ร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ค้างเติ่งกลางสภา หลังอภิปรายยาวเรื่องรูปแบบองค์กร ท้ายสุดที่ประชุมส.ส.ตัดสินใจไม่โหวตในวาระ 2-3 ให้กมธ.ถอนร่างกลับไปทบทวนใหม่
เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 53 เวลา 13.00 น. ณ อาคารรัฐสภา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ....ที่คณะกรรมการวิสามัญฯได้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวผ่านวาระที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 52 สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบรับหลักการ ทั้ง "ร่างพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ...." (ร่างรัฐบาล) และ "ร่างพรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ...." (ร่างภาคประชาชน) และให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายนี้ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย. 52 จนถึงวันที่ 11 พ.ย. 53 รวม 5 เดือน มีการประชุม 21 ครั้ง จนได้ร่างฯ ที่พร้อมเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2-3
คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาร่างพ.ร.บ. รวม 72 มาตรา มีมติแก้ไขจำนวน 18 มาตรา โดยมีบทบัญญัติที่คณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่อีก 2 มาตรา ซึ่งเป็นเรื่องการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีรายละเอียดการอภิปรายในสภาฯที่น่าสนใจในแต่ละมาตรา (ที่คณะกรรมาธิการขอแปรญัตติ) ดังนี้
มาตรา 3 ความตอนหนึ่งระบุว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่บังคับใช้กับหน่วยราชการ นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ยืนยันว่าแสดงถึงความไม่เสมอภาคในการคุ้มครองแรงงานอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวในหน่วยราชการที่ไร้การคุ้มครองใดๆ ทั้งที่ตามจริงแล้วหน่วยราชการควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องนี้
นายอาทิตย์ อิสโม กรรมการธิการและตัวแทนจากกระทรวงแรงงานแย้งว่า ในร่างพ.ร.บ.ได้ระบุชัดในบทเฉพาะกาลแล้ว การนำมาระบุในมาตรา 3 จะต้องแก้ไขในอีกหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการคุ้มครองลูกจ้างในหน่วยราชการต่างๆ ทางกระทรวงแรงงานก็มีแนวโน้มที่จะนำเสนอเป็นร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแทน ทั้งนี้ที่ประชุมยืนยันตามนายอาทิตย์เสนอ
มาตรา 16 ให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยก่อนเข้าทำงาน ที่ประชุมย้ำเพิ่มเติมว่า เมื่อลูกจ้างเปลี่ยนงาน และ/หรือสถานประกอบการเปลี่ยนเครื่องจักร นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับการฝึกอบรมจนเกิดความเข้าใจในเครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนการเข้าทำงานใหม่ทุกครั้ง ที่ประชุมเห็นด้วยกับประเด็นนี้
มาตรา 24 คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ควรคำนึงถึงสัดส่วนคณะกรรมการที่มีทั้งหญิงและชายที่สมดุล เพราะเดิมระบุแค่ให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของหญิง-ชาย ควรจะระบุอย่างชัดเจนในกฎหมายน่าจะดีกว่า เพราะเวลาแรงงานหญิงได้รับผลกระทบจากความไม่ปลอดภัยจะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในด้านสรีระร่างกาย ซึ่งคณะกรรมการที่เป็นผู้หญิงจะสามารถมอง/ตัดสินใจผ่านแง่มุมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากมุมของผู้ชายได้ด้วย ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยในเรื่องนี้
มาตรา 39 นางสมบุญ ศรีคำดอกแค กรรมาธิการและตัวแทนจากเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน เสนอในที่ประชุมว่า เมื่อลูกจ้างต้องหยุดการทำงานซึ่งเป็นผลมาจากระบบการผลิตของสถานประกอบการที่ไม่ปลอดภัย หรือถูกพนักงานตรวจความปลอดภัยสั่งให้หยุดการผลิตชั่วคราว ลูกจ้างควรได้รับค่าจ้างเหมือนวันทำงาน เนื่องจากสถานประกอบการเป็นผู้หยุดการผลิตเอง หรือมีความจำเป็นต้องปิดเครื่องจักรเพื่อหยุดความไม่ปลอดภัย
นายอภิมุข สุขประสิทธิ์ กรรมาธิการและตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา มองว่า กรณีที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างหรือไม่ ควรพิจารณาจากความเป็นธรรมของทั้งสองฝ่าย เพราะบางกรณีจะมีเหตุจากที่ลูกจ้างเป็นผู้นัดหยุดงานหรือเป็นผู้หยุดระบบการผลิตเอง ไม่ใช่มาจากนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว ในประเด็นนี้ที่ประชุมลงมติว่า ไม่เห็นด้วยกับที่นางสมบุญเสนอมา ให้คงยืนยันตามเดิม
มาตรา 44 นายชลน่าน ศรีแก้ว กรรมาธิการและส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอในที่ประชุมว่า ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นมากองทุนหนึ่งในสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแทน ไม่ควรตั้งในกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอย่างที่ระบุไว้ในรายงาน เพื่อให้เกิดความอิสระในการบริหารงาน สามารถเข้าไปดูแลแรงงานได้ครบทุกด้าน ในประเด็นนี้ ที่ประชุมให้ยืนยันตามเดิมในรายงาน
มาตรา 46 นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อหนึ่ง มีการระบุเรื่องการนำเงินกองทุนไปใช้ว่า เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยขึ้นอยู่กับความเหมาะสมเป็นรายปี ส่วนนี้ควรระบุให้ชัดเจนมากกว่านี้
มาตรา 51/1 นายสุทัศน์ เงินหมื่น จากพรรคประชาธิปัตย์ เสนอในที่ประชุมว่า คณะกรรมาธิการเสนอให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริม ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นรูปแบบองค์การมหาชน ซึ่งสงสัยว่ามีเหตุผลใดที่จะต้องจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน และจะใช้เงินจากแหล่งใด เรื่องนี้เป็นประเด็นเดียวกับที่นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ จากพรรคเพื่อไทย เสนอเช่นเดียวกันว่า ไม่เห็นด้วยว่าควรเป็นองค์การมหาชน เพราะภายใน 3 ปี ต้องออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ ซึ่งจะช้ามาก และโอกาสที่จะดูแลแรงงานก็จะล่าช้าตามไปด้วย
นอกจากนั้น นายวัชระ เพชรทอง กรรมาธิการ ยังเสนอในทิศทางเดียวกันว่า ภารกิจสถาบันเดิมมีใครดำเนินการอยู่แล้วหรือไม่ อย่างไร การตั้งองค์กรใหม่ในรูปแบบองค์การมหาชนจะซ้ำซ้อนหรือไม่ จำเป็นเพียงใด ผู้บริหารองค์การมหาชนเงินเดือนเท่าใด สิ้นเปลืองงบประมาณประเทศมากเพียงใด เป็นภาระประเทศหรือไม่ เป็นต้น
ในเรื่องนี้นายสถาพร มณีรัตน์ กรรมาธิการและส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ถือว่าเป็นหัวใจของความปลอดภัย และเป็นข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานรวมถึงหน่วยงานวิจัยแบบ สสส. มาโดยตลอด ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานใดที่เข้ามาดูแลเรื่องความปลอดภัยแรงงานโดยตรง แต่ต้องชัดเจนในเรื่องระยะเวลาการจัดตั้ง และผู้ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมควรเป็นผู้มีประสบการณ์ตรง เช่น ตัวแทนผู้ป่วย ที่ควรเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสถาบันฯ ด้วย ฉะนั้นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาควรเป็นหน่วยงานอิสระ อาจอยู่ในกำกับของกระทรวงหรือรัฐบาลก็ได้ แต่ไม่ควรสังกัดหน่วยราชการโดยตรง เพื่อสะดวกต่อการบริหารจัดการและดำเนินการ เขากล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเป็นองค์การมหาชน ควรเป็นองค์การอิสระมากกว่า เพื่อนำไปสู่การลดความไม่ปลอดภัยในการทำงานได้อย่างแท้จริง
ด้านนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี กรรมาธิการและส.ส.ประชาธิปัตย์ อภิปรายว่าที่ต้องเป็นสถาบันในรูปแบบองค์การมหาชน คือ ทำหน้าที่เป็นเพียงน้ำมันหล่อลื่นเหมือน สสส. และการเป็นองค์การมหาชนรวดเร็วในการจัดตั้งมากกว่าการเป็นองค์การอิสระ
นพ.บรรพต ต้นธีรวงศ์ กรรมาธิการและส.ส.ประชาธิปัตย์ เห็นว่า หน้าที่ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ควรเพิ่มเรื่องการจัดบริการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้กับผู้ใช้แรงงานเข้ามาเพิ่มด้วย เช่น การรักษาโรค การป้องกัน หรืองานวิชาการ เหมือนกับสถาบันสุขภาพเด็กราชินี เป็นต้น
มาตรา 51/2 นพ.บรรพต ต้นธีรวงศ์ เสนอว่า ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯควรจะเปิดกว้างให้ใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการประจำเท่านั้น และควรได้รับการแต่งตั้งจาก คณะกรรมการบริหารสถาบันฯ เรื่องนี้ นายบุญยอดอภิปรายเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาแวดล้อมในการทำงาน ฯ ตามมาตรา 24-25 กับคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามมาตรานี้ อำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ อย่างไร และสถาบันแห่งนี้ทำหน้าที่อะไรมากมายที่จำเป็นต้องจัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพราะคณะกรรมการตามมาตรา 24-25 ก็สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มประเด็นด้านวิชาการเข้าไปเท่านั้น จึงเสนอให้ตัดมาตรานี้ออกไป
มาตรา 51/3 นพ.บรรพต ต้นธีรวงศ์ เสนอว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้เป็นองค์การมหาชน เห็นว่าควรเป็นองค์การอิสระภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรีแทน เพราะงานด้านนี้ไม่ควรที่จะนำไปแสวงหากำไรในรูปแบบองค์การมหาชน เป็นเรื่องที่รัฐต้องจัดบริการให้ผู้ใช้แรงงาน และเสนอให้ผู้อำนวยการสถาบันฯ เป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนี้ นอกจากนั้นแล้วพบว่ารัฐบาลสนับสนุนเงินทุนอยู่แล้ว ถ้าจัดตั้งองค์การมหาชนก็จะสิ้นเปลืองงบประมาณมากยิ่งขึ้น
โดยสรุป ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขอถอนเฉพาะหมวดนี้เพื่อนำกลับไปปรับปรุงแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง แล้วค่อยนำมาพิจารณาในสภาฯ ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
มาตรา 72 นายบุญยอด สุขถิ่นไทย เสนอว่า ในมาตรา 72 ควรเขียนใหม่ว่าการออกกฎกระทรวงควรดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี แต่ถ้ายังไม่มีกฎกระทรวงให้อนุโลมให้ใช้พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แทน นอกจากนั้นแล้วที่ประชุมยังเห็นว่าการออกกฎกระทรวงสามารถดำเนินการได้ภายใน 180 วันก็น่าจะเพียงพอแล้ว ระยะเวลา 3 ปีถือว่ายาวนานเกินไป
โดยสรุปมติของสภา วันนี้ยังไม่มีการลงมติในวาระ 2-3 โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขอถอนร่างพรบ.ฉบับนี้ออกจากสภาฯ เพื่อไปพิจารณาในหมวด 6/1 เรื่องความเป็นองค์กร ว่าจะตั้งเป็นองค์การมหาชน องค์กรอิสระ หรือในรูปแบบอื่นๆ แล้วค่อยกลับมาเสนอต่อสภาฯ เพื่อลงมติในวาระ 2-3 ต่อไป
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)