ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

อาหารกับมะเร็ง

by twoseadj @October,10 2010 09.07 ( IP : 202...248 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 100x75 pixel , 3,303 bytes.

ในการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติครั้งที่ 4 เมื่อเร็ว ๆ นี้ จัดโดยสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหลายหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น “อาหารกับโรคมะเร็ง” โดย รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ได้บรรยาย “หลักฐานเชิงประจักษ์ : อาหารและโภชนาการกับโรคมะเร็ง” ว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งกลายเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการตายสูงที่สุดในประเทศไทย จากข้อมูลของสถาบันวิจัยมะเร็งโลก รายงานว่า ปี 2551 มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั่วโลก 12.7 ล้านคน โรคมะเร็ง 5 อันดับแรกคือ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งต่อมลูกหมาก
โรคมะเร็งทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงมาก กระบวนการรักษา ได้แก่ การผ่าตัด เคมีบำบัด และการฉายรังสี เป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนหวาดกลัว ผู้ที่สนใจจะป้องกันโรคมะเร็ง มักจะได้รับคำแนะนำหลากหลายอย่างจากผู้ใกล้ชิด แต่คำแนะนำเหล่านั้นบ่อยครั้งทำให้เกิดความสับสนว่า อาหารอะไรควรกิน อะไรไม่ควรกิน บางทีสิ่งที่ได้รับรู้มาไม่ตรงกับที่แพทย์บอก สร้างความสับสนเป็นอย่างยิ่ง
1.เนื้อสัตว์กับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง คนจำนวนมากมีความเชื่อว่าโปรตีนจากสัตว์หรือเนื้อสัตว์ กินแล้วจะเร่งการเติบโตของมะเร็ง ผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนมากจึงเลิกรับประทานเนื้อสัตว์ทุกชนิด และเลือกบริโภคแนวมังสวิรัติหรือแมคโครไบโอติกส์ จากข้อมูลพบว่า ไม่ใช่เนื้อสัตว์ทุกอย่างที่มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง แต่เป็นเนื้อแดงคือเนื้อสัตว์ใหญ่ผ่านกระบวนการเช่น ทำเป็นไส้กรอก การหมัก การดอง ที่มีการเติมสารกันบูดประเภทไนเตรทและไนไตรท์ลงไป และเนื้อสัตว์นั้นได้รับความร้อนสูงเกินไป เช่น ความร้อนจากการปิ้งย่างจนเกรียมทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง ส่วนเนื้อสัตว์ที่ต้ม ผัด ทอด ปกติสามารถกินได้ อีกประเด็นหนึ่งคือปริมาณที่กินเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู ถ้ากินครั้งละมาก ๆ เหมือนอย่างที่ฝรั่งกินแบบสเต๊กชิ้นใหญ่ ๆ กินเป็น ประจำ ไม่ชอบกินผักและผลไม้ ก็เสี่ยงมากที่จะเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่
ถ้าผู้ป่วยไม่กินอาหารที่มีโปรตีน จะทำให้ขาดโปรตีน ไม่แข็งแรง เจ็บป่วยง่าย ติดเชื้อง่าย ภูมิต้านทานไม่ดี เม็ดเลือดน้อย ซีดจาง เหนื่อยง่าย และที่สำคัญจะทำให้รับเคมีบำบัด และการฉายแสงไม่ได้ตามกำหนด ดังนั้นผู้ป่วยสามารถทดลองด้วยตนเองว่า เมื่อหันกลับมากินเนื้อสัตว์บ้างจะทำให้มีความสดชื่นและมีเรี่ยวแรงขึ้น ถ้าผู้ป่วยเป็นมะเร็งในระยะที่มีน้ำหนักตัวลด กินอาหารไม่ลงมาระยะหนึ่ง มีเม็ดเลือดแดงต่ำ ขาดธาตุเหล็ก แนะนำให้กินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เลือดหมู เลือดไก่ เลือดเป็ด ส่วนเนื้อสัตว์ให้กินบ้าง มื้อละ 2-3 ช้อนโต๊ะ อาจเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ไม่ติดมันทำให้ย่อยง่าย อาหารที่ให้โปรตีนที่แนะนำคือ ให้กินเนื้อปลา กินได้เกือบทุกวันหรืออาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง แนะนำให้ต้ม ลวก นึ่ง ยำ หรือ จะทอดก็ได้ แต่ไม่แนะนำให้ปิ้งย่าง ตัวอย่างเมนู เช่น ลาบไก่ ลาบหมู ปรุงไม่เผ็ด รสไม่จัด กินกับผักลวก (กินแล้วท้องไม่อืด) แต่ถ้ากินผักสดได้ก็แนะนำให้ล้างให้สะอาด

อาหารที่ให้โปรตีนที่ดี คือ ไข่ แนะนำให้กินไข่ขาวได้วันละหลายฟองถ้าไม่มีข้อจำกัดอย่างอื่น แต่ถ้าเป็นไข่แดง แนะนำวันละ 1-2 ฟอง ไข่แดงมีธาตุเหล็ก และวิตามินหลายชนิด แต่คนที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงและมีเม็ดเลือดแดงต่ำ ถ้าประสงค์จะเพิ่มเม็ดเลือดแดงให้กินวันละไม่เกิน 1 ฟอง หรือเลือกกินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงชนิดอื่นแทนได้ ที่กล่าวอย่างนี้ เนื่องจากผู้ป่วยบางรายกินเนื้อสัตว์ไม่ได้เลย เพราะรู้สึกเหม็น และรู้สึกว่ามีรสขม เนื่องจากการรับรสและกลิ่นผิดเพี้ยนไป เมื่อได้รับเคมีบำบัด บางครั้งไม่มีอาหารชนิดอื่นให้เลือก จำเป็นต้องเลือกไข่แดงที่มีเนื้อนิ่ม กินง่าย ราคาถูก และมีจำหน่ายทั่วไป หาง่าย เช่น ไข่ต้ม สังขยา ฝอยทอง ทองหยอด

2.น้ำตาลกับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ข้อมูลที่ส่งต่อกันจำนวนมากทางอินเทอร์เน็ตบอกว่าการบริโภคน้ำตาลทรายเป็น ภัยทำให้เกิดมะเร็ง ด้วยเหตุผลว่า เซลล์มะเร็งเติบโตด้วยการหล่อเลี้ยงของน้ำตาล ความเชื่อเหล่านี้ได้รับการบอกเล่าหรือเขียนในหนังสือเกี่ยวกับโรคมะเร็ง แต่ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง คำตอบคือ น้ำตาลทรายโดยตัวของมันเองไม่ได้ทำร้ายสุขภาพ แต่ปริมาณที่บริโภคมีความสำคัญ ในบางงานวิจัยพบว่า การบริโภคน้ำตาลมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ นั้นจะมีปัจจัยที่รบกวนการศึกษา เช่น การได้รับพลังงานมากเกินไปที่พบคู่กับการกินน้ำตาลมาก
3.ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองกับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง จากข้อมูลล่าสุดที่มีการศึกษาในเรื่องนี้ พบว่า การบริโภคอาหารจากถั่วเหลืองลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งล้ำไส้ใหญ่ใน ผู้หญิง 21% โดยไม่มีผลในผู้ชาย นมถั่วเหลือง เต้าหู้ และอาหารที่ทำจากถั่วเหลือง มีองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่คล้าย ๆ ฮอร์โมนเพศหญิงคือเอสโตรเจนที่มีฤทธิ์อ่อน ๆ เรียกว่า “ไอโซฟลาโวนอยด์” มะเร็งเต้านมมีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง จึงมีความเชื่อว่า กินนมถั่วเหลือง เต้าหูแล้ว จะเร่งการเติบโตของมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนมากจึงเลิกรับประทาน แต่ได้มีผู้ทบทวนองค์ความรู้เรื่องนี้พบว่า “สารไอโซฟลาโวนอยด์” ในถั่วเหลือง ออกฤทธิ์เป็นสารต้านฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วย หลักฐานใหม่ ๆ จากงานวิจัยในผู้ป่วยมะเร็งที่รอดชีวิตในประเทศจีน พบว่า ผู้ป่วยที่กินนมถั่วเหลือง เต้าหู้ และอาหารที่ทำจากถั่วเหลือง มีอายุยืนยาวกว่าคนที่ไม่กิน ดังนั้นในคนที่ยังไม่หมดประจำเดือน หรือหมดประจำเดือนแล้ว กินนมถั่วเหลือง เต้าหู้ และอาหารที่ทำจากถั่วเหลือง ไม่น่าจะมีปัญหาที่กลัวกัน

4.นมวัวกับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ความเชื่อว่าบริโภคนมวัวแล้วไม่ดี เร่งการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งจำนวนมากจึงเลิกรับประทานนมวัว โยเกิร์ต เนยแข็ง และอาหารที่ทำจากนมวัวทุกอย่าง แต่สถาบันวิจัยมะเร็งโลกได้รายงานตั้งแต่ปี 2550 ว่า การบริโภคนมวัวไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง ถ้าเคยดื่มนมวัวได้ไม่เกิดอุจจาระร่วงก็แนะนำให้ดื่มต่อไป โดยไม่มีผลไปเร่งเนื้อร้ายให้โตขึ้น

5.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับการป้องกันมะเร็ง มีผู้เลือกกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อป้องกันมะเร็งจำนวนมากทั่วโลก เช่น วิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน สังกะสี ซีลิเนียม น้ำมันปลา กระเทียมสกัด น้ำมันรำข้าวแคปซูล ฯลฯ จากการประมวลข้อมูลล่าสุดในขณะนี้ คือ 1.ไม่แนะนำให้เสริมวิตามินเอ เบต้าแคโรทีน หรือวิตามินอี รูปแบบเม็ดหรือแคปซูลเพื่อป้องกันมะเร็ง เพราะมีหลักฐานว่า จะทำให้เกิดมะเร็งได้มากกว่าไม่เสริม 2.กรณีวิตามินซี มีผู้นิยมกินเสริมมาก เช่นวันละ 1,000-16,000 มิลลิกรัม ซึ่งมากเกินไป นอกจากจะไม่ช่วยให้โรคมะเร็งดีขึ้น ยังทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานน้อยลง และยังเสี่ยงเกิดนิ่วในไต ปริมาณวิตามินซีที่บริโภคต่อวันไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม อันที่จริงร่างกายต้องการวันละประมาณ 100 มิลลิกรัมเท่านั้น 3.น้ำมันปลามีกรดไขมันประเภทโอเมก้า 3 มักบริโภคเพื่อหวังผลลดการอักเสบ ประโยชน์ที่ได้รับก็ยังไม่ชัดเจนมาก แต่ถ้าจะกินก็ไม่มีข้อห้าม นอกจากผู้ที่เสี่ยงจะมีเลือดออก น้ำมันปลาจะเพิ่มความเสี่ยงนี้มากขึ้นและ 4.สำหรับอาหารเสริมชนิดอื่น ๆ ขณะนี้ยังไม่มีชนิดใดที่พบว่า ได้ผลในการป้องกันมะเร็ง
กองทุนวิจัยโรคมะเร็งโลก ได้ให้คะแนะนำ 8 ประการเพื่อป้องกันมะเร็ง ดังนี้ 1.รักษารูปร่างให้สมส่วน ไม่อ้วน และไม่ผอมจนเกินไป โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านม 2.ให้ขยับร่างกายอยู่เสมอ คือ ในแต่ละวันให้เคลื่อนที่ต่อเนื่องเช่นเดินอย่างน้อย 60 นาที หรือออกกำลังอย่างน้อย 30 นาที สามารถลดความเสี่ยงโรคมะเร็งและโรคต่าง ๆ 3.เลี่ยงอาหารไขมันสูงหรืออาหารและเครื่องดื่มมีน้ำตาล บางคนเข้าใจว่าน้ำผลไม้เป็นอาหารสุขภาพ ดื่มได้บ่อย ๆ ไม่จำกัด ขอแนะนำให้กินเป็นผลไม้ มิใช่ดื่มน้ำผลไม้ เพราะประโยชน์ของผลไม้ที่จะลดความเสี่ยงโรคมะเร็งได้นั้นต้องกินเป็นตัวผล ไม้ คือมีกากใยอาหาร เป็นผลไม้รสหวานน้อย ไม่ควรกินเป็นน้ำผลไม้ในปริมาณมาก ๆ และบ่อย เนื่องจากจะทำให้ได้รับพลังงานมากจนเกินไป จะทำให้อ้วน และมีผลเสียต่อการคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยเบาหวานควรลดหรือเลี่ยงการกินน้ำผลไม้ 4.กินผักให้มากเป็นประจำ เช่น กองโภชนาการแนะนำสูตร 2:1:1 คือผัก 2 ส่วน ข้าว แป้ง 1 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน หรือกินผักมื้อละครึ่งจาน ข้าว เนื้อ 1/4 จาน โดยข้าวแป้งกินเป็นธัญพืช ข้าวกล้อง ข้าวโพด ถั่วเมล็ด ต่าง ๆ จะดีมาก 5.เนื้อสัตว์ เนื้อแดงอย่ากินมากเกินไป คือวันละไม่เกิน 5 ช้อนโต๊ะ หลีกเลี่ยงอาหารเนื้อสัตว์ที่แปรรูป เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น หรือทำเค็ม ปิ้ง ย่าง ให้กินเนื้อปลาเป็นหลัก 6.จำกัดการดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ 7.ระวังการกินเค็ม เพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและ 8.อย่าใช้การกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อป้องกันมะเร็ง เพราะบางอย่างทำให้เป็นมะเร็งมากขึ้นได้.

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง