บทความ

มหากาพย์พลังงานไทยโกงไทย(4) ตอนกลท่อก๊าซ

by twoseadj @September,14 2010 09.25 ( IP : 124...187 ) | Tags : บทความ

โดย บัณรส บัวคลี่

ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเป็นเสาหลักหนึ่งใน 4 เสาของปตท. และนับวันจะยิ่งกลายเป็นพระเอกเพราะปริมาณก๊าซที่พบเพิ่มและการขยายโครงข่ายท่อที่เปรียบเสมือนไฮเวย์พลังงาน
      แม้นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.จะเติบโตมาจากสายน้ำมันแต่ก็เคยนั่งดูแลสายงานก๊าซธรรมชาติมาช่วงหนึ่งก่อนจะขึ้นเบอร์หนึ่ง ปตท. ดังนั้นเงื่อนปมและการขยับตัวของกิจกรรมสายก๊าซธรรมชาติแต่ละครั้งเขาย่อมมองเห็นอย่างเข้าใจว่าขยับแบบไหนจึงจะได้กำไร
      ธุรกิจก๊าซธรรมชาติจะทำให้ปตท.ยิ่งใหญ่สุดในวงการพลังงานของประเทศไทยอย่างแท้จริงเมื่อโครงข่ายท่อครอบคลุมประเทศไทยและต่อเชื่อมกับเพื่อนบ้านแล้วเสร็จ
      สำหรับโลกพลังงานยุคปัจจุบันระบบขนส่งทางท่อกำลังจะกลายเป็นพระเอก มองย้อนหลังไปเมื่อทศวรรษที่แล้วมีเอกสารวิเคราะห์ของ U.S. Energy Information Administration เรื่อง Natural Gas Pipeline Network: Changing & Growing (1998) ทำนายว่าว่าการอุปโภคพลังงานก๊าซธรรมชาติจะเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงชัดเจนและคาดว่าจะถึง 32 trillion ลบ.ฟ. (เติมเลขศูนย์เอาเองนะครับ) ภายในปี 2020 และนี่จะเป็นยุคของระบบการขนส่งทางท่อ … หมายถึงว่า คนในวงการพลังงานโลกมองเรื่องระบบท่อและมองเห็นอนาคตของก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ 12ปีก่อนซึ่งขณะนั้นประเทศไทยเพิ่งจะประสบปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้งมาใหม่ ๆ
      เพียงไม่กี่ปีผ่านไปความสำคัญของระบบท่อขนส่งพลังงานยิ่งฉายให้เห็นอย่างชัดเจนว่าระบบท่อขนส่งก๊าซและน้ำมันกลายเป็นความสำคัญทางด้านความมั่นคงและภูมิรัฐศาสตร์ในระดับนานาชาติ ความขัดแย้งในเอเชียกลางและยูเรเซีย ที่มีอัฟกานิสถานเป็นศูนย์กลางแท้จริงก็มาจากท่อน้ำมันนี่แหละ
      ท่อน้ำมันและก๊าซยุคใหม่สามารถปรับเปลี่ยนภารกิจเพื่อการขนส่งพลังงานแต่ละประเภทได้ ล็อตนี้เป็นน้ำมันดิบ ล็อตต่อไปเป็นก๊าซธรรมชาติ เหมือนกับเป็นรางรถไฟที่พร้อมรับขบวนตู้สินค้าแต่ละชนิด มีภาพยนตร์เจมส์บอนด์007ตอนหนึ่งที่นำคนขนส่งผ่านท่อก๊าซหลบหนีจากรัสเซียมายังยุโรป
      ความยิ่งใหญ่ของระบบท่อพลังงานก็คือจะมีการเชื่อมโยงโครงข่ายท่อเข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับระบบสายส่งไฟฟ้า ระบบท่อในอนาคตจะเชื่อมทอดยาวข้ามทวีปและข้ามมหาสมุทรเช่นเดียวกับระบบท่อที่อลาสก้า และ ไซบีเรียดำเนินการอยู่ ผู้ผลิตรายใดส่งสินค้าเข้าไปเท่าใด ใครนำออกปลายทางเท่าไหร่ มีระบบตรวจเช็คระหว่างกันของผู้ส่ง-ผู้รับและ regulator ในส่วนของอาเซียนก็เริ่มมีการเชื่อมโยงกันเรียกว่า Trans-Asian Gas Pipeline ที่ปัจจุบันมีความยาวประมาณ 3 พันก.ม. และในทางปฏิบัติสามารถจะเชื่อมไปถึงประเทศจีนได้เพราะจีนกำลังวางท่อจากอ่าวเมาะตะมะประเทศพม่าเข้าไปยังมณฑลหยุนหนัน
      Trans-Asian Gas Pipeline เป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก ทำให้กิจการพลังงานมันไม่ได้เป็นแค่เรื่องของธุรกิจ แต่กลายเป็นประเด็นความมั่นคง และอิทธิพลระหว่างมหาอำนาจ ยิ่งมีโครงข่ายท่อก๊าซมากขึ้นจุดยุทธศาสตร์ของการเชื่อมต่อ เช่น แลนด์บริดจ์จะยิ่งกลายเป็นจุดที่มหาอำนาจให้ความสนใจ
      ประเทศไทยเราก็กำลังจะเริ่มเจอประเด็นปัญหาระดับโลกที่มาจากตำแหน่งท่อก๊าซ ตัวอย่างเล็ก ๆ ที่ไม่ควรมองข้ามคือการอาละวาดฟาดงวงฟาดงาของกลุ่มดูไบเวิลด์และพวก จากข่าวที่รัฐบาลประชาธิปัตย์อาจจะระงับแผนแลนด์บริดจ์สตูล(ปากบารา)-สงขลา ที่ดูไบเวิลด์ออกเงินศึกษาไว้ให้เรียบร้อย เพราะหลังจากนายอภิสิทธิ์และคณะไปเยือนปักกิ่งกลับมา ข่าววงในว่าประชาธิปัตย์อาจจะทิ้งแนวที่ดูไบเวิลด์ร่างไว้ให้ แล้วไปให้น้ำหนักกับท่าเรือทวายและโครงข่ายเชื่อมตอนบนแทน
      ดูไบเวิลด์ แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้นชื่อเป็นตะวันออกกลางก็จริงแต่สำหรับวงการพลังงานรู้กันดีว่ากลุ่มทุนกลุ่มนี้คิด-พูด-ทำด้วยภาษาและวิธีการเดียวกับตะวันตก โดยเฉพาะกลุ่มทุนน้ำมันเท็กซัส วงการพลังงานเชื่อกันว่าดูไบเวิลด์--บุช -แฮรอดส์(อัลฟาเยต) เกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกัน (ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นทักษิณก็คงเกี่ยว ๆ กับกลุ่มนี้ด้วย)
      ดูไบเวิลด์ร่างแผนจะวางท่อก๊าซผ่านทะเลอันดามันเชื่อมกับอ่าวไทย โดยเขาได้ขยับเข้ามาอย่างจริงจังตั้งแต่ยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวช
      นี่คือแผนการยึดหัวหาดยุทธศาสตร์ขนส่งพลังงานทางท่อในภูมิภาคก็ว่าได้ !!
      ถ้ายังจำกันได้ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 จีนเองก็ทำท่าจะเข้ามาศึกษาและลงทุนในแลนด์บริดจ์ แต่พอยุคทักษิณเป็นใหญ่ก็มีตัวละครจากตะวันออกกลางมาเป็นพระเอกแทน !!?
      หน้าฉากของดูไบเวิลด์คือธุรกิจในเครือข่ายของชีคโมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มักตุม เจ้าผู้ครองรัฐดูไบซึ่งเราท่านก็ได้รู้กันแล้วว่าโครงการยักษ์ของเขาหลายตัวมีปัญหา แต่นั่นยังไม่เท่ากับประเด็นสายสัมพันธ์ และความสนใจของพวกเขา
      พวกเขาสนเรื่อง 1.สัมปทานขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ 2.ท่อก๊าซแลนด์บริดจ์เชื่อมสองฝั่งทะเล 3.การบริหารท่าเรือซึ่งจะกุมระบบการขนส่งทางน้ำ
      ดูไบ เวิลด์ เข้ามาอย่างเป็นทางการเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2550 ในสมัยนายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเขามีหนังสือเสนอให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าเพื่อศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทย โดยไม่มีข้อผูกพันใด ๆ       ต่อจากขั้นตอนศึกษาดูไบเวิลด์มีข้อเสนอร่วมทุนกับรัฐบาลพัฒนาสะพานเศรษฐกิจพร้อมท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมถึงเครือข่ายเชื่อมโยงอื่นๆ เช่น ถนน รถไฟ ท่อ เป็นต้น และจะให้รัฐบาลไทยถือหุ้นร้อยละ 50.1 โดยคิดจากมูลค่าที่ดินหรือมูลค่าภาษีที่จะลดหย่อนให้ตลอดอายุการใช้งาน
      ข้อเสนอของเขาง่ายมากคือรัฐลงทุนโดยไม่ต้องควักเงินแต่ ดูไบ เวิลด์ จะขอเป็นผู้บริหารท่าเรือและเขตปลอดภาษีระยะ 30 ปี และขยายต่อไปอีก 3 ครั้งๆ รวม 120 ปี ต่อมากระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ สนข. ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับดูไบเวิลด์ เมื่อ 22 พฤษภาคม 2551
      ข้อมูลประกอบที่สำคัญก่อนหน้านั้นเล็กน้อยรัฐบาลได้ให้สัมปทานขุดเจาะก๊าซและน้ำมันให้กับ “Pearl Oil” ซึ่งแท้จริงแปลงร่างเปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท “Harrods Energy” หลายแปลงทั้งบนบกและในทะเลจนกลุ่ม Pearl Oil ได้กลายเป็นยักษ์ใหญ่หนึ่งในสามของบริษัทขุดเจาะในบ้านเราไปเรียบร้อย
      นี่คือการเคลื่อนไหวของทุนตะวันออกกลางที่ใกล้ชิดทุนพลังงานอเมริกันที่สุดในบ้านของเรา และทั้งหมดดำเนินการในยุครัฐบาลที่ใกล้ชิดกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
      เรื่องนี้เกี่ยวข้องยังไงกับ กิจการพลังงานของบ้านเรา โดยเฉพาะ ปตท. ?
      1. เพื่อจะตอกย้ำความสำคัญของกิจการพลังงานของประเทศไทยไม่ว่าจะโดยปริมาณและจุดที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์รวมถึงความเป็นศูนย์กลางจนส่ง เพราะเมื่อมีการพยายามจะวิจารณ์ปตท.หรือนโยบายพลังงานขึ้นมาครั้งใดมักจะมีผู้ออกมาสั่งสอนว่าประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้า มีขนาดเล็ก ปริมาณก็น้อยเมื่อเทียบกับยักษ์ใหญ่ (ก็ถูกของเขาพูดกี่ทีก็ถูกหากนำเราไปเทียบกับซาอุฯ) แล้วก็บอกต่อว่าปตท.ก็ต้องเดินตามรอยบริษัทน้ำมันอื่น ๆ ทั้งเรื่องวิธีการ วิธีคิดและราคาเพื่อจะแข่งขันกับคู่แข่งให้ได้
      2. เพื่อชี้ว่าการพลังงานในยุคนี้แยกไม่ออกจากความมั่นคงของรัฐ ไม่สามารถจำกัดกรอบคิดว่ามันก็คือธุรกิจชนิดหนึ่งอีกต่อไป คำว่าการทำธุรกิจน้ำมันในตลาดแข่งขันเสรีจึงเป็นแค่คาถาสวย ๆ เอาไว้อ้างเท่านั้นเพราะขนาดที่ยูโนแคลจะขายกิจการให้จีน สภาคองเกรสยังต้องเข้ามาแทรกแซงและให้เชฟรอนมาซื้อเอาไว้เลย ดังนั้นในเมื่อการพลังงานแยกไม่ออกจากมิติความมั่นคงของรัฐจึงต้องมีคำถามตัวโต ๆ ว่าเมื่อปี 2544 นักการเมืองและขุนนางพลังงานวางแผนฮุบเอาระบบท่อซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะและเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชนไปทำไม โชคดีที่มีคนไทยหัวใจรักชาติกลุ่มหนึ่งออกมาขัดขวางฟ้องร้องต่อศาลปกครองจนศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ปตท. และรัฐบาลแยกทรัพย์สินดังกล่าวออกมาให้เป็นของประชาชน
      ยึดท่อ-คือยึดอำนาจอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ

      การฮุบท่อก๊าซเป็นเรื่องที่ควรบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์การพลังงานไทย เรื่องนี้ดูเหมือนจบแต่แท้จริงยังไม่จบ เพราะตราบใดที่ประเทศไทยยังขุดเจาะก๊าซธรรมชาติได้ และต้องใช้ท่อลำเลียงเข้ามาในขั้นตอนต่าง ๆ จนกระทั่งถึงมือผู้บริโภคตราบนั้นเรา-ประชาชนคนไทยก็ยังต้องมีชะตากรรมผูกพันกับปัญหาท่อก๊าซอยู่ต่อไป เพราะแค่การคิดอัตราค่าผ่านท่อขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผลที่ดีรองรับเพียงไม่กี่สตางค์ นั่นย่อมหมายถึงต้นทุนพลังงานที่ส่งผลไปถึงประชาชนต่อไปเป็นลูกโซ่
      การหาประโยชน์จากท่อก๊าซขอแยกเป็น 2 ส่วนเพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจ
      ประเด็นแรก - การใช้อำนาจทางการเมืองแยกท่อก๊าซและอำนาจมหาชนไปอยู่ในมือบริษัทที่ตนและพวกกุมนโยบายได้ นั่นเหมือนกับการได้ยึดครองหัวใจการพลังงานยุคใหม่ในทศวรรษหน้า
      ประเด็นที่สอง - การใช้กลเม็ดทางบัญชี หาประโยชน์จากท่อก๊าซ และการเอาเปรียบประชาชนผู้เป็นเจ้าของท่อตัวจริง เรื่องนี้เป็นการใช้เทคนิคทางบัญชีของการเอารัดเอาเปรียบประชาชนที่ชัดเจนที่สุดอีกตัวอย่างหนึ่ง เปรียบการเล่นกลท่อก๊าซว่าตอน สมมติท่อก๊าซเป็นบ้าน...ตอนปี 2544 ปตท.ซื้อบ้านจากประชาชนไปเขาตีราคาให้ถูกเข้าไว้ แต่เมื่อได้ไปแล้วก็เล่นกลประเมินราคาใหม่เพิ่มอีกเท่าตัว แล้วก็เก็บค่าเช่าบ้านหลังเดียวกันนั้นจากประชาชนแพง ๆ
      สำหรับประเด็นข้อโต้แย้งว่า เวลานี้ปตท.ได้โอนทรัพย์สินตามคำสั่งศาลครบถ้วนหรือยังนั้น ในที่นี้จะไม่ยังขอลงรายละเอียดเพราะเป็นข้อมูลซับซ้อนน่าจะแยกออกมานำเสนออีกตอนหนึ่ง ท่านที่สนใจขอให้ไปดูข้อมูลจากอนุกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภาที่ศึกษาเรื่องนี้โดยตรง
      1.นักการเมืองร่วมกับขุนนางพลังงานยึดอำนาจมหาชนของรัฐ
      คำว่า “อำนาจมหาชนของรัฐ” ที่กล่าวในที่นี้เป็นความสำคัญที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่คนไทยเจ้าของประเทศควรจะรับรู้ว่า...ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ นักการเมืองและขุนนางพลังงานกลุ่มหนึ่งร่วมกันออกนโยบายที่มิชอบออกแบบให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กลายเป็นผู้ใช้อำนาจมหาชนของรัฐเหนือกิจกรรมที่เป็นหัวใจหลักการพลังงานของชาติ
      คำว่าอำนาจมหาชนของรัฐ ก็คือ อำนาจเวนคืนที่ดิน อำนาจประกาศเขตขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ อำนาจในการรอนสิทธิ์เหนือที่ดินเอกชนคนสามัญ เพื่อดำเนินกิจกรรมของบริษัทมหาชน
      อำนาจพิเศษนี้สุ่มเสี่ยงและอันตรายมากหากไม่มีระบบกำกับถ่วงดุลที่ดี เพราะหากนักการเมืองเข้าไปมีอำนาจบริหาร และสามารถครอบงำข้าราชการที่เป็นขุนนางพลังงานซึ่งกำกับนโยบายพลังงาน จะสามารถเนรมิตกิจกรรมที่ตนต้องการส่วนแบ่งผลประโยชน์ได้อย่างง่ายดาย
      กิจการพลังงาน ไม่ใช่กิจการบริการสาธารณะหรือส่งเสริมเศรษฐกิจเพียงมิติใดมิติหนึ่ง หากแต่มันเต็มเปี่ยมไปด้วยมิติของความมั่นคงแห่งรัฐ และผลประโยชน์ชาติอยู่ภายใน การออกแบบให้แปลงทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นหุ้นของกระทรวงการคลัง 100% ก่อนแล้วค่อนกระจายให้เอกชน โดยฮุบเอากิจการที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐไม่ว่าจากการเวนคืน และสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สมควรเป็นส่วนกลางไม่ตกเป็นของบริษัทมหาชนหนึ่งใด ก็คือการฉ้อฉลในทางนโยบาย
      ระหว่างปี 2544-2549 รวมเวลา 6 ปีเต็มที่ปตท.ฮุบเอากิจการที่เป็นสาธารณูปโภคที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐไปเป็นของตัวและหาประโยชน์
      จนกระทั่งมีเสียงเรียกร้องคัดค้านจากประชาชนต่อความแปรรูปที่ไม่ชอบธรรมดังกล่าวดังขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ออกมาชุมนุมขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรรอบแรก (2548-2549) และมีการยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองเมื่อเดือนสิงหาคม 2549 โดยกลุ่มของนางรสนา โตสิตระกูลและมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น 2 เหตุการณ์
      1.คำพิพากษาศาลปกครองบ่งบอกชัดเจนว่า ปตท.ต้องส่งคืนทรัพย์สิน ท่อก๊าซดังกล่าวกลับมาเป็นของรัฐตามเดิม
      2.หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ตราพรบ.การประกอบกิจการพลังงาน 2550 เพื่อตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานขึ้นมาควบคุมการใช้อำนาจมหาชนของของรัฐ ดึงอำนาจมหาชนของรัฐที่รัฐวิสาหกิจแบบ ปตท.เคยได้ไปมาไว้ที่คณะกรรมการชุดนี้
      อย่างไรก็ตามที่เป็นแค่ความคืบหน้าที่ดูเหมือนดี อย่างน้อยก็ดีกว่าช่วง 2544-2549 แต่ที่สุดแล้วกลไกกดดันทางสังคม และกลไกทางกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหานักการเมืองร่วมกับขุนนางพลังงานหาประโยชน์ยังเป็นแค่การทัดทาน เหนี่ยวรั้งได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ปตท.ร่วมกับขุนนางพลังงานก็ยังสามารถขึ้นราคาบริการค่าผ่านท่อก๊าซผลักภาระการลงทุนให้ประชาชนอยู่ต่อไป
      2.กลเม็ดทางบัญชีสูบประโยชน์ประชาชน

      นักการเมืองและขุนนางพลังงานที่วางแผนแปรรูป ปตท.โดยฮุบเอาท่อก๊าซ 1.1 พันกิโลเมตรซึ่งมาจากภาษีคนไทย (บางคนอ้างว่าเป็นเงินกู้ตปท.มันก็รัฐบาลค้ำประกันและเอารายได้มาจากคนไทยอยู่ดี) ไปเป็นทรัพย์สินบริษัทเอกชนไม่ว่าจะเป็นใครกี่คน...ทุกคนนั้นใจร้ายใจดำมากที่คิดวางแผนนี้ขึ้น
      ใจร้ายทุกขั้นตอนตั้งแต่ขั้นตอนตีราคา และใจดำอีกทบเท่าที่ขึ้นราคาค่าผ่านเพื่อเอากำไรไปลงทุนใหม่
      คนที่รู้เรื่องความใจดำอำมหิตของนักการเมืองและขุนนางพลังงานดีที่สุดกลุ่มหนึ่งของประเทศคือ กลุ่มของคุณรสนา โตสิตระกูล ที่ออกหน้ารบกับปตท.มาก่อนใคร เป็นผู้เคลื่อนไหวฟ้องศาลปกครองเพื่อมีมติสั่งให้ปตท.คืนท่อก๊าซกลับมาเป็นของรัฐ จนกระทั่งคุณรสนาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ก็ยังศึกษาเพื่อเกาะติดเรื่องนี้ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล โดยคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลได้ศึกษาปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ
      เริ่มต้นที่เมื่อปี 2544 “คณะกรรมการเตรียมแปรรูป ปตท. ที่ตั้งโดยนายวิเศษ จูภิบาล ตีราคาท่อก๊าซธรรมชาติทั้งในทะเลและบนบกที่มีอยู่เดิมก่อนปี 2544 ไว้ที่ 46,189.22 ล้านบาทปรากฏในหนังสือชี้ชวนการเสนอขายหลักทรัพย์ โดยคาดว่ามีอายุการใช้งาน 25ปี”
      ขออธิบายความเป็นภาษาชาวบ้านถึงการประเมินราคาครั้งนี้ว่าหมกเม็ดอย่างชัดเจนเพราะวิศวกรรมการติดตั้งท่อก๊าซทั่วโลกเขาไม่ประเมินอายุการใช้งานต่ำสุด ๆ แค่ 25 ปีหรอก โดยเฉลี่ยต้อง 50 ปีขึ้นคนที่เขาคลุกคลีในวงการบอกว่าเผลอ ๆ เหยียบ100 ปีด้วยซ้ำไปเพราะมันมีระบบมาตรฐานการบำรุงรักษาเป็นมาตรฐานโลก
      การประเมินต่ำเข้าไว้หมายความว่ายังไง ? ก็หมายความว่า เวลาตีเป็นค่าเงินเพื่อคืนให้รัฐจะได้ถูก ๆ เหมือนประชาชนเป็นเจ้าของรถ เขาตีราคาให้กดเรี่ยดินแต่พอไปถึงเต็นท์เล่นจ้างบริษัทประเมินราคาใหม่ให้สูงขึ้นเท่าตัว แต่รถคันเดียวกันนี้ไม่ได้เป็นสมบัติของประชาชนคนนั้นเสียแล้ว กลายเป็นสมบัติร่วมในบริษัทเอกชนไป
      ท่อก๊าซซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจก๊าซธรรมชาติประเทศไทยอย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าบริษัทขุดเจาะรายใดผลิตมาได้ก็ต้องขนส่งผ่านท่อชุดเดียวนี้ ต้องจ่ายค่าผ่านท่อให้ปตท. แล้วปตท.ก็เป็นเจ้าของโรงแยกก๊าซทุกโรงที่มีอยู่ในประเทศ ยิ่งประเทศไทยพบแหล่งก๊าซใหม่ที่แหล่งอาทิตย์หรือแหล่งอื่นใด จะต้องใช้ท่อชุดเดียวกันนี้ขนส่งเข้ามาบนบกเพื่อแยกขายต่อไปยังโรงไฟฟ้าหรือโรงแยกต่อไป
      ปตท.กำไรอื้อจากการเล่นกลทางบัญชีครั้งนี้
      ยกตัวอย่างให้ชัดขึ้นเหมือนปตท.ซื้อท่อก๊าซจากประชาชนไป 4.6 หมื่นล้านบาทเมื่อปี 2544
      นับจากปี 2544-2550 ได้ค่าผ่านทางท่อก๊าซจากผู้ขุดเจาะต่าง ๆ เฉลี่ยปีละ 2 หมื่นล้านบาท !!
      กำไรอื้อซ่าอย่างชัดเจนเลยใช่ไหม ? เพราะแค่สองสามปีก็คืนทุนแล้วที่เหลือกำไรล้วน ๆ
      จนกระทั่งคุณรสนาและคณะมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อ 31 สิงหาคม 2549 และศาลท่านตัดสินเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ดังที่ทราบว่าศาลท่านยกฟ้องกรณีให้ปตท.กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจดังเดิมแต่สั่งให้แยกท่อก๊าซและทรัพย์สินของรัฐออกมา
      ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในระหว่างที่ต่อสู้กันในศาล ปตท.พยายามจะสู้ว่าถูกต้องแล้วที่ท่อก๊าซเข้ามาเป็นทรัพย์สินของบริษัทมหาชน หาใช่ทรัพย์สินของสาธารณะส่วนรวมไม่
      การทำมาหากินเรื่องท่อก๊าซเกิดขึ้นอย่างน่าเกลียดในระหว่างที่มีการฟ้องร้องพิจารณาในศาลปกครอง โดยระหว่างนั้นปตท.ได้จ้างบริษัทต่างประเทศ 2 บริษัทมาประเมินราคาและขยายอายุการใช้งานใหม่
      ตามคาด-ผลออกมาว่าอายุของท่อก๊าซขยายได้ถึง 50 ปี และมีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ระหว่าง 105,000-120,000 ล้านบาท (จากเดิม 25ปี/4.6หมื่นล้านบ.)
      ประหลาดเกินกว่าจะประหลาด !! พอประเมินใหม่อายุท่อก๊าซกับมูลค่าท่อเพิ่มอีกเท่าตัวจากที่ซื้อมาจากประชาชน เอาสามัญสำนึกมาว่ากัน เหตุใดราคาและอายุครั้งแรกที่ซื้อจากประชาชน กับครั้งสองที่ต้องการทำกำไรทำไมมันห่างกันเป็นเท่าตัวแบบน่าเกลียด ผลจากการนี้ปตท.มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นในทางบัญชีอีกก้อนใหญ่เพื่อโชว์ให้ผู้ถือหุ้นเห็นว่าบริษัทเติบโตพรวด ๆ
      เหตุการณ์ที่เกิดในระหว่างนั้นอีกเหตุการณ์คือ ปตท.ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมแผนขยายโครงข่ายท่อก๊าซฉบับ 3 (2544-54) ซึ่งจะคลุมไปถึงภาคกลาง-อีสานบางส่วน ซึ่งพอจะเข้าใจได้ว่า ท่อก๊าซคือหัวใจในอนาคตไม่ว่าใครมากุม ปตท.ก็ต้องคิดขยายโครงข่ายออกไป มูลค่าของแผนการนี้เป็นเงินลงทุนรวม 165,077 ล้านบาท แผนปรับปรุงเพิ่มเติมดังกล่าวได้รับอนุมัติเมื่อปี 2550 ซึ่งเป็นช่วงที่ปตท.กำลังเติบโตพรวด ๆ รายได้เฉียด 2 แสนล้านบาทแล้วในขณะนั้น
      การลงทุนเพิ่มดังกล่าวจึงเป็นข้ออ้างที่ดีของการขึ้นราคาค่าผ่านท่อ !
      ที่จริงแล้วเงินลงทุน 1.6 แสนล้านบาทไม่ได้เป็นเรื่องยากเลยสำหรับบริษัทแข็งแกร่งอย่างปตท. หากจะหาเงินจากทางอื่น ๆ มาลงทุนขยายกิจการ แต่ปรากฏว่าในห้วงเวลาเดียวกันก็มีการพยายามจะขึ้นราคาค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ (ภาษาชาวบ้านคือค่าผ่านท่อนั่นแหละ)
      จึงมีการเสนอหลักเกณฑ์และข้อกำหนดในการคำนวณอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติฉบับใหม่ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติ นำไปสู่สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดทำคู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ ฉบับใหม่อนุมัติรวดเดียวนำมาบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคม 2551
      หมายความว่า ปตท. ได้ไฟเขียวจากขบวนการขุนนางพลังงานให้เก็บค่าผ่านท่อ ซึ่งตัวเองได้กำไรอยู่เห็น ๆ เพิ่มขึ้นอีก คำนวณแล้วส่วนที่ได้กำไรทันที 2 พันล้านบาท (เดิมได้ 2 หมื่นล้าน ของใหม่ได้ 2.2 หมื่นล้าน/ปี)
      แล้วรายได้ที่ได้มาทั้งหลาย ปตท.ก็เอาไปขยายกิจการท่อก๊าซเฟสต่อ ๆ ไปซึ่งจะไม่ได้เป็นของประชาชนเหมือนท่อก๊าซชุดแรกที่ศาลสั่ง
      ปตท.ทำแบบนี้ก็คือ ปตท.ได้เงินและกำไรเพิ่ม แต่ขณะเดียวกันก็ผลักภาระต้นทุนพลังงานให้กับประชาชนในทันที ก๊าซที่ส่งไปยังโรงงานผลิตไฟฟ้าของกฟผ.มีต้นทุนค่าผ่านท่อเพิ่มขึ้น กฟผ.ก็คิดกลับมาในรูปค่าไฟฟ้า, บริษัทที่ขุดเจาะรายอื่น ๆ เสียค่าขนส่งเพิ่ม ก็ต้องบวกต่อให้กับผู้บริโภคในปลายทาง ฯลฯ
      เฉพาะเรื่องนี้ก็ใจดำจนแทบไม่สามารถบรรยายได้ !
      ปัญหาเรื่องท่อก๊าซเหมือนจะมีผลสรุป แต่แท้จริงยังไม่ใช่ผลสรุปที่ดีสำหรับประชาชนนัก
      เพราะต่อมาแม้ศาลท่านมีคำสั่งฯ ให้แยกทรัพย์สินออกมาเป็นของรัฐ และปตท.ก็ต้องแยกบัญชีท่อก๊าซที่ดินปลูกสร้างต่าง ๆ ออกมาในทางบัญชี แต่ก็ได้สิทธิการใช้ทรัพย์สินดังกล่าวเพราะความเป็นรัฐวิสาหกิจตามพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 (อ่านรายละเอียดคำอธิบายการแบ่งทรัพย์สินจากกระทู้ถามตอบ ส.ส.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์)
      เพราะจนบัดนี้ต้นทุนการขนส่งทางท่อที่ปตท. กุมเอาไว้แต่เพียงผู้เดียวยังเป็นต้นทุนที่อ้างอิงเหตุผลว่าปตท.ต้องการรายได้เพิ่มไปขยายการลงทุน ต้นทุนค่าผ่านท่อควรจะเป็นต้นทุนต่ำสุดโดยคำนึงถึงประชาชนเป็นสำคัญ
      เรื่องท่อก๊าซปตท. เหมือนจบแต่ที่สุดยังไม่จบหรอกจนกระทั่งเราจะได้พิสูจน์กันแท้จริงว่าต้นทุนที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงประชาชนเจ้าของประเทศอยู่ที่เท่าใดกันแน่

ท่อก๊าซแสนกล ราคาขึ้นลงตามใจผู้บริหาร ?

มูลค่าที่แท้จริงของท่อก๊าซชุดแรกที่ปตท.ต้องส่งคืนให้รัฐตามคำพิพากษาศาลปกครองเป็นเท่าไหร่กันแน่ ?
      เพราะตอนตีราคาซื้อจากประชาชน 46,189.22 ล้านบาท แต่วันดีคืนดีก็จ้างฝรั่งมาประเมินใหม่มีมูลค่าเป็นแสนล้าน มีอายุใช้งานเพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่พอจะต้องส่งคืนให้กลับมาให้รัฐมูลค่าดังกล่าวก็หล่นฮวบลงมาติดดิน
      ถามว่าผู้บริหาร ปตท.ทราบเรื่องนี้แค่ไหน ?
      ขอให้ดูข่าวเก่าข่าวนี้ผู้บริหาร ปตท. กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่ามูลค่าโครงข่ายท่อก๊าซนั้นเป็นแสนล้าน...แต่เหตุไฉนเมื่อส่งคืนรัฐตามคำสั่งศาลจึงมีมูลค่าไม่ตรงกับที่เคยกล่าวกับสื่อ

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง