ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

2 ปีพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ปัญหายุบยั่บ ล่าช้า โทษเบา ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์

by twoseadj @August,26 2010 09.28 ( IP : 202...248 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 640x480 pixel , 53,390 bytes.

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้จัดโครงการสัมนา "การประชุมสภาปฎิรูประบบการกระบวนการยุติธรรมกรณี 2 ปี พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551" วันที่ 25 สิงหาคม ที่โรงแรมทีเค พาเลซ ในโอกาสที่ครบ 2 ปีที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริโภคที่ใช้สิทธิเองต่างพบเจอปัญหาและอุปสรรคต่างๆที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยมีนายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์, นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา, นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล, นางสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล, นายนิวัต หอมสันเที๊ยะ และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง ร่วมเป็นวิทยากร


นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กล่าวว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดหลังจากที่มีกฎหมายนี้คือ ผู้บริโภคมีโอกาสหรือสิทธิที่จะนำข้อร้องเรียนเข้าสู่กระบวนการเยียวยาโดยสันติ ทำให้มีความสงบเรียบร้อยมากขึ้นไม่มีข้อพิพาทที่ทำให้สังคมหนักใจ ซึ่งความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนค่อนข้างตื่นตัวซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี มีกฎหมายต่างๆที่เป็นผลมาจากฎหมายฉบับนี้อย่างการคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์และจะมีกฎหมายใหม่ๆตามมาอีก


แต่ปัญหาที่สำคัญคือการทำความเข้าใจกฎหมาย มีหลายฝ่ายเข้าใจว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ผู้ประกอบการใช้มากกว่า โดยหยิบยกเอาสถิติคดีว่าผู้ประกอบการฟ้องเยอะกว่า แต่ต้องมองว่ามันเป็นกฎหมายที่มีสองส่วนคือส่วนที่จำกัดสิทธิของผู้ประกอบการ และส่วนที่เอ่ยถึงสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการก็จะมีสิทธิของเขาเองแต่ผู้ประกอบการจะถูกจำกัดสิทธิ ที่ผู้บริโภคถูกฟ้องเพราะไปสัญญากับผู้ประกอบการแล้วผิดกฎ เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการจึงไม่ได้ประโยชน์เพราะถูกจำกัดสิทธิ


ในประเด็นระบบไต่สวนที่มีปัญหาว่าผู้บริโภคเป็นผู้ดำเนินการคดี ขอยกตัวอย่างว่า หากท่อน้ำในบ้านเสียก็ต้องไปหาช่างมาซ่อม ฝ่ายวิปผู้บริโภคเหมือนกับเอาประแจ เอาคีมไปให้เจ้าของบ้านซ่อมเอง ก็อาจซ่อมได้แต่ถ้าเป็นเรื่องหลังคารั่วถ้าปีนขึ้นไปเองอาจพลัดตกลงมาได้ เพราะฉะนั้น บางเรื่องที่ซับซ้อนถ้าไม่มีผู้ช่วยก็จะลำบาก เรื่องพยาน หลักฐานที่ยุ่งยากจำเป็นต้องมีผู้ช่วยก็ต้องมี กฎหมายเองก็เปิดโอกาสให้ศาลเรียกพยาน หลักฐานมาเองได้ แต่ศาลเองต้องระวังเรื่องความเป็นกลาง ไม่ใช่ศาลต้องหาพยาน หลักฐานเองและทิ้งผู้ประกอบการไปเลย การที่ศาลจะเรียกพยานหลักฐานจะต้องดูในกรอบที่เหมาะสมไม่ใช่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


"อะไรที่ศาลทำได้ก็ทำ ตราบใดที่ไม่ละเมิดความเป็นกลาง"


อีกเรื่องคือการเปิดช่องให้สามารถฟ้องกรรมการหรือผู้ถือหุ้นร่วมกับผู้ประกอบการด้วย เป็นเรื่องที่ต่างประเทศกลัวกัน พบว่าบางทีผู้บริโภคก็ใช้เปรอะเหมือนกัน หลักการจริงๆคือ ต้องมีกระบวนการที่พิสูจน์สองอย่างคือ บริษัทไปกระทำการฉ้อฉลและหลองกลวง สองคือบริษัทไม่มีทรัยพ์สินแล้ว จึงจะดำเนินการได้ ซึ่งถ้าไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปลากผู้ถือหุ้นเข้ามารับผิดก็ไม่จำเป็นต้องลากเข้ามา


ด้านค่าเสียหายเชิงลงโทษกฎหมายฉบับนี้ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ความเข้าใจในซีกของผู้ประกอบการนั้นคงจะเบาลงเพราะผู้ประกอบการเองมีนักกฎหมายส่วนตัวอยู่แล้ว แต่ที่น่ากังวลคือผู้บริโภคใช้สิทธิเกินไป บางคดีก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายมากเกินไป


ส่วนเจ้าพนักงานคดีที่ได้รับคำร้องเรียนมาว่าไม่พอ ก็ขอยอมรับว่าไม่พอจริงๆ ซึ่งวัตถุประสงค์ดั้งเดิมที่ตั้งไว้คือจะให้มาช่วยศาล แต่ที่ไม่พอเพราะกลับกลายเป็นว่าผู้บริโภคเอาไปใช้หมด เจ้าพนักงานก็เลยไม่ได้ไปช่วยศาลเลยซึ่งในอนาคตอาจต้องเพิ่มจำนวนมากขึ้น


ทั้งนี้ ในอนาคตข้างหน้าอาจมีการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์ในด้านสาธารณะมากขึ้น อาจเป็นคดีสารเคมีหรืออาจฟ้องเพื่อให้ผู้ประกอบการเรียกสินค้าที่มีปัญหาคืน ก็ต้องมาจัดการในเรื่องกระบวนการฟ้องคดีใหม่เพื่อบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น


สิ่งที่ต้องใส่ใจมากขึ้นคือเรื่องคดีอาญาเกี่ยวกับการบริโภคหรือบริการสินค้าที่ต้องมาปรับใหม่ โทษบางอย่างยังเบาอยู่ และโทษบางอย่างน่าจะสามารถสั่งให้ผู้ประกอบการลงไปดำเนินการแก้ไขในด้านต่างๆได้ไม่ใช่แค่ปรับ หรือ จำคุกเท่านั้น


นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าบทบาทของมูลนิธิคือให้บริการข้อมูล สนับสนุนการเขียนคำร้อง และสนับสนุนด้านทนายอาสา ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิดูแลคดีตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ. 2551 มีคดีท้ังหมด 369 คดี เป็นคดีทั่วไป 200 คดี และคดีผู้บริโภค 169 คดี


สัดส่วนการดำเนินคดีแบ่งได้เป็น คดีอุบัติเหตุรถ 94 คดี คดีเกี่ยวกับสัญญาต่างๆ 14 คดี คดีเรื่องละเมิด 10 คดี และคดีประกันภัย 51 คดี


ปัญหาโดยรวมที่พบในการดำเนินการได้แก่ ปัญหาเจ้าหน้าที่สอบสวนไม่เพียงพอ, วิธีพิจารณาคดีที่ใช้การไต่สวนแทนการสืบสวน, มาตรฐานการพิจารณาคดีว่าเข้าข่ายคดีผู้บริโภคหรือไม่ซึ่งอาจทำให้เสียเวลาการพิจารณาคดี, กระบวนการทางคดีที่บอกว่าไม่ต้องใช้ทนายนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะเมื่อผู้บริโภคเขียนสำนวนฟ้องแล้ว ในขั้นการสืบก็ต้องย้อนกลับมาหาทนายอยู่ดี, พบปัญหาเรียกเก็บค่าฤชาธรรมเนียมในบางศาล และการพิจารณาคดียังล่าช้าอยู่ แม้ว่าบางกรณีศาลอาจมีความเห็นว่าเวลาเหมาะสมแล้ว แต่ผู้บริโภคอาจไม่เห็นด้วย


ส่วนปัญหาสำคัญที่พบในกระบวนการฟ้องของคดีผู้บริโคภได้แก่ มาตรา 4 ที่มีเนื้อหาหลักคือเจ้าพนักงานคดีทำหน้าที่ช่วยเหลือศาล ซึ่งพบปัญหาพนักงานไม่เพียงพอ, มาตรา 8 ว่าด้วยกระบวนการวินิจฉัยคดีที่ยื่นฟ้องว่าเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ พบปัญหาว่าต้องใช้ระยะเวลาในการวินิจฉัย, มาตรา 18 ว่าด้วยการยื่นคำฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนการพิจารณาใดๆในคดีผู้บริโภค โดยที่ผู้บริโภคจะได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่พบปัญหาว่า กรณีคดีหนึ่งที่ฟ้องศาลแขวง ศาลมีคำสั่งให้ผู้บริโภคต้องเสียค่าส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย แต่คดีที่ฟ้องศาลจังหวัดไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ


และมาตราที่สำคัญคือมาตราที่ 33 - 36 โดยเป็นมาตราที่ว่าด้วยการรวบรวมพยานหลักฐานสาระหลักคือศาลมีอำนาจสั่งเจ้าพนักงานคดีตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานได้ โดยมีอำนาจเรียก สคบ. หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลหรือให้จัดส่งพยานหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาได้ แต่ผลของมาตราดังกล่าวกลายเป็นว่าผู้บริโภคเป็นผู้รวบรวมหลักฐานมาแสดงเองแทนที่จะเป็นเจ้าพนักงานคดี หรือกล่าวคือ ผู้บริโภคถูกสั่งให้ทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานคดีตามมาตรา 4 


ช่วงสายมีการอภิปราย "ทำอย่างไรให้เจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นจริง" โดยนายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวงยุติธรรมกล่าวระหว่างการอภิปรายว่า การจะทำให้เจตนารมย์ของกฎหมายเป็นจริงทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ถูกต้องทั้งฝ่ายผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และศาล ซึ่งแต่ละคนก็มีมุมมองของตนเอง สำหรับแง่มุมของศาลก็มีแง่มุมของศาลเองก็ต้องเป็นกลาง ต้องฟังทุกฝ่าย


โดยวิธีพิจารณาของศาลเองก็ต้องปรับ กฎหมายเองก็ต้องพยายามดึงจุดด้อยของผู้บริโภคมาเขียน การเขียนกฎหมายก็ต้องมองด้วยเพื่อให้ศาลมีความเป็นกลางมากขึ้น สิ่งที่สำคัญในกระบวนการเหล่านี้คือต้องมีเครื่องมือและกลุ่มคนมาช่วยอย่างที่มูลนิธิมีทนายความช่วยผู้บริโภค รวมถึงประชาชนที่มีความเข้มแข็งจะเป็นกำลังที่ดีของหน่วยงานรัฐและการเมืองต่อไปด้วย


ที่บอกว่าผู้ประกอบการมักจะชนะคดี แต่คดีที่ผู้ประกอบการชนะเป็นคดีบัตรเครดิต การกู้ยืม และการเช่าซื้อเพราะ คดีเหล่านี้มีหลักฐานจริง ซึ่งผู้บริโภคตั้งคำถามว่าทำไมการดำเนินการเหล่านี้ถึงได้มีความรวดเร็ว การพิจารณาคดีของศาลก็จะมองว่าเป็นหนี้จริงหรือไม่ ส่วนเรื่องระยะเวลาเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายมาตกลงกันได้ แต่ไม่ควรใช้ศาลมาเป็นเครื่องมือในการชะลอหนี้ 


"หากถามว่ากฎหมายนี้เข้าถึงจุดมุ่งหมายจริงๆแล้วหรือยัง ตอบได้ว่ายัง แต่จะเป็นจุดที่พัฒนาไปด้วยกัน"


ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังว่าเมื่อรถยนต์ในต่างประเทศมีปัญหา บริษัทจะเรียกรถคืน แต่สำหรับประเทศไทยแล้วมันยากเย็นมาก


เราอาจต้องช่วยกันยกระดับความคิดว่าความผิดพลาดนั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าสามารถจัดการกับความผิดพลาดได้ดีจะเหมือนเป็นคะแนนช่วยเพิ่มความสนใจให้กับผู้บริโภค หากเป็นแบบนี้แล้วคดีผู้บริโภคกว่า 169 คดีก็จะลดลง


"ภาคการเมืองไทยไม่ค่อยเป็นอิสระจากธุรกิจ แต่มักจะเห็นความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าผู้บริโภค อะไรที่กระทบคนก็ยอมกันไป แต่ไม่ยอมให้กระทบ GDP"


ต้องยอมรับว่าบรรทัดฐานมีส่วนสำคัญ เรามักเอาใจคนที่มีอำนาจมากกว่า องค์กรของเรามีหน้าที่ทำให้กระบวนการต่างๆมีโอกาส มีบรรทัดฐานที่ยกระดับความเข้าถึง นอกจากนี้ ยังต้องล้างความเข้าใจผิดว่าผู้ประกอบการเป็นฝ่ายฟ้องเรา แต่เดิมพวกเขาก็เป็นฝ่ายฟ้องเรา 100 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว แต่ตอนนี้คิดว่าเรากำลังเริ่มเข้าไปมีส่วนแบ่งมากขึ้น และหลังจากนี้จะทำอย่างไรให้กฎหมายนี้เข้าถึงคนเล็กคนน้อยในสังคม


ช่วงท้ายของการสัมนาเป็นการสรุปประเด็นข้อเสนอต่างๆจากการระดมความเห็นเพื่อทำให้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยประเด็นปัญหาที่สำคัญที่แต่ละกลุ่มเสนอสามารถสรุปได้ดังนี้


ประเด็นข้อกฎหมายมาตรา 20 เรื่องการฟ้องคดีผู้บริโภคที่สามารถฟ้องได้ด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ ซึ่งประเด็นที่มีคำถามคือการฟ้องด้วยวาจาดังกล่าวสามารถทำให้เกิดเป็นไปได้จริงหรือไม่ จากการระดมความเห็นแล้วเห็นได้ว่า ในความเป็นจริงการฟ้องด้วยวาจาตามข้อกฎหมายยังไม่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจากที่ระดมความเห็นแล้วได้ข้อเสนอว่า การฟ้องด้วยวาจาสามารถทำได้จริงแต่ผู้บริโภคต้องเตรียมเอกสารหรือหลักฐานมาให้พร้อมด้วย ทั้งนี้ บุคลากรของศาลยังมีจำนวนน้อยอยู่จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนบุคลากรเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคพร้อมกับพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไปพร้อมๆกันด้วยเพื่อสนับสนุนเจตนารมณ์ของกฎหมาย


ส่วนในกรณีของคดีด้านบริการสาธารณะอย่างเช่น ค่าโทรศัพท์หรือค่าบริการอาจต้องมีหน่วยงานรับเรื่อง ร่วมฟ้อง หรือฟ้องแทนเพื่อลดภาระของผู้บริโภคในกรณีอย่างค่าโทรศัพท์ที่มีมูลค่าไม่มาก แต่ผู้บริโภคกลับต้องนั่งรถไปเพื่อฟ้องศาลเอง


ในประเด็นเรื่องการใช้กระบวนการไต่สวนในการพิจารณาคดีผู้บริโภครวมทั้งภาระการพิสูจน์ของผู้บริโภคจะเป็นจริงได้หรือไม่นั้น ได้ข้อสรุปว่า ปัจจุบันยังไม่สามารเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ได้ ซึ่งจากที่เป็นอยู่เหมือนเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคหาหลักฐานมาพิสูจน์อยู่ดีจนเหมือนกับกลายเป็นใช้ระบบการกล่าวหา จึงเสนอว่า ควรให้ศาลเพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค จัดตั้งผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านหรือหน่วยงานกลางในการช่วยพิสูจน์รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ควรจะทำคู่มือการใช้สิทธิต่างๆให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจการดำเนินการต่างๆด้วยตนเองในเบื้องต้น


ด้านประเด็นคำถามเรื่องมาตรา 44 ที่ระบุว่าหากพบว่าผู้ประกอบการมีความผิดให้ผู้ถือหุ้นเข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วยในกรณีนี้ ศาลเองก็ต้องใช้ดุลพินิจที่หลากหลาย จึงเสนอให้ประธานศาลฎีกากำหนดกฎระเบียบในการตัดสินให้ชัดเจน ไม่ใช่อ้างว่าศาลมีความอิสระ และให้ใช้กระบวนการของคณะกรรมการตุลาการเข้ามาใช้ร่วมด้วย


ส่วนประเด็นสุดท้ายเรื่องความรวดเร็วในการดำเนินการพิจารณาคดีนั้น มีข้อเสนอว่าควรกำหนดวันเลื่อนพิจารณาคดีได้ไม่เกิน 2 ครั้ง (ภายในระยะ 1 เดือน) ส่วนกรณีที่ผู้บริโภคต้องยื่นฟ้องที่ศาลในจังหวัดที่ผู้ประกอบการอยู่เท่านั้น ทำให้ผู้บริโภคที่อยู่นอกกรุงเทพฯต้องเดินทางไปมาระหว่างจังหวัดควรจะปรับให้ผู้บริโภคฟ้องศาลที่ใดก็ได้ตามความสะดวกของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังเสนอว่าควรแยกบัลลังก์คดีผู้บริโภคต่างหาก เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ศาลเองมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ พร้อมทั้งผลักดันให้ใช้ระบบลูกขุน บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และนำสภาทนายความเข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มพื้นที่ในการให้ความรู้กับผู้บริโภคด้วย

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง