เมื่อเวลา 10.00น. ที่รัฐสภา วันที่ 9 กันยายน สมาพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)และประชาชนทั่วไ ป นำโดยนางอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ยื่นร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ... พร้อมแนบรายชื่อ ประชาชนที่ร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จำนวน 15,007 คน ต่อนายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เพื่อนำเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้พิจารณาควบคู่กับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ...ที่ครม.เสนอ ซึ่งบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
โดยนางอรพรรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไม่มีความพร้อม ขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข ความไม่พร้อมของสถานพยาบาล ความก้าวหน้าเทคโนโลยี ปัญหางบประมาณในการพัฒนาขีดความสามารถของแพทย์และเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถจัดงบให้เพียงพอ เนื่องจากงบประมาณบางส่วนถูกจัดสรรออกไปนอกกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรองรับการดำเนินงานตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2545 ทำให้ขีดความสามารถของสถานพยาบาล โดยเฉพาะของภาครัฐบาลอ่อนแอลงไปมาก จนทำให้เกิดผลกระทบต่อขีดความสามารถในการรักษาพยาบาล ประกอบกับความรู้ ความเข้าใจในเรื่องขั้นตอนการรักษาพยาบาล และความคาดหวังของประชาชนไม่เท่ากัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่เข้าใจถึงข้อจำกัดด้านการรักษาพยาบาล ส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องต่อบุคลากรในระบบสาธารณสุ ปัญหาเหล่านี้ทำให้บุคลากรสาธารณสุขตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการทำงานที่แม้จะทำโดยสุจริต มีเจตนาที่ดีต่อผู้ป่วย
นางอรพรรณ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของประเทศพัฒนาต่อเนื่อง บุคลากรสาธารณสุขสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปราศจากความวิตก กังวล และประชาชนยังสามารถรับการรักษาได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา80 (2) บัญญัติถึงการช่วยสนับสนุนและพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ ตลอดจนให้ผู้ที่มีหน้าที่ให้การบริการได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรม ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวได้รับการเยียวยาโดยเร็วและเป็นธรรม ตลอดจนการสร้างความสมดุลที่ถูกต้องในระบบบริการสาธารณสุขเพื่อประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยของประชาชนโดยรวม จึงได้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้
ด้านนายสามารถ กล่าวว่า จะรับเรื่องไปตรวจสอบความถูกต้องและบรรจุในระเบียบวาระโดยจะทำให้เร็วที่สุด แต่ถ้าจะนำเข้าสู่กระบวนจะใช้เวลา 4 เดือน ซึ่งเชื่อว่า คงไม่สามารถบรรจุได้ทันในการประชุมสภาสมัยนี้ที่จะปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 พฤศจิกายน ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ก็ควรไปบอกกับวิปรัฐบาลว่า ถ้าจะพิจารณาให้กฎหมายสมบูรณ์ที่สุดก็ควรจะชะลอร่างที่ครม.เสนอมาออกไปก่อน เนื่องจากไว้พิจารณาในการประชุมสมัยหน้าได้ เพราะเป็นร่างกฎหมายสาธารณะและมีผลกระทบต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนที่จะได้รับการบริการสาธารณสุข ทั้งนี้เมื่อเป็นร่างกฎหมายที่มีประชาชนเสนอชื่อเข้ามา เมื่อมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาพิจารณาก็ต้องมีสัดส่วนของภาคประชาชน 1 ใน 3 เข้ามาร่วมพิจารณา อีกทั้งยังมีขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ที่จะต้องผ่านกระบวนการที่จะทำให้สมบูรณ์ที่สุด
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)