สสส.-กพย.เปิดรายงานระบบยาปี 52 สะท้อนปัญหา-ความสำเร็จผ่าน 7 ตัวชี้วัดสำคัญ พบคนไทยจ่ายค่ายาแพง พึ่งพาต่างประเทศเกือบ 100 % ยาปฏิชีวนะมาวิน ยาสร้างผลกระทบสูงโดยไม่จำเป็น 42 % สำรวจผู้ป่วยปี 2552 ค่าใช้จ่ายต่อเดือนละพันบาท/ต่อ กินยาอื้อ 6.7 รายการ/เดือน จ่ายเงินสูงสุด 7หมื่นบาท/คน
เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ลานกิจกรรม ชั้น 35 สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเปิดตัวหนังสือ “รายงานสถานการณ์ระบบยาประจำปี 2552” ซึ่งสะท้อนความเป็นไปทั้งในด้านความสำเร็จ หรือปัญหาที่ยังมีอยู่ในระบบยาของไทยในรอบปี 2552 ผ่านตัวชี้วัดที่สำคัญ 7 กลุ่ม ดังนี้ 1.ธรรมาภิบาล 2.การพึ่งตนเองทางด้านยาของไทย 3.ความปลอดภัย 4.ความเป็นธรรมในระบบยา 5.คุณภาพ 6.การเข้าถึงยาจำเป็น และ 7.การใช้ยาอย่างเหมาะสม
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานกพย. กล่าวว่า ในยุคโลกาภิวัฒน์ เมื่อมองผ่าน “อุตสาหกรรมยา” จะเห็นความซับซ้อนในการผลิตและนำเข้ายาจากอุตสาหกรรมระบบยาข้ามชาติ ที่ทรงอิทธิพลทั่วโลก ทำให้คนในประเทศตะวันตกและตะวันออก ต้องบริโภคยาในราคาแพง กระทั่งประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศพัฒนายังต้องแบกรับภาระการใช้ยาแพง ต่างจากแคนาดาที่เน้นระบบสุขภาพเน้นประชาชนเป็นหลัก เพราะมีระบบธรรมาภิบาลในประเทศมีความเหมาะสม โดยการกระจายตัวส่วนใหญ่ก็จะเป็นอย.ในแต่ละประเทศดูแลและกำกับราคา ก่อนจะมาสู่ปลายทางคือ กระทรวงสาธารณสุข และกระจายไปสู่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาล ร้านขายยาต่างๆ ฉะนั้นผู้ใช้ยาก็ต้องมีความรู้ เพื่อลดภาระการใช้ยาด้วย
“หลังจากเรามีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าพบว่า มีแนวโน้มการซื้อยาใช้เองจากร้านขายยาลดลง แต่อีกด้านหนึ่ง ก็สร้างพฤติกรรมการบริโภคยาที่เบี่ยงเบียน เพราะผู้ป่วยได้ยาฟรี ทำให้ผู้ป่วยไม่สนใจเรื่องรับยา ทำให้เกิดยาตกค้างจากหลายโรงพยาบาล สะท้อนถึงระบบบริการการจ่ายยาของไทยที่มีจุดอ่อน ซึ่งเภสัรกรต้องเข้ามาให้คำแนะนำต่อไป” รองปลัด สธ. กล่าว
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงาน กพย. สสส. กล่าวว่า ระบบยาของไทยมีมาช้านาน แต่ในภาพรวมยังมีเรื่องการเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นจุดที่อ่อนแอหรือหายไป ส่งผลให้การสะท้อนข้อมูลกลับไปยังผู้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบยายังไม่ดีพอ จึงเกิดแผนงานกพย.ขึ้น เพื่อให้เกิดกลไกการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาในระดับต่างๆ โดยเฉพาะในระดับประเทศ จากรายงานสถานการณ์ระบบยาประจำปี 2552 นั้นจะสะท้อนปัญหาใหญ่ๆที่เกิดขึ้นในระบบยาของไทยว่ามีอะไรบ้าง เช่น เรื่องการส่งเสริมการขายยา การใช้ยาราคาแพง การใช้ยาไม่เหมาะสม และเพื่อนำเสนอผลักดันให้เกิดการแก้ไขในเชิงนโยบายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นว่า ระบบยาของไทยยังมีอะไรดีๆบ้าง เช่น เกิดการรวมกลุ่มกันทำงานของเภสัชกรภาคกลาง เพื่อช่วยกันเป็นแรงขับเคลื่อน
ผศ.ภญ.ดร.นิยดากล่าวว่า สำหรับรายงานสถานการณ์ระบบยาประจำปี 2552 จากตัวชี้วัดสรุปปัญหาหลักๆที่พบตามกรอบของระบบยา ดังนี้ 1.ในขั้นตอนการผลิตและพัฒนายาในประเทศ จากตัวชี้วัดการพึ่งตนเองด้านยาของไทย พบว่า ศักยภาพของอุตสาหกรรมยาไทยอยู่ในขั้นวิกฤติ ยาที่ใช้ในประเทศมากกว่า 75 % ต้องพึ่งพายาสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ส่วนที่เหลืออีก 25 % ซึ่งเป็นการผลิตในประเทศ ก็ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมากกว่า 90 % 2.ตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยของยาสะท้อนให้เห็นว่า ยังคงพบยาที่ไม่เหมาะสมอยู่ในโรงพยาบาล ร้านยา และชุมชน 3.คนไทยต้องกินยาที่มีราคาแพงกว่า เมื่อเทียบกับราคาสากลในต่างประเทศ และ 4.ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล พบว่า มีการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะให้ผู้ป่วยทั้งๆที่ไม่จำเป็นต้องใช้สูงถึง 42 % และการแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องมีการพัฒนาแนวร่วมที่เข้มแข็งและการสั่งสมชุดประสบการณ์ร่วมกันระหว่างส่วนกลางและพื้นที่ จึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง เพื่อลดปริมาณการใช้ยาโดยรวมของทั้งประเทศที่เกินจริงเป็นเรือนหมื่น หลังจากการสำรวจเยี่ยมบ้านของเภสัชกรชุมชน
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. กล่าวว่า ยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ เป็นเรื่องพื้นฐาน ซึ่งหากดูข้อมูลข้อมูลจะพบว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยาสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก แสดงให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการใช้ยา จึงเป็นความจำเป็นที่ สสส. จะเข้าไปสนับสนุนแผนงาน กพย. เพื่อเน้นให้เกิดการเฝ้าระวังการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในกลุ่มยาบางกลุ่มที่มีการใช้มาก ใช้โดยไม่จำเป็น และเกิดผลเสียสูง ตัวอย่างการทำงานของ กพย.ในการเฝ้าระวัง เช่น ในปี 2552 ได้มีการเตือนเกี่ยวกับยากระตุ้นในอาหารเด็ก ซึ่งส่งผลให้เด็ก 4 ขวบ มีหนวดเคราเหมือนผู้ใหญ่ จนทำให้สำนักงานอาหารและยา (อย.) ประกาศยกเลิกยาดังกล่าว นอกจากนี้ กพย.ยังได้สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมให้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง เนื่องจากการจะทำให้คนไทยใช้ยาอย่างถูกต้อง เหมาะสม จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ กรรมการสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ซึ่งได้สำรวจลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยในปีล่าสุด 700 รายเพื่อสำรวจยาที่เหลือใช้ของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ พบกว่า ผู้ป่วยมีอัตราการสะสมยาประมาณ 1,000 บาท ต่อเดือน/คน เฉลี่ย 6.7 รายการ/คน บางรายมียาเหลือใช้ในครอบครองมากถึง 20 รายการ และมียอดยาสูงถึง 70,000 บาท สะท้อนถึงระบบการจ่ายยาที่ซ้ำซ้อน ทำให้ผู้บริโภคไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ยา บ่อยครั้งผู้ป่วยมีพฤติกรรมการลดเพิ่มการใช้ยาเองแบบไม่สมเหตุสมผล นำมาสู่การบริโภคยาที่ไม่ถูกโรค ถูกวิธี และถูกเวลา การมีธรรมาภิบาลที่เหมาะสมก็จะทำให้อย่างน้อยผู้ป่วยมีข้อมูลรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร และช่วยให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมในการใช้ยาที่เหมาะสมต่อไป
อ.ภญ.ดร.สุนทรี รองผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า การส่งเสริมการขายยาที่ยังมีอยู่เนื่องจากมีผู้ได้ผลประโยชน์เกี่ยงข้องมาก อีกทั้งกฎหมายเกี่ยวกับยา ยังไม่มีนิยามการส่งเสริมการขาย ซึ่งในปัจจุบันจากการแข่งขันทางการค้า ทำให้หลักคุณธรรมจริยธรรมลดน้อยลง โฆษณาจึงมีรูปแบบการสื่อสารที่อาจทำให้ผู้บริโภคสับสน และซื้อยาผิดประเภทมาใช้ ทำให้ควบคุมได้ยาก
นางณัชภัส ธีระเรืองไชยศรี เครือข่ายเรื่องเล่าเภสัรกร กล่าวว่า การซื้อยาของแต่ละโรงพยาบาลแตกต่างกันตามความเป็นอยู่ อาชีพ และภูมิประเทศ และด้วยมูลค่ามหาศาล จึงหลีกเลี่ยงเรื่องผลประโยชน์ยาก นักขายยาเองก็มีวิธีการกระตุ้นการขายหลายรูปแบบ เช่น การกระตุ้นแพทย์ให้สั่งยามากขึ้น ในขณะที่เภสัชกรที่ซื้อยาโดยตรงก็ต้องหาวิธีการซื้อที่โปร่งใส และได้ยาคุณภาพดี ดังนั้นต้องเริ่มจากตัวเองก่อน โดยการปลุกจิตสำนึกว่า เป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติ และต้องรับผิดชอบความเป็นความตายของประชาชน ที่ผ่านมาระบบการซื้อยาของประเทศได้ภาพรวมดีขึ้น มีการรวมตัวเป็นเครือข่าย เน้นการสื่อสารกันมากขึ้น โดยเฉพาะผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เช่น เรื่องราคา ความรับผิดชอบของบริษัท และจัดการซื้อที่โปร่งใสมากขึ้น
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)