กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยสุ่มเก็บตัวอย่างเต้าหู้ยี้นำเข้าจากต่างประเทศ จำนวน 47 ตัวอย่างตรวจพบทั้ง บาซิลัส ซีเรียสซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ โคลิฟอร์ม และจุลินทรีย์แนะ เพื่อความปลอดภัยโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจผู้บริโภคควรเลือกซื้อเต้าหู้ยี้ที่บรรจุในภาชนะ ที่สะอาด ไม่มีรอยแตกร้าว ฝาปิดสนิท ไม่เป็นสนิม ฉลากไม่มีรอยเปียกชื้นมีเลขทะเบียน อย. แจ้งชื่อผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ
นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าเต้าหู้ยี้เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่มีการนำเข้ามาจำหน่ายและนิยมบริโภคกันทั่วไปโดยเฉพาะ ในช่วงเทศกาลกินเจ เนื่องจากอุดมไปด้วยโปรตีนและแร่ธาตุ เช่น เกลือแร่เหล็ก และโปแตสเซียม นอกจากนี้ยังให้วิตามินเอ บี1 บี2 ดี อี เคและไนอะซีนอีกด้วย สามารถนำมารับประทานโดยตรงหรือนำไปผสมเป็นน้ำจิ้มปรุงรสเช่น น้ำจิ้มสุกี้ โดยไม่ต้องผ่านความร้อนหรือผ่านความร้อนเพียงเล็กน้อยจึงอาจมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษซึ่งก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในอาหารและนำไปสู่การเกิดโรคชนิดต่างๆต่อผู้บริโภคได้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขอนามัยของผู้บริโภคกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหารได้สำรวจคุณภาพทางจุลชีววิทยาของเต้าหู้ยี้ในภาชนะปิดสนิทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2552 เพื่อศึกษาการปนเปื้อนของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษและเชื้อโรคแสดงดัชนีสุขาภิบาลอาหาร ตลอดจนจำนวนแบคทีเรียทั้งหมดตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2535)เรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ผลการจากสุ่มเก็บตัวอย่างเต้าหู้ยี้ที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยนำมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ จำนวนทั้งสิ้น 47 ตัวอย่าง พบเชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ (Clostridium perfringens) จำนวน 6 ตัวอย่าง บาซิลัสซีเรียส (Bacillus cereus) เกินเกณฑ์ จำนวน 31 ตัวอย่าง โคลิฟอร์ม(Coliforms) เกินเกณฑ์ จำนวน 7 ตัวอย่าง จุลินทรีย์ ที่เจริญเติบโตที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เกินเกณฑ์ 46 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 8.9 65.9 , 14.9 และ 97.9 ตามลำดับโดยทุกตัวอย่างตรวจไม่พบซัลโมเนลล่า (Salmonella spp.) สเตฟฟีโรคอคคัสออร์เรียส (Staphylococcus aureus) และเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli)
นายมงคล เจนจิตติกุลผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจพบเชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟรินเจนส์และ บาซิลัสซีเรียสในผลิตภัณฑ์แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษได้โดยเชื้อดังกล่าวเป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในดินและฝุ่นละอองสามารถเจริญเติบโตและ ทนต่อสภาวะแวดล้อมทั่วไปได้ดีซึ่งหากมีการปนเปื้อนในอาหารและเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ จนกระทั่งมีปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้ โดยเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้นอย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคโดยเฉพาะช่วงนี้ เป็นช่วงเทศกาลกินเจ
สำหรับผู้ที่นิยมบริโภคเต้าหู้ยี้ควรเลือกซื้อเต้าหู้ยี้ที่บรรจุในภาชนะที่สะอาดไม่มีรอยแตกร้าว ฝาปิดสนิท ไม่เป็นสนิม ฉลากไม่มีรอยเปียกชื้น มีเลขทะเบียนอย. แจ้งชื่อผู้ผลิต วันที่ผลิต วันหมดอายุและเมื่อเปิดภาชนะแล้วรับประทานไม่หมด ควรปิดฝาให้สนิท แล้วเก็บ ในตู้เย็น นอกจากนี้เมื่อพบว่าผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพโดยมีลักษณะเนื้อ สีกลิ่นผิดปกติ ไม่ควรนำมารับประทานเด็ดขาด ทั้งนี้สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตรวจวิเคราะห์ความปลอดภัยของอาหารทางห้องปฏิบัติการจะยังคงดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลเฝ้าระวังและคุ้มครองสุขอนามัยของผู้บริโภค
Relate topics
- กรณีศึกษา อย.เตือนยาคีไตรโซนผิดมาตรฐาน-อันตราย สั่งเก็บทุกสถานพยาบาล
- กรณีศึกษา อย.เผยพบแบคทีเรียปนเปื้อน “น้ำยาบ้วนปากออรัล-บี” เตือน ปชช.ระงับใช้
- กรณีศึกษา สลด!! ว่าที่ "นิสิตเภสัช" ม.มหาสารคาม กินยาลดความอ้วนดับ น้องสาวเผยกลัวใส่ชุดไม่สวย
- กรณีศึกษา สั่งถอนยา "บีเวลล์" แก้เซ็กซ์เสื่อมอาจมีผลข้างเคียงถึงตาย!
- กรณีศึกษา ธนาคารมีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมอย่างอื่นนอกเหนือจากดอกเบี้ยหรือไม่