โดย ทวน จันทรุพันธุ์
ผมคิดอยู่นานว่าจะเขียนงานชิ้นนี้หรือไม่
สาเหตุเพียงประการเดียวคือเกรงใจแพทย์และพยาบาลทั้งที่รู้และมิได้รู้จักจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นดั่งพ่อพระแม่พระสำหรับคนเจ็บไข้ได้ป่วย มีจิตใจและจิตวิญญาณที่เรียกได้ว่า “การทำหน้าที่ให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์” แม้จะมีอยู่จำนวนไม่มาก แต่ก็มีอยู่จริงในหลายพื้นที่ทั้งในเมืองและสถานที่ไกลปืนเที่ยง ด้วยเกรงว่าการแสดงความคิดเห็นของผมจะไปกระทบกระเทือนจิตใจ แต่ที่สุดแล้วก็เข้าใจได้ว่าท่านเหล่านั้นน่าจะแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงตัดสินใจลงมือเขียน
ผมเข้าร่วมเคลื่อนไหวสนับสนุนให้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข และลงแรงไม่น้อยที่จะให้ ร่าง พ.ร.บ. นี้เข้าสภานิติบัญญัติ เพื่อพิจารณาในสมัยนี้ ด้วยความเห็นใจของกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องด้วยความเดือดร้อนและบริสุทธิ์ใจมาอย่างต่อเนื่องยาวนานในนาม “เครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์” เพราะเป็นคนนอกวงการสาธารณสุข และมิได้รับผลกระทบในเชิงความเสียหายรุนแรงโดยตรงจากบริการสาธารณสุข แต่ก็มีใจโอนเอียงไปในทางที่เห็นด้วยกับการมี พ.ร.บ. นี้ไว้ในสังคมไทย จึงได้ทำการศึกษาบรรดาเอกสารต่างๆ ทั้งร่างกฏหมายที่ร่างโดยคณะบุคคลทั้ง 7 คณะ บทความความคิดความเห็นทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน คลิปข่าวจำนวนมากมายที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต ฯลฯ การเกาะติดกับเรื่องราวดังกล่าว
ในฝ่ายที่คัดค้านนั้น จากวิจารณญาณของผมพบว่า มีเพียงส่วนน้อยที่ให้ข้อมูลความคิดเห็นที่น่ารับฟัง น่าเชื่อถือ และเป็นความวิตกกังวลโดยแท้จริง แต่ทว่าการเคลื่อนไหวคัดค้านส่วนใหญ่มิได้เป็นไปเช่นนั้น การอ้างเหตุผลเพื่อคัดค้านไม่เพียงฟังไม่ขึ้น แต่แพทย์หลายท่านที่ออกมาคัดค้านยังมีทีท่าที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้ดูแลเยียวยาผู้เจ็บไข้ บางกรณีเข้าข่ายใช้วิธีการแบบอันธพาลด้วยซ้ำไป ผมติดใจเหตุผลการคัดค้าน พ.ร.บ. หลายประเด็น แต่ที่ค่อนข้างขุ่นเคืองใจเป็นอย่างมากก็คือ “การระแวดระวังและการปกป้องตนเองจากการฟ้องร้องของบรรดาแพทย์จะเพิ่มมากขึ้นทั้งที่พวกเขาได้ทุ่มเททำงานอย่างหนักและเสียสละ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรับบริการในภาพรวมของประเทศ ซึ่งในที่สุดแล้วประชาชนนั่นแหละจะเป็นผู้ได้รับความเสียหาย” คนตัดสินใจมาเรียนแพทย์ แม้ว่าจะมีแรงจูงใจหลายประการ ทั้งลาภ ยศและสรรเสริญ
แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับเหตุผลที่เป็นพื้นฐานรองรับในการเข้ามาสู่วิชาชีพนี้เป็นการเบื้องต้นก็คือ การทุ่มเทเอาใจใส่ต่อการทำหน้าที่เยียวยารักษาผู้เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างเต็มความสามารถของตนเอง เหตุผลนี้จึงเป็นข้อตกลงเบื้องต้นที่ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการต่อรองใด ๆ ทั้งสิ้น สำหรับการตอบแทนต่อการทุ่มเททำหน้าที่ดังกล่าวนั้น สังคมได้ยกสถานะภาพของแพทย์ไว้อย่างสูง ซึ่งยังไม่นับรวมกับค่าตอบแทนที่เรียกได้ว่าสูงที่สุดในบรรดาข้าราชการระดับเดียวกัน ทั้งค่าตอบแทนรายเดือน ค่าตอบแทนล่วงเวลา รวมไปถึงค่าตอบแทนที่ได้รับจากการทำงานให้เอกชนของแพทย์จำนวนมาก นี่ไม่ต้องกล่าวถึงแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าตอบแทนต่างๆ สูงลิ่ว เพื่อนผมคนนึงเล่าให้ฟังว่า “สมัยก่อนหมอจะได้การยกย่องสูงโดยไม่รับเงิน แต่ปัจจุบันหมอก็ยังคงยังได้รับเกียรติสูงอยู่แล้วก็ได้เงินมากด้วย แต่หมอจำนวนไม่น้อยที่ไม่ค่อยรักษาเกียรติเพราะห่วงเงิน คำถาม คือ ถ้าได้เงินไปแล้วก็ไม่ต้องมีเกียรติ สามารถที่จะฟ้องร้องตรวจสอบกันได้” สำหรับประเด็นการฟ้องร้องตรวจสอบที่แพทย์หลายท่านเป็นห่วงและวิตกกังวลนั้น (แพทย์บางท่านถึงกับเสนอให้เขียนกฏหมายไม่มีการฟ้องร้องในทางอาญา) บางท่านถึงกับกล่าวอ้างว่าจะทำให้ความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างแพทย์กับคนไข้ลดน้อยถอยลงไป
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้ความเห็นไว้ในทำนองว่า ไม่ว่าจะมีกฏหมายหรือไม่ก็ตาม สังคมรวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ควรให้การยอมรับกันเป็นการเบื้องต้นก่อนว่า การปกป้องตนเอง การเรียกร้องความเสียหายจากการได้รับบริการที่เกิดจากความผิดพลาด กระทั่งการแจ้งความให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ซึ่งในที่สุดแล้วการปกป้องตนเองของผู้เสียหายนั้น เป็นการปกป้องสังคมโดยรวมจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ให้บริการด้วย จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะยกความเหล่านี้มากล่าวอ้าง อีกทั้งก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะประณามการใช้สิทธินี้ ปัจจุบัน “แพทย์” ถือเป็นบุคคลที่มีสถานภาพเป็นอีลีตของสังคม และพยายามจะรักษามันไว้อย่างเหนียวแน่นมั่นคง รวมไปถึงการปกป้องการคุกคามที่จะทำให้สถานภาพนั้นสั่นคลอน ผ่านกลไกและกระบวนการผลิตซ้ำต่าง ๆ ทั้งนี้รวมไปถึงความไม่พยายามที่จะให้ความสามารถหรือศักยภาพในการดูแลสุขภาพตนเองของประชาชนมีความเข้มแข็งขึ้น ในทางตรงกันข้ามกลับพยายามพัฒนาความรู้ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ยิ่งทำให้ผู้คนพึ่งพาแพทย์และโรงพยาบาลอย่างที่สุด และในระบบบริการสาธารณสุขก็มิได้ใส่ใจต่อการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนมิให้เกิดการเจ็บป่วย จนกระทั่งบ้านเมืองเต็มไปด้วยคนเจ็บไข้ได้ป่วยที่ต้องเข้าไปขอรับบริการจากสถานบริการ สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับธุรกิจที่ยืนอยู่บนฐานความเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไม่อาทรร้อนใจ สืบทอดและตอกย้ำสถานภาพนั้นให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น โดยไม่อินังขังขอบกับการตกเป็นเครื่องมือของการเป็นเครื่องมือกับธุรกิจบริการทางการแพทย์ การเคลื่อนไหวหรือผลักดันใด ๆ ที่จะไปมีผลต่อความสั่นคลอนของสถานภาพนั้นจึงเป็นสิ่งที่พวกเขายอมรับไม่ได้
แพทย์จำนวนไม่น้อย จำนวนมากที่อยู่ในกลไกปกป้องและคุ้มครองพวกเดียวกันเองเห็นว่า กฏหมายคุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายฯ นี้ จะส่งผลกระเทือนต่อสถานภาพของแพทย์ เช่นเดียวกับกฏหมายหลักประกันสุขภาพฯ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งแพทย์กลุ่มที่ต่อต้านกฏหมายคราวนี้ก็คือกลุ่มเดียวกับการต่อต้านกฏหมายในคราวนั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฏหมายฉบับนี้จะถูกคัดค้านจนไม่สามารถที่จะนำเข้าพิจารณาในสภาฯ ได้ทันในสมัยการประชุมนี้ แต่ผมมั่นใจเหลือเกินว่าการเคลื่อนไหว ผลักดันจะยังคงมีต่อไป สังคมและประชาชนก็จะได้เรียนรู้และเข้าใจธาตุแท้ขององค์กรแพทย์มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีในระยะยาวที่จะค่อยตีแผ่ปัญหาที่ฝังแน่นในสังคม โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับการถืออภิสิทธิ์ของกลุ่มแพทย์ และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วในที่สุดก็อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างถอนรากถอนโคนก็เป็นได้ ดังที่เพื่อนคนหนึ่งกล่าวว่า “...กลุ่มอาชีพแพทย์ เป็นกลุ่มหนึ่งที่รักษาสถานะอภิสิทธิ์ทางสังคมมายาวนาน สังคมเราเปลี่ยนไปมากแล้ว หากพวกเขายังฉุดรั้งความก้าวหน้าสังคม เพื่อประโยชน์ของกลุ่มตัวเองเท่านั้น ผมคิดว่า “ความขัดแย้ง” ในแบบที่รุนแรงระหว่างชนชั้นก็คงจะเลี่ยงไม่ได้...”
Relate topics
- รณรงค์เลิกใช้โฟม
- รายการสงขลามหาชน ตัวอย่างอาหารของแม่ ตอน " บทบาทของพ่อ " อาหารของแม่ สร้างความอบอุ่นของครอบครัวกับมื้ออร่อยที่แม่บรรจงปรุงเพื่อลูก
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู( http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู(7 เม.ย 5…: http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- รายการอาหารของแม่ ตอน " อาหารคือภาคีและพื้นที่ " เปิดอร่อยด้วย ยำบัวบก สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาถิ่น อบต.ท่าข้าม ของป้ายุพา ผลชนะ