ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

อดีตรมว.สธ.หนุนร่างกม.คุ้มครองผู้เสียหายฯ แนะรบ.เดินหน้าลุย กล้าก้าวข้ามความเข้าใจคลาดเคลื่อน

by twoseadj @August,08 2010 11.46 ( IP : 202...248 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

หลังเกิดปัญหาตัวแทนจาก 3 องค์การแพทย์ ได้แก่ สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) แพทยสภา และแพทยสมาคม ขอถอนตัวจากการเป็นกรรมการในคณะกรรมการหาทางออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...หรือกรรมการ 3 ฝ่าย และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มอบหมายให้ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. เป็นประธานเรียกประชุมร่วม 2 ฝ่าย ระหว่างเครือข่ายผู้ป่วย และฝ่ายแพทย์วิชาชีพ เพื่อหารือเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการเสริมสร้างสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุขอีกครั้งนั้น


เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 สิงหาคม นพ.ไพจิตร์ได้เรียกประชุมร่วม 2 ฝ่าย ที่ สธ. เพื่อหามติร่วมในเรื่องสัดส่วนของคณะกรรมการ พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับทางออกต่อปัญหาร่าง พ.ร.บ. โดยผู้ที่เข้าร่วมแบ่งเป็นภาคประชาชน อาทิ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายจากบริการทางการแพทย์ และนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ขณะที่ฝ่ายแพทย์วิชาชีพ มี รศ.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ สภาการพยาบาล ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ สภาเภสัชกรรม พ.ต.ประพนธ์ อยู่ปาน สภากายภาพบำบัด นายสมชัย เจิดเสริมอนันต์ สภาเทคนิคการแพทย์ ขณะที่ สธ.มี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายวิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ


สำหรับผู้ที่ไม่เข้าร่วมประชุมเป็นไปตามที่ก่อนหน้านี้ได้มีการถอนตัวคือ พญ.พจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท. พล.ต.ท.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และนายโชติศักดิ์ เจนพาณิชย์ แพทยสภา นอกจากนี้ ยังมีนายธรณินทร์ จรุงเกียรติ ทันตแพทยสภา นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ไม่เข้าร่วมเช่นกัน


ต่อมาเวลา 12.00 น. นพ.ไพจิตร์ให้สัมภาษณ์หลังการหารือว่า การประชุมครั้งนี้ได้ข้อสรุป 4 ประเด็น คือ 1.สธ.แสดงเจตจำนงชัดเจนจะเป็นเพียงผู้อำนวยการประชุมเท่านั้น ไม่มีส่วนในคณะกรรมการที่จะพิจารณาสัดส่วนใหม่ และไม่เสนอความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น 2.องค์ประกอบของคณะกรรมการจะเพิ่มขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกฝ่าย แต่จะเป็นฝ่ายใดบ้างต้องขอเวลาในการประสานงาน 3.การประชุมครั้งนี้จะไม่มีการลงคะแนนเสียง แต่จะเป็นเพียงการเสนอความคิดเห็นของทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร 4.เพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าจะปรับเปลี่ยนกลไกการประชุม โดยให้แต่ละฝ่ายหารือในกลุ่มตัวเองและเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ โดย สธ.จะอำนวยการจัดสถานที่และนัดเวลา ซึ่งกรอบระยะเวลาจะดำเนินการให้เร็วที่สุด


"โดยสรุปคณะกรรมการเสริมสร้างสมานฉันท์ยังคงมีอยู่ แต่จะขยายวงให้กว้างขึ้น เพราะมีการเสนอเพิ่มเติมว่า ควรมีโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลสังกัด กทม.เข้าร่วมด้วย พร้อมทั้งจะปรับรูปแบบการประชุม ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจะไม่เรียกว่าคณะกรรมการ 3 ฝ่ายอีก เนื่องจาก สธ.ไม่ได้เข้าร่วม แต่เป็นเพียงผู้อำนวยการจัดประชุมให้เท่านั้น"


ผู้สื่อข่าวถามว่า สัดส่วนกรรมการที่เป็นปัญหาจนทำให้ 3 องค์กรแพทย์ถอนตัว คือ เลขาธิการ สช.และ สวรส.ยังคงมีอยู่หรือไม่ นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า ในส่วนของ สธ.จะมีปลัด สธ.ทำหน้าที่เป็นประธานอำนวยการประชุมเท่านั้น ขณะที่ นพ.สุพรรณ และ นพ.วิศิษฎ์ จะช่วยให้ข้อมูล ไม่มีการเสนอความเห็นใดๆ สำหรับระยะเวลาในการเรียกประชุมที่ สธ.จะพยายามให้เร็วที่สุด แต่ยังไม่สามารถระบุวันเวลาที่ชัดเจนได้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการประชุมเวลา 10.30 น. พญ.พจนา และนพ.ศิริชัย ศิลปอาชา ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท. ได้เข้ายื่นหนังสือเสนอแนวทางแก้ไขต่อ นพ.ไพจิตร์ กลางที่ประชุม แต่ไม่ขอเข้าร่วมหารือใดๆ โดย นพ.ศิริชัยกล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือเสนอให้มีการจัดประชุมแยกเฉพาะของแต่ละฝ่าย ทั้งฝ่ายสมาพันธ์และฝ่ายเครือข่ายภาคประชาชน โดยยึดร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นหลัก และให้แต่ละฝ่ายเสนอแนวทางที่เห็นชอบก่อนที่จะประชุมร่วมกัน โดยเชิญรัฐมนตรีว่าการ สธ. และปลัด สธ.ร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวหากปลัด สธ.เห็นชอบ สมาพันธ์ก็พร้อมที่จะจัดประชุม โดยได้เตรียมเชิญตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมประชุมแล้ว


ด้าน พญ.พจนากล่าวว่า ทางออกที่ดีที่สุดคือ อยากให้ทำประชาพิจารณ์และอยากเรียกร้องให้แพทย์จากสังกัดต่างๆ รวมทั้งโรงเรียนแพทย์ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ด้วย


น.ส.สารีกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยทำเป็นหนังสือข้อเท็จจริง 20 ข้อดี ที่จะได้จาก พ.ร.บ.และออกเอกสาร จริงหรือไม่จริงกับ พ.ร.บ.คุ้มครองฯŽ เพื่อให้ประชาชนและแพทย์รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด นอกจากนี้ ได้เสนอ สธ.เพิ่มเติมว่า ควรทำหน้าที่เป็นกลางในการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงตามกฎหมาย ในการจัดเวทีระดมความเห็น โดยภาคประชาชนจะขอติดตามการทำงานเพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.เดินหน้า และหากพบว่าบุคคล หน่วยงาน สถาบันใดก็ตามที่มีความพยายามจะล้มกฎหมายฉบับนี้ กลุ่มประชาชนจะรวมตัวกันเพื่อขัดขวางการล้มกฎหมายฉบับนี้แน่นอน


ส่วนนางปรียานันท์กล่าวว่า เชื่อมั่นว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ และ นพ.ไพจิตร์จะร่วมกันผลักดันกฎหมายและไม่ทำให้ความขัดแย้งบานปลาย


ก่อนหน้านี้เวลา 09.00 น. เครือข่ายผู้ป่วยทั้งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ฯลฯ ได้รวมตัวกันบริเวณหน้าพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย เพื่อร่วมปฏิญาณประกาศเจตนารมณ์ผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย โดยยึดหลักให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและมีความเสียหาย มีระบบพัฒนาป้องกันความเสียหาย และผู้ให้บริการทำงานอย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวลเรื่องการฟ้องร้อง


นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ว่า จริงๆ เรื่องนี้หากเป็นตน จะตัดสินใจเดินหน้าทันที เพราะอะไรที่เป็นสิ่งที่ก่อประโยชน์ต่อประชาชนก็ควรทำเลย สำหรับคนที่ไม่เข้าใจเชื่อว่าสักวันต้องเข้าใจ เพียงแต่ต้องใช้เวลา สิ่งสำคัญควรให้เวลากับคนที่ได้รับความเสียหายแต่ไม่ได้รับการเยียวยา ต้องให้พวกเขาหมดทุกข์ 


"เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการ สธ. และรัฐบาลที่จะตัดสินใจ แต่ผมว่าบางสิ่งบางอย่างที่เป็นสิ่งดีๆ เราอาจต้องมีความกล้าที่จะข้ามให้พ้นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งร่างกฎหมายนี้ผ่านกระบวนการต่างๆ มามาก หลายคนอ่านแล้วคงชัดเจนว่า มันเป็นเรื่องทำให้เกิดความสุขทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ไม่มีข้อหนึ่งข้อใดที่จะเพิ่มความทุกข์ให้กับฝ่ายหนึ่งใด"

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง