บทความ

ค่าธรรมเนียมธนาคารพาณิชย์ไทย (ค้ากำไรเกินควรหรือฮั้วกันหรือไม่?)

by twoseadj @September,11 2010 00.28 ( IP : 202...248 ) | Tags : บทความ
photo  , 354x480 pixel , 26,887 bytes.

โดย สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)

ระยะหนึ่งปีมานี้เราได้ยินเสียงบ่นเสียงวิจารณ์ธนาคารพาณิชย์ของไทยในทำนองข้างต้นหนาหูขึ้น บ่งบอกถึงความข้องใจของสังคมโดยรวมว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยทำหน้าที่ของตนเองอย่างเป็นธรรมต่อสังคมหรือไม่ ค้ากำไรเกินควรหรือไม่ ฮั้วกันหรือไม่

แบงก์ชาติซึ่งมีหน้าที่กำกับสถาบันการเงินมีท่าทีในเรื่องนี้สองด้าน ด้านหนึ่งก็ออกมาปกป้องว่าส่วนต่างดอกเบี้ยระดับปัจจุบันไม่สูงเกินไป ลดได้แต่ต้องใช้เวลาเมื่อมีการปรับปรุงประสิทธิภาพและลดต้นทุนการจัดการลง ในอีกด้านหนึ่งก็พยายามกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ลดค่าธรรมเนียมบางประการลง เช่นค่าธรรมเนียมโอนเงินข้ามเขต ค่าธรรมเนียมระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่นการโอนจ่ายเงินครั้งละหลาย ๆ ราย (bulk payment) เช่นจ่ายเงินเดือนพนักงานหรือซื้อของคราวละมากราย (ที่เรียกว่าบริการ SMART) การโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม การโอนเงินรายใหญ่ที่เรียกว่า BAHTNET เป็นต้น


ธนาคารพาณิชย์เองก็ออกมาแก้ต่างว่าธนาคารส่วนต่างดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมไม่สูงเกินไป โดยบอกต้องดูที่อัตรากำไรต่อทุนหรือที่เรียกว่า ROE (return on equity) ที่อยู่แถว ๆ 1% เท่านั้น ส่วนกำไรสูงในช่วงวิกฤติก็เป็นเพราะการปล่อยกู้มีความเสี่ยงสูง จึงต้องรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยไว้ป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ถือหุ้นของธนาคารเอง หากไม่ทำก็ไม่เป็นการดูแลผู้ถือหุ้น ผิดหลักบรรษัทภิบาล นักการเมืองและนักวิชาการไม่เข้าใจการทำธุรกิจ จึงไม่ควรวิจารณ์ด้วยความไม่รู้ ในส่วนการโอนเงินข้ามเขตเหตุที่ต้องเก็บค่าธรรมเนียมก็เพราะธนาคารมีต้นทุนในการเคลื่อนย้ายเงินสดสูง เพราะคนไทยนั้นนิยมใช้เงินสดมากกว่าสื่อประเภทอื่น ๆ อย่างเทียบไม่ติด

ข้อถกเถียงเกือบทุกประเด็นที่แต่ละฝ่ายยกมามีส่วนจริง แต่จริงมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ดังนั้นในภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีปัญหาจริง ๆ แต่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ต้องการความร่วมมือกันในการแก้ไขมากกว่าการต่อว่าต่อขานกัน โดยหวังว่าอีกฝ่ายจะประพฤติตัวดีขึ้นหรือเข้าใจมากขึ้น

ขอใช้กรณีค่าธรรมเนียมการชำระเงินเป็นตัวอย่างในการขยายความข้อสรุปข้างต้นนี้ ปัญหาหลักของระบบการชำระเงินไทย คือการให้บริการที่มีการอุดหนุนข้าม (cross subsidization) ทั้งระหว่างประเภทการชำระเงิน เช่นไม่คิดค่าธรรมเนียมการใช้เงินสดหรือคิดค่าธรรมเนียมการใช้เช็คต่ำทั้งที่ต้นทุนการให้บริการสองประเภทนี้สูงมาก แล้วไปเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สื่ออิเลกทรอนิกส์ต่าง ๆ แพงกว่าต้นทุนส่วนเพิ่ม (marginal cost) ทำให้ประชาชนเลือกใช้สื่อชำระเงินที่บิดเบือนไม่สะท้อนต้นทุน และยังมีการอุดหนุนข้ามระหว่างลูกค้ารายใหญ่กับรายย่อย โดยลูกค้ารายย่อยเสียเต็มราคา ในขณะที่รายใหญ่มักได้ส่วนลดจากธนาคาร ปัญหา cross subsidization นี้เป็นปัญหาร่วมกันทั้งของธนาคารพาณิชย์และของแบงก์ชาติ ความต่างอยู่ที่ว่าแบงก์ชาติอยากให้แก้เรื่องนี้ทันทีและโดยเร็ว ส่วนธนาคารก็ลำบากใจว่าถ้าไม่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สื่อแบบเก่า (เงินสดและเช็ค) ตามต้นทุนได้ก็ไม่สามารถลดค่าธรรมเนียมสื่อแบบใหม่ได้ และถ้าเลิกเอาใจลูกค้ารายใหญ่โดยธนาคารคู่แข่งไม่เลิกด้วย ก็จะเสียลูกค้าไปซึ่งหมายถึงการเสียประโยชน์จากการให้บริการทางการเงินอื่น ๆ กับลูกค้านั้นด้วย


เมื่อเข้าใจปัญหาแล้ววิธีแก้ตามมา ประการแรก แบงก์ชาติและธนาคารพาณิชย์ต้องร่วมใจกันลดการอุดหนุนข้ามประเภทบริการสื่อการชำระเงิน โดยเพิ่มค่าใช้เช็ค (ต้นทุนการให้บริการเก็บเงินตามเช็คสูงกว่า 50 บาทต่อเช็คหนึ่งใบในขณะที่ราคาเช็ค 15 บาทและไม่มีค่าเรียกเก็บ) ริเริ่มการเก็บค่าใช้บริการเงินสด โดยเก็บจากผู้ที่เบิกถอนเงินสดครั้งละมาก ๆ เช่นเกิน 300,000 บาทต่อวันต่อลูกค้า (นับรวมทุกบัญชี) แต่ยังให้บริการฟรีสำหรับรายเล็ก วิธีนี้จะทำให้สามารถยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการโอนข้ามเขตด้วย เพราะเมื่อคนถอนเงินสดน้อยลง การเคลื่อนย้ายเงินที่มีต้นทุนสูงก็ลดไปด้วย
ประการที่สอง ธนาคารทุกแห่งต้องพร้อมใจกันเลิกเอาใจลูกค้ารายใหญ่ ถ้าจะลดค่าธรรมเนียมให้ (รวมทั้งการลดส่วนต่างดอกเบี้ยด้วย) ก็ต้องไม่มากไปกว่าการประหยัดของต้นทุนต่อธุรกรรมเนื่องจากยอดเงินต่อธุรกรรมสูง


เช่นไม่ควรให้บริการขนเงินสดฟรีกับลูกค้าห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องทำให้ห้างเหล่านั้นหันมาจูงใจลูกค้าของตนเองให้ใช้เงินสดน้อยลง (ในประเทศแคนาคาเมื่อสิบกว่าปีก่อน เวลาจ่ายเงินสดตอนซื้อของห้าง พนักงานจะถามทันทีและทุกครั้งว่าสนใจใช้บริการเดบิตการ์ดหรือไม่ ถามจนเรารำคาญและหันมาใช้บัตรเดบิตในที่สุด) เรื่องนี้ต้องทำทุกธนาคาร เพื่อไม่ให้มีการแย่งลูกค้ารายใหญ่กันด้วยวิธีนี้ แบงก์ชาติอาจออกเป็นระเบียบด้วยเลยก็ได้ (ถ้ามีอำนาจตามกฏหมาย)


แต่ปัญหาใหญ่สุดของเรื่องนี้คือระดับการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ของไทย จริงอยู่ที่ ROA ไม่สูงในภาวะปกติ แต่มิได้หมายความว่าธนาคารมีการแข่งขันกันมากเท่าที่ควรเป็น น่าจะสะท้อนความหย่อนประสิทธิภาพภายในเมื่อเทียบกับธนาคารต่างประเทศชั้นนำมากกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่ต้องเผชิญการแข่งขันเต็มรูปแบบ ธนาคารต่างประเทศเองก็ยังมีข้อจำกัดการเปิดสาขาหรือไม่พร้อมจะเข้ามาแข่งเพราะตัวเองมีปัญหาที่บ้านจากวิกฤติแฮมเบอเกอร์ นโยบายในเรื่องนี้ชัดเจนว่าต้องส่งเสริมการแข่งขันในการให้บริการทางการเงินกับประชาชนทุกรูปแบบมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้แหล่งทุนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการทางการเงิน โดยไม่จำกัดเพียงระบบการชำระเงิน แต่อาจครอบคลุมเรื่องอื่นที่ใหญ่กว่าด้วย เช่นการที่ธนาคารพาณิชย์ไทยครอบงำตลาดทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์ลูกจนนำไปสู่ต้นทุนที่สูงของธุรกรรมในตลาดทุน และมีส่วนขัดขวางพัฒนาการตลาดทุนไทยในภาพรวมด้วย

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง