รศ.นวลศรี รักอริยะธรรม ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในเวทีนโยบายสาธารณะเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูประบบอาหารปลอดภัย" ซึ่งจัดโดยแผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ว่า จากการศึกษาระบบนำเข้าอาหารในประเทศไทย พบว่า ในปี 2552 ประเทศไทยมีปริมาณการนำเข้าอาหารถึง 2 แสนล้านบาท อาหารทะเลนำเข้ามากที่สุดถึง 6.6 หมื่นล้านบาท รองลงมา คือ เมล็ดพืชน้ำมัน 2.4 หมื่นล้านบาท ผลไม้อีกประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท
รศ.นวลศรีกล่าวว่า จากการสุ่มตรวจอาหารนำเข้าจากประเทศที่พัฒนาแล้วก็พบสารปนเปื้อน และจากการสำรวจของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มการเจ็บป่วยจากสารพิษในอาหารเพิ่มมากขึ้น ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง เช่น สารปรอทในอาหารทะเล เมื่อสะสมมากทำให้ป่วยโรคสมองฝ่อ พิการ ส่งผลต่อระบบประสาทกล้ามเนื้อ สารหนู ทำให้เกิดอาการเฉียบพลัน อาเจียน ท้องเสียจนถึงขั้นหัวใจล้มเหลว ยาฆ่าแมลง ทำลายประสาทส่วนกลาง เสี่ยงต่อมะเร็ง และโรคพาร์กินสัน เป็นต้น ทั้งนี้ ในปี 2552 ได้ตรวจสอบผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารนำเข้าที่ด่านอาหารและยาในภาคเหนือ พบอาหารที่มีสารปนเปื้อน ประกอบด้วย 1.ผัก ผลไม้ มียาฆ่าแมลงเกินมาตรฐานร้อยละ 10.81 พบมากในผักกาดฮ่องเต้ สลัดแก้ว เซอร์รารี่ กวางตุ้ง ถั่วลันเตา องุ่น ทับทิม สาลี่ ลูกพลับ 2.อาหารแห้ง พบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินมาตรฐานร้อยละ 83.9 โลหะหนักเกินมาตรฐาน เช่น ตะกั่ว ปรอท สารหนูร้อยละ 37.5 พบมากในสาหร่าย เยื่อไผ่ เห็ดหอมแห้ง 3.อาหารทะเล พบสารหนูเกินมาตรฐานร้อยละ 4.1 สารฟอร์มาลินเกินมาตรฐานร้อยละ 33.3 และพบโลหะหนักปนเปื้อนซึ่งเกิดจากธรรมชาติมากขึ้น 4.ขนมพร้อมบริโภค พบสีสังเคราะห์เกินมาตรฐานร้อยละ 20 พบมากในลูกอม เยลลี่ อาหารกระป๋อง และ 5.ผลิตภัณฑ์นม พบเมลามีนเกินมาตรฐานร้อยละ 3.3
รศ.แก้ว กังสดาลอำไพ หัวหน้าฝ่ายพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ใช้ค่ามาตรฐานในอาหารอ้างอิงจากองค์การกำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) ทำให้สารหลายอย่างไม่ถูกกำหนดให้ตรวจหาค่าความปลอดภัย เช่น สารแซ็กคาริน เป็นสารให้ความหวานในอาหารแห้ง เช่น บ๊วยหวาน ฝรั่งแช่อิ่ม ตรวจพบที่ด่านแม่สายสูงร้อยละ 80 หากได้รับสารชนิดนี้มากเสี่ยงเป็นมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ ระคายเคืองในช่องปาก และกระเพาะอาหารได้ ทั้งนี้ หากพบการฝ่าฝืน ควรมีบทลงโทษอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ การตุ๋นอาหารเกิน 2 ชั่วโมง จะทำให้เกิดสารเฮทเทอโรซัยคลิก เอมีนส์ (Heterocyclic amine) ที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อตับ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปก็จะพบสารชนิดนี้มาก ต้องแก้ได้ด้วยการเติมผักมากๆ ขณะที่ส้มตำถือเป็นสุดยอดสลัด แต่ต้องไม่เติมปูดอง หรือปลาร้า หากประชาชนกินให้หลากหลาย หลายสี ก็จะสามารถล้างพิษได้
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)