เขียนโดย อัครพงษ์ เวชยานนท์ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
แนวความคิดเรื่องแบบของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผู้บริโภค (Universal Design) ได้เริ่มต้นและพัฒนามาจากภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ ด้วยเห็นว่าการออกแบบจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในอนาคต
วัตถุประสงค์หลักของ Universal Design
คือเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อบุคคลทุกเพศทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือบุคคลทุพพลภาพ และเนื่องจาก Universal Design ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการก่อตั้งสมาคมนานาชาติเพื่อการออกแบบที่เป็นสากลขึ้น (International Association for Universal Design: IAUD) โดยมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนให้นำแนวคิดเรื่องนี้ไปใช้ให้อย่างแพร่หลายและปฏิบัติได้จริง ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สินค้าและบริการ ตลอดจนทำนุบำรุงและขยายเครือข่ายระหว่างประเทศ ซึ่งสมาชิกสมาคมประกอบด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่มาก เช่น Sony,Toyata และ NISSAN เป็นต้น
แนวความคิดเรื่อง Universal Design มีความมุ่งหมายให้เป็น Design for all กล่าวคือเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อทุกคนนี้เกิดจากนาย Ronal L. Mace (1941-1998)[1] ที่เห็นว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ใดจะต้องใช้ประโยชน์ได้กับทุกคนโดยไม่ต้องมีการประยุกต์หรือออกเป็นเป็นพิเศษ
Universal Design มีความแตกต่างจากแนวคิดการออกแบบที่เป็น Barrier Free ซึ่งเป็นการออกแบบพิเศษเพื่อมุ่งใช้สำหรับบุคคลทุพพลภาพโดยเฉพาะ เป็นการออกแบบเพื่อปรับแก้ไขหรือกำจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ทุพพลภาพ แนวคิด Barrier Free นี้เสมือนทำให้เกิดความแปลกแยกระหว่างบุคคลปกติกับบุคคลทุพพลภาพ แต่แนวคิด Universal Design เป็นแนวคิดเพื่อความทัดเทียม มิได้แบ่งแยกเฉพาะบุคคลประเภทใดประเภทหนึ่ง เป็นการออกแบบเพื่อมุ่งใช้ได้กับบุคคลทุกเพศทุกวัย ทั้งที่เป็นบุคคลปกติและบุคคลทุพพลภาพ เป็นการกำจัดความแปลกแยกของบุคคล ทุกคนล้วนสามารถใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ซึ่งออกแบบมาอย่างเดียวกันด้วยกันได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน การออกแบบตามแนวคิดเรื่อง Universal Design นี้ยังขาดมุมมองบางประการโดยผู้ออกแบบทำหน้าที่เพียงสร้างรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ให้งดงามหรือใช้ประโยชน์ได้เท่านั้น มิได้เพิ่มมุมมองอันหลากหลายเข้าไป ได้แก่ มุมมองของผู้บริโภคซึ่งประกอบด้วยความมุ่งหวังจะได้รับความปลอดภัยและคุณประโยชน์สูงสุด และมุมมองอันเป็นจุดยืนทางเศรษฐกิจ
Universal Design นี้เป็นสาระสำคัญประการหนึ่งของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (ISO) ที่จะสามารถนำพาผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดโลกได้ ดังนั้น Universal Design จึงเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งเนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบตามแนวคิดนี้จะสามารนำไปใช้ได้กับทุกคน มิได้เป็นการออกแบบพิเศษเฉพาะกลุ่มบุคคล ส่วนแบ่งในตลาดของ Universal Design จะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากกลุ่มเป้าหมายขยายวงกว้างขึ้น แต่ส่วนแบ่งในตลาดของ Barrier Free จะลดลงด้วยกลุ่มเป้าหมายซึ่งเฉพาะเจาะจงและมีจำนวนน้อยได้ลดลงเช่นกันโดยจะเหลือส่วนแบ่งในตลาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้นสำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อผู้ทุพพลภาพกรณีพิเศษ ซึ่งประเทศไทยอาจจะสามารถพัฒนาแนวคิดเรื่อง Universal Design ได้หากมียุทธศาสตร์ทางด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาสังคมและการบรรเทาความยากจน การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการร่วมมือกันในระดับภูมิภาค
นอกจากการปรับมุมมองทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ Universal Design พัฒนาไปสู่ตลาดโลกได้แล้ว การปรับมุมมองไปในทิศทางของผู้บริโภคก็ส่งผลดีด้วยเช่นกัน การมีการทดสอบผลิตภัณฑ์ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Universal Design ได้รับการยอมรับเพราะจะเป็นการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคอันเป็นนโยบายสำคัญของรัฐดังที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา John F.Kennedy[2] ได้แถลงไว้ว่า สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยเป็นสิทธิที่สำคัญประการแรกของสิทธิผู้บริโภคทั้งหลายทั้งปวง
John F.Kennedy เชื่อว่าแนวความคิด (idea) และการปฏิบัติให้เป็นจริง (realization) เปรียบเสมือนล้อสองล้อของจักรยาน หากขาดล้อใดล้อหนึ่ง จักรยานก็ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ กรณีนี้ก็เช่นกัน หาก Universal Design ขาดซึ่งแนวคิดหรือขาดการปฏิบัติให้เป็นจริงอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้
ดังนั้น เพื่อพัฒนาสิทธิทั้ง 4 ประการของผู้บริโภคตามหลักการของ John F.Kennedy ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการมาให้ความสำคัญโดยมุ่งเน้นไปยังผู้บริโภค (consumer-oriented) และต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย ซึ่งผู้ประกอบการได้ให้ข้อคิดเห็นว่าผู้ประกอบการผลิตสินค้าโดยยึดผู้บริโภคเป็นหลักเสมอ หากไม่เช่นนั้นแล้วผู้ประกอบการก็จะไม่สามารถอยู่ในระบบตลาดต่อไปได้ โดยผู้ประกอบการจะมีการทดสอบผลิตภัณฑ์และควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด มีการทดสอบคุณสมบัติของสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพโดยผู้ตรวจสอบ ให้ความสำคัญในมาตรฐานความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม แม้กระบวนการผลิตจะมีประสิทธิอย่างไรก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาได้ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการรวมตัวกันของประชาชนก่อตั้งสมาคมเพื่อทำหน้าที่ในการทดสอบสินค้าที่บกพร่องหรือเกิดปัญหา และนำผลการทดสอบไปใช้ในการดำเนินการกับผู้ประกอบการและให้ผู้ประกอบการนำผลการทดสอบไปแก้ไขปรับปรุงผลิตภัณฑ์ต่อไป
ในการนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่ารูปแบบในการพัฒนา Universal Design น่าจะต้องก่อตั้งองค์กรเพื่อการรองรับผลิตภัณฑ์ขึ้นเพื่อพิจารณาให้การรับรองสินค้าก่อนออกสู่ตลาด ทั้งนี้ เพื่อเป็นสัญญลักษณ์แสดงมาตรฐานให้ผู้บริโภครับทราบเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกบริโภค อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคจะเป็นผู้รายงานข้อมูลกรณีพบปัญหาจากสินค้า รูปแบบนี้จะทำให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพแก่ผู้บริโภคและผู้บริโภคก็จะสามารถเลือกบริโภคสินค้าได้อย่างหลากหลายและมีคุณภาพ
ความหมายของ Universal Design
Universal Design คือ แบบที่เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของสำหรับผู้บริโภคทุกคน ไม่ว่าจะมีอายุหรือความสามารถเพียงใด ผู้ที่เสนอแนวความคิดดังกล่าวนี้คือนาย Ronald L.Mace สหรัฐอเมริกา
สำหรับหลักเกณฑ์ของ Universal Design มี 7 ประการ คือ
1.ใช้กันได้ทุกคนเท่าเทียมเสมอกัน
2.สามารถใช้ได้แบบยืดหยุ่น
3.สามารถใช้ได้โดยง่ายและใช้ได้โดยตามความรู้สึก
- สามารถรับรู้ได้โดยง่าย
5.ทนต่อการใช้โดยผิดพลาดได้
6.ใช้กำลังทางกายภาพน้อย
7.ขนาดและความเหมาะสมของพื้นที่ในการที่จะเข้าไปใช้
ความเป็นมาของ Universal DesignUniversal Design เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเนื่องจากจำนวนของผู้พิการมีมากขึ้น และสิ่งของเครื่องใช้ที่มีอยู่ก็เป็นอุปสรรคสำหรับคนเหล่านั้น ดังนั้น เมื่อปี ค.ศ.1990 สมาคมมาตรฐานแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายคนพิการ (The American Disabilities Act) ขึ้นเพื่อกำจัดอุปสรรคต่อผู้พิการโดยรับรองสิทธิของผู้พิการให้ทัดเทียมกับคนทั่วไป แต่กฎหมายนี้ยังใช้ไม่ได้กับสินค้าหรือบริการทุกอย่าง ดังนั้น นาย Ronald L.Mace จึงได้เสนอแนวความคิด Universal Design ขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้สินค้าและบริการได้เท่าเทียมกันหมด
Universal Design ในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศได้มีการพัฒนายกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ให้สูงขึ้นตลอดมา เป็นเหตุให้ผู้บริโภคมีปัญหาและความต้องการในสินค้าก็มีมากขึ้น ประกอบกับจำนวนผู้สูงอายุและคนพิการในประเทศก็เพิ่มขึ้นด้วย ผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันบางอย่างก็เป็นอุปสรรคในการใช้ ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาสิ่งของต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้สูงอายุและคนพิการเพื่อให้ทัดเทียมกับผู้อื่น และทุกคนสามารถใช้สินค้านั้น ๆ ได้เหมือนกันทุกคน ประเทศญี่ปุ่นได้นำแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาใช้ในปี ค.ศ.1990 แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน
ข้อควรคำนึงพื้นฐานในการออกแบบและผลิตสินค้าแบบ Universal Design
1.การแบ่งแยกความแตกต่างด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5
1.1 ดูง่าย
1.2 ฟังง่าย
1.3 เข้าใจความแตกต่างได้ง่าย
1.4 รับรู้ด้วยประสาทความรู้สึกทุกอย่า
2.ความเข้าใจและการพิจารณา
2.1วิธีใช้และขั้นตอนการใช้เข้าใจง่าย
2.2คำศัพท์ เครื่องหมาย เสียงที่ได้ยิน ความรู้สึก เข้าใจง่าย
2.3 ข้อมูล เครื่องหมายที่แสดงขั้นตอน เข้าใจง่าย
2.4รู้ได้ทันทีเมื่อใช้ผิดวิธี
2.5 ขั้นตอนการใช้ศึกษาได้ง่าย
3.วิธีการใช้ไม่เป็นอุปสรรคกับสรีระทางร่างกาย
3.1การติดตั้งของสินค้าและเครื่อง
3.2ท่าทางเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์
3.3ความเหมาะสมของร่างกายกับผลิตภัณฑ์
3.4การออกแรงมากน้อยเพียงใด
3.5 เสียง แสง อุณหภูมิ มีผลกระทบต่อร่างกายหรือไม่
3.6 ข้อมูล การใช้ มีระยะเวลานานเท่าใด
3.7ผลสะท้อนกลับ
3.8 ความมั่นคงแข็งแรงในการติดตั้งผลิตภัณฑ์
4.ความปลอดภัย
4.1 ความปลอดภัยของสินค้า
4.2 ความปลอดภัยทางด้านเคมีภัณฑ์
5.หาซื้อได้ง่าย
5.1ราคาไม่แพง
5.2 หาซื้อได้ทั่วไป
5.3 เก็บรักษาง่าย
6.ความสะดวก
6.1มีความสะดวกในการใช้
นโยบายเพื่อการส่งเสริม Universal Design ในประเทศญี่ปุ่นภาครัฐกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม
1.จัดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ Universal Design มีการรายงานขั้นพื้นฐานของการออกแบบสินค้าและการตรวจสินค้าที่มี Universal Design มีการพิจารณาและจัดแนวทางให้ชัดเจนขึ้นในเรื่องของปัญหาและอุปสรรคในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และต้องพัฒนาสินค้า Universal Design
2.การพัฒนาการวิจัยพัฒนาการวิจัย วิเคราะห์ วัดความรู้สึกและการเคลื่อนไหวของมนุษย์โดยมีการตรวจร่างกายมนุษย์ในแต่ละวัยว่ามีร่างกายเป็นอย่างไรแล้วเก็บข้อมูลในเชิงสถิติเพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ Universal Design
องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
จังหวัดชิสึโอกะได้นำความคิดแบบ Universal Design ไปใช้กับโครงการต่าง ๆ ของจังหวัด โดยทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นที่แพร่หลาย เช่น การสำรวจป้ายจราจรว่ามีเครื่องหมายใดที่เห็นชัดเจนและไม่ชัดเจน และทำการแก้ไขตามความเห็นของชาวจังหวัด เป็นต้นจังหวัดคุมาโมโต้ได้จัดทำโครงการคุมาโมโต้ ฮาร์ท มูฟเม๊นต์ เป็นการรณรงค์เพื่อให้คนในจังหวัดมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ภาคเอกชน
มีการประชุมความร่วมมือทางด้าน Universal Design ระหว่างประเทศ เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้กับผู้ผลิต ให้ผลิตสินค้าที่ทุกคนสามารถใช้ได้เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายว่าด้วยการปลอดจากอุปสรรค (Barrier-Free) ทางด้านการจราจร โดยกระทรวงที่ดินฯ โดยเป็นการส่งเสริมและพัฒนาความปลอดภัยและความสะดวกให้กับผู้สูงอายุและคนพิการ ได้แก่ ส่งเสริมการปลอดจากอุปสรรคในสถานีรถไฟและบนรถไฟ โดยจัดให้รถไฟทุกสายมีอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ ซ่อมแซมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เอื้ออำนวยแก่คนดังกล่าวด้วย และที่สำคัญคือทุกสถานีรถไฟในมหานครโตเกียวต้องมีลิฟต์และบันไดเลื่อน หากไม่มีถือว่าผิดกฎหมายมีกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างอาคาร ในการสร้างอาคารแต่ละครั้งต้องคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้สูงอายุและคนพิการ แต่ต้องเหมาะสมกับมาตรฐานที่ตั้งไว้ด้วย
นอกจากนี้ ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศก็ต้องส่งเสริมให้มีการใช้งานได้สะดวกสำหรับผู้สุงอายุและคนพิการด้วย
สำหรับแนวโน้มปัจจุบัน ผู้ให้ความสำคัญกับ Universal Design ได้แก่ บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ที่เป็นสมาชิกของสมาคม ส่วนคนทั่วไปมักจะเห็นว่า Universal Design เป็นของผู้สูงอายุและคนพิการเป็นส่วนมาก ไม่ใช่ของคนทั่วไป ดังนั้น Universal Design จึงไม่ค่อยเข้ากับความคิดของคนในประเทศญี่ปุ่น
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน
1.ผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะมีแนวความคิด Barrier-Free หรือ Universal Design ก็ตาม แต่เป้าหมายสุดท้ายคือความสะดวกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้ถูกออกแบบมาสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม การที่จะบังคับหรือวางมาตรการให้ผู้ผลิตออกแบบสินค้าให้มีลักษณะแบบเดียวใช้ร่วมกันได้กับบุคคลทุกประเภทหรือทำอย่างไรที่จะให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีลักษณะที่มุ่งเน้นผู้บริโภค (consumer-oriented) นั้นเป็นจิตสำนึกของผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตต่อสังคม (social responsibility)
2.ผู้ผลิตที่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กอาจไม่มีแนวความคิดดังกล่าว หรืออาจต้องผลักภาระค่าการออกแบบให้แก่ผู้บริโภค โดยผลิตภัณฑ์นั้นอาจมีราคาที่สูงโดยที่ผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระ
3.แนวความคิด Barrier-Free หรือ Universal Design กับแนวคิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบกับแนวคิด consumer-oriented ในเชิงบูรณาการยังคงเป็นอุดมคติ และต้องใช้เวลาในวิวัฒนาการและการตกผลึกทางความคิดของเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น่าจะถือเป็นบทบาทที่สำคัญของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในเชิงนโยบายและในฐานะที่เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยจะต้องเป็นผู้นำร่องและดำเนินงานคู่ขนานไปกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน 4.ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งได้มีความตกลงร่วมมือกันยังไม่เห็นกิจกรรมที่ชัดเจนเช่นกัน
5.หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จะต้องติดตามกระแสแนวความคิด Universal Design และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของโลกซึ่งมีความเป็นพลวัตร ขณะเดียวกัน มาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะต้องมีการตรวจสอบและติดตามประเมินผลหลังจากผลิตภัณฑ์ได้วางจำหน่ายในท้องตลาดอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในตลาดระดับล่างหรือร้านค้าปลีกย่อยเล็ก ๆ ในชุมชนที่ห่างจากตัวเมืองออกไป นอกจากห้างสรรพสินค้า ใหญ่ ๆ ทั้งนี้ ควรเน้นการตรวจสอบในเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ เช่นปัจจุบัน
Relate topics
- รณรงค์เลิกใช้โฟม
- รายการสงขลามหาชน ตัวอย่างอาหารของแม่ ตอน " บทบาทของพ่อ " อาหารของแม่ สร้างความอบอุ่นของครอบครัวกับมื้ออร่อยที่แม่บรรจงปรุงเพื่อลูก
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู( http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู(7 เม.ย 5…: http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- รายการอาหารของแม่ ตอน " อาหารคือภาคีและพื้นที่ " เปิดอร่อยด้วย ยำบัวบก สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาถิ่น อบต.ท่าข้าม ของป้ายุพา ผลชนะ