ถึงเวลาแล้ว...ต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว สำหรับการเยียวยาผู้เสียหายทางการแพทย์จังหวัดสงขลา เป็นเสียงที่ดังขึ้นมาจากการพูดคุยระหว่างภาคีผู้บริหารของโรงพยาบาลและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สงขลา เขต 12
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ห้องประชุม 6613 อาคารบริหารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา (ศพบ.สข.) อันเป็นหน่วยงานหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นตามโครงการพัฒนาระบบเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ ปีที่ 2 ของสถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นครั้งที่ 1 ในประเด็นการพัฒนา กลไกคุ้มครองผู้บริโภค กรณี การเยียวยาผู้เสียหายทางการแพทย์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย แพทย์ผู้รับผิดชอบกรณีแก้ปัญหาให้กับคนไข้ที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ ของร.พ.ศิครินทร์ ร.พ.ราษฎร์ยินดี ร.พ.สงขลา ร.พ.หาดใหญ่ นายแพทย์ อมร รอดคล้าย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสงขลาและนายแพทย์ธีรวัฒน์ กรศิลป (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระโนด) ผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา โดยมี ผศ.ดร.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ ม.สงขลานครินทร์ ภก.สมชาย ละอองพันธุ์ ผู้ประสานงานวิชาการ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา ร่วมดำเนินการ
เภสัชกร สมชาย ละอองพันธุ์ ได้นำเสนอภาพรวมของ การฟ้องร้องของคนไข้กับแพทย์ในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้น พบว่าข้อมูลจากกลุ่มงานกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข ที่เปิดเผยว่ากระทรวงสาธารณสุขถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีแพ่งตั้งแต่ พ.ศ.2539-53 มีจำนวน 121 คดี คดีอาญา 14 คดี ปี 2552 ที่ผานมา มี 28 คดีแพ่ง และ1 คดีอาญา สถานการณ์ดังกล่าวมีผลต่อความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนไข้กับแพทย์ ลดลง นำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง นอกจากนี้มีการแสดงให้เห็นภาพรวมของช่องทางการร้องเรียนของผู้เสียหายทางการแพทย์ว่ามีหน่วยงานและองค์กรใดเกี่ยวข้องบ้าง ส่วนใดยังเป็นช่องว่างของปัญหาดังกล่าวบ้าง การยอมรับถึงอิทธิพลของสื่อมวลชน ในการแก้ปัญหาในกรณีเรื่องร้องเรียนของผู้ที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์
ที่ประชุมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการร้องเรียนโรงพยาบาลและการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น แนวทางความเป็นไปได้ในการจัดให้มีกลไกการแก้ปัญหาด้านผู้เสียหายทางการแพทย์ที่จะบังคับใช้ในจังหวัดสงขลา สรุปแนวทางจากที่ประชุมดังนี้
**1.กลไกที่มีความเป็นไปได้สำหรับจังหวัดสงขลา **คือ การมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้ทำงานด้านการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ของแต่ละหน่วยงานของจังหวัดสงขลา เพราะกลไกดังกล่าวมีความยืดหยุ่นมากกว่า
2.การจัดตั้งคณะทำงานที่มีจากทุกภาคส่วน เช่น ตัวแทนแพทย์ ประชาชน สื่อมวลชน ภาควิชาการ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกิด mapping ของเครือข่ายที่ทำงานด้านการดูแลเยียวยาคนไข้
3.การพัฒนาให้เกิดเป็นกลไกที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสมัชชาในพื้นที่ ประเด็น การเยียวยาคนไข้ที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ ซึ่งจะนำทุกภาคส่วนมาร่วมกันแสดงประชามติร่วมกัน
สำหรับการดำเนินการต่อไปนับจากนี้ คือ การนัดพูดคุยกับผู้บริหารของโรงพยาบาลรัฐ เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการขับเคลื่อนงานให้เกิดผลต่อคนไข้และแพทย์ต่อไป
Relate topics
- เทป สงขลาโมเดล เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ลุงประสิทธิ เชิงแส
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรโอเดียน ประจำเดือนตุลาคม 58 ณ ห้างฯโอเดียน เมือวันเสาร์ที่ 3 ต.ค.58 ลูกค้าคึกคักทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
- สจรส.ม.อ.ร่วมงานสนับสนุนเทศกาลกินเจ หาดใหญ่ 2558 กินเจ ถูกปาก ถูกใจ ถูกอนามัย ไร้แอลกอฮอล์ โดยมีงานแถลงข่าว เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 24 ก.ย.58 ณ วัดถาวรวร
- คณะศึกษาดูงานจากเทศบาลตำบลกำแพงเพชร ณ ตลาดเกษตร ม.อ.
- อาจารย์มนทิรา คณะอุตสาหกรรมเกษตร ลงพื้นที่สวนกง เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกับชุมชนเพื่อเตรียมอบรมเรื่องมาตรฐานการผลิตอาหารทะเลแปรรูป