18 เอ็นจีโอไทยและ 240 องค์กร จากทั่วโลกร่วมรณรงค์ต้านข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าข้อตกลง 'ทริปส์' เกรงกระทบการเข้าถึงยาของปชช. ประเทศกำลังพัฒนา
องค์กรพัฒนาเอกชนไทย 18 องค์กรร่วมรณรงค์กับ 240 องค์กรและ 38 นักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและสาธารณสุขทั่วโลก รณรงค์เรียกร้องพร้อมกันให้รัฐบาลยึดมั่นในจุดยืนไม่ยอมรับข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลกในการเจรจา การค้าข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและอินเดีย ซึ่งจะมีการเจรจาครั้งต่อไปในช่วงวันที่ 6 – 8 ตุลาคม ณ กรุงนิวเดลี และจะสรุปการเจรจาภายในสิ้นปี 2553
อินเดียถือเป็นประเทศ “ร้านขายยา” สำคัญที่ผลิตและจำหน่ายยาชื่อสามัญให้กับประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ถ้ารัฐบาลอินเดียยอมเซ็นข้อตกลงเขตการค้าเสรี ที่มีเงื่อนไขด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ผูกมัดเกินกว่ามาตรฐานในข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก (หรือที่เรียกว่า “ทริปส์ผนวก”) ประเทศกำลังพัฒนาและโครงการสนับสนุนการรักษาเอชไอวีและเอดส์และโรคอื่นๆ ในประเทศยากจนทั่วโลก จะสุ่มเสี่ยงต่อการขาดแคลนยาชื่อสามัญในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุขของโลก
ร้อยละ 67 ของยาที่อินเดียผลิตได้ ส่งให้กับประเทศกำลังพัฒนา กว่าร้อยละ 90 ของยาต้านไวรัสเอชไอวีที่เป็นยาชื่อสามัญที่ใช้ในประเทศยากจนและรายได้ปานกลางมากจากผู้ผลิตในอินเดีย โครงการด้านการรักษาของยูนิเซฟใช้ยาร้อยละ 50 ที่ผลิตในอินเดีย ประเทศเลโซโธร์ในอัฟริกาซึ้อยาจากอินเดียกว่าร้อยละ 95 และประเทศซิมบับเวร้อยละ 75 ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาถึงยาชื่อสามัญนำเข้าจากอินเดีย เพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคเส้นเลือดอุดตัน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยมะเร็ง ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพของรัฐบาล
ดังนั้นรัฐบาลอินเดียยอมตกลงในการเจรจาเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ที่มีข้อผูกมัดทริปส์ผนวก เช่น การขยายอายุสิทธิบัตรยาเกินกว่า 20 ปี การผูกขาดข้อมูลทางยาเพื่อกีดกันการแข่งขันของยาชื่อสามัญเมื่ออายุสิทธิบัตรยาต้นตำรับหมดลง การใช้มาตรการชายแดนเพื่อยึดจับยาชื่อสามัญที่ถูกกฎหมายที่อยู่ในระหว่างขนส่ง ย่อมจะส่งผลร้ายแรงด้านสุขภาพต่อประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ทั่วโลกในอนาคต
องค์กรพัฒนาเอกชนไทยและสากลจึงเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียมีจุดยืนที่มั่นคงที่จะไม่ยอมตกลงในข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป โดยนำชีวิตและสุขภาพของคนนับล้านทั่วโลกไปแลก และขอเรียกร้องให้ประเทศอินเดียไม่ยอมรับข้อกำหนดด้านทรัพย์สินทางปัญญาใดๆ ที่เกินกว่าข้อตกลงทริปส์ในการเจรจา
นอกจากนี้ วันนี้องค์กรพัฒนาเอกชนไทยยังได้ส่งจดหมายข้อเรียกร้องให้แก่เอกอัครราชฑูตอินเดียประจำประเทศไทย พร้อมกับได้แนบแถลงการณ์ของเอ็นจีโอทั่วโลกไปด้วย และจะมีกิจกรรมรณรงค์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิเช่น ในวันที่ 6 ตุลาคม จะมีการชุมนุมเรียกร้องใหญ่ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย และกรุงจากาต้า ประเทศอินโดนีเซีย
องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมไทยที่ร่วมเรียกร้อง ได้แก่ เครือข่ายผู้ติดเชื้อแห่งประเทศไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ชมรมเพื่อนผู้ป่วยโรคไต เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเภสัชกรชนบท มูลนิธิแพทย์ชนบท มูลนิธิเพื่อสิทธิด้านเอดส์ คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ กลุ่มศึกษาปัญหายา ไบโอไทย แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) มูลนิธิสุขภาพไทย และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)