เขียนโดย อัครพงษ์ เวชนนท์ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
ผู้เขียนได้มีโอกาสอีกครั้งหนึ่งเดินทางไปยังศาลาว่าการกรุงโตเกียวมหานคร สำนักงานความปลอดภัยในการดำรงชีวิต เพื่อศึกษางานของกรุงโตเกียวมหานครด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในการนี้ นายยูกิโยชิ ซิมิซู นายทซึกูซะ ยานากิดะ และนายซิเกโฮ ทากาดะ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ได้บรรยายสาระเกี่ยวกับการจัดทำเว๊บไซต์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความปลอดภัยในการดำรงชีวิตสรุปได้ดังนี้
เว๊บไซต์ของสำนักงานความปลอดภัยในการดำรงชีวิตได้เริ่มครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2003 ซึ่งสามารถชมได้ทาง http://www.anzen.metro.tokyo.jp ลักษณะพิเศษมีดังนี้
1.เน้นการให้คำแนะนำข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความปลอดภัยในการดำรงชีวิตโดยใช้ภาพประกอบเพื่อให้เข้าใจง่าย ข้อความที่ใช้ความกะทัดรัดได้ความหมาย เน้นสาระมากกว่ารูปแบบ และมีการใช้ระบบค้นข้อมูลด้วยการใช้คำสำคัญ (key word)ข้อมูลที่เผยแพร่ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าอันตราย ข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บสินค้าคืนจากตลาด การตรวจสอบอันตรายภายในบ้านของตนเอง การแนะนำการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดกับผู้สูงอายุและทารก การแนะนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าต่างๆ และการป้องกันอุบัติเหตุในโตเกียว รวมทั้งการแนะนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย
2.ผู้บริโภคสามารถปรึกษาหรือร้องเรียนเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับสินค้าได้โดยตรงในเว๊บไซต์
3.ผู้ผลิตสามารถแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเรียกคืนสินค้าได้รวดเร็วในเว๊บไซต์
4.มีการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารและเนื้อหาการร้องเรียนจากผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังต้องให้ความคุ้มครองผู้ร้องเรียนด้วย การร้องเรียนทุกครั้งต้องระบุชื่อนามสกุลและที่อยู่ที่ติดต่อได้ทุกครั้ง และจะได้รับความคุ้มครอง และข้อมูลที่ร้องเรียนจะต้องมีการตรวจสอบอย่างสมบูรณ์และยืนยันความถูกต้องได้
5.มีการแปรสัญญาณข้อมูลในระบบความปลอดภัยของข้อมูล เป็นต้น
6.มีการเปิดเว๊บบอร์ดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยเสรี
ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบและข้อมูลให้ดียิ่งขึ้น
ในการนี้ ผู้เขียนได้เข้าเยี่ยมทำความเคารพผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยในการดำรงชีวิต สำนักงานกรุงโตเกียวมหานคร และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเวลาอีกหนึ่งชั่วโมง
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เขียน
1.การให้ข้อมูลข่าวสารทางเว๊บไซต์เป็นช่องทางหนึ่งในมาตรการเพื่อความปลอดภัยเชิงป้องกัน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมได้โดยพลัน เพื่อให้ทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์
2.การจัดทำเว๊บไซต์เพื่อประชาชนหรือผู้บริโภคเป็นสิ่งที่หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานจะต้องทำและมีรูปแบบอยู่แล้วในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและนโยบายการใช้อีเล็กทรอนิกส์ในการบริหารงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักรัฐธรรมนูญว่าด้วยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของทางราชการ อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของรูปแบบที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องจัดทำอย่างมีสาระด้วย และจะต้องมีการตอบสนองต่อประชาชนผู้ใช้บริการทางอินเตอร์เน็ตโดยเร็วและทันต่อเหตุการณ์หรือสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภค และเพื่อให้เว๊บไซต์ดังกล่าวของหน่วยงานของรัฐเป็นและเพื่อประชาชนโดยแท้ ดังนั้น การเปิดเว๊บบอร์ดเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยเสรีเป็นสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จะต้องดำเนินการทำโดยเร็ว เนื่องจากการจัดทำดังกล่าวหลายหน่วยงานราชการได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นในลักษณะนี้
3.สำหรับการรับเรื่องร้องเรียนที่จะต้องให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อนามสกุลและที่อยู่ตลอดจนหมายเลขโทรศัพท์ที่จะติดต่อกลับได้สำหรับการทำงานด้านการร้องเรียนของสำนักงานกรุงโตเกียวมหานครนั้น ผู้เขียนได้มีความเห็นต่อผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ว่า ชื่อนามสกุลและที่อยู่ ตลอดจนหมายเลขโทรศัพท์นั้น ไม่จำเป็นสำหรับการบันทึกข้อมูล สาระสำคัญที่สุดคือสภาพและเหตุแห่งปัญหาหรือความทุกข์ซึ่งผู้ร้องเรียนร้องต่อหน่วยงานของรัฐหากเป็นภัยที่กระทบต่อสาธารณะก็เป็นเสียงสะท้อนให้หน่วยงานภาครัฐต้องลงไปปฏิบัติการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง หากมีมูลเพียงพอที่จะดำเนินการต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม คำร้องเรียนดังกล่าวหากเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่กระทบต่อสาธารณะ ชื่อนามสกุล และที่อยู่เช่นว่านั้นจึงจะจำเป็น เพราะรัฐมีหน้าที่ที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนทั่วไปและประชาชนเฉพาะรายที่มาขอความช่วยเหลือ การที่รัฐจะมุ่งเน้นต่อชื่อนามสกุลผู้ร้องเรียนโดยคำนึงแต่เพียงรูปแบบ หากเป็นภัยสาธารณะซึ่งเป็นเนื้อหาแล้วไม่ดำเนินการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงก็จะเกิดความเสียหายและนำมาซึ่งความเดือดร้อนของประชาชนโดยทั่วไปในอันทีจะส่งผลต่อศรัทธาของประชาชนต่อการปฏิบัติงานภาครัฐ ซึ่งข้อคิดเห็นของเขียนดังกล่าวนี้ ผู้อำนวยการสำนักฯ เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ชื่อและนามสกุลของผู้ร้องเรียนก็ยังจำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักฯ ซึ่งเป็นความแตกต่างในเรื่องวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละองค์กร นอกจากนี้ สำนักฯ และเจ้าหน้าที่ของสำนักฯ ที่เกี่ยวข้องต่างมีความรับผิดชอบสูงและตระหนักถึงสิทธิส่วนบุคคลของผู้ร้องเรียนอย่างยิ่งที่จะไม่เปิดเผยรายชื่อดังกล่าวต่อผู้อื่นอยู่แล้วเป็นอย่างดี ดังนั้น จึงไม่เป็นสาเหตุที่จะต้องกังวลต่อความผิดพลาดดังกล่าวแต่ประการใด
สำหรับกรณีที่หน่วยงานของรัฐและ สคบ.มีทิศทางที่จะให้ความสำคัญกับชื่อและนามสกุลของผู้ร้องเรียนเป็นสำคัญนั้น หน่วยงานของรัฐ และ สคบ.จะต้องเคร่งครัดเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการและกำชับเจ้าหน้าที่ทุกระดับให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการดังกล่าวโดยเคร่งครัดด้วยเช่นกัน
Relate topics
- รณรงค์เลิกใช้โฟม
- รายการสงขลามหาชน ตัวอย่างอาหารของแม่ ตอน " บทบาทของพ่อ " อาหารของแม่ สร้างความอบอุ่นของครอบครัวกับมื้ออร่อยที่แม่บรรจงปรุงเพื่อลูก
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู( http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู(7 เม.ย 5…: http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- รายการอาหารของแม่ ตอน " อาหารคือภาคีและพื้นที่ " เปิดอร่อยด้วย ยำบัวบก สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาถิ่น อบต.ท่าข้าม ของป้ายุพา ผลชนะ