เลขาธิการแพทยสภา ชี้ ระบบเหมาจ่ายรายหัว มีส่วนทำให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง
วันนี้ (5 ต.ค.) นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขาดสภาพคล่องจำนวน 191 แห่งจากกว่า 800 แห่ง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลสังกัด สธ.ประสบปัญหาขาดทุนทั้งระบบสูงถึง 2,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเกิดจากระบบการจ่ายเงินของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลถึงร้อยละ 90 อีกร้อยละ 10 เป็นเพราะการบริหารจัดการของโรงพยาบาลไม่มีประสิทธิภาพ
นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า สปสช.ควรมีการปรับเปลี่ยนระบบ เงินเหมาจ่ายรายหัว เนื่องจากบางโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ แต่ประชากรน้อยจะขาดทุนตั้งแต่เริ่มแรก อาทิ โรงพยาบาลบ้านหมี่ จ.ลพบุรี ขาดทุนเดือนละ 2 ล้านบาทตกปีละประมาณ 40 ล้านบาท บางโรงพยาบาลถึงขนาดไม่มีเงินจ่ายค่ายาให้แก่พวกบริษัทยา ติดหนี้ร่วม 6 เดือนไปจนถึง 1 ปี จนบางแห่งถึงขั้นเสี่ยงโดนฟ้องร้อง
“ขณะนี้ โรงพยาบาลทางภาคอีสาน ซึ่งมีประชากรมากจะกำไรจากเงินบำรุงประมาณ 800-1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การจ่ายเงินในลักษณะนี้จึงไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม เช่น แพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้รับค่าตอบแทนไม่เท่ากัน ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาก็จะได้รับการบริการที่ไม่เต็มที่ ไม่ได้ประสิทธิภาพในแง่ของการพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือ ตรงนี้ถือว่าผิดหลัก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ระบุชัดว่าต้องให้ประชาชนได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม” นพ.สัมพันธ์ กล่าว
เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า สปสช.ต้องเปลี่ยนระบบการจัดสรรเงินจากการเหมาจ่ายรายหัวทั้งหมด มาเป็นพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายพื้นฐานของแต่ละโรงพยาบาลก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าตอบแทน เงินเดือน ค่ายา ค่าเครื่องมือทางการแพทย์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ สปสช.ต้องจ่ายส่วนนี้ก่อน จากนั้นจึงค่อยมาคำนวณจ่ายตามอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัว
ด้าน พญ.พจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท.กล่าวว่า แพทย์ใน รพศ./รพท.ต้องทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยตลอดเวลาที่ผ่านมา แต่ได้รับค่าตอบแทนไม่สอดคล้องตามภาระที่มี แม้จะมีความพยายามในการเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขโรงพยาบาลระดับต่างๆ ก็ยังไม่เป็นผล อย่างไรก็ตาม ทางสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท.จะจัดประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในวันที่ 6 ต.ค.ที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)