บทความ

3G ความคืบหน้าที่ยังเป็นไปไม่ได้

by twoseadj @October,16 2010 00.14 ( IP : 202...248 ) | Tags : บทความ , เทศบาลนครหาดใหญ่
photo  , 300x225 pixel , 21,686 bytes.

จากกรณีศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ระงับการประมูลคลื่นความถี่โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือเรียกกันทั่วไปว่า 3G ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)เปิดประมูลนั้น

ในที่นี้จะมาทำความรู้จักว่าเทคโนโลยี 3G เป็นอย่างไร และเหตุใดที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้ระงับการประมูลชั่วคราว หลายท่านอาจสงสัยว่า 3G คืออะไร

คำว่า “G” หมายถึง “Generation” 3G จึงหมายถึง เทคโนโลยีการสื่อสารยุคที่ 3 ต่อจากยุคที่ 2 คือ 2G ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ระบบเทคโนโลยีแบ่งได้เป็นตามยุค คือ

1G - ระบบ Analog คือใช้สัญญาณวิทยุในการส่งคลื่นเสียง โทร.ออก - รับสายเท่านั้น ระบบ SMS ยังไม่มี

2G - ระบบ Digital เป็นการพัฒนาขึ้นมาสามารถ รับ-ส่งข้อมูลต่างๆและติดต่อเชื่อมโยงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดระบบ GSM ทำให้มีโทรศัพท์เครื่องเดียวใช้ได้ทั่วโลกหรือที่เรียกว่า Roaming ซึ่งยุคนี้เป็นยุคเฟื่องฟูของโทรศัพท์มือถือ เริ่มฮิต Download Ringtone , Wallpaper , Graphic ต่างๆ แต่ก็จะจำกัดอยู่ที่การ Downlaod Ringtone แบบ Monotone และ ภาพ Graphic ต่างๆก็เป็นเพียงแค่ภาพขาว-ดำที่มีความละเอียดต่ำเท่านั้น

2.5G - เป็นยุคก้ำกึ่งระหว่าง 2G และ 3G มีเทคโนโลยี GPRS (General Packet Radio Service)

** 2.75G – ก่อนถึงยุค 3G** มีเทคโนโลยี EDGE (Enhanced Data rates for Global Evolution) ต่อยอดมาจาก GPRS ให้มีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลได้สูงขึ้น

3G จึงเป็นเทคโนโลยีในยุคที่ 3 ที่พัฒนาต่อเนื่องจากปัจจุบันที่ใช้เทคโนโลยี 2G การพัฒนาของ 3G จะช่วยให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายและคล่องตัวขึ้น ทำให้การใช้บริการมัลติมีเดีย และ ส่งผ่านข้อมูลในระบบไร้สายด้วยอัตราความเร็วที่สูงขึ้น มีช่องสัญญาณความถี่ และ ความจุในการรับส่งข้อมูลที่มากกว่า ทำให้ประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลแอพพลิเคชั่น รวมทั้งบริการระบบเสียงดีขึ้น พร้อมทั้งสามารถใช้ บริการมัลติมีเดียได้เต็มที่ และ สมบูรณ์แบบขึ้น เช่น บริการส่งแฟกซ์, โทรศัพท์ต่างประเทศ ,รับ-ส่งข้อความที่มีขนาดใหญ่ ,ประชุมทางไกลผ่านหน้าจออุปกรณ์สื่อสาร, ดาวน์โหลดเพลง, ชมภาพยนตร์แบบสั้นๆ เทคโนโลยีความทันสมัยและอำนวยความสะดวกต่างๆเหล่านี้ย่อมหนีไม่พ้นผลประโยชน์ที่มากกายมหาศาลจากการให้บริการที่จะเข้ามาจับจองประมูลเพื่อได้รับอนุญาตดำเนินกิจการ 3G จากกรณีที่บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ฟ้องศาลปกครอง ให้ระงับการประมูลคลื่นความถี่ชั่วคราวนั้น แต่เดิมการจัดสรรกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยใช้ระบบสัมปทานซึ่งมีองค์กรที่ผูกขาดในประเทศไทยเพียง 2 องค์กรเท่านั้นนั่นคือ บริษัท ทศท. คอร์ปเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TOT (ซึ่งให้สัมปทานการใช้คลื่นความถี่แก่ AIS) และ บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (ซึ่งให้สัมปทานการใช้คลื่นความถี่แก่ DTAC และ TRUE) ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ต้องการให้มีองค์กรอิสระเพื่อทำการจัดสรรคลื่นความถี่ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 จึงเกิดขึ้นทำให้มี คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ให้เหลือองค์กรเดียว คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เป็นการควบรวมระหว่าง กทช. และ กสช. ทั้งนี้เมื่อเกิด องค์กรอิสระอย่าง กทช.ทำหน้าที่นี่แทน CAT กับ TOT จะทำให้ CAT กับ TOT ที่แต่เดิมเป็นผู้ให้สัมปทานแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กลายเป็นต้องแข่งกับผู้ให้บริการรายอื่น อันทำให้องค์กรดังกล่าวซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจขาดรายได้ และเป็นผลเสียแก่รัฐ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT จึงฟ้องคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ต่อศาลปกครองให้ระงับการประมูลคลื่นความถี่ โดยอ้างว่า กทช. ไม่มีอำนาจตามกฎหมายให้เปิดประมูล เนื่องจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 2540 และหลังจากการรัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐธรรมนูญ 2540 ได้ถูกยกเลิกไป ทำให้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ สิ้นผลไปด้วย และตามมาตรา 305 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ก็กำหนดไว้ว่า ไม่ให้นำมาตรา 47 วรรคสอง มาบังคับใช้ ยังไม่ให้มีองค์กรอิสระมาจัดสรรคลื่นความถี่ จนกว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นองค์กรใหม่ ภายใน 180 วันนับแต่วันที่แถลงนโยบาย ซึ่งปัจจุบันล่วงเลยกว่า 180 วันแล้วยังไม่มีกฎหมายออกมาจัดตั้งดังกล่าวเลย ทั้งนี้แม้ว่า พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ยังบังคับใช้ได้ กทช.ก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมายเพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เมื่อพิจารณาว่า พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญคือพระราชบัญญัติที่ออกมาขยายความของรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้เนื้อความมาตราในกฎหมายรัฐธรรมนูญมีมากเกินไป โดยปกติจะใช้ชื่อว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย...” เสมอ ไม่ใช้ชื่อว่า “พระราชบัญญัติ...” เฉยๆ โดยหลักแล้วเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใดถูกยกเลิก พระราชบัญญัติที่ออกมาประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนั้นย่อมสิ้นผลไปด้วย เว้นแต่ว่าจะมีประกาศของคณะปฏิรูปให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลต่อไป เช่น ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการการเลือกตั้ง การป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น มาบังคับใช้ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 จึงไม่ใช่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และยังมีผลบังคับใช้อยู่ดังเช่นพระราชบัญญัติทั่วไป ไม่ได้สิ้นผลไปตามรัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกด้วย ส่วนในประเด็นที่ว่าบทบัญญัติของ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 47 หรือไม่นั้น ยังเป็นข้อกฎหมายที่ต้องถกเถียงและรอการตีความกันต่อไป ระหว่างที่กำลังพิจารณาเรื่องนี้ ศาลปกครอง จึงสั่งระงับการประมูลไว้ชั่วคราวก่อน เพราะศาลปกครองเห็นว่าหากวินิจฉัยภายหลังว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 และ กทช. ไม่มีอำนาจจัดการประมูล แต่ในทางธุรกิจผู้ชนะการประมูลลงทุนไปมากและเปิดให้บริการกับประชาชนแล้ว ความเสียหายที่ตามมาอาจจะมากกว่าความเสียหายจากการที่ประชาชนต้องฝันค้างในวันนี้ก็เป็นได้

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง