"ผู้บริโภคภาคใต้ย้ำชัด อยากเห็นงานคุ้มครองผู้บริโภคก้าวหน้า ต้องหนุนเครือข่าย"
เภสัชกรสมชาย ละอองพันธ์ กล่าวในช่วงกิจกรรมเสวนา เรื่อง บทบาทและการมีส่วนร่วมเครือข่ายต่องานคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องในงาน สคบ.สัญจร จังหวัดสงขลา ณ ห้องจุติ โรงแรมเจบี หาดใหญ่ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า
ที่ผ่านมาการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)มีข้อจำกัดในหลายด้าน เช่น กำลังคน การพัฒนาไปของปัญหาการเอาเปรียบผู้บริโภค งบประมาณ เป็นต้น ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับความคุ้มครองที่ดีพอ การจะก้าวผ่านขีดจำกัดไปได้จำเป็นต้องอาศัยการทำงานแบบเครือข่าย(Networking) คือ เน้นให้ภาคประชาชนที่เป็นผู้บริโภคมีศักยภาพ รวมกลุ่มกันทำงาน
ความขัดแย้งหรือรู้สึกไม่ทันใจที่ผ่านมาของการทำงานแก้ปัญหาผู้บริโภคส่งผลให้หน่วยงานมักจะโทษกันไปมา เช่น หน่วยงานรัฐก็มักจะโทษว่า เพราะผู้บริโภคไม่ตระหนักขาดความรู้ หรือ ผู้บริโภค หรือตัวแทนองค์กรภาคประชาชนจะกล่าวหาว่า เพราะหน่วยงานรัฐขาดความเอาใจใส่ต่อปัญหาของผู้บริโภค เป็นต้น หมดเวลาการกล่าวโทษกันไปมาระหว่างหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค สาเหตุของความขัดแย้งดังกล่าว เป็นความขัดแย้งทางความคิด แนวคิดที่แตกต่างของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค แต่สิ่งแรกที่ควรทำคือ ต้องให้เกียรติ ยอมรับในขีดจำกัดของกันและกัน ต้องพร้อมกับการเปลี่ยนและถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปการทำงานแล้ว
ในการพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภค สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(สจรส.มอ.)เรามีโครงการพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ ดำเนินงานปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว เนื้องานของโครงการประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การสร้างองค์ความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ การขับเคลื่อนสังคมและเครือข่าย ซึ่งทั้งสองขานี้ขาดจากกันไม่ได้
ในปี 2551 ที่ผ่านมาได้สำรวจสถานการณ์ผู้บริโภคของ 3 จังหวัด คือ สงขลา สตูลและสุราษฎร์ธานี พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าใจและมองเห็นว่า การคุ้มครองผู้บริโภคควรเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ในขณะที่มีผู้บริโภคเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่มองเห็นว่า ต้องเป็นหน้าที่ของผู้บริโภค อันจะเป็นกลไกที่สำคัญของการแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค นั่นแสดงว่า ทิฐิของผู้บริโภคเองก็มีลักษณะเป็นมิจฉาทิฐิ หรือ ขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพตนเอง เมื่อเวลาผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ การจัดการปัญหาพบว่า ร้อยละ 65 จะทิ้งหรือเฉยๆไม่ดำเนินการใดๆ สาเหตุเพราะ ไม่ทราบช่องทางร้องเรียน และร้องเรียนแล้วไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นมา นี่คือสถานการณ์ที่หน่วยงาน ผู้บริโภคต้องขบคิดให้มาก
งานวิจัยของคุณจุฑา สังขชาติ และคณะ,2548 เรื่อง การศึกษารูปแบบงานคุ้มครองผู้บริโภค กรณีศึกษา อาหารและยา ได้นำเสนอไว้น่าสนใจ 2 อย่าง คือ
1.ต้องปรับโครงสร้างของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัด ต้องเพิ่มสัดส่วนและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สื่อมวลชน ภาควิชาการ และ ในส่วนของผู้ประกอบการให้มากขึ้น เพื่อการเพิ่มมุมมองในอีกด้านของการทำงาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วม นอกจากนี้ต้อง จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนงานของจังหวัด ทำหน้าที่ประสานงบประมาณ บูรณาการคน เพราะสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับที่ผ่านมา คือ งบประมาณที่จัดสรรให้ อนุ สคบ.ของแต่ละจังหวัดมีจำนวนน้อยมากเมือเปรียบเทียบกับขนาดของเนื้องที่ต้องทำจริง
2.การจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค การทำในส่วนที่ 1 นั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องการปรับเปลี่ยนข้อกฎหมาย หรือระเบียบรัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ในเรื่องการจัดตั้งศูนย์ฯจะมีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะยืดหยุ่น ไม่ติดขัดกับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ศูนย์ฯดังกล่าว มีหน้าที่ 2 อย่าง คือ งานวิชาการ มาสนับสนุนการขับเคลื่อนสังคม
งานวิจัยดังกล่าวนำมาสู่การ จัดตั้งและเขียนโครงการพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ ในระยะเวลาต่อมา ขณะนี้เรามีงานเด่นที่ของนำเสนอ คือ
1.การพัฒนาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีรูปแบบองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่ดำเนินการ 3 พื้นที่ คือ เทศบาลตำบลปริก อบต.ท่าข้าม และ อบต.ควนรู
2.การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บไซต์ www.consumersouth.org ทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารและรับเรื่องร้องเรียน
3.การจัดทำระบบแผนที่คุ้มครองผู้บริโภค(consumer mapping) ช่วยให้เราสามารถมองเห็นว่ามีใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน มีแผนงานอะไรบ้าง เป็นต้น อันจะทำให้สามารถช่วยกันหนุนเสริมซึ่งกันและกัน
Relate topics
- เทป สงขลาโมเดล เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ลุงประสิทธิ เชิงแส
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรโอเดียน ประจำเดือนตุลาคม 58 ณ ห้างฯโอเดียน เมือวันเสาร์ที่ 3 ต.ค.58 ลูกค้าคึกคักทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
- สจรส.ม.อ.ร่วมงานสนับสนุนเทศกาลกินเจ หาดใหญ่ 2558 กินเจ ถูกปาก ถูกใจ ถูกอนามัย ไร้แอลกอฮอล์ โดยมีงานแถลงข่าว เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 24 ก.ย.58 ณ วัดถาวรวร
- คณะศึกษาดูงานจากเทศบาลตำบลกำแพงเพชร ณ ตลาดเกษตร ม.อ.
- อาจารย์มนทิรา คณะอุตสาหกรรมเกษตร ลงพื้นที่สวนกง เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกับชุมชนเพื่อเตรียมอบรมเรื่องมาตรฐานการผลิตอาหารทะเลแปรรูป