บทความ

แร่ใยหินในประเทศไทย

by twoseadj @October,21 2010 10.44 ( IP : 202...248 ) | Tags : บทความ

1. บทนำ

แร่ใยหิน (Asbestos) เป็นชื่อทั่วไปที่ใช้สำหรับ เส้นใยแร่ซิลิเกต ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีลักษณะเป็นเส้นใย รวมกันเป็นมัด ประเภทของแร่ใยหิน แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ แอมฟิโบล และเซอร์เพนไทน์ โดยกลุ่มแอมฟิโบล ยังสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่ ครอซิโดไลท์ อะโมไซท์ ทรีโมไบท์ แอนโธฟิลไลท์ และแอคทิโนไลท์ แสดงดังภาพที่ 1

 คำอธิบายภาพ : pic4cbfb8046080b

แร่ใยหินมีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีความเหนียว ทนทานต่อแรงดึงได้สูง ทนความร้อนได้ดี และมีความทนทานต่อกรด ด่าง และสารเคมีหลายชนิด ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ เมื่อแร่ใยหินถูกค้นพบ ใปี ค.ศ.1900 จึงถูกนำมาใช้ตั้งแต่นั้นมา โดยใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ ที่ต้องการความแข็งแกร่ง ทนกรด ด่าง หรือความร้อนสูง เช่น ฉนวนกันความร้อน กระเบื้องมุงหลังคา หรือท่อน้ำกันความร้อน กระเบื้องยางปูพื้น เบรค และคลัทช์ เป็นต้น

แม้ว่าแร่ใยหินจะมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์หลายประการ แต่เมื่อแร่ใยหินเข้าไปอยู่ในปอด มันก็สามารถก่อให้เกิด โรคร้ายในมนุษย์ได้ อันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ เป็นที่ทราบกันมานาน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1930 แล้ว ได้แก่ โรคแอสเบสโตสิส มะเร็งปอด และมะร็งเยื่อหุ้มปอด และเยื่อบุช่องท้อง (Mesothelioma) ซึ่งในกรณีของมะเร็งเยื่อหุ้มปอด และเยื่อบุช่องท้องนี้จะลุกลามเร็ว และทำให้เสียชีวิตได้ ภายใน 2-3 ปี ดังนั้น ในหลายๆ ประเทศ จึงได้พยายามที่จะควบคุม หรือหลีกเลี่ยงการใช้แร่ใยหิน ตลอดจนห้ามนำเข้า และได้มีการศึกษาวิจัย เพื่อหาสารอื่นมาใช้ทดแทน แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เท่าที่ควร เนื่องจากเส้นใยแร่ ที่มนุษย์ผลิตขึ้นนั้น ยังมีราคาค่อนข้างแพง และประสิทธิภาพยังไม่ทัดเทียมแร่ใยหิน

2. สถานการณ์การใช้แร่ใยหิน ในประเทศไทย

เนื่องจากประเทศไทย ไม่มีเหมืองแร่ใยหิน จึงได้มีการนำเข้าแร่ใยหินจากหลายๆ ประเทศ ในปริมาณเฉลี่ยปีละ 100,000 ตัวขึ้นไป ข้อมูลที่เป็นรายงานการนำเข้าแร่ใยหินนั้น สามารถสืบค้นได้จาก กรมศุลกากร ซึ่งมีข้อมูลการนำเข้าแร่ใยหิน ประเภทไครโซไทล์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมา แสดงได้ดังภาพที่ 2

ซึ่งเป็นปริมาณการนำเข้า ที่สูงขึ้นทุกปี กล่าวคือ 90,700 ตัน ในปี พ.ศ.2530 และเพิ่มขึ้นเป็น 177,124 ตัน ในปี พ.ศ.2540 สำหรับในช่วงปี พ.ศ.2541 ซึ่งประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ จึงมีการนำเข้าในปริมาณที่น้อยกว่าปีอื่นๆ หลังจากนั้น ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จะเห็นได้ว่า ข้อมูลการนำเข้าแร่ใยหิน มีเฉพาะประเภทไครโซไทล์ เนื่องจากประเทศไทย โดยความรับผิดชอบ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ห้ามนำเข้าแร่ใยหิน ชนิดครอซิโดไลท์ ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 เนื่องจากเป็นแร่ใยหิน ชนิดที่มีอันตรายสูงมาก และปัจจุบันก็แทบจะไม่มีการทำเหมืองแร่ใยหินชนิดนี้แล้ว แร่ใยหินไครโซไทล์ ที่นำเข้ามานั้น จะมีการควบคุมโดยถูกจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 กล่าวคือ การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง จะต้องได้รับใบอนุญาต จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ตารางที่ 1 แสดงการนำเข้าแร่ใยหิน จากประเทศต่างๆ ในปี พ.ศ.2540 ซึ่งพบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าแร่ใยหิน จากแคนาดามากที่สุด

 คำอธิบายภาพ : pic4cbfb81ca109c

 คำอธิบายภาพ : pic4cbfb842a2022

อุตสาหกรรมที่มีการใช้แร่ใยหิน เป็นวัตถุดิบ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิต

ผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ ได้แก่ กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องทนความร้อน และท่อระบายน้ำ

ผลิตภัณฑ์พลาสติก ได้แก่ กระเบื้องปูพื้นไวนิล พลาสติกขึ้นรูปต่างๆ และกล่องพลาสติกบรรจุแบตเตอรี่

กระดาษแร่ใยหิน และผลิตภัณฑ์เส้นใยอัดแน่น

ผ้าเบรค คลัทช์

สิ่งทอที่ทำด้วยแร่ใยหิน เช่น ชุดป้องกันไฟ

ฉนวนกันความร้อน เช่น ท่อน้ำร้อน หม้อไอน้ำ และฉนวนหุ้มคานเหล็ก ในอาคารสูง เพื่อป้องกันการขยายตัวของเหล็ก ในกรณีเกิดเพลิงไหม้

ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น สารยึดในยางมะตอย วัตถุดิบในการทำหินเจียร และประเก็น

จากข้อมูลของศูนย์สารสนเทศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ในปัจจุบัน มีสถานประกอบการที่มีการใช้แร่ใยหิน และได้จดทะเบียนไว้เพียง 17 แห่งเท่านั้น โดยมีคนงานทั้งสิ้น 1,710 คน ซึ่งเมื่อจัดตามประเภทอุตสาหกรรม และพื้นที่ประเทศแล้ว แสดงได้ดัง

ตารางที่ 2 ซึ่งพบว่า สถานประกอบการส่วนใหญ่ เป็นประเภทอุตสาหกรรมผลิตกระเบื้อง ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ จำนวนคนงานเพียง 20 คน จนถึง 530 คน และพบว่า อุตสาหกรรมผลิตเบรค และคลัทช์ ยังไม่มีอยู่ในทะเบียนดังกล่าว

 คำอธิบายภาพ : pic4cbfb85fbc72d

3. การประเมินความเข้มข้นของแร่ใยหิน ในสิ่งแวดล้อมการทำงาน

3.1วัตถุประสงค์ของการประเมินความเข้มข้นของแร่ใยหินในสิ่งแวดล้อมการทำงาน ก็คือ

เพื่อควบคุมให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมการทำงาน เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยกฎหมายความปลอดภัย ในการทำงาน กล่าวคือ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงาน เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม (สารเคมี) หมวด 1 ข้อ 5 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงาน ในที่มีมีปริมาณฝุ่นแร่ใยหิน ในบรรยาการของการทำงาน ตลอดระยะเวลา การทำงานปกติ โดยเฉลี่ย เกินกว่าที่กำหนดไว้ คือ 5 เส้นใย / อากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร (ปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย ให้ลดความเข้มข้นลง)

เพื่อประเมินความเสี่ยง ต่อการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ของคนงานที่ทำงาน เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน และนำมาหามาตรการ การควบคุมป้องกันโรค จากการประกอบอาชีพดังกล่าว

เพื่อประเมินประสิทธิภาพของ ระบบควบคุมฝุ่น หรือระบบระบายอากาศ ภายในสถานประกอบการ

สำหรับหลักเกณฑ์การควบคุม การใช้แร่ใยหิน ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมนั้น กำหนดค่ามาตรฐาน ความปลอดภัยของแร่ใยหิน ในอากาศบริเวณปฏิบัติงาน ต้องไม่เกิน 2 เส้นใย/ลูกบาศก์เซ็นติเมตร และอากาศที่ผ่านระบบบำบัดแล้ว ห้ามปล่อยฝุ่นแร่ใยหิน เกินค่าดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ให้ทำการตรวจวัดพื้นที่ปฏิบัติงาน ที่มีความเสี่ยงต่อการรับ เส้นแร่ใยหินอย่างน้อย 3 จุดๆ ละ 1 ครั้ง โดยให้ทำการตรวจวัดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยใช้เทคนิคการเก็บตัวอย่าง อุปกรณ์ที่ใช้ การตรึงเส้นใย และการตรวจนับเส้นใย ขององค์การอนามัยโลก (WHO)

3.2 วิธีการประเมิน

การเก็บตัวอย่างอากาศในสิ่งแวดล้อม การทำงานเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณความเข้มข้น ของฝุ่นแร่ใยหินนั้น อาจใช้วิธีการที่เป็นที่นิยม ได้แก่ NIOSH # 7400 หรือ WHO (1997) ก็ได้ ซึ่งมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในที่นี้ จะขอกล่าวโดยสรุป ถึงวิธีการของ WHO ซึ่งเป็นวิธีการประเมินที่ปรับปรุงไว้ ล่าสุด กล่าวคือ

3.2.1 การเก็บตัวอย่างอากาศ

กระดาษกรอง : membrane of mixed estres of cellulose หรือ cellulose nitrate ขนาดรูกรอง 0.8-1.2 µm และเส้นผ่าศูนย์กลาง 25 mm.

ตลับกระดาษกรอง : ตลับ 3 ชั้น ขนาด 25 mm. โดยเพิ่มชั้นพิเศษที่เป็น electrically conducting cowl ซึ่งจะช่วยลดประจุไฟฟ้าของเส้นใย และช่วยให้การกระจายตัวของเส้นใย บนกระดาษกรองสม่ำเสมอขึ้น

อัตราการไหลของอากาศ : 0.5 ถึง 16 ลิตร/นาที โดยปรับให้ได้ 100 ถึง 650 เส้นใย/ตารางมิลิลิเมตร

Blanks : 4% ของกระดาษกรอง (Sampling media); >2% ของตัวอย่างอากาศที่เก็บ (field blank)

3.2.2 การเตรียมตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์

ใช้ Acetone - triacetin สำหรับเส้นใยที่มีค่า refrative index >1.51 ซึ่งตัวอย่างที่เตรียมได้นี้ จะ stable อยู่ได้ >1 ปี

3.2.3 การวิเคราะห์ตัวอย่าง

เทคนิค : phase-contrast optical microscopy (PCOM)

กล้องจุลทรรศน์ : positive phase contrast, x 40 objective, x 400-600 magnification Walton-Beckett graticule, type G-22 (100±2 µm diameter) HSE/NPL Mark II test slide Stage micrometers (1 mm. long, 2 µm divisions)

ตรวจวิเคราะห์ : เส้นใย (การตรวจนับเส้นใยด้วยตา)

การนับเส้นใย : นับเฉพาะเส้นใยที่มีขนาดความยาว > 5 µm กว้าง > 3µm และมีอัตราส่วนยาว : กว้าง > 3 : 1

ขีดจำกัดต่ำสุดในการนับ : 10 เส้นใย / 100 graticule fields

3.3 ผลการสำรวจสิ่งแวดล้อม ในการทำงานที่มีการใช้แร่ใยหิน

การสำรวจสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ควบคู่ไปกับการตรวจสุขภาพคนงาน ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน มีขึ้นเป็นครั้งแรก โดยกองอาชีวอนามัย กรมอนามัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 โดยได้ทำการสำรวจ โรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 20 แห่ง และพบว่า มีโรงงาน 4 แห่ง ที่มีความเข้มข้นของแร่ใยหิน ในบรรยากาศการทำงาน เกินค่ามาตรฐาน ที่ ACGIH กำหนดไว้ สำหรับไครโซไทล์ ซึ่งมีได้ไม่เกิน 2 เส้นใย / ลูกบาศก์เซ็นติเมตร นอกจากนี้ ยังพบว่า อุตสาหกรรมประเภทเบรค และคลัทช์ ในแผนกผสมวัตถุดิบ มีค่าความเข้มขน ของแร่ใยหินสูงสุด ตารางที่ 2 แสดงผลการตรวจวัดปริมาณแร่ใยหิน ในโรงงานอุตสาหกรรม 20 ห่ง ในปี พ.ศ.2530(1) และ 2531(2) โดยเก็บตัวอย่างอากาศ ทั้งแบบติดตั้งพื้นที่ (area samples) และติดที่ตัวบุคคล (personal samples) จะเห็นได้ว่า โรงงานอุตสาหกรรมประเภทกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น และท่อซีเมนต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีระบบการควบคุมทางวิศวกรรม และการจัดการการผลิตที่ดี จึงทำให้ฝุ่นแร่ใยหินฟุ้งกระจาย อยู่ในบรรยากาศการทำงานน้อย ในขณะที่โรงงานผลิตเบรค และคลัทช์ ซึ่งเป็นโรงงานขนาดเล็ก มีการควบคุม และจัดการด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัยไม่เพียงพอ จึงพบปริมาณความเข้มข้นแร่ใยหิน ในบรรยากาศการทำงานส่วนใหญ่ เกินค่ามาตรฐานกำหนด

 คำอธิบายภาพ : pic4cbfb87d6e0ac

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2543 สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน ก็ได้สำรวจสถานประกอบการ ที่มีการใช้แร่ใยหิน จำนวน 11 แห่ง(3) และในปี พ.ศ.2544 สำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็ได้ทำการสำรวจสถานประกอบการ ที่มีการใช้แร่ใยหิน จำนวน 29 แห่ง(4) ซึ่งผลการประเมินความเข้มข้นแร่ใยหิน ในบรรยากาศการทำงานในโรงงานดังกล่าว แสดงได้ดังตารางที่ 4 ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผลการสำรวจสถานประกอบการ เป็นไปในทำนองเดียวกัน กล่าวคือ พบความเสี่ยงสูง ในโรงงานผลิตเบรค และคลัทช์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแผนกผสมวัตถุดิบ และแผนกอัดเย็น (cold press) ในโรงงานผลิตเบรค พบว่า ความเข้มข้นของแร่ใยหิน มีค่าเกินมาตรฐานมาก  คำอธิบายภาพ : pic4cbfb88d9b5f4

4. ผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากแร่ใยหิน

ในประเทศไทย โรคแอสเบสโตสิส และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน ไม่เคยมีการรายงานในระบบเฝ้าระวังโรค หรือระบบการจ่ายเงินทดแทน มีเพียงรายงาน การตรวจพบลักษณะเยื่อหุ้มปอดหนา (pleural thickening) จากภาพถ่ายรังสีทรวงอก เพียงไม่กี่ราย ซึ่งดำเนินการโดย กองอาชีวอนามัย ในปี พ.ศ.2530 กล่าวคือ จากจำนวนคนงานทั้งสิ้น 701 คน ที่ได้รับการถ่ายภาพรังสีทรวงอก ด้วยฟิล์มขนาดมาตรฐาน พบว่า มีเพียง 13 ราย ที่มีลักษณะเยื่อหุ้มปอดหนา และมีเพียง 8 ราย จากคนงานกลุ่มนี้ ที่ทำงานเป็นเวลานานกว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม คนงานกลุ่มนี้ ไม่เคยได้รับการตรวจติดตามต่อไปอีก และจากการสำรวจสถานประกอบการอีก 2 โครงการในปี พ.ศ.2540 และ 2541 ดังกล่าวมาแล้ว ก็ไม่สามารถตรวจพบคนงานที่มีอาการผิดปกติ ด้วยสาเหตุของแร่ใยหิน และแม้ว่าระดับความเข้มข้น ของแร่ใยหิน ในบรรยากาศการทำงาน จะมีค่าสูงมากก็ตาม ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุมาจาก การสัมฟัสแร่ใยหิน ของคนงานดังกล่าว เป็นเพียงระยะเวลาสั้นก็ได้ โดยจากการสำรวจ พบว่า ระยะเวลาในการทำงานเฉลี่ยของคนงาน ที่ได้รับการตรวจสุขภาพ มีเพียง 5.2 ปี เท่านั้น

เนื่องจากการเกิดโรคแอสเบสโตสิสนั้น ใช้เวลายาวนาน คือ 15-35 ปี ขึ้นอยู่กับปริมาณแร่ใยหิน ที่เข้าสู่ปอด และระยะเวลาที่สัมผัส ดังนั้น ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาทางระบาดวิทยาส่วนใหญ่ ได้มาจากการคาดคะเนจากข้อมูลที่มีอยู่ เช่น จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว ความเข้มข้นของแร่ใยหิน ที่เข้าสู่ปอด จากการทบทวนวรรณกรรม พบว่า การสัมผัสแร่ใยหินที่ความเข้มข้น 2 เส้นใย / ลูกบาศก์เซ็นติเมตร ตลอดอายุการทำงาน จะทำให้ผู้ป่วย ด้วยโรคแอสเบสโตสิส ประมาณร้อยละ 0.5(5)

5.สรุปและข้อเสนอแนะ

5.1 แม้ว่าจะไม่เคยมีการตรวจพบ และรายงานการเกิดโรคแอสเบสโตสิส ในประเทศไทยเลยก็ตาม การดำเนินการควบคุม ป้องกันโรค ก็ยังมีความจำเป็นอยู่ดี เนื่องจากปริมาณการใช้แร่ใยหิน ในสถานประกอบการ ก็ไม่มีแนวโน้ม ที่จะลดลง จึงมีการคาดการณ์ว่า ในอนาคตน่าจะตรวจพบผู้ป่วย ด้วยโรคแอสเบสโตสิสได้ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมอนามัย ควรจะได้มีการประสานความร่วมมือ ในการจัดทำโครงการระดับชาติ เพื่อควบคุมป้องกันโรคนี้ การประสานความร่วมมือดังกล่าว ควรรวมไปถึง การปรับปรุงกฎหมาย และการบังคับใช้ การพัฒนาระบบบริการ ด้านอาชีวินามัย สำหรับคนงานที่ทำงาน เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจวินิจฉัย และระบบรายงาน และการเพิ่มความตระหนัก ถึงโรคจากการประกอบอาชีพ ในกลุ่มนายจ้าง ลูกจ้าง และสาธารณชน

5.2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังได้กล่าวมาแล้ว ควรได้ขยายความครอบคลุมการบริการ ด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัย ไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม และกลุ่มด้อยโอกาสต่างๆ (under-served sector) ทั้งนี้ รวมถึงระบบการเฝ้าระวังโรคด้วย

5.3 ค่ามาตรฐานกำหนดปริมาณฝุ่นแร่ใยหิน ในบรรยากาศการทำงาน ซึ่งควบคุมดูแล โดยกรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน มีค่าค่อนข้างสูง คือ 5 เส้นใย / ลูกบาศก์เซ็นติเมตร จึงทำให้นักสุขศาสตรอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ใช้ค่ามาตรฐานของ ACGIH (American Conference of Government Industrial Hygienists) ซึ่งกำหนดวไว้ สำหรับไครโซไทล์ที่ 2 เส้นใย / ลูกบาศก์เซ็นติเมตร เพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงของสถานประกอบการ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทย อยู่ในระหว่างการปรับปรุงกฎหมายอาชีวอนามัย และความผลอดภัย และแนวโน้มของการปรับลด ค่ามาตรฐานของแร่ใยหิน ก็มีความเป็นไปได้สูง ทั้งนี้ ACGIH ได้ปรับลดค่ามาตรฐานของไครโซไทล์ เป็น 0.1 เส้นใย / ลูกบาศก์เซ็นติเมตร แล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541

5.4 กรมโรงงานอุตสหกรรมได้จัดทำหลักเกณฑ์ การควบคุมการใช้แร่ใยหินขึ้น โดยเน้นเรื่องฉลาก และสัญลักษณ์ การจัดเก็บ การนำไปใช้อย่างเหมาะสม เช่น ห้ามฉีดพ่น การควบคุมทางวิศวกรรม การตรวจวัดอากาศ และการตรวจสุขภาพพนักงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ ผู้ประกอบการ และลูกจ้าง อย่างไรก็ตาม ปัญหาการสัมผัสแร่ใยหินนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในสถานประกอบการเท่านั้น การก่อสร้าง หรือรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหิน เป็นส่วนประกอบอยู่ในวัสดุ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพคนงาน ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การติดฉลาก หรือสัญลักษณ์ที่วัสดุดังกล่าวนำ จะเป็นการเตือนให้คนงานทำงาน ด้วยความระมัดระวัง และป้องกันตนเอง จากการสูดหายใจเอาแร่ใยหิน เข้าสู่ปอดได้ ปัจจุบันมีการกำหนดเพียง สัญลักษณะติดภาชนะบรรจุแร่ใยหิน แสดงได้ดังภาพ  คำอธิบายภาพ : pic4cc000131bc52

Comment #1
ศุภกาญจน์
Posted @December,20 2010 11.10 ip : 203...4

ในประเทศไทยมีแล็ปใดรับทดสสอบ asbestos หรือไม่คะ อยากส่งทดสอบค่ะ

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง