“เหลิม” เสียวท่องเที่ยวหด ไฟเขียวขายเหล้าปีใหม่ คุมเฉพาะสงกรานต์-วันสำคัญศาสนา
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 ตุลาคม 2551 16:52 น.
“เฉลิม” กลัวนักท่องเที่ยวหด เกรงกระทบเศรษฐกิจ ไม่ห้ามขายเหล้าช่วงปีใหม่ ชี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป คุมเข้มห้ามขายเหล้าเฉพาะ วันสงกรานต์ – วันสำคัญทางศาสนาก่อน ระบุบริษัทเหล้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่เกี่ยวพ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ ขณะที่โพลเผยประชาชน 83% เห็นด้วย ห้ามขายเหล้าช่วงเทศกาลสำคัญ 51% ให้ห้ามขายเหล้าทุกวันตลอดเทศกาลทั้งปีใหม่และสงกรานต์
วันนี้ (24 ต.ค.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 นอกรอบเป็นครั้งแรก โดยมีวาระสำคัญคือการพิจารณาเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง วัน หรือเวลา ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ...
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า สวนดุสิตโพลได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันหยุดเทศกาล และวันหยุดสำคัญทางศาสนา ผลปรากฏว่า ประชาชนกว่า 80% เห็นด้วย กับมาตรการนี้เป็นเอกฉันท์ ดังนั้น สธ. จะเสนอร่างประกาศสำนักนายกฯ ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ และวันสำคัญทางศาสนาก่อน อาทิ วันข้าพรรษา วันออกพรรษา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา โดยอยากทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้มีผู้ใดออกมาคัดค้าน
“วันหยุดเทศกาลปีใหม่ เป็นเทศกาลสากล มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมาร่วมเทศกาลจำนวนมาก จึงให้ยกเว้นไว้ก่อน เนื่องจากเกรงจะกระทบต่อการท่องเที่ยว ทำให้เกิดแรงต่อต้านได้ ส่วนเทศกาลสงกรานต์ ตนเห็นด้วยให้ห้ามขายเหล้า โดยให้ห้ามขายทุกวันตลอดทั้งเทศกาล เพราะอยากให้ในระหว่างการเดินทางหาซื้อเหล้ายากลำบากมากขึ้น ช่วยชะลอการเกิดอุบัติเหตุ ชะลอการเมาแล้วขับรถได้” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวต่อว่า ในทางปฏิบัติ หากมีการควบคุมห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบ 100% คือห้ามขายเหล้าหมดทุกเทศกาล จะทำให้เกิดแรงต่อต้านสูง ดังนั้นเทศกาลปีใหม่ จึงยังไม่อยากเข้าไปยุ่ง ถึงประชาชนจะเห็นด้วยให้ห้ามขายเหล้า ตนจะดำเนินการจากเล็กไปใหญ่ คือสร้างความคุ้นเคย ประชาชนมีวินัย เพื่อให้ประชาชนยอมรับก่อน แล้วในอนาคตหากประชาชนเรียกร้องเพิ่มเติมจึงจะประกาศบังคับห้ามขายเหล้าในวันหยุดปีใหม่เพิ่มในภายหลัง เพราะหากควบคุมเพิ่มขึ้นทีละน้อยจะให้ผลที่ดีกว่า
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวต่อว่า สำหรับร่างประกาศสำนักนายกฯ ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ทุกร้านค้า สถานบริการ สถานบันเทิง รวมถึงโรงแรมต่างๆ ให้ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดอย่างเท่าเทียมกัน แม้ว่าทางสมาคมโรงแรมไทยได้เสนอขอให้ยกเว้นให้ร้านอาหาร ภัตตาคารในโรงแรม อย่างไรก็ตาม ร่างประกาศสำนักนายกฯ มีเฉพาะห้ามจำหน่ายเท่านั้น ไม่ได้ห้ามดื่ม หากเป็นการซื้อมาดื่มล่วงหน้ายังสามารถทำได้
“คงจะไม่มีการเรียกผู้ประกอบการมาประชุมอีก เพราะไม่ใช่หน้าที่ แต่หากมีผู้ประกอบการมาขอเข้าพบก็ยินดีให้เข้าพบและจะชี้แจงเหตุผลให้เข้าใจจุดประสงค์ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น แต่ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีว่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการควบคุมฯ ที่ผมเป็นประธานหรือไม่ ”ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในวันนี้ ได้ลงนามในหนังสือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การคัดเลือกกรรมการในคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ... เพื่อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เพื่อเห็นชอบให้มีกระบวนการสรรหากรรมการ ยังยังขาดอยู่อีก 6 คน คือกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน และกรรมการจากองค์กรเอกชน 3 คน ซึ่งในส่วนขององค์กรเอชน กฎหมายกำหนดให้สรรหาจากองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ดังนั้น ตัวแทนจากบริษัทผู้ผลิต จำหน่าย นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงไม่สามารถเข้าร่วมเป็นกรรมการได้
ทั้งนี้ คาดว่าการบวนการสรรหาจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน จากนั้น คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงจะครบองค์ประชุมคือ 23 คน สามารถจัดประชุมเพื่อสรุปแนวทางในการเสนอร่างประกาศสำนักนายกฯ เรื่อง วัน หรือเวลา ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ... เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กล่าวว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันสำคัญทางศาสนาและช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ของสวนดุสิตโพลซึ่งได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเฉพาะเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 406 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 17-22 ตุลาคม 2551 ส่วนผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 10,000 ตัวอย่าง จะทราบผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 ตุลาคมนี้
นพ.สมาน กล่าวว่า ผลการสำรวจพบว่า ประชาชน 83.25% เห็นด้วยกับการห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ในช่วงวันสำคัญทางศาสนาและช่วงเทศกาลต่างๆ โดยให้เหตุผลว่าแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ส่วน 8.37% เฉยๆ เพราะคิดว่าในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้จริง และ 7.39% ไม่เห็นด้วย โดยควรควบคุมเฉพาะวันสำคัญทางศาสนาเท่านั้น
นพ.สมาน กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ประชาชนเฉลี่ย 96% เห็นด้วย ในการห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา ทั้งวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ส่วนวันหยุดนักขัตฤกษ์อื่นๆ เช่น วันเฉลิมพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เห็นด้วย 90.15% วันเฉลิมพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เห็นด้วย 90.39% วันปิยะมหาราช เห็นด้วย 83.74% วันจักรี เห็นด้วย 81.77% วันฉัตรมงคล เห็นด้วย 80.30% วันพืชมงคล เห็นด้วย 78.33% วันรัฐธรรมนูญ เห็นด้วย 70.20% ขณะที่วันลอยกระทง 62.32%วันแรงงาน เห็นด้วย 58.18% วันวาเลนไทน์ 50.25% วันคริสต์มาสเห็นด้วย 47% และวันฮาโลวีน 45.57%
นพ.สมาน กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเทศกาลปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ควรมีลักษณะการห้ามอย่างไรจึงเหมาะสมนั้น 51.35% เห็นว่าควรห้ามทุกวันตลอดเทศกาล 18.18% ให้ห้ามเฉพาะวันแรกกับวันสุดท้ายของเทศกาล และ 6.39% ให้ห้ามวันที่อยู่ช่วงกลางของเทศกาล รวมลักษณะการห้ามทั้งทุกแบบ 76% ขณะที่ 16.95% เห็นว่าไม่ควรห้าม เพราะเป็นเทศกาลสนุกสนาน ควรมีการดื่มฉลอง แต่ควรสร้างจิตสำนึก สร้างความตระหนักที่ดีจะดีกว่า ส่วนระยะเวลาของการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่ 76. 35% เห็นว่าควรบังคับใช้กฎหมายนานแล้ว และควรเริ่มบังคับใช้อย่างเร่งด่วนด้วย
นพ.สมาน กล่าวด้วย ทั้งนี้ ลักษณะการห้ามจำหน่ายตามมาตรา 27 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เรื่องสถานที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น วัด สถานพยาบาล สถานที่ราชการ หอพัก สถานศึกษา สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง (ปั๊ม) สวนสาธารณะ ฯลฯ ส่วนใหญ่ 39.57% เห็นว่าควรห้ามขายเฉพาภายในขอบเขตของสถานที่นั้นๆ ขณะที่ 26.78% เห็นว่าควรห้ามขายบริเวณรอบๆ ในรัศมีที่กำหนด เช่น 100 เมตร 250 เมตรหรือ 500 เมตร และ 21.33% เห็นว่า บริเวณรอบๆ ที่ต่อเนื่องติดกับสถานที่นั้นๆ ก็ควรห้ามจำหน่ายด้วยเช่นกัน ส่วนที่เห็นว่าไม่ควรห้ามจำหน่ายมี 5.45% และไม่ระบุ 6.87% นอกจากนี้ 63.79% เห็นด้วยหากจะเพิ่มสถานที่ห้ามจำหน่าย เช่น ริมถนนสาธารณะ สถานีขนส่งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ขณะที่ 28.33% ไม่เห็นด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ร.ต.อ.เฉลิม ได้เสนอให้ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกเทศกาลวันหยุด วันนักขัตฤกษ์
วันเดียวกัน นายเจกะพันธ์ พรหมมงคล ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนเพื่อป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และภาคีเครือข่ายเยาวชน เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นหนังสือให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.สธ. ให้สนับสนุนการเดินหน้า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเต็มที่สำหรับข้อเสนอของภาคีเครือข่ายเยาวชน คือ 1) สนับสนุนมาตรการห้ามขายเหล้าช่วงเทศกาล สำคัญๆเช่นปีใหม่หรือ สงกรานต์ เพราะเกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด โดยเริ่มต้นบังคับใช้จากเทศกาลตั้งแต่เทศกาลปีใหม่นี้ ซึ่งเยาวชนมั่นใจว่าจะเป็นของขวัญที่ดีเยี่ยม และ พี่น้องชาวไทย เพราะจะลดปัญหาคนเจ็บคนตายในช่วงนี้อย่างได้ผล
2) ขอให้กำลังใจกระทรวงสาธารณสุข ในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการควบคุมโฆษณาที่ห้ามปรากฎภาพผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ 3) ในฐานะเด็กและเยาวชน อยากร้องขอให้ ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิง ต่างๆ หยุดหากินกับเด็กและเยาวชน ด้วยการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 4) ขอเรียกร้องผ่านไปยังบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เคารพกฎหมาย ให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่มีภารกิจดูแลสุขภาวะของประชาชน เพราะบริษัทเหล่านั้นสร้างรายได้จากการทำลายสุขภาพ วิถีชีวิต ทำร้าย ครอบครัว เยาวชนและสังคมนี้มามากพอแล้ว และขอเรียกร้องให้หยุดวางกลุ่มเป้าหมายไว้ที่เด็กและเยาวชน
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)