เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดโครงการเรียนรู้นอกตำรา “ถุงยางอนามัยดี มีคุณภาพ (สากล) เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ ได้ชมห้องปฏิบัติการทดสอบถุงยางอนามัยตามมาตรฐานสากล และพิพิธภัณฑ์ถุงยางอนามัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเร่งปลูกฝังและเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อถุงยางอนามัย ให้ทุกกลุ่มบุคคลได้เรียนรู้นอกตำรา เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีพฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง หลังจากนั้นได้ตัดริบบิ้นเปิดพิพิธภัณฑ์ถุงยางอนามัยและห้องปฏิบัติการทดสอบถุงยางอนามัย
ดร.พรรณสิริ ให้สัมภาษณ์ว่า ความคาดหวังในการเรียนนอกตำราเกี่ยวกับถุงยางอนามัยครั้งนี้ เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งในด้านคุณภาพ และวิธีการใช้ ตลอดจนความเชื่อมั่นในคุณภาพของถุงยางอนามัยที่ผ่านการตรวจสอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่ทดสอบคุณภาพ เนื่องจากถุงยางอนามัยถือเป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง ที่ควรจะมีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องของขนาดของอวัยวะเพศของคนไทยซึ่งมีการตรวจวัดขนาดต่างๆ นั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติในสังคม เพียงแต่ว่ามีการวัดขนาดขึ้นมา ทำให้มีข้อมูล สถิติเพื่อให้ผู้ที่จะใช้ สามารถใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ที่ผ่านมามีการทดสอบถุงยางอนามัยทุกระยะ ตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา ซึ่งผลการทดสอบถุงยางอนามัยที่มีอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป พบมีมาตรฐานร้อยละ 99 ขึ้นไป ดังนั้นในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ไม่ติดเชื้อที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์ หนองใน ฯลฯ จึงส่งเสริมให้มีการใช้ถุงยางอนามัย และให้ประชาชนมั่นใจในคุณภาพ ส่วนการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร จะมีแต่โทษภัย ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้หญิงหากมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร จะเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนั้นจึงควรมีเพศสัมพันธ์ในวัยที่เหมาะสม ดร.พรรณสิริ กล่าว
Relate topics
- กรณีศึกษา อย.เตือนยาคีไตรโซนผิดมาตรฐาน-อันตราย สั่งเก็บทุกสถานพยาบาล
- กรณีศึกษา อย.เผยพบแบคทีเรียปนเปื้อน “น้ำยาบ้วนปากออรัล-บี” เตือน ปชช.ระงับใช้
- กรณีศึกษา สลด!! ว่าที่ "นิสิตเภสัช" ม.มหาสารคาม กินยาลดความอ้วนดับ น้องสาวเผยกลัวใส่ชุดไม่สวย
- กรณีศึกษา สั่งถอนยา "บีเวลล์" แก้เซ็กซ์เสื่อมอาจมีผลข้างเคียงถึงตาย!
- กรณีศึกษา ธนาคารมีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมอย่างอื่นนอกเหนือจากดอกเบี้ยหรือไม่