บทความ

องค์กรตรวจสอบการโฆษณาแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Advertising Review Organization, Inc:JARO)

by twoseadj @October,11 2010 19.59 ( IP : 202...248 ) | Tags : บทความ
photo  , 640x400 pixel , 46,325 bytes.

เขียนโดย อัครพงษ์ เวชยานนท์ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

องค์กรตรวจสอบการโฆษณาแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Advertising Review Organization: JARO) เป็นองค์นิติบุคคลที่เกิดจากการรวมตัวกันของเจ้าของโฆษณา บริษัทหนังสือพิมพ์ บริษัทสิ่งพิมพ์ บริษัทกระจายภาพและเสียงของบริษัทโฆษณา และบริษัทจัดทำโฆษณา

ตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1974โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการค้าที่ไม่เป็นธรรมและกระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยมีงบประมาณค่าใช้จ่ายจากบริษัทที่เป็นสมาชิกซึ่งมีจำนวน 950 บริษัท เสียค่าสมาชิกปีละ 150,000 เยน

 คำอธิบายภาพ : Jaro2
โครงสร้างขององค์กรฯ ประกอบด้วย 2 ฝ่าย ได้แก่

1.ฝ่ายตรวจสอบและพิจารณาข้อร้องเรียนหรือการสอบถามเกี่ยวกับการโฆษณาและการเผยแพร่ข้อมูล

2. ฝ่ายจัดการทั่วไป ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กร จัดทำรายงานผลงานประจำปีเพื่อนำเสนอแก่สาธารณชน

กิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริษัท(the Board of Directors, executive members) โดยจะมีการประชุมกันทุก 2 เดือน ในการประชุมจะมีประธานคณะกรรมการจะรายงานผลการทำงานและจะขอรับคำแนะนำจากคณะกรรมการที่ปรึกษา

โดยทั้งสองฝ่ายจะไม่ก่าวก่ายซึ่งกันและกันเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมการตรวจสอบเป็นไปอย่างถูกต้องและยุติธรรม
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กรฯ
เพื่อการวางแผนพัฒนาด้านคุณภาพในการโฆษณาและการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางการสนับสนุนการโฆษณาที่ถูกต้องและเป็นธรรม ส่งเสริมกิจกรรมของหน่วยงานที่ถูกต้องและทำให้หน้าที่การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นผลสำเร็จ พัฒนาความสมบูรณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ และพัฒนากิจกรรมขอองประชาชน
เนื้อหาหลักขององค์กรฯ มีดังนี้
1.รับคำปรึกษาและสอบถามจากผู้บริโภคเกี่ยวกับการโฆษณา และหาทางแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค

2.ตรวจสอบและพิจารณาการแสดงโฆษณา และให้คำแนะนำแก่ผู้บริโภค

3.ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น บริษัทผู้ผลิตโฆษณา สมาคมผู้บริโภค และศูนย์กิจการผู้บริโภคแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
สำหรับการรับเรื่องร้องเรียนขององค์กรฯ นั้น องค์กรฯ ได้รับคำปรึกษาจากผู้บริโภคเฉลี่ยปีละ 6,000 ราย

โดยมีขั้นตอนการทำงานดังนี้

1.รับคำปรึกษาจากผู้บริโภคแล้วสอบถามไปยังเจ้าของผู้ผลิตโฆษณา หรือสอบถามความคิดเห็นเพื่ออ้างอิงคำตอบไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงรายงานผลการตรวจสอบไปยังผู้บริโภค

2.หากผู้บริโภคไม่พอใจ หรือองค์กรฯ เห็นว่าต้องมีการพิจารณาตรวจสอบก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการดำเนินงานซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากทุกสาขาอาชีพ เช่น เจ้าของโฆษณา ผู้ที่ดำเนินงานด้านโฆษณา สื่อมวลชน เป็นต้น เพื่อพิจารณาการโฆษณานั้นว่ามีปัญหาอย่างไร แล้วแจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้บริโภค เจ้าของโฆษณา และองค์กรที่เกี่ยวข้อง

3.หากผู้บริโภค หรือเจ้าของโฆษณาไม่พอใจในผลการพิจารณาของคณะกรรมการดำเนินงานก็สามารถยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบได้ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 7 คน โดยจะพิจารณาโฆษณาและตัดสิน และแจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้บริโภค เจ้าของโฆษณา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผลการพิจารณาของคณะกรรมการมี 3 ประเภท ได้แก่ การตักเตือน การร้องขอ และการให้คำแนะนำ หากเจ้าของโฆษณาไม่ยอมรับการตักเตือน การร้องขอ หรือการให้คำแนะนำจากคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบ ก็จะมีการเผยแพร่ทางสื่อมวลชน นอกจากนี้ กรณีที่แจ้งผลการตัดสินไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานนั้นจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย หากผิดข้อเท็จจริงก็สามารถลงโทษเจ้าของโฆษณาตามกฎหมายของหน่วยงานนั้นๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย
ข้อคิดเห็นของผู้เขียน

1.การรวมตัวกันของเจ้าของโฆษณา บริษัทหนังสือพิมพ์ บริษัทสิ่งพิมพ์ บริษัทกระจายภาพและเสียงของบริษัทโฆษณา และบริษัทจัดทำโฆษณา ในลักษณะเพื่อดำเนินกิจกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศญี่ปุ่นซึ่งกำหนดกรอบหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจัดระบบการจัดการเกี่ยวกับการร้องเรียนของผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจของตน

2.การรวมตัวกันของผู้ประกอบธุรกิจในวิชาชีพดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับสภาวิชาชีพหากแต่ไม่มีอำนาจหรือไม่มีสภาพบังคับในกรณีที่มีการวินิจฉัย

3.การรวมตัวกันของผู้ประกอบธุรกิจในวิชาชีพดังกล่าวอาจจะเรียกได้ว่าเป็นสำนึกในมาตรฐานวิชาชีพด้านการโฆษณาก็คงไม่ผิดไปจากนี้ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการมีข้อบังคับควบคุมกันเองในเชิงหลักวิชาชีพ (self-regulation)

4.การดำเนินกิจกรรมในลักษณะดังกล่าว รัฐบาลไทยควรให้การสนับสนุน เพื่อให้ภาคเอกชนมีการควบคุมกันเองจะดีกว่าที่รัฐจะต้องออกกฎหมายมาบังคับ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มและทิศทางการผ่อนคลายเรื่องการออกกฎระเบียบโดยรัฐ โดยมุ่งเน้นให้ทั้งภาคผู้ประกอบธุรกิจและภาคผู้บริโภคเองเกิดการพัฒนา เพื่อสร้างบรรยากาศในอุดมคติให้เกิดขึ้นได้จริง

ไฟล์ประกอบเอกสาร
  1. About of JARO.pdf - ดาวน์โหลด

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง