ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

คาบสมุทรสทิงพระพื้นที่วาตภัยที่ถูกลืม

by twoseadj @November,09 2010 12.26 ( IP : 202...248 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 400x300 pixel , 38,970 bytes.

วันที่ 1 พ.ย.53 ที่ผ่านมาเป็นเวลาเดียวกับที่อำเภอหาดใหญ่ถูกน้ำไหลหลากเข้าท่วมเป็นอุบัติการณ์ในรอบ75 ปีนับตั้งแต่จำความได้ น้ำสูงกว่า 2.5 เมตรส่งผลให้หาดใหญ่กลายเป็นเมืองบาดาลไปทันเพียงชั่วข้ามคืน น้ำใจและความช่วยเหลือของหน่วยงานจากในและนอกพื้นที่หลั่งไหลเข้าไปช่วยเหลือหาดใหญ่

 คำอธิบายภาพ : pic4cda26e43179e

แต่ในอีกฟากหนึ่งของฝั่งทะเลสาบสงขลา มีพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระอันประกอบด้วยอำเภอสิงหนคร สทิงพระ กระแสสินธ์และอำเภอระโนด พื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ด้วยประวัติอันยาวนาน ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด วัดพะโค๊ะ เป็นต้น  พื้นที่คาบสมุทรประสบกับวาตภัยพายุดีเปรสชั่น ซึ่งก่อตัวในทะเลอ่าวไทยได้พัดขึ้นฝั่งบริเวณ อ.สทิงพระ จ.สงขลา คืนวันที่ 1 พ.ย.เป็นเสมือนฝันร้ายสำหรับคนในพื้นที่คาบสมุทร มีราษฎรหลายพื้นที่ เช่น บริเวณ ต.บ่อตรุ ระโนด ต.คลองรี  ต. บ่อแดง  ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับชายทะเลอ่าวไทยต้องอพยพประชาชนไปพักอาศัยชั่วคราวที่มัสยิส วัด  พัดอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมง ลมก็สงบลง ฝนก็ไม่ตกอีกต่อไป แต่ผลปรากฏว่า ต้นไม้ล้มระเนระนาด บ้านประชาชนถูกพัดเสียหายเป็นจำนวนมาก หลังคาเปิดเนื่องจาก กระเบื้องปลิวไปตามสายลม

 คำอธิบายภาพ : pic4cd8e39b1a070

จากการลงพื้นที่ พบว่ามีประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบกว่า 70% ของจำนวนครัวเรือน =28,664 ครัวเรือน ความเสียหายแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ความเสียหายระดับมาก คือ บ้านล้มทั้งหลัง ต้องใช้กระเบื้องจำนวน 250 แผ่น ความเสียหายระดับกลาง ต้องใช้กระเบื้องประมาณ 100 แผ่นและความเสียหายระดับเล็กน้อยต้องใช้กระเบื้องน้อยกว่า 50 แผ่น คาดการณ์ว่ามีความต้องการกระเบื้องสำหรับมุงหลังคา ประมาณ 1.2 ล้านแผ่น

นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนโบราณของประชาชนและสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์ ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ซึ่งหากจะมีการซ่อมแซมจำเป็นต้องอาศัยช่างผู้ชำนาญด้านการก่อสร้างเป็นพิเศษ ซึ่งในพื้นที่เองนับวันยิ่งหายากเต็มที่อีกทั้งวัสดุคือ กระเบื้องดินเผาโบราณก็มีผู้ผลิตน้อยลงทุกที

ภาวะขาดแคลนกระเบื้องสำหรับมุงหลังคาและราคากระเบื้องที่ฉกฉวยโอกาสขึ้นราคาจาก 30 กว่าบาทถีบตัวขึ้นไปเป็น 50 และ 60 บาท ซ้ำเติมฝันร้ายของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ หน้าห้างร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบวาตภัย มาซื้อกระเบื้อง วัสดุที่จะใช้ซ่อมแซมบ้านเป็นจำนวนมากและหลายคนต้องผิดหวังกลับไป ไม่มีกระเบื้องติดมือไปซ่อมแซมหลังคาบ้านตนเอง แต่มีคนจำนวนมากที่ไม่มีบ้านและกลายเป็นคนไร้บ้านในฉับพลัน มีผู้ที่ตกอยู่ในภาวะไร้ที่พึ่งพา เช่น ผู้สูงอายุ หรือประชาชนที่ยากจน คนเหล่านี้ต้องทนทุกข์กับภาวะที่ฝนกำลังตกลงมาเนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูมรสุม(พ.ย.-ธ.ค.)

การเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย พบว่ามีความล่าช้าและข้อจำกัดของภาครัฐในหลายส่วน เช่น เครื่องมือ คนและความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารจัดการภาวะวิกฤติ ด้วยที่เหตุภัยพิบัติดังกล่าวไม่เคยเกิดในพื้นที่ดังกล่าวมานานแล้ว

ระบบสื่อสารที่ถูกตัดขาดภายหลังจากวาตภัยโจมตีคาบสมุทรสทิงพระแล้ว ส่งผลกระทบให้การติดต่อกับโลกภายนอกและส่งเสียงขอความช่วยเหลือไปสู่คนภายนอกช่างไร้พลังและเงียบเชียบเสียเหลือเกิน ส่วนหนึ่งเนื่องจากทุกภาคส่วนต่างมุ่งหน้าและให้ความสนใจตัวเมืองหาดใหญ่ ซึ่งเป็นใจกลางทางเศรษฐกิจของภาคใต้  เท่าที่จำได้ความทุกข์ร้อนของประชาชนในคาบสมุทรถูกนำเสนอผ่านรายการครอบครัวข่าว 3 ของคุณสรยุทธ์ สุทัศนจินดา แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากเสียงภายนอกหรือการติดตามอย่างจริงจังจากคนในสังคมเท่าที่ควร สร้างความน้อยใจและลำบากใจให้กับประชาชนในพื้นที่ยิ่งนัก

 คำอธิบายภาพ : pic4cda261e82c3a

เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบก กลุ่มเครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่ประกอบด้วยหลายองค์กร คือ มูลนิธิชุมชนสงขลา มูลนิธิทักษิณคดีศึกษา เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา สมาคมโรตารีสงขลา การเคหะแห่งชาติ มูลนิธิชุมชนไท สถานีวิทยุ ม.อ.88 MHz. คลื่นความคิด F.M.101 MHz.โครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจนฯ (สกว.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) เครือข่ายรักษ์คลองอู่ตะเภา เครือข่ายแผนสุขภาพตำบล โซนคาบสมุทรสทิงพระ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีศรีวิชัยสงขลา เครือข่ายชุมชนเพื่อการฟื้นฟูลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โซนคาบสมุทรสทิงพระ วิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส ร่วมกันพูดคุยกับหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนถิ่นในพื้นที่ เพื่อระดมความคิดเห็นและความช่วยเหลือแก่คนในพื้นที่

 คำอธิบายภาพ : pic4cda25729e344

ข้อสรุปจากที่ประชุม คือ จะมีตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคประชาชนคาบสมุทรคาบสมุทรสทิงพระขึ้นที่ ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบกของครูไพทูรย์ ศิริลักษ์ ตั้งอยู่ที่หมู่ 7 ตำบลสทิงพระ จังหวัดสงขลา พร้อมกับระดมอาสาสมัครทีมงานช่างฝีมือ ช่างก่อสร้าง ช่างไม้ จากสถาบันอาชีวศึกษาทั้งในและนอกพื้นที่ มาร่วมในการซ่อมแซมบ้านเรือนและผู้ที่ไม่มีความสามารถดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือนได้ โดยคาดการณ์ว่าจะช่วยประชาชนประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ประมาณ 2,800 กว่าหลังคาเรือน

ในการระดมทรัพยากรสิ่งที่จำเป็นคือ กระเบื้อง(ลอนเล็ก/ลอนคู่/กระเบื้องดินเผา) ตลอดจนอุปกรณ์เพื่อใช้ซ่อมแซมบ้านเรือนที่พังเสียหาย จึ่งใคร่ขอรับบริจาคจากทุกท่านที่มีความสนใจให้ความช่วยเหลือโดยอาจบริจาคเป็นเงินสำหรับซื้อกระเบื้องราคา 40 บาท/แผ่น หรือเป็นกระเบื้องเก่าก็ได้

ท่านสามารถติดต่อบริจาคผ่านบัญชี...มูลนิธิชุมชนสงขลา ธนาคารกรุงเทพ สาขาหาดใหญ่ใน บัญชีเลขที่ 562-0-52250-7 โดยแฟ็กซ์สลิปการโอนมาได้ที่ 074- 474082 หรือติดต่อคุณบุญเรือง ปลอดภัย เจ้าหน้าที่มูลนิธิชุมชนสงขลา 084-7484137  หรือติดต่อไปยังคุณพูนทรัพย์ ศรีชู 081-275756 และคุณชาคริต โภชะเรือง 081-5994381 ผู้ประสานงานของศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคประชาชนคาบสมุทรสทิงพระ

ชมวิดีโอความเสียหาย

รายงานโดย เภสัชกรสมชาย ละอองพันธุ์ ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง