ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดงานบันทึกความเข้าใจร่วมกันเรื่องการรณรงค์การใช้ยาอย่างเหมาะสมเพื่อลดปัญหาพฤติกรรมการใช้ยาเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการดื้อยา
นพ.ทนงสรรค์ สุธาธรรม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การใช้ยาของคนไทยในปัจจุบันเป็นการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดภาวะการดื้อยา โดยพบว่าจากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาปฏิชีวนะในปี 2551 รวม 33,456 ราย โดยกลุ่มที่ถูกรายงานมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 31-45 ปี ถึง 8,218 ราย (25%) รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 46-60 ปี 7,095 ราย (21%) และพบว่า ชนิดยาปฏิชีวนะ 5 ลำดับที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์นำไปสู่การดื้อยาคือ1.เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) 2.อะม็อกซี่ซิลิน (amoxicillin) 3.ไอบูโปรเฟน (ibuprofen) 4 .ซัลฟาเมทธอกซาโซล และ5. ไตรเมทโธพริม (sulfamethoxazole+trimethorprim) สะท้อนให้เห็นว่า ยาที่เข้าข่ายทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์สูงสุด 25 อันดับแรกนั้นเป็นยาปฏิชีวนะถึง 15 รายการ
“ประเด็นที่น่าเฝ้าระวังคือยาเพนนิซิลิน และอีริโธมัยซิน ที่เคยใช้เป็นยารักษาโรคปอดบวมได้ผลนั้น เริ่มเกิดอาการดื้อยา โดยในปี 2541-2550 พบการดื้อยาเพนนิซิลินจาก 47% เป็น 61% และดื้อยาอิริโธมัยซินจาก 27% เป็น 54% และล่าสุด พบว่า การพัฒนายาใหม่เพื่อใช้แทนยาเพนนิซิลินและอีริโธมัยซิน ที่ไม่พบการดื้อยามาตั้งแต่ปี 2544 แต่ขณะนี้เริ่มมีการดื้อยามากขึ้น ขณะที่ความต้องการยาปฏิชีวนะชนิดใหม่เพื่อต่อสู้กับเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มการค้นคิดยาปฏิชีวนะชนิดใหม่กลับลดลง เนื่องจากเป็นกลุ่มยาที่อาจไม่คุ้มค่าในการลงทุนศึกษาวิจัย เพราะการเกิดเชื้อดื้อยาทำให้ประสิทธิภาพของยาในการรักษาโรคติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว ไม่เหมือนตลาดของยากลุ่มที่รักษาโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน และเบาหวาน ที่คงประสิทธิภาพการรักษาและอยู่ในตลาดได้เป็นเวลานาน พฤติกรรมการใช้ยาของคน จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม และมีความจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ” นพ.ทนงสรรค์ กล่าว
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. กล่าวว่า สาเหตุสำคัญของเชื้อดื้อยาเกิดจากการใช้ไม่ถูกต้อง และการใช้เกินความจำเป็น สะท้อนจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะของประเทศไทยพบว่า ประชาชนมีการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคที่ไม่จำเป็น เช่น โรคหวัด ประมาณ 40-60% ในภูมิภาค และ 70-80% ในกรุงเทพมหานคร ภาวะดื้อยา ทำให้ผู้บริโภคต้องใช้ยาที่แพงขึ้น และต้องใช้เวลาฟื้นตัวที่ยาวนานขึ้น เพราะภาวะดื้อยาทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลง ไม่คุ้มการลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขของสหรัฐอเมริกาที่สูญเสียเงินปีละ 4-5 พันล้านดอลล่าร์ จากปัญหาการดื้อยา เช่นเดียวกับยุโรปที่สูญเสียปีละ 9 พันล้านยูโร ขณะที่ตัวเลขของ อย.ระบุว่า ประเทศไทยผลิตและนำเข้ากลุ่มยาฆ่าเชื้อ รวมถึงยาปฏิชีวนะ สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของการผลิตและนำเข้ายาทั้งหมด โดยในปี 2550 การผลิต และนำเข้ายากลุ่มปฏิชีวนะมีมูลค่ารวมประมาณ 20,000 ล้านบาท หรือประมาณ 20% ของมูลค่ายาทั้งหมด สสส.ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาวะของประชาชนจึงร่วมกับ สธ. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการดื้อยาโดยรวมอย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญเร่งด่วนสำหรับเยาวชนคือ การบริโภคผลิตภัณฑ์ลดอ้วนในเด็กเยาวชน เช่น ยาลดน้ำหนัก กาแฟ อาหารเสริม ซึ่งมักโฆษณาเกินจริง จนทำให้เกิดการใช้ที่ไม่เหมาะสม และบางรายอาจทำให้เกิดภาพหลอน และนำไปสู่ภาวะการกดประสาท ซึ่งการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ยาที่ถูกต้องนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงระดมความร่วมมือจากหลายคณะ ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ และร่วมกับ อย. กระทรวงสาธารณสุข และสสส. เพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปมีความรู้และเข้าใจถึงประเด็นการใช้ยาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มยาปฏิชีวนะเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องพฤติกรรมการใช้อย่างเป็นรูปธรรม
ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สสส. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างสังคมให้เกิดความตระหนักเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผล จึงได้จัดโครงการประกวดสื่อสารสาธารณะเพื่อรณรงค์ฉลาดใช้ยาปฏิชีวนะ โดยมุ่งเน้นให้นักเรียน นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ เข้ามาร่วมแข่งขันสร้างสื่อในหลายรูปแบบ ได้แก่ การออกแบบโปสเตอร์กับแผ่นพับ การสร้างสรรค์ภาพยนตร์สั้น และการประกวดสุนทรพจน์ ภายใต้กรอบแนวคิดหลัก “อย่าใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้าไม่จำเป็น” เพื่อให้นักเรียน นิสิตนักศึกษาเหล่านี้ได้เรียนรู้และเข้าใจการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และขยายวงกว้างไปสู่การรับรู้ของคนในสังคมต่อไป
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)