บทความ

คดีผู้บริโภค

by wanna @September,28 2010 17.02 ( IP : 202...248 ) | Tags : บทความ , อื่น ๆ
photo  , 180x180 pixel , 10,677 bytes.

การเป็นคดีความ ไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือจำเลย ดูจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและน่าเวียนหัว ปวดใจอยู่ไม่ใช่น้อย ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาหรือความเสียหายในจำนวนเงินที่ไม่สูงมาก โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้าหรือบริการที่มีราคาหลักร้อยหรือหลักพัน เราก็อาจจะรู้สึกว่า มันไม่คุ้มค่าที่จะไปฟ้องร้องเป็นคดีความให้เหนื่อยหนักหัวใจ และเสียเวลาทำมาหากิน อีกทั้งได้ไม่คุ้มเสีย เพราะค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องเป็นคดีในแต่ละเรื่องก็ไม่ใช่น้อยๆ
      และถือว่าเป็นเรื่องใหม่พอสมควร สำหรับ “คดีผู้บริโภค” เนื่องจากได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคนี้เมื่อปี พ.ศ. 2551 นี้เอง ซึ่งกฎหมายนี้ มีขึ้นเพื่อดูแลผู้บริโภคอย่างพวกเราท่านโดยเฉพาะ เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่มีปริมาณมากที่สุดของประเทศให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น ไม่ถูกขัดขวางด้วยรูปแบบการฟ้องคดีแบบเดิมๆ อีกต่อไป เนื่องจากเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคอย่างพวกเราท่านสามารถนำ “คดีผู้บริโภค” มาฟ้องได้สะดวกขึ้น
      ก่อนที่จะรู้ว่า เราจะเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องคดีผู้บริโภคได้อย่างไร? เราก็ควรทราบก่อนว่า “คดีผู้บริโภค” เกี่ยวข้องกับใครบ้าง?
      อันดับแรก คือ ผู้บริโภค หมายถึง ผู้ซื้อ หรือผู้ที่ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ หรือผู้ใช้สินค้าหรือผู้ที่ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยที่ไม่ได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม
      อันดับที่สอง คือ ผู้ที่มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันนี้มีอยู่ 3 องค์กร คือ
      ๑. คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ 2 กรณี คือ
      คดีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ที่คณะกรรมการเห็นสมควร และ
      คดีที่ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิร้องขอ ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่า การดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม
      ๒. สมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 40 และมาตรา 41 ซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น
      ๓. มูลนิธิที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรอง มีอำนาจฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายแทนผู้บริโภคได้ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551
      อันดับที่สาม คือ ผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งหมายถึง
      ผู้ขาย คือ ผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่าซื้อ หรือผู้จัดหาให้ไม่ว่าด้วยประการใดๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงิน หรือผลประโยชน์อย่างอื่น ตลอดจนผู้เสนอหรือชักชวนเพื่อการดังกล่าวด้วย


    ผู้ผลิตเพื่อขาย คือ ผู้ทำ ผสม ปรุง ประกอบ ประดิษฐ์ หรือแปรสภาพ หรือดัดแปลง คัดเลือก หรือแบ่งบรรจุเพื่อขาย
      ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในประเทศไทยเพื่อขาย คือ ผู้สั่งซื้อสินค้ามาจากผู้ผลิตต่างแดน
      ผู้ซื้อเพื่อขายต่อ คือ ผู้ค้าปลีก ซึ่งซื้อสินค้ามาจากผู้ผลิตหรือผู้ขายส่ง ไม่ใช่ผู้บริโภค
      ผู้ให้บริการ คือ ผู้รับจัดทำการงาน ผู้ให้สิทธิใดๆ หรือให้ใช้หรือให้ประโยชน์ในทรัพย์สินหรือกิจการใดๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อื่นๆ เช่น ให้เช่าอาคารสำนักงาน
      ผู้ประกอบกิจการโฆษณา คือ ผู้ประกอบกิจการที่มีวัตถุประสงค์ที่จะกระทำการใดๆ ให้คนทั่วไปเห็นหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า
      ความหมายของ “คดีผู้บริโภค” ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 คือ
      (1) คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค กับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ       (2) คดีแพ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย       (3) คดีแพ่งที่เกี่ยวพันกันกับคดีตาม (1) หรือ (2)       (4) คดีแพ่งที่มีกฎหมายบัญญัติให้ใช้วิธีพิจารณาตามพระราชบัญญัตินี้
      ซึ่งการใช้สิทธิฟ้อง “คดีผู้บริโภค” ผู้เสียหายที่เป็นโจทก์จะฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ ในกรณีที่อยากฟ้องด้วยวาจา ศาลจะจัดให้เจ้าพนักงานคดีทำหน้าที่บันทึกรายละเอียดแห่งคำฟ้องแล้วให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
      และในคดีผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่า ตนเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากสินค้าหรือบริการเท่านั้น เช่น หากผู้บริโภคผิวหน้าเป็นแผลด่างดวงจากการใช้เครื่องสำอาง ผู้บริโภคก็ต้องแสดงให้ศาลเห็นได้ว่าก่อนหน้าที่จะใช้เครื่องสำอางยี่ห้อนี้มีผิวหน้าดีอย่างไร แต่หลังจากใช้เครื่องสำอางยี่ห้อนี้ทาผิวหน้าแล้ว ส่งผลให้ผิวหน้าเกิดปัญหาอย่างไรบ้าง
      แต่ควรทราบว่า “คดีผู้บริโภค” ไม่ได้หมายความว่า จะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบธุรกิจเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องผู้บริโภคเป็นคดีได้เช่นกัน อาทิ เช่น
      คดีที่ผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ฟ้องบังคับลูกค้าให้ชำระหนี้ตามสัญญายืม จำนอง ค้ำประกัน บัญชีเดินสะพัด หรือการให้บริการอื่นๆ
      คดีที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต หรือให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล หรือกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฟ้องบังคับลุกหนี้ให้ชำระหนี้ตามสัญญาบัตรเครดิต หรือสัญญากู้ยืมเงิน เป็นต้น
      ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของการฟ้อง “คดีผู้บริโภค” คือ การใช้วิธีพิจารณาในระบบไต่สวน ซึ่งทำให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในการเรียกพยานหลักฐานเข้ามาสืบได้เอง และสั่งให้เจ้าพนักงานคดี ซึ่งทำหน้าที่ช่วยศาลตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานที่จำเป็นให้ศาลทราบ เพื่อช่วยให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนรอบด้าน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เข้าถึงและได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง

โดย อ้วน อารีวรรณ
สืบค้น www. manager.co.th

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง