทีให้บริการมันเทียมตรงไหน เพียงแต่ว่าเปลี่ยนการใช้คลื่นเป็นทางด่วน ทางด่วนมันแคบ ก็เลยต้องตัดทางด่วนเพิ่มก็คือเปิดประมูลเพิ่ม ผลที่ตามมาของมันก็คือว่า จะทำให้เกิดการลดราคาค่าบริการ ไม่ใช่เพราะว่าประมูลได้ถูกนะ ต่อให้ประมูลได้แพง ประมูลราคาใดก็ตามแต่ ค่าบริการจะลด
      ถามว่าทำไม มาจากสองปัจจัยหลักแรก ระบบสัมปทานเดิม เอไอเอส ดีแทค ทรู หาเงินหารายได้ 100 บาท ต้องแบ่งให้ทีโอที หรือกสท. ตามสัญญาสัมปทาน 20-30 บาท แต่ระบบใบอณุญาต 3 จี ไม่ต้องส่งรายได้บางส่วนให้รัฐ เสียแค่ค่าธรรมเนียม 2 เปอร์เซ็นต์ บวกค่าบริการเพิ่มอีก 3.75 เปอร์เซ็นต์ ก็คือไม่ถึง 6 เปอร์เซ็นต์ จากที่แต่ก่อนโดนหัก 20-30 เปอร์เซ็นต์ เห็นเลยว่าลดทันที 24 เปอร์เซ็นต์ คือถ้าขณะนี้ผู้ประกอบการไปคิดราคาแค่คงที่ก็ถือว่าเอาเปรียบแล้ว อย่าไปถึงขั้นต้องเพิ่มราคาเลย
      แบบที่ 2 ขณะนี้มันมีสิ่งที่เรียกว่าเชื่อมต่อโครงข่าย เอไอเอส ดีแทค ทรู โทรหากันคิดนาทีละ 1บาท สลับกันไปสลับกันมา 1 บาทก็มาจากที่บริษัทเขาตกลงกันเอง ซึ่งทาง กสทช.เดิมให้เขาตกลงกันเอง แต่ต้นทุนจริงจากการประมาณการไม่ถึง 50 สตางค์ บังเอิญถ้าเอกชนตกลงกันไม่ได้ให้ใช้ค่าบริการแค่ 50 สตางค์ ซึ่งทุกค่ายทำกับ กสทช. 50 สตางค์ แต่ยังทำกันเอง 1บาท ถ้าทุกค่ายลดจาก 1 บาท เหลือ 50 สตางค์ ต้นทุนต่อนาทีลดลงทันทีทันที 50 สตางค์ คิดเป็นเงินได้มากมายมหาศาล ฉะนั้นระบบประมูลและได้ใบอนุญาต 3จี ต้นทุนค่าเชื่อมต่อโครงข่ายก็จะลดลงทันที 50 สตางค์ และถามว่าราคาค่าบริการจะไม่ลดลงเลยหรือ ส่วนที่บอกว่าตั้งราคาประมูลถูกๆเพื่อให้เอกชนไปลดค่าบริการ อันนี้จึงไม่ใช่ละ เพราะว่าไม่ว่าถูกหรือแพง ส่วนตรงนี้ก็ต้องลดราคาลงอยู่แล้ว ยิ่งถ้าได้ประมูลถูกไปก็เหมือนได้กำไรสองต่อ
      เกิดอะไรขึ้นกับ กสทช. เมื่อเห็นภาพอย่างที่อธิบายมา เหมือนเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์
      แต่ละท่านใน กสทช.มาแตกต่างกันในวิชาชีพ ซึ่งมีการออกแบบมาลักษณะนี้ เช่นมีนักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ ฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค แต่ละท่านก็มีพื้นเพแตกต่างกันไป อย่างเช่นที่เกิดขึ้นผมก็เห็นว่าสุดท้ายผู้บริโภคอาจจะไม่ได้อะไรเลย และภาครัฐก็ได้รายได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นตรงนี้ก็เกิด คำถามได้ว่า ที่มีการให้ข่าวว่ารัฐเสียผลประโยชน์ไปหมื่นกว่าล้านบาท เป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้องคลาดเคลื่อน ซึ่งผมจะเรียนอย่างนี้ ข้อมูลสำคัญมาจากการศึกษาวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แปลกอย่ายิ่งคือไม่มีการเผยแพร่รายงานฉบับนี้ทั้งที่กฎหมายระบุให้เผยแพร่ แต่มีแค่มาเปิดเผยรายงานสรุปให้แก่ผู้บริหารเท่านั้น แม้แต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบประสานงานมาเพื่อขอรายงานชิ้นนี้จากสำนักงานก็ไม่ให้ มีคนมาถามผมว่าขอดูได้หรือไม่ ผมก็บอกว่าดูได้เพราะเป็นรายงานที่สามารถเปิดเผย
      ต้องเรียนว่าคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปรวบรวมข้อมูลราคาชนะประมูลทั่วโลกมา แล้วมาประมาณการประเทศไทยว่า ประชาชนกรเท่านี้ ระดับเศรษฐกิจเท่านี้ ควรจะเป็นเท่าไหร่ จึงเคาะตัวเลขไว้ประมาณ หกพันกว่าล้าน แปลง่ายๆคือ ราคาที่ชนะในการประมูลของประเทศไทย ไม่ว่าจะอ้างอะไรก็ตาม เป้าหมายประเทศไทยควรจะได้ราคาชนะประมูลราคานี้ ยุทธศาสตร์การกำหนดราคาตั้งต้นอย่างที่บอกอาจจะกำหนดราคาต่ำ แต่ถ้ามันจะไม่เคาะราคาก็ควรกำหนดให้ใกล้กัน ท่านก็บอกว่าทางจุฬาลงกรณ์ เสนอว่าให้ใช้ราคาตั้งต้นที่ 67 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันไม่เป็นความจริง คณะเศรษฐศาสตร์บอกว่าไม่ควรต่ำกว่า 67 เปอร์เซ็นต์ท่านก็บอกว่านี้ไง 70 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ต่ำกว่า ข้อเท็จจริงคือคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ทำการศึกษามา แล้วก็บอกว่าความสัมพันธ์ระหว่าง สัดส่วนราคาตั้งต้นที่เหมาะสมกับ จำนวนผู้ประกอบการที่ร่วมประมูล ต้องย้ำว่าที่เหมาะสมด้วย ถ้า 70 เปอร์เซ็นต์อย่างที่ท่านว่า จำนวนผู้ประมูลต้องมีประมาณ 6 ราย แต่ถ้า 3ราย ต้องลงที่ 82 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นราคาขั้นต่ำที่เหมาะสมของการประมูลครั้งนี้ต้อง 82 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทาง กสทช.ไม่อ่านตารางกัน ท่านไปอ่านอันสุดท้ายแล้วมาบอก 67 เปอร์เซ็นต์เหมาะสม คือถ้าเป็น 82 เปอร์เซ็นต์ราคาตั้งต้นจะเป็นห้าพันกว่าล้านบาท ไม่ใช่สี่พันห้า อันนี้เป็นประเด็นที่หนึ่ง
      ประเด็นที่สองที่ซ่อนเงื่อนกว่านั้น รายงานฉบับสมบูรณ์เพิ่งจะมาวันที่ 10 ตุลาคม และท่านประธานเองก็ได้ต้อนรับคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง ตอนต้นเดือนและได้บอกที่ประชุมว่าได้รับมาเมื่อสองวันก่อน พอผมทราบผมก็เลยขอ แต่รายงานที่เป็นทางการอีกฉบับก่อนหน้านี้ 21 สิงหาคม เรียกว่าฉบับร่าง ข้อมูลที่ขำก็คือว่า กสทช.มีการประมูลเรื่อง 3 จี วันที่ 22 สิงหาคม รายงานนี้ได้ส่งมาก่อน ราคาที่ท่านอ้างว่า 6,440 ล้าน ไม่จริง รายงานที่จุฬาฯ ส่งมา 6,676 ล้าน ดังนั้นต่อให้คิด 70 เปอร์เซ็นต์อย่างท่าน วิธีนี้ก็ทำให้เงินหายไป 200 ล้านอยู่ดี ต่อ 1ใบอนุญาต 9 ใบ ก็ตีเป็น 1,800 ล้านบาท
      ท่านก็บอกว่าผมไปหยิบตัวเลขมาจากไหนไม่เคยเห็น ตัวเลขมาจากหนังสือนำส่งของสำนักงาน วันที่ 21 สิงหาคม แล้วเป็นข้อมูลเพื่อประชุม กสทช. วันที่ 22 สิงหาคม แต่พอท่านรู้ว่าตัวเลขนี้ พอเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ซึ่งส่งมาวันที่ 10 ตุลาคม ตัวเลขถูกแก้เป็น 6,640 ล้าน ตามที่ท่านให้ข่าวล่วงหน้าเลย ผมท้าเลยว่าต่อให้คิด 70เปอร์เซ็นต์ ณ วันประชุม ต้องเป็น 4,700 ล้าน ตัวเลข 6,440 ล้านเป็นเพียงตัวเลขแค่วาจา แต่ในเอกสารยืนยันตัวเลข 6,676 ล้าน ดังนั้นการตั้งราคาประมูล 3จี มีเงื่อนงำแน่นอน
      คิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป สำหรับเรื่องนี้ที่คาดว่าจะมีเงื่อนงำไม่โปร่งใส
      เป็นเรื่องที่เป็นหน่วยงานตรวจสอบ ก็ทำหน้าที่ต่อไป ซึ่งทาง กสทช.ก็บอกว่าจะไปยื่นเรื่อง เอกสารต่างๆ เพื่อให้ตรวจสอบว่าโปร่งใส ซึ่งผมไม่เคยกังขาว่าท่านจะไม่กล้ายื่น แต่ขอให้ท่านยื่นเอกสารให้ครบทุกชุดด้วย ให้เห็นตัวเลขการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตัวเลขราคาประเมิน มูลค่าคลื่นความถี่ด้วย ว่าวันไหนเป็นอย่างไร วันที่ท่านรู้เป็นมติ ว่าตัวเลข 6,440 หรือ 6,676 กันแน่ แล้ว 200 ล้านมันหายไปไหน ซึ่งถ้ายื่นครบผมไม่กลัว
      จากข้อมูลที่ได้ฟังเหมือนกับว่ามันมีขบวนการอะไรอยู่หรือไม่
      ผมจะอธิบายแบบนี้ อันนี้เป็นเค้าโครงความคิด คือเมื่อตอนต้นปีที่คิดจะเปิดประมูล 3จี ท่านก็ให้ข่าวว่าเทคโนโลยี 3 จี ไม่ต้องทำแบบ ดร.นที (ศุกลรัตน์) แบบสมัยก่อนคือ 15 เมกกะเฮิร์ต แค่ 5 เมกกะเฮิร์ต ก็ให้บริการได้ เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องซอยคลื่นออกเป็น 9 ช่อง และท่านก็ให้ข่าวว่าคลื่นมันถูกลงกว่าก่อน 12,800 ล้านบาท สมัยสองปีก่อน มันต้องต่ำกว่านี้ นี่คือรายงานข่าวที่ถูกกำหนดขึ้น แต่รายงานวิจัยของจุฬาฯระบุไว้ชัดเจน ใส่ตัวแปรทั้งหมดที่เป็นปัจจุบัน มูลค่าคลื่นความถี่จะแพงขึ้น ถ้าคิด 15 เมกกะเฮิร์ต จะเป็น 19,000 ล้าน จึงเห็นชัดได้ว่ามีขบวนการสร้างทิศทางข่าวว่าคลื่นถูก ทั้งตอนไปพุดให้กรรมาธิการการเมืองฟังก็ยังยืนยันว่าคลื่นถูกลง ผมก็เลยหยิบข้อมูลรายงาน ขึ้นมากางว่า มันถูกลงตรงไหน คุณว่าจุฬาฯ ประเมินผิดเหรอ อีกเรื่องรายงานของจุฬาฯ ที่ไปหาข้อมูลวิจัยทั่วโลกระบุว่าไม่มีหรอกที่จะซอยคลื่นเหลือ 5 เมกกะเฮิร์ต ขั้นต่ำทั่วโลกคือ 10 เมกกะเฮิร์ต ทิศทางข่าวจึงมีการชี้นำให้สังคมเห็นว่าคลื่นถูกลง และพยายามบอกว่าให้เป็น 5 เมกกะเฮิร์ตให้ได้ พอสุดท้ายจะประมูลจริงก็ลดสัดส่วนราคาตั้งต้นลง และมาทำจาก 4 สล็อตให้เหลือ 3 สล็อต
      สุดท้ายถ้า กสทช.มีมติให้การประมูลผ่านไป ทางส่วนตัวยังยืนยันที่จะไม่เห็นด้วยอยู่หรือไม่
      ต้องเรียนว่า เสียงประชุมข้างมากใน กทค.มีมติว่าไม่ต้องให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาเป็นอำนาจของบอร์ดชุดเล็ก ดังนั้นก็คงจบในลักษณะนี้ ก็คือผมก็สงวนความเห็นในส่วนที่ผมไม่เห็นด้วย ยกเว้นจะมีคนใช้สิทธิ์ทางกฎหมาย เช่นไม่เห็นด้วยก็ไปศาลปกครอง เห็นว่าทำให้รัฐเสียหายก็ไปที่หน่วยงานตรวจสอบของภาครัฐ ปปช. สตง. อะไรก็แล้วแต่ และสุดท้ายความจริงก็จะพิสูจน์ ผมไม่ได้บอกว่าเสียงข้างมากผิด ผมแค่จะบอกว่าผมไม่เห็นด้วยเพราะเหตุผลใด สังคมจะเป็นคนตัดสิน
      ที่บอกว่าขัด พ.ร.บ.ฮั้วประมูล เหตุผลเป็นอย่างไร
      พ.ร.บ.ฮั้ว จะแบ่งเป็น 2ฝ่าย ฝ่ายเอกชนจะเป็นเรื่องการสมยอมราคากัน ทางภาครัฐถ้าออกแบบการประมูลที่ผิดพลาด เสนอราคาไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง ก็เป็นความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ตอนนี้เราพบเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่ามียุทธศาสตร์การดึงราคา ขัดกับเจตนาประมูลที่ต้องสู้ราคากัน ก็เป็นข้อผิดปกติ ก็ต้องไปดูว่าเอกชนทำผิดกฎหมายหรือเปล่า หรือทางภาครัฐออกแบบการประมูลไม่รัดกุม ทำให้รัฐเสียประโยชน์ หรือการกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำไม่ เหมาะสม ตรงนี้ก็ต้องไปดูกัน มาถึงตรงนี้ต้องบอกว่าเข้าข่ายอย่างยิ่ง ที่ปรึกษากฎหมายประจำ กทค.ทำบันทึกท้วงให้ล้มประมูลว่าสุ่มเสี่ยงจะเป็นการขัด พ.ร.บ.ฮั้วประมูล
      ช่วงแรกมีข่าวเหมือนกับว่ามีผู้สนใจจำนวนหลายราย
      รายงานตอนแรกก่อนประมูลมีถึง 17 บริษัท แต่ตรวจสอบแล้วเป็นบริษัทที่ขายอุปกรณ์ให้กับ 3บริษัทยักษ์ใหญ่ มาขอเอกสารไป แต่เป็นเรื่องของการขายอุปกรณ์โทรศัพท์ อีกกลุ่มก็เป็นกลุ่มที่จะไปซื้อบริการต่อจาก 3 บริษัท จะได้รู้ว่าจะไปทำอย่างไรกับบริษัทยักษ์ใหญ่ เลยอยากศึกษาข้อมูลล่วงหน้า ที่บอกว่ามาขอเอกสารไปหลายบริษัทมันเลยเป็นแบบนี้ ปกติอยู่แล้วว่าประเทศไทยก็มีแค่ไม่กี่ราย ต่อไปประมูลกี่ครั้งก็จะมีแค่นี้ ไม่มีรายใหม่ ต่างประเทศเขาจะมีลดราคาประมูลไว้ให้รายใหม่ เพื่อเชื้อเชิญให้มาอยากประมูล ถ้าออกแบบประมูลมาเป็น 15 10 5 จะมีการแข่งขันแน่ๆ แต่มันไม่เป็นอย่างนี้
      การออกแบบประมูลดูเหมือนจะผิดปกติมาตั้งแต่แรก
      เหมือนที่ทางทีดีอาร์ไอ บอกว่าทำไมไม่เปิดการประมูลเป็น 20 15 10 จะได้มีการแข่งขันกัน จะชัดเจนเลยว่าต้องมีการแย่งกันเพราะผู้ประกอบการใครก็อยากได้ก้อนใหญ่ รายเล็กก็จะเกิดการแข่งขันกันในรอบประมูลต่างๆ เรื่องนี้เคยมีคุยกันนอกรอบแต่ไม่ได้รับการยอมรับ มันก็เลยเป็นความผิดปกติทุกสิ่งทุกอย่างอย่างที่เห็น
      โอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมีบ้างหรือไม่
      คนที่ออกคำสั่งทางปกครองเองแก้ไขคำสั่งตัวเอง ซึ่งเข้าใจว่าคงยาก เพราะยังคงเดินหน้าต่อไป อีกทางคือศาลปกครอง ที่รับคำฟ้องและอาจมีคำสั่งให้แก้ไข อีกช่องทางที่คนสงสัยคือ ป.ป.ช.หากชี้ว่ามีความผิด ผู้ที่ชนะการประมูลจะทำอย่างไรต่อไปได้หรือไม่ก็ต้องดูกันต่อไป

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง