สผพท.จวกยับ สธ.บิดเบือนความคิดเห็น 6 องค์กรแพทย์ ส่งรายงานเท็จ กรณีสรุปมติเรื่อง กม.ผู้ป่วยในส่วนของ คกก.สมานฉันท์ฯ แก่วิป
จากกรณีที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดที่ สธ 01002/3769 ลงวันที่ 22 ต.ค.2553 เรื่อง ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... ถึง นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล ซึ่งเนื้อหาสาระเป็นการสรุปความเห็นของคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข โดยหนึ่งในข้อสรุปมีว่า สธ.รวบรวมประเด็นความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียฯจาก 20 หน่วยงาน โดยมี 14 หน่วยงาน เห็นด้วยในหลักการของกฎหมายฉบับนี้ และมี 6 หน่วยงานที่ให้ชะลอร่าง พ.ร.บ.นี้ไว้ก่อนเพื่อให้มีการพิจารณารายละเอียดประเด็นต่างๆ
ล่าสุด เมื่อวานนี้ (1 พ.ย.) สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ได้ออกแถลงการณ์และยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการประสานงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) คัดค้านข้อสรุปดังกล่าว โดยพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธาน สผพท.กล่าวว่า หนังสือสรุปรายงานของคณะกรรมการเสริมสร้างสมานฉันท์ฯ ที่นายจุรินทร์ลงนามส่งให้ประธานวิปนั้นได้อ้างหน่วยงานที่เห็นด้วยในหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ 6 หน่วยงานได้แก่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิระพยายาล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) สมาคมแพทย์คลินิกไทยและสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นการอ้างข้อสรุปของหน่วยงานดังกล่าวเท็จ
“การกระทำดังกล่าวทำให้ทาง สผพท.ไม่ไว้ใจผู้บริหาร สธ. จึงขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เป็นผู้กำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข เสนอถอนร่าง พ.ร.บ.นี้ออกมาทำประชาพิจารณ์ ไม่ควรฟังรายงานเท็จของ รมว.สธ.อีกต่อไป เพราะการรายงานความคิดเห็นที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง อาจจะทำความเสียหายให้กับสังคมและวงการสาธารณสุขเกินกว่าจะเยียวยารักษาได้” พญ.เชิดชูกล่าว
ขณะที่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนเองไม่มีความเห็นในเรื่องนี้แต่ขอยืนยันว่านพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.ได้รายงานว่ามีการประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างสมานฉันท์ฯจำนวน 3 ครั้งจึงมีข้อสรุปออกมาดังกล่าว ซึ่งปลัด สธ.สรุปความเห็นของคณะกรรมการฯ มาอย่างไรตนก็เสนอไปยังประธานวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านตามนั้น ไม่มีการแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น และจากนี้การพิจารณานำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นของวิป
อนึ่ง รายงานข่าวระบุว่า 14 องค์กรที่ สธ.สรุปว่าเห็นด้วยในหลักการของร่างพรบ.นี้ ประกอบด้วย สภากายภาพบำบัด สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิระพยายาล องค์กรประชาชน คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สภาเทคนิคการแพทย์ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) สมาคมแพทย์คลินิกไทยและสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และ 6 องค์กรที่ขอให้ชะลอร่าง พ.ร.บ.เพื่อให้มีการพิจารณารายละเอียดประเด็นต่างๆ ให้รอบคอบ ได้แก่ แพทยสมาคม แพทยสภา ทันตแพทยสภา รพ.ตำรวจ กรมแพทย์ทหารเรือ และรพ.พระมงกุฎเกล้า ทั้งนี้ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างสมานฉันท์ในระบบสาธารณสุข มีคณะกรรมการ จำนวน 63 คน
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)