วิถีชีวิตของประชาชนในปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่พึ่งพาการใช้บริการอาหารจากภายนอกบ้าน ทั้งด้วยการรับประทานอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหารประเภทต่าง ๆ หรือซื้ออาหารสำเร็จรูปกลับไปรับประทานที่บ้าน จนกลายเป็นเรื่องปกติของชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตของสังคมคนเมือง จึงเกิดสถานจำหน่ายอาหารหลากหลายรูปแบบให้ประชาชนเลือกใช้บริการ ทั้งภัตตาคารชั้นนำ ร้านอาหารทั่วไป ร้านอาหารจานด่วน แผงลอยในอาคาร และแผงลอยริมบาทวิถี
ในการปรุงอาหารเพื่อจำหน่ายเมื่อมีการใช้น้ำมันทอดอาหาร ผู้ประกอบการมักจะใช้น้ำมันทอดซ้ำเพื่อความประหยัดและคุ้มค่า ซึ่งน้ำมันที่ผ่านการทอดซ้ำหลายครั้งจะเสื่อมคุณภาพลงทั้งสี กลิ่น รสชาติ และมีความหนืดเพิ่มขึ้น
ระหว่างกระบวนการทอดอาหารที่น้ำมันต้องผ่านความร้อนอุณหภูมิสูงเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดการแตกตัวของน้ำมันเกิดสารเคมีหลายชนิดรวมทั้งสารโพลาร์ที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้การเสื่อมสภาพของน้ำมัน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฯ (ฉบับที่ 283) พ.ศ.2547 กำหนดให้มีปริมาณสารโพลาร์ในน้ำมันที่ใช้ทอดหรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่ายไม่เกินร้อยละ 25 ของน้ำหนัก ผู้ประกอบการที่ใช้น้ำมันทอดอาหารหรือประกอบอาหารที่มีค่าสารโพลาร์เกินเกณฑ์ที่กำหนดจะมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
เดิมการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันทอดซ้ำต้องเก็บตัวอย่างน้ำมันส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ทำให้เกิดความยุ่งยาก ล่าช้า และค่าใช้จ่ายสูง ในปี 2551 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาชุดทดสอบน้ำมันทอดซ้ำที่สามารถตรวจสอบในภาคสนามได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว และสามารถแจ้งผลการตรวจวิเคราะห์ได้ทันที เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเทศบาลนครหาดใหญ่จึงได้นำชุดทดสอบดังกล่าวมาแนะนำให้ความรู้แก่ผู้จำหน่ายอาหารทอดทุกประเภท ทั้งผู้ประกอบการในโรงอาหารของโรงเรียน ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร แผงลอย และขอความร่วมมือเก็บตัวอย่างน้ำมันจากผู้ประกอบทุกรายไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพ โดยให้เก็บตัวอย่างน้ำมันหลังจากการทอดอาหารทุกวัน จนครบรอบถึงวันเปลี่ยนน้ำมันใหม่ เพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการแต่ละรายว่าควรใช้น้ำมันทอดซ้ำได้กี่วันจึงจะเปลี่ยนน้ำมันรอบใหม่ที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ทั้งนี้เนื่องจากน้ำมันที่เสื่อมคุณภาพไม่สามารถบ่งชี้ได้ด้วยคุณลักษณะทางกายภาพ บางครั้งน้ำมันทอดอาหารสีใส ๆ ดูแล้วน่าจะปลอดภัย กลับพบว่ามีสารโพลาร์มากกว่าน้ำมันที่ดูขุ่นข้น สีคล้ำ เพราะการเสื่อมสภาพของน้ำมันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น จำนวนครั้งของน้ำมันที่ใช้ทอดซ้ำ ปริมาณอาหารที่ใช้ทอดแต่ละครั้ง และประเภทอาหารที่ทอด น้ำมันที่ใช้ทอดอาหารที่ผสมด้วยแป้งและเครื่องปรุงรสจะทำให้น้ำมันขุ่นข้นได้ง่าย
จากการเก็บตัวอย่างน้ำมันทอดอาหารจากผู้ประกอบการเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ในเบื้องต้น จำนวน 562 ราย พบผู้ประกอบที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำจนถึงระยะเวลาที่น้ำมันเสื่อมคุณภาพ จำนวน 45 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.00 ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายต่างให้ความร่วมมือเปลี่ยนน้ำมันทอดอาหารตามระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่แนะนำ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ทำการสุ่มตรวจน้ำมันจากผู้ประกอบการเป็นระยะ ๆ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคและมีการมอบป้ายน้ำมันทอดปลอดภัยของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาให้แก่ผู้ประกอบการที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันแล้ว
ผลกระทบต่อสุขภาพจากการกินอาหารที่ทอดด้วยน้ำมันเสื่อมคุณภาพ
1.ทำให้ร่างกายขาดวิตามิน
2.ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้
3.ความสามารถในการดูดซึมอาหารของระบบย่อยอาหารบกพร่อง
4.เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบ
นอกจากนี้การสูดดมไอระเหยของน้ำมันทอดอาหารเป็นระยะเวลานานอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อ บุทางเดินหายใจและสารเคมีที่ตกค้างในไอระเหยอาจก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้
ข้อแนะนำการเลือกใช้น้ำมันประกอบอาหาร
1.ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันจากไขมันสัตว์ เช่น น้ำมันหมูและน้ำมันวัว เนื่องจากมีกรดไขมันอิ่มตัวและโคเลสเตอรอลสูง
2.การทอดอาหารแบบน้ำมันท่วมควรใช้น้ำมันที่ทนความร้อนสูงและเสื่อมสลายตัวช้า เช่น น้ำมันปาล์ม
3.อาหารประเภทผัดควรเลือกใช้น้ำมันพืชทั่วไป เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย และน้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น
วิธีเลือกซื้อน้ำมันประกอบอาหาร
1.น้ำมันพืชที่ดีต้องไม่ใสเกินไป เช่น น้ำมันปาล์มปกติต้องมีสีเข้มบ้าง เพราะนั่นคือมีสารเบต้า แคโรทีนที่มีประโยชน์ในการป้องกันโรคมะเร็ง ป้องกันโรคหัวใจ (น้ำมันพืชที่ใสนั้นผ่านการฟอกสีจนหมดคุณค่าทางอาหารไปหลายชนิด)
2.น้ำมันพืชที่มีราคาแพงไม่ใช่ว่าจะมีคุณภาพหรือดีกว่าน้ำมันพืชราคาถูก จึงไม่ควรวัดคุณภาพด้วยราคา
3.ดูที่ก้นขวดต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น ผงสีดำ หรือตะกอนขุ่นขาว เพราะหมายถึงการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน
4.สังเกตฉลาก วัตถุดิบที่นำมาผลิต เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด ปาล์ม และอื่น ๆ รวมถึงสถานที่ผลิต หากเกิดกรณีที่มีปัญหาจะได้ดำเนินการกับตัวผู้ผลิตต่อไป
ข้อแนะนำในการทอดอาหาร
1.ในครัวเรือนไม่ควรใช้นำมันทอดอาหารซ้ำเกิน 2 ครั้ง
2.ก่อนทอดอาหาร ควรให้น้ำมันร้อนก่อนจะช่วยให้อาหารไม่อมน้ำมัน
3.หากน้ำมันทอดอาหารมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น กลิ่นเหม็นหืน เหนียวข้น สีดำ เกิดฟอง ควัน เหม็นไหม้ ให้เปลี่ยนน้ำมันทอดอาหารใหม่ทันที
4.ควรซับน้ำส่วนเกินบริเวณผิวหน้าอาหารดิบก่อนทอดเพื่อลดการแตกตัวของน้ำมัน ทำให้ชะลอการเสื่อมสลายตัวของน้ำมันทอดอาหาร
5.ควรกรองกากอาหารระหว่างและหลังการทอด จะช่วยลดการสะสมของสารก่อมะเร็งในน้ำมัน
6.ไม่ควรทอดอาหารด้วยไฟแรงเกินไป หากทอดไฟแรงน้ำมันจะเสื่อมสลายตัวเร็ว แต่ถ้าไฟอ่อนเกินไปอาหารจะอมน้ำมัน
7.ควรทอดอาหารครั้งละไม่มากเกินไป เพื่อให้ความร้อนของน้ำมันทอดอาหารกระจายทั่วถึง และใช้เวลาในการทอดน้อยลง
8.การทอดอาหารชิ้นใหญ่ ๆ จะอมน้ำมันน้อยกว่า
9.ควรเปลี่ยนน้ำมันทอดอาหารให้บ่อยขึ้น หากทอดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่มีส่วนผสมของเกลือหรือเครื่องปรุงรสปริมาณมาก
10.ปิดแก๊สทันทีหลังทอดอาหารเสร็จ หากอยู่ระหว่างช่วงพักการทอดควรเบาไฟลงหรือปิดเครื่องทอดเพื่อชะลอการเสื่อมสลายตัวของน้ำมันทอดอาหาร
11.ควรล้างทำความสะอาดกระทะทอดอาหารหรือเครื่องทอดทุกวัน เนื่องจากน้ำมันเก่ามีอนุมูลอิสระของกรดไขมันอยู่มาก สามารถไปเร่งการเสื่อมสภาพของน้ำมันทอดอาหารที่เติมลงไปใหม่
12.หลีกเลี่ยงการใช้กระทะเหล็ก ทองแดง ทองเหลือง หรืออลูมิเนียมในการทอดอาหาร เพราะจะไปเร่งการเสื่อมสลายของน้ำมันทอดอาหาร
13.เก็บน้ำมันที่ผ่านการทอดอาหารไว้ในภาชนะสแตนเลส หรือแก้วปิดฝาสนิท เก็บในที่เย็นและไม่โดนแสงสว่าง
14.บริเวณทอดอาหารควรติดเครื่องดูดควัน และมีการระบายอากาศที่ดี
ข้อเสนอแนะในการเลือกซื้ออาหารทอดจากแหล่งต่าง ๆ
ควรหลีกเลี่ยงการซื้ออาหารทอดจากร้านค้าที่ใช้น้ำมันมีกลิ่นเหม็นหืน เหนียว สีดำคล้ำ ฟองมาก เหม็นไหม้ ขณะทอดมีควันขึ้นมาก แสดงว่าน้ำมันนั้นผ่านการใช้ซ้ำระยะเวลานาน ทำให้น้ำมันเกิดควันที่อุณหภูมิต่ำลง อาหารจะอมน้ำมัน และหลังการบริโภคเกิดการระคายเคืองคอ
เรียบเรียงโดย คุณนันทกานต์ คติการ สำนักงานอนามัยสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครหาดใหญ่
Relate topics
- รณรงค์เลิกใช้โฟม
- รายการสงขลามหาชน ตัวอย่างอาหารของแม่ ตอน " บทบาทของพ่อ " อาหารของแม่ สร้างความอบอุ่นของครอบครัวกับมื้ออร่อยที่แม่บรรจงปรุงเพื่อลูก
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู( http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู(7 เม.ย 5…: http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- รายการอาหารของแม่ ตอน " อาหารคือภาคีและพื้นที่ " เปิดอร่อยด้วย ยำบัวบก สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาถิ่น อบต.ท่าข้าม ของป้ายุพา ผลชนะ