ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา ร่วมรับมติเพื่อสร้างความเป็นธรรมจากสัญญาบ้านจัดสรร เนื่องในงาน สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา เพื่อร่วมกันหามาตรการเพื่อลดการเอาเปรียบจากสัญญาบ้านจัดสรร โดยทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงเจตนารับร่างมติดังกล่าว
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2553 สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา ได้บรรจุุวาระ เรื่อง การสร้างความเป็นธรรมจากสัญญาบ้านจัดสรรเข้าไปหนึ่งในนโยบายสาธารณะของจังหวัดสงขลา สำหรับสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาได้ผลักดัน วาระสงขลาพอเพีง 2554 บรรยากาศในห้องประชุมมีผู้เข้าร่วมจากตัวแทนผู้ประกอบการ คือ คุณพีระ หงส์ชยางส์กูร กลุ่มผู้เสียหายจากจากบ้านจัดสรรดลฤดี (หมู่บ้านสามัคคีธรรม) กลุ่มสื่อ ตัวแทนจากสำนักงานที่ดินสาขาหาดใหญ่
ที่ประชุมมีมติต่อร่างวาระที่ 3.13 ดังนี้
1.ขอให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสงขลา (สคบ.สงขลา) พัฒนายุทธศาสตร์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นเรื่อง มาตรการสร้างความเป็นธรรมจากสัญญาบ้านจัดสรร และกึ่งจัดสรร นำมาบรรจุไว้ในภารกิจสำคัญที่ต้องนำมาสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค และพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจบ้านจัดสรร เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชมรมผู้ประกอบการบ้านจัดสรร กลุ่มผู้เสียหายจากโครงการบ้านจัดสรร เป็นต้น
2.มอบหมายให้สำนักงานอัยการจังหวัดสงขลา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สภาทนายความจังหวัดสงขลา พัฒนารูปแบบสัญญามาตรฐานเรื่องบ้านจัดสรร และกึ่งจัดสรร โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้บริโภคทั้งที่เข้าข่ายบ้านจัดสรร - ผู้ที่ไม่เข้าข่ายบ้านจัดสรรใช้ประโยชน์จากสัญญามาตรฐาน (สัญญาจัดซื้อจัดขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง) ดังกล่าว และให้ผู้ขายต้องนำสัญญามาตรฐานมาใช้
3.ขอให้สมาคมสถาปนิกทักษิณ ชมรมผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีศรีวิชัย หรือสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาอื่นๆ จังหวัดสงขลา บรรจุเนื้อหาด้านหลักการเลือกซื้อบ้านอย่างถูกต้อง หรือประเด็นเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจากสัญญาบ้านจัดสรรในการจัดมหกรรมวัสดุ หรือมหกรรมบ้านจังหวัดสงขลา
4.ขอให้ชมรมผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการเอกชนอื่นๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันพัฒนาเรื่อง กลไกรับเรื่องร้องเรียน กลไกไกล่เกลี่ย และกลไกชดเชยความเสียหายของผู้บริโภคบ้านจัดสรรในพื้นที่ โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากลไกไกล่เกลี่ย
5.ขอให้เครือข่ายสื่อมวลชนในพื้นที่ อันประกอบด้วยวิทยุ มอ. F.M.88.00 MHz. คลื่นความคิด F.M.101.00 MHz. และเครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดสงขลา หนังสือพิมพ์โฟกัส พัฒนาช่องทางและเนื้อหาเพื่อการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคด้านการเลือกซื้อบ้านอย่างถูกต้อง แล้วดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้อย่างทั่วถึง
6.ขอให้เครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายจากสัญญาซื้อขายบ้าน หมู่บ้านสามัคคีธรรม (หมู่บ้านดลฤดี) จัดระบบการเรียนรู้เรื่องการต่อสู้ของผู้บริโภค ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการทำสัญญาบ้านไม่เป็นธรรม ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณอย่างพอเพียงจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา
7.ขอให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สมาคมผู้บริโภคจังหวัดสงขลา ทำหน้าที่ประสานงานเพื่อจัดให้มีพื้นที่สาธารณะด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบ้านจัดสรร โดยเน้นการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง เช่น สภาผู้บริโภค สมัชชาผู้บริโภค เป็นต้น
8.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับผู้ชำนาญการ เข้ามาดูแลผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างจริงจัง เช่น การตรวจสอบเอกสารในการประกอบการขออนุญาตในการก่อสร้าง ประเมินราคา รวมทั้งตรวจสอบมาตรฐานของบ้าน
9.ขอให้คณะกรรมการติดตามนโยบายสาธารณะจังหวัดสงขลา รายงานความคืบหน้าต่อสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาต่อไป
กระบวนการสมัชชาคือ กระบวนการที่เน้นการทำงานแบบพหุภาคี(สามภาคส่วน) ใช้องค์ความรู้เป็นฐานสำหรับการขับเคลื่อนงาน มีการร่วมคิดเห็นและปฏิบัติอย่างเคียงบ่าเคียงใหล่กัน ทุกคนมีสิทธิและเสียงเท่ากัน
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)