ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

จริง-ไม่จริง ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข

by twoseadj @August,09 2010 14.47 ( IP : 202...248 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

เมื่อมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขจะทำให้เกิดการฟ้องร้องแพทย์มากขึ้นมาก

ไม่จริงความจริงก็คือ พ.ร.บ.นี้ใช้หลักการเดียวกับมาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพซึ่งพิสูจน์มาเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วว่าสามารถลดการฟ้องร้องแพทย์และบุคคลากรการแพทย์ และช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียหาย เพียงแต่ว่ามาตรา 41 เยียวยาเฉพาะผู้เสียหายที่ใช้บัตรทองที่มีอยู่ประมาณ 47 ล้านคน ฉะนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงจะขยายการคุ้มครองเยียวยาไปให้ครบ 65 ล้านคนที่เหลือที่ใช้สิทธิประกันสังคม, สวัสดิการข้าราชการ และคนที่จ่ายค่ารักษาพยาบาด้วยตัวเอง

แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขจำนวนมากพึงพอใจกับขบวนการเยียวยาตามมาตรา 41 ที่ให้กับผู้ป่วยที่ใช้บัตรทอง

จริง หลังจากที่มาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพประกาศใช้มากว่า 6 ปี แพทย์ที่ทำการรักษาคนไข้บัตรทอง สามารถวางใจได้ว่า หากเกิดความผิดพลาดเสียหาย คนป่วยจะได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างทันท่วงที ในขณะที่ตัวแพทย์และบุคคลากรการแพทย์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในขบวนการหาคนผิดมาลงโทษ หรือเสี่ยงต่อการถูกสอบสวนดำเนินคดี แต่ที่ผ่านมา เป็นเฉพาะกรณีผู้ป่วยที่ใช้บัตรทองเท่านั้น หากเป็นผู้ป่วยที่อยู่นอกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังไม่มีกลไกเยียวยาใดๆอย่างเป็นระบบ

พ.ร.บ.นี้จะทำให้มีผู้ฉวยโอกาสมาขอเงินชดเชยเยียวยามากมาย ขณะที่สถานบริการสาธารณสุขต้องหาเงินมาเข้ากองทุน

ไม่จริง ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ผู้เสียหายต้องเอาชีวิตของตนเอง ความพิการ และการเป็นโรคที่ไม่ต้องการมาแลกกับเงินชดเชย การฉวยโอกาสนั้นเป็นไปไม่ได้ แม้ประสบการณ์ในประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ที่มีการนำ No Fault Liability law มาใช้ จะพบว่า มีผู้มาขอรับการเยียวยาชดใช้จริง แต่ก็เป็นกรณีที่มีความเสียหายจริงๆ การชดเชยเยียวยาจึงเป็นสิ่งที่เป็นธรรมต่อผู้เสียหาย โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องเอาที่ศาล ไม่สร้างความร้าวฉานในความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ส่วนประสบการณ์ของไทยเอง การใช้มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพพบว่า มีผู้ได้รับเยียวยาชดเชยเพียง ประมาณ 2,719 คน และกองทุนนี้นอกจากจะไม่ล้มละลายแล้วยังมีเงินเหลือสะสมมากกว่าที่คาดไว้

ผู้ป่วยที่เกิดความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ส่วนใหญ่ไม่ต้องการฟ้องแพทย์หากมีกระบวนการเยียวยาที่น่าพึงพอใจ

จริง กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า กระบวนการเยียวยาชดเชยต่อความเสียหายในการรับบริการทางการแพทย์สร้างความพีงพอใจให้แก่ผู้เสียหาย คือเหตุการณ์ที่ผู้เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกจำนวน 10 ราย ที่ต้องสูญเสียการมองเห็นจากการติดเชื้อในการรับบริการครั้งนั้น แต่เมื่อผู้เสียหายได้รับการเยียวยาทันท่วงที จึงไม่มีผู้เสียหายรายใดคิดที่จะฟ้องร้องแพทย์และโรงพยาบาล และท้ายที่สุดก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อแพทย์และโรงพยาบาลที่ทำการรักษา

กองทุนนี้สร้างความเป็นธรรมในสังคมให้มากขึ้น

จริงเพราะอุบัติการณ์ความผิดพลาดทางการแพทย์ เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ว่าเกิดขึ้นได้ แม้แพทย์จะพยายามรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถก็ตาม และเมื่อเกิดความเสียหาย ไม่ใช้วิธีเพ่งโทษ เพราะไม่ใช่ความตั้งใจของผู้รักษาที่จะทำให้เกิดความเสียหาย ที่ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายทุกคนก็ได้รับการเยียวยาด้วยการชดเชย เพราะกองทุนนี้จะดูแลประชาชนทั้ง 65 ล้านคน แต่หากไม่มีกองทุนจาก พ.ร.บ.นี้ จะมีคนกว่า 17 ล้านคนไม่ได้รับการดูแลเพราะไม่ได้อยู่ในระบบบัตรทอง

ไม่มีความจำเป็นที่จะออก พ.ร.บ.นี้ เพราะกฎหมายเดิมที่มีอยู่ก็เพียงพอที่จะให้ความเป็นธรรมต่อผู้ได้รับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์

ไม่จริง  การเสนอ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ นี้เกิดจากความล้มเหลวในระบบการให้ความเป็นธรรมในการให้บริการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีตามกฎหมายแพ่ง หรือการใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ผู้เสียหายต้องประสบกับอุปสรรคมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิสูจน์ความผิดพลาดในการบริการสาธารณสุข ทำให้คดีที่ผู้เสียหายฟ้องร้องในศาล แทบไม่เคยได้รับความเป็นธรรมเลย ถึงแม้ปัจจุบันจะมี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2550 ช่วยให้การฟ้องคดีได้ง่ายขึ้น เช่น ไม่ต้องใช้ทนาย ไม่ต้องจ่ายค่าวางศาล ผู้เสียหายไม่ต้องพิสูจน์เอง แต่ก็มีผลต่อความสัมพันธ์แพทย์กับผู้ป่วย

ดังที่กล่าวไปแล้ว ทั้งจากประสบการณ์ของไทยและต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า หากผู้เสียหายได้รับการเยียวยา จะทำให้การฟ้องร้องลดน้อยลง หาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขโดนคว่ำ วงการแพทย์และสาธารณสุขจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาฟ้องร้อง ที่สร้างความทุกข์ต่อผู้ปฏิบัติงาน แล้วยังมีการเรียกร้องมูลค่าเงินชดเชยที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ขณะที่ผู้ป่วยก็ต้องทนทุกข์ทั้งกายและใจ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ คือ การมีกลไกเยียวยาที่สร้างความเป็นธรรมให้กับทั้งสองฝ่าย มารองรับอย่างเป็นระบบ ตามหลักการที่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.

พ.ร.บ.นี้จะไปเบียดบังงบประมาณตามสถานพยาบาลทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานพยาบาลสำหรับประชาชน ทำให้ยาในโรงพยาบาลขาดแคลนหรือไม่มีคุณภาพ

ไม่จริง ความจริงคืองบประมาณกองทุนที่ได้มานั้น มาจากกองทุนในมาตรา 41 และเงินสมทบจากสถานพยาบาลเอกชนเป็นเบี้ยสมทบ เป็นหลักการเดียวกับการประกันความเสี่ยง ดีกว่าการจ่ายความเสียหายเป็นรายกรณี ส่วนโรงพยาบาลรัฐ กองทุนจะขอสมทบปีต่อปีจากรัฐบาล ดังนั้น โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะไม่ต้องเสียซ้ำเสียซ้อน

มีตัวแทน NGO มากกว่าตัวแทนแพทย์ในคณะกรรมการพิจารณาเยียวยาช่วยเหลือ

ไม่จริงในมาตรา 7 กำหนดว่ามีตัวแทนภาคประชาชนเพียง 3 คน กรรมการที่เหลือ ส่วนมากมีอาชีพเดิมและอาชีพปัจจุบันเป็นแพทย์ประมาณ 5 คน คือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ซึ่งเป็นแพทย์มาตลอด) อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสาธารณสุข (ซึ่งก็เป็นแพทย์) ตัวแทนสถานพยาบาล (ซึ่งน่าจะเป็นแพทย์ที่จะมาเป็นตัวแทน) จึงเห็นได้ว่าผู้มีความเชี่ยวชาญทางสาธารณสุขมีจำนวนมากกว่ากลุ่มประชาชนในทุกคณะกรรมการและอนุกรรมการ หากต้องการให้มีตัวแทนสภาวิชาชีพในคณะกรรมการก็สามารถเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงได้ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมธิการในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยไม่จำเป็นต้องล้ม พ.ร.บ.ทั้งฉบับ ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้

คนไข้ได้เงินสองต่อ โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าเกิดจากความเสียหายทางการแพทย์หรือเนื่องมาจากโรคที่เป็นอยู่

ไม่จริงคนไข้ที่จะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น ต้องเป็นคนไข้ที่ได้รับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์เท่านั้น การช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดความขัดแย้งโดยเร็วที่อาจนำไปสู่การฟ้องร้อง ซึ่งการชดเชยเพิ่มเติมจะมีได้ต่อเมื่อมีการพิจารณาเห็นถึงความเสียหายและความจำเป็นที่เกิดขึ้นเท่านั้น

ได้เงินแล้ว คนไข้ยังมีสิทธิฟ้องหมอได้อีก

จริงและไม่จริง

จริง ในประเด็นที่ว่าสิทธิการฟ้องร้องเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคนที่ไม่มีกฎหมายไหนรอนสิทธินี้ได้

ไม่จริงทางปฎิบัติในประเด็นที่ว่าผู้เสียหายน่าจะนำเรื่องไปสู่ศาลอีก ประการแรก มีโอกาสน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเพราะหลังจากรับเงินชดเชยจะต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 33 ประการที่สอง ในมาตรา 34 กำหนดไว้ว่า หากผู้เสียหายนำเรื่องไปฟ้องศาลก็ไม่สามารถกลับมารับการเยียวยาตาม พ.ร.บ.นี้อีก ซึ่งทำให้ผู้เสียหายต้องเลือกระหว่างกระบวนการเยียวยาที่รวดเร็ว ไม่มีค่าใช้จ่าย กับกระบวนการศาลที่อาจใช้เวลาหลายๆ ปี กับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

หมอที่ทำงานหนักเพื่อรักษาประชาชน ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก พ.ร.บ.นี้

ไม่จริง พ.ร.บ.นี้เป็นกฎหมายที่ไม่มีการหาคนผิด หรือ การกล่าวโทษ แต่เป็นพ.ร.บ.ที่ยอมรับว่า ความผิดพลาดทางการบริการทางการแพทย์เกิดขึ้นได้โดยไม่มีเจตนา แต่เมื่อมีความผิดพลาดก็ควรมีการเยียวยาต่อผู้เสียหายโดยให้รัฐกับสถานพยาบาลมาช่วยกันเฉลี่ยความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่อาจเกิดที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ แพทย์และบุคลากรที่ทำการรักษาไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหาย หรือต่อวิชาชีพ จึงสามารถดูแลคนไข้อื่นๆ ต่อไปอย่างเต็มความสามารถโดยไม่ต้องกังวลต่อกรณีฟ้องร้อง หรือกรณีหาเงินมาชดเชยต่อผู้เสียหาย

ที่สำคัญก็คือในมาตรา  45 มีการกำหนดให้อำนาจศาลพิจารณาละเว้นโทษให้แก่แพทย์หรือบุคคลากรการแพทย์หากมีการนำเรื่องไปฟ้องอาญา ซึ่งการละเว้นโทษขนาดนี้ ไม่ค่อยมีปรากฏในกฎหมายอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นการปกป้องและให้ประโยชน์แก่แพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเพื่อประชาชน

ผู้ร่วมร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นผู้ที่เคยฟ้องร้องหมอมาก่อน ฉะนั้น พ.ร.บ.นี้ทำเพื่อการฟ้องร้องหมอ
จริงและไม่จริง

จริงที่ผู้ร่วมร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ที่เป็นร่างของประชาชน ร่างโดยผู้ที่เคยฟ้องร้องหมอ แต่ร่าง พ.ร.บ.ของประชาชน ไม่ใช่ร่างหลักที่กำลังจะเข้าสู่สภา เพราะร่างกฎหมายที่กำลังจะเข้าเป็นร่างของ ครม. ที่ผ่านกฤษฏีกา ที่กลุ่มประชาชนได้ร่วมออกความเห็น พร้อมๆ กับตัวแทนแพทยสภา และตัวแทนองค์กรอื่นๆ

ไม่จริง ตรงที่ว่าที่บุคคลที่เคยฟ้องแพทย์มาร่าง พ.ร.บ.นี้เพื่อเพิ่มการฟ้องร้องแพทย์ ตรงกันข้าม การร่าง พ.ร.บ.นี้ ทำไปเพื่อลดการฟ้องร้องแพทย์และหาทางออกที่เป็นธรรมให้แก่ผู้เสียหาย โดยผ่านการศึกษาและวิจัย ทั้งประสบการณ์ในต่างประเทศและของไทย

ในอดีตขบวนการขึ้นสู่ศาลต่างๆ สร้างความทุกข์และมีค่าใช้จ่ายให้แก่แพทย์และผู้เสียหายอย่างมากมาย โดยแทบไม่มีใครได้ประโยชน์กับการฟ้องร้อง จึงเห็นว่า พ.ร.บ.นี้น่าจะเป็นกลไกแก้ไขปัญหานี้ได้ดีที่สุด

กองทุนนี้ท้ายที่สุดจะทำให้ประเทศล่มจมเพราะจะมีคนเรียกร้องค่าชดเชยจนไม่มีงบเพียงพอที่จะดูแลกองทุน

ไม่จริงการกำหนดให้มีการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการกองทุนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสีย ต้องกำหนดการจ่ายเงินให้เหมาะสมกับกองทุนที่มี เช่น การกำหนดเพดานการจ่ายชดเชยเยียวยาที่จะช่วยทำให้ควบคุมการใช้จ่ายของกองทุนได้ โดยมีกรณีประสบการณ์จาก ม.๔๑ ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่บริหารได้มีประสิทธิภาพ

สถานพยาบาลที่ดีมีคุณภาพไม่ควรต้องนำเงินไปช่วยสถานพยาบาลที่ด้อยคุณภาพที่มีความเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหาย

จริงและไม่จริง

จริงแต่หลักการการเฉลี่ยความเสี่ยงทำให้ทุกสถานพยาบาลมีความมั่นใจว่า หากมีความเสียหายที่เป็นเหตุสุดวิสัย ก็ยังมีกองทุนที่มาเยียวยาช่วยเหลือทันที โดยไม่ต้องควักเงินตนเองออกมาโดยไม่จำเป็น

ไม่จริงการจ่ายเงินสมทบของสถานพยาบาลคำนึงถึงความถี่หรือความรุนแรงของการเกิดความเสียหาย ดังนั้นหากเกิดความเสียหายน้อยก็จะถูกสมทบน้อยลง

แพทย์ พยาบาล และบุคลากรผู้ให้บริการสาธารณสุขอื่นๆ ก็ได้ประโยชน์โดยตรงจาก พ.ร.บ.นี้

จริงเนื่องจาก พ.ร.บ.นี้ชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้ใดก็ตามที่อยู่ในกระบวนการการให้บริการสาธารณสุข ซึ่งรวมทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากร ด้วย เช่น หากมีป่วยจากการติดเชื้อโรคเพราะให้การรักษาพยาบาลกับผู้ป่วย หรืออุบัติเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ก็สามารถเรียกร้องการเยียวยาจากกองทุนได้

แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะค่อยๆ ทยอยลาออกจากงานเพราะแรงกดดันของ พ.ร.บ.

ไม่จริง ผลของ พ.ร.บ.จะทำให้แพทย์และพยาบาลทำงานอย่างสบายใจขึ้น เพราะหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ผู้ป่วยได้รับการเยียวยาทันที ไม่มาร้องเรียนกดดันแพทย์อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เมื่อไม่จำเป็นต้องหาคนผิดหรือหาคนจ่ายค่าชดเชย จะทำให้แพทย์และคนไข้มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ไม่ต้องมาเผชิญหน้า หรือหนีหน้ากัน อย่างที่เคยเกิดขึ้น จะทำให้แพทย์และบุคลากรมีเกราะป้องกัน ในขณะที่ผู้ป่วยมีกองทุนรองรับบรรเทาความเดือดร้อน

แพทย์สภาจะหมดความหมาย

จริงและไม่จริง

จริงในประเด็นการรับเรื่องร้องเรียน เพราะประชาชนจะร้องเรียนกับแพทยสภาน้อยลง แต่ไม่ได้หมดความหมาย

ไม่จริง แพทยสภาจะไม่หมดความหมาย เพราะแพทยสภาคือสภาวิชาชีพ ที่มีหน้าที่หลักในการทำให้วิชาชีพมีจริยธรรม และควบคุมกำกับจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพ เหล่านี้ยังเป็นหน้าที่หลักของแพทยสภา และแพทยสภายังมีภารกิจอีกมาก เช่น ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาแพทย์เป็นต้น

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง