สวรส.ห่วง อปท.ฟ้องร้องเร่งรัดถ่ายโอน เสนอทางเลือกอื่นเพื่อขับเคลื่อนการกระจายอำนาจด้านสุขภาพของประเทศ ชี้ไม่จำกัดแค่ถ่ายโอนสถานีอนามัย เผยตัวเลข อบต.สร้างศูนย์บริการสุขภาพเองแล้วกว่า 600 แห่ง เกรงเสียหายต่อระบบโดยรวมถ้าสร้างซ้ำซ้อนมากกว่านี้
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า การกระจายอำนาจเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพอย่างเป็นธรรมและระบบโดยรวมมีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่ในปัจจุบัน มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายว่าด้วยการกำหนดและขั้นตอนการกระจายอำนาจว่าให้ใช้รูปแบบการถ่ายโอนภารกิจเป็นสำคัญ และในทางปฏิบัติได้มีการตั้งเป้าหมายการนำร่องถ่ายโอนสถานีอนามัย (สอ.) ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไปให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไว้ 35 แห่ง แต่ 10 ปีที่ผ่านมาสามารถถ่ายโอนจริงได้ 28 แห่ง ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนสถานีอนามัยทั้งประเทศที่เหลืออีกกว่า 9,000 แห่ง ในขณะที่ผลการวิจัยของ สวรส.พบว่า อปท.บางส่วนไม่รอรับโอน แต่ได้ตั้งศูนย์บริการสุขภาพขึ้นมาซ้ำซ้อนในพื้นที่ สอดคล้องกับผลสำรวจของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่า จากจำนวน อบต.ที่เก็บข้อมูลได้กว่า 6,500 แห่ง คิดเป็น 37 เปอร์เซ็นต์ของ อบต.ทั่วประเทศนั้น ได้จัดตั้งศูนย์บริการสาธารณสุขสังกัดตนเองขึ้นมาแล้วกว่า 600 แห่ง นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวถึงทิศทางการแก้ปัญหาและการตัดสินใจพัฒนาบริการสาธารณสุขในระดับท้องถิ่นว่า อาจจะกระทบต่อผลโดยรวมของความคุ้มค่าและความเหมาะสมในการจัดสรรและกระจายทรัพยากรสุขภาพหากมีการสร้างหน่วยบริการซ้ำซ้อน สวรส. จึงได้มอบหมายให้นักวิชาการทำการศึกษาเพื่อสังเคราะห์ทางเลือกในการดำเนินการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ นักวิชาการผู้ศึกษาทางเลือกการกระจายอำนาจ กล่าวถึงผลกระทบที่จะตามมาจากความล่าช้าในการดำเนินการถ่ายโอนสถานีอนามัยให้ อปท. ซึ่ง อปท. บางแห่งอาจฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ให้เร่งรัดให้ถ่ายโอนตามกฎหมายโดยกรณีดังกล่าวได้เกิดขึ้นกับกรณีถ่ายโอนสถานศึกษามาแล้ว ฝ่ายวิชาการจึงมีข้อเสนอสำหรับทางเลือกในการกระจายอำนาจด้านสุขภาพในรูปแบบอื่น ที่เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ ป้องกันปัญหาความซ้ำซ้อนในการจัดสร้างและการใช้งบประมาณที่นำไปสู่ความไม่เป็นธรรมในระบบบริการสุขภาพ
โดยข้อเสนอจากงานวิจัยได้เสนอลักษณะการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข ว่าอาจมีได้ 3 ลักษณะ คือ แบบก้าวหน้าที่สุด ให้น้ำหนักไปที่การโอน สอ.ทั้งหมดไปสู่ อบจ.ซึ่งมีพื้นที่ทั้งจังหวัดเป็นอย่างน้อยหรืออาจกว้างกว่านั้น เช่นระดับอนุภูมิภาค โดยไม่มีการถ่ายโอน สอ.รายย่อยเป็นแห่งๆ อีกต่อไป แบบกึ่งก้าวหน้า คือ ถ่ายโอน สอ.รายแห่งให้ อบต.แห่งที่พร้อมส่วนที่เหลือถ่ายโอนเป็นพวงให้กับ อบจ.แบบที่สามแบบอนุรักษ์ คือให้ สอ.อยู่กับกระทรวงสาธารณสุขต่อไป แต่ไปจัดการให้มีคณะกรรมการบริหารแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่แทน
นพ.ปรีดา กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือ การกระจายอำนาจทุกรูปแบบมีองค์ความรู้และมีบทเรียนแห่งความสำเร็จเพียงพอแล้วในสังคมไทย ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที เพียงแต่ต้องมีนโยบายอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนจากฝ่ายนโยบายและผู้มีอำนาจ ในฐานะนักวิชาการหวังว่าข้อเสนอทางวิชาการเหล่านี้ จะเป็นการสร้างทางเลือกและเป็นตัวตั้งต้นให้ฝ่ายต่างๆ พิจารณาร่วมกันเพื่อผลักดันการกระจายอำนาจด้านสุขภาพให้ก้าวหน้าไปได้โดยไม่ตกอยู่ในสถานการณ์ชะงักงันนานเกินไป นพ.ปรีดา กล่าว
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)