ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

หมอเตือนเล่น "บีบี" อย่าถึงขั้นเสพติด จะส่งผลทำให้เสียสมาธิ แพทย์ชี้เป็นแค่ปัจจัยส่งทำให้เกิดโรคนิ้วล็อค

by twoseadj @September,14 2010 09.13 ( IP : 124...187 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 459x480 pixel , 29,177 bytes.

หมอเตือนเล่น "บีบี" อย่าถึงขั้นเสพติด ขาดไม่ได้ ไม่ได้เล่นอารมณ์จะฉุนเฉียว โมโห เหมือนลงแดง ส่งผลให้สมาธิเสีย แนะให้เล่นวันละไม่เกิน 2 ชม. หมอเลิดสินเผยเล่น "บีบี" มากแค่เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดนิ้วล็อค แต่มีปัญหาต่อสายตามากกว่า


กรมสุขภาพจิตเตือนผู้ส่งข้อความสั้น (แชท) ผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะ "บีบี" จะมีพฤติกรรมติดบีบี และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ โดยเมื่อวันที่ 13 กันยายน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หากเล่นบีบีมากแบบขาดไม่ได้ และต้องใช้เวลาในการเล่นเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยวันไหนไม่ได้เล่นจะมีอารมณ์ฉุนเฉียว โมโหง่าย สิ่งเหล่านี้เรียกว่ามีพฤติกรรมติดบีบี ที่มีลักษณะคล้ายติดเกมส์ หากมีพฤติกรรมแบบนี้ย่อมส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งการเรียน การงาน ซึ่งหากเป็นวัยเด็กย่อมส่งผลต่อการพัฒนาการตามวัย ขาดทักษะในการสื่อสาร การสร้างสัมพันธภาพ เนื่องจากสื่อสารผ่านโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว ปัจจัยนี้จะทำให้เสียสมาธิ ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ แต่ไม่ส่งผลให้เกิดสมาธิสั้น เนื่องจากภาวะสมาธิสั้นมาจากสารสื่อสมองไม่สมดุล อย่างไรก็ตาม การเล่นบีบีควรเล่นแบบพอเหมาะพอควร ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง ควรเล่นเป็นเวลา และควรหันไปทำกิจกรรมอย่างอื่นร่วม เช่น เล่นกีฬา ดนตรี เป็นต้น

นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล หัวหน้าหน่วยจิตเวช โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า หากมีพฤติกรรมใช้บีบีตลอดเวลา คือ หยิบขึ้นมาเล่นทุกๆ 5 นาที หรือทุกเวลา จะกลายเป็นพฤติกรรมเสพติด เป็นโรคขาดบีบีไม่ได้ ติดงอมแงม มีอาการลงแดง ส่งผลให้ไม่มีสติอยู่กับตัวเอง การรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวจะลดลง ทำให้ไม่มีสมาธิ เหม่อลอย และเดินชนผู้อื่น หรืออาจรุนแรงจนเกิดอุบัติเหตุได้ บางคนต้องใช้บีบีแชทตลอดเวลา หรืออัพโหลดรูป เพื่อระบายความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งก็เป็นผลดีที่มีช่องทางระบาย แต่มันก็มีผลกระทบเรื่องความสัมพันธ์ได้ อาจเสียงานเสียการ ทำให้การพักผ่อนไม่เพียงพอ บีบีไม่ใช่ยาเสพติด แต่จะทำให้ผู้เล่นไม่มีสติอยู่กับตัวเองได้ ดังนั้นต้องเล่นให้พอดี อย่าเล่นจนชีวิตติดอยู่กับสิ่งนั้นมากไป จนไม่อยู่กับตัวเอง

ด้าน นพ.วิชัย วิจิตรพรกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีข้อกังวลว่า การเล่น "บีบี" มากอาจทำให้เกิดปัญหา "นิ้วล็อก" ได้ว่า ข้อเท็จจริงแล้วการแชทผ่านบีบี หรือโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่สาเหตุหลักของอาการนิ้วล็อก แต่เป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน หรือหากจะเกิดขึ้นก็ต้องใช้เวลาหลายปี เนื่องจากกลุ่มที่นิยมเล่นบีบีจะเป็นวัยรุ่น ที่ปลอกหุ้มเอ็นบริเวณนิ้วโป้งยังไม่เสื่อม อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีการรวบรวมการเกิดนิ้วล็อกจากสาเหตุดังกล่าว เนื่องจากการเล่นลักษณะนี้เริ่มฮิตไม่กี่ปี ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องกังวลจนเกินเหตุ และไม่ควรโทษภาวะที่เกิดขึ้นว่ามาจากการเล่นลักษณะนี้

นพ.วิชัย กล่าวว่า โรคนิ้วล็อก หรือภาวะปลอกหุ้มเอ็นนิ้วอักเสบ เป็นความผิดปกติของมือที่ไม่สามารถงอหรือเหยียดได้อย่างปกติ อาจเป็นเพียงนิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว อาการเริ่มตั้งแต่เจ็บบริเวณฐานนิ้วนั้น ๆ นิ้วมีความฝืดในการเคลื่อนไหว สะดุดเข้าออกเวลางอหรือเหยียด จนต่อมามีอาการล็อก คือ หากงอหรือกำนิ้วมือไว้ จะไม่ยอมเหยียดออกเอง ต้องใช้อีกมือหนึ่งมาช่วยง้างออก มีอาการเจ็บปวด เวลาดึงออก ส่วนสาเหตุพบว่ามาจากการใช้งานของมือในท่ากำบีบอย่างแรง และซ้ำ ๆ บ่อย ๆ กำบีบเครื่องมือ เช่น คีมไขควง บิดผ้า หรือการหิ้วถุงพลาสติกหนัก ๆ เป็นประจำ พบได้ในแม่บ้านจำนวนมาก พ่อครัวแม่ครัวที่ทำอาหาร มือจับตะหลิวทุกวันและเป็นระยะเวลานานทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการดังกล่าวได้ รวมทั้งนักเขียน ครู ผู้พิพากษา ที่ต้องจับปากกาทุกวัน ล้วนเสี่ยงต่อโรคนี้ทั้งสิ้น

“จากการรักษาผู้มีอาการนิ้วล็อกที่ผ่านมารวม 15,400 ราย พบว่า อาการดังกล่าวส่วนใหญ่พบในผู้หญิงร้อยละ 80 ขณะที่ผู้ชายพบร้อยละ 20 โดยพบในหญิงวัยกลางคนตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ชายอายุตั้งแต่ 50 ปี พบได้ในกลุ่มคนตีกอล์ฟ เขียนหนังสือ ทำสวน ฯลฯ การรักษาในปัจจุบันมีตั้งแต่แช่น้ำอุ่น ฉีดยาสเตียรอยด์ ไปจนถึงการผ่าตัด โดยสามารถรักษาให้หายขาดได้” นพ.วิชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากความเข้าใจเรื่องการเล่นบีบี ทำให้ปัจจุบันมีการเรียกภาวะนี้ว่า “บีบีซินโดรม”  นพ.วิชัย กล่าวว่า ไม่สมควรเรียกเช่นนี้  เพราะไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในศัพท์ทางการแพทย์ เป็นเพียงคำที่เรียกกันเองมากกว่า อีกทั้ง อาจไม่เป็นธรรมมากนัก

นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีมีแพทย์ระบุว่าเล่นบีบีเสี่ยงต่อภาวะนิ้วล็อคว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการใดยืนยัน อีกทั้งการกดแป้นพิมพ์บนตัวโทรศัพท์หากไม่ใช้แรงมากๆ หรือเล่นตลอด 24 ชั่วโมง ก็ไม่น่าจะเป็นสาเหตุ โดยโรงพยาบาลเลิดสินมีผู้เข้ารักษานิ้วล็อคปีละ 4,470 ราย แต่ไม่มีข้อมูลว่าเป็นผลจากการเล่นบีบี อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการเล่นบีบีที่เห็นชัดเจนคือ ปัญหาสายตา เหมือนกับการใช้คอมพิวเตอร์ที่หากจ้องมองนานๆ จะปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อตา เห็นภาพซ้อน ตาแห้ง และในเด็กเล็กอาจส่งผลต่อภาวะสายตาสั้นได้ แต่ไม่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงใดๆ

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ได้มีระเบียบห้ามนักเรียนนำโทรศัพท์มือถือไปใช้ในโรงเรียน แต่ให้เป็นดุลพินิจของทางโรงเรียนเองที่จะกำหนดเป็นระเบียบวินัย เพราะต้องยอมรับว่านักเรียนมีความจำเป็นต้องมีเครื่องมือสื่อสารเพื่อใช้ติดต่อผู้ปกครอง แต่หากใช้ผิดเวลา และก่อให้เกิดการรบกวนการเรียน หรือทำให้เด็กหมกมุ่นในการใช้มากเกินไป ทางโรงเรียนก็ต้องดูแล ทั้งนี้ คิดว่าผู้ปกครองนักเรียนควรจะต้องช่วยดูแลการใช้โทรศัพท์ของบุตรหลานด้วย

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง