บทความ

จับเท็จ 'นมเมลามีน' ตรวจ 'อีไลซ่า-แอลซีเอ็มเอส เอ็มเอส'

by twoseadj @October,26 2008 20.38 ( IP : 222...131 ) | Tags : บทความ
photo  , 354x321 pixel , 19,825 bytes.

จากปัญหา “เมลามีน” ปนเปื้อนในนมผงและผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนประกอบ ทำให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทยอยเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
ก่อนที่เราจะรับรู้วิธีการตรวจวิเคราะห์ มาทำความรู้จักกับเมลามีนก่อน โดย รศ.ดร.เยาวมาลย์ ค้าเจริญ ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า เมลามีน คือ พลาสติกชนิดหนึ่ง มีสารฟอร์มาลดีไฮต์ เป็นส่วนประกอบ มีลักษณะเป็นผงสีขาว มีสูตรโครงสร้าง C3H6N6 มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสูงถึง 66% เมลามีน ถูกนำมาผลิตพลาสติก เศษเหลือจากการผลิตถูกนำมาจำหน่ายในราคาถูกให้แก่โรงงานอาหารสัตว์เลี้ยง โดยถือว่าเป็นโปรตีนเทียมชนิดหนึ่ง เนื่องจากราคาถูกกว่าธัญพืช ถั่วเหลือง ข้าวโพด โดยมีราคาถูกเพียง กก.ละ 1.20 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่โปรตีนทางธรรมชาติราคา กก.ละ  6 เหรียญสหรัฐ

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2550 อย.ของสหรัฐ ได้ออกมาตรการให้มีการสืบสวนกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง ณ เมืองชานตง ทางตอนเหนือของประเทศจีน เนื่อง จากตรวจพบว่า มีการปลอมปนของเมลามีนในอาหารสัตว์ที่ส่งไปจำ หน่ายยังสหรัฐ ส่งผลให้สุนัขล้มป่วยและตายเป็นจำนวนมาก ทาง อย.ของสหรัฐ จึงได้ประกาศระงับการนำเข้ากลูเต็น (สารเหนียว) ที่ผลิตได้จากแป้งสาลีจากจีน รวมทั้งเรียกคืนสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากจีนรวมกว่า 60 ล้านกล่อง ครอบคลุมอาหารสัตว์เลี้ยงประมาณ 100 ยี่ห้อ นอกเหนือจากการลักลอบใช้เมลามีนผสมในอาหารสัตว์แล้ว อีเอฟเอสเอ ยังได้เปิดเผยว่า มีการลักลอบใช้เมลามีนผสมในอาหารสำเร็จรูป เช่น ขนมปัง เส้นพาสต้า พิซซ่า อาหารเด็ก และอาหารสำหรับผู้แพ้กลูเต็นด้วยเช่นกัน

รศ.นพ.วินัย วนานุกูล  ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ขณะนี้มีความเชื่อว่า เป็นความตั้งใจนำเอาเมลามีนมาผสมเจือปนในผลิตภัณฑ์นม ซึ่งเมื่อตรวจหาปริมาณโปรตีนจะพบเสมือนหนึ่งว่า ผลิตภัณฑ์นมนั้นมีปริมาณโปรตีนสูงเนื่องจากวิธีการ วิเคราะห์ปริมาณโปรตีนในอาหารเป็นการวัดหาปริมาณไนโตรเจน แล้วคำนวณกลับเป็นปริมาณโปรตีน ฉะนั้นเมลามีนซึ่งมีไนโตรเจนมากจึงให้ผลบวกเทียม เชื่อว่าเมลามีนที่นำมาผสมในผลิตภัณฑ์นมนั้นน่าจะมีราคาถูก เกรดต่ำ ทำให้มีกรดไซยานูริกปนเปื้อนมากับเมลามีนด้วย ซึ่งหากร่างกายได้รับสารทั้ง 2 ชนิดร่วมกัน จะทำให้เกิดผลึกของสารประกอบที่ไม่ละลายน้ำและเป็นพิษต่อเซลล์ท่อไต

มาถึงวิธีการตรวจวิเคราะห์ นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นางจุรีภรณ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ ผอ.สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้พาผู้เขียนไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีการส่งวัตถุดิบ คือ นมผง และผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนประกอบหลายร้อยตัวอย่างมาตรวจสอบ

นพ.นิพนธ์ อธิบายว่า ตัวอย่างที่ส่งมาตรวจมีหลายรายการด้วยกัน อาทิ วัตถุดิบนมผง ที่นำเข้าจากต่างประเทศ นมพร้อมดื่ม  ไอศกรีม  ขนมปังกรอบ ครีมเทียม แป้งทำขนมปัง แป้งทำขนมเค้ก รวมถึงน้ำปลาที่มีข่าวการปนเปื้อน ขณะเดียวกันทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ได้มีการเฝ้าระวัง ด้วยการเก็บผลิตภัณฑ์อาหาร ที่สงสัยว่าจะมีการปนเปื้อนเมลามีนมาตรวจวิเคราะห์ด้วย เช่น  โปรตีนสังเคราะห์ ซีอิ๊ว ขนมต่าง ๆ แต่จะดูผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมเป็นหลัก ซึ่งนอกจากแล็บส่วนกลางแล้ว ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อีก 14 แห่งในภูมิภาคก็ได้เก็บตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์เช่นกัน
การตรวจวิเคราะห์มี 2 วิธี คือ 1.ตรวจด้วยเครื่อง อีไลซ่า (ELISA) และ 2. ตรวจด้วยเครื่องแอลซีเอ็มเอส เอ็มเอส

การตรวจด้วยเครื่องอีไลซ่า เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้น วิธีการตรวจจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ตั้งแต่การเตรียมตัวอย่าง เช่น ถ้าเป็นขนมปังกรอบ จะต้องนำมาบดให้ละเอียดก่อนนำมาชั่งและใส่ลงไปในหลอดทดลอง  จากนั้นเติมสารละลาย เขย่าให้เข้ากัน นำไปปั่นด้วยความเร็วสูง รอให้ตกตะกอน ดูดสารละลายไปเจือจางและวางในถาดใส่หลอดทดลองซึ่งมีจำนวน 96 หลุม โดยจะใส่ตัวอย่างลงไป 48 ตัวอย่าง ตัวอย่างละ 2 หลุม แล้วนำเข้าเครื่องและอ่านผล ถ้าตรวจแล้วให้ผลบวก จะมีการตรวจยืนยันอย่างละเอียดอีกครั้ง
การตรวจด้วยเครื่องแอลซีเอ็มเอส เอ็มเอส  เป็นการตรวจยืนยันซ้ำ วิธีการก็จะคล้าย ๆ กับวิธีแรก โดยจะต้องทำการสกัดเมลามีนออกมาให้บริสุทธิ์ที่สุด ทำให้โปรตีนตกตะกอน ก่อนนำเข้าเครื่องตรวจวัด ซึ่งจะมีการเตรียมตัวอย่างและตรวจไปพร้อมกัน 25 ตัวอย่าง โดยจะทราบผลประมาณ 2 วัน เครื่องจะบอกเลยว่า มีเมลามีนปนเปื้อนในปริมาณเท่าใด.

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง