ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

เข้าถึงยา แต่เข้าไม่ถึงหมอ

by twoseadj @August,07 2010 08.07 ( IP : 202...248 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

เขียนโดย  สุกัญญา หาญตระกูล ร้อยแปดวิถีทัศน์  นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 16/10/52

นับว่าเป็นข่าวดีและความก้าวหน้าของกระทรวง สาธารณสุข ที่จะบรรจุยาจิตเวช 2 รายการเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ ยาเซอร์ทราไลน์ (Sertraline) รักษาโรคซึมเศร้า (Depressive Disorder) และยาริสเพอริโดน (Risperidone) รักษาโรคจิตเภท (Schizophrenia)

ยาจิตเวชทั้งสองรายการราคาแพง แต่ด้วยว่าเป็นยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว เราสามารถซื้อวัตถุดิบมาผลิตเองได้ หากขึ้นทะเบียนยาและบรรจุในบัญชียาหลัก การผลิตเองจะทำให้ราคายาถูกลงมาก แน่นอนว่า ผู้ป่วยโรคจิตเวชที่ใช้ยาสองรายการนี้อยู่แล้วย่อมจะได้ใช้ยาสองรายการนี้ ต่อไป โดยมีภาระค่าใช้จ่ายน้อยลงทั้งในระยะสั้นระยะยาว ราคายาที่ถูกลงเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะโรคจิตเวชเป็นโรคที่ต้องใช้เวลารักษานาน อาจจะตลอดชีวิตเลยก็ได้ แม้โรคซึมเศร้ารักษาหายได้ก็จริง แต่ก็ไม่ง่าย และถึงหายแล้วก็มีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก

อย่างไรก็ดี ยาจิตเวชไม่ใช่ยาซื้อกินเองได้เหมือนยาแก้ปวดหัว หรือยาแก้ท้องเสียท้องร่วง ยาจิตเวชทั้งสองรายการเป็นยาที่ต้องให้แพทย์จิตเวช (ขอเน้นว่าเป็นแพทย์จิตเวช) เป็นผู้สั่งและควบคุมดูแลการใช้ยา (ขอเน้น การควบคุมดูแล) ผู้ป่วยจึงจะใช้ยาอย่างได้ผลคุ้มค่าปลอดภัยจากผลข้างเคียงน้อยที่สุด ดังนั้น ราคายาที่ถูกลงไม่ได้หมายความว่าจะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาได้อย่างปลอดภัย และเสมอภาคกันในหมู่ประชากรที่ป่วยหรือมีแนวโน้มอยู่แล้วว่าจะป่วยด้วยโรค จิตเวชสองประเภทดังกล่าว ปัญหาดั้งเดิมยังอยู่ที่การได้เข้าถึงแพทย์จิตเวช และได้รับการรักษาบำบัดแต่ต้นมืออย่างต่อเนื่อง

จากการประเมินของกระทรวงสาธารณสุขเองได้ตัวเลข คร่าวๆ ว่า ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ คนไทยป่วยด้วยโรคจิตเวชที่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาบำบัดมีเพียงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือ 80 เปอร์เซ็นต์เข้าไม่ถึงการรักษาด้วยสาเหตุต่างๆ กัน อาทิเช่น ความไม่รู้ว่าป่วยเป็นโรคจิตเวช ซึ่งประเภทนี้มีมาก การขาดแคลนบริการจิตเวชอย่างหนัก (อัตราแพทย์จิตเวชต่อจำนวนประชากรเมื่อ พ.ศ. 2550 คือ 1 คนต่อประชากรประมาณหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นกว่าคน) การกระจายตัวของแพทย์จิตเวชไม่เท่าเทียมกัน มากกว่าครึ่งอยู่ในเมืองหลวง (ดูตารางประกอบ) อีกทั้งบริการจิตเวชในโรงพยาบาลเอกชนมีราคาแพงและหลายแห่งไม่รับทั้งบัตร ประกันสังคมหรือบัตรทองประกันสุขภาพถ้วนหน้าใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยเหตุต่างๆ เหล่านี้ ผู้ป่วย (หรือผู้ไม่รู้ตัวว่าป่วย) ส่วนใหญ่จึงอยู่ไปโดยไม่ได้รับการบำบัดจนกว่าอาการจะกำเริบ ซึ่งเมื่อเป็นหนักเข้ามากๆ ก็ใช่ว่าจะเข้าโรงพยาบาลได้เหมือนคนไข้ป่วยหนักด้วยโรคอายุรกรรมอื่นๆ ซึ่งมีแผนกฉุกเฉินอยู่ทั่วไปทุกโรงพยาบาล (มีงานวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า นโยบาย 30 บาททุกโรค ได้ส่งผลให้แม้แต่สถานพยาบาลจิตเวชเฉพาะทางในภาคเหนือรับแต่ผู้ป่วยใหม่ รับผู้ป่วยเรื้อรังน้อยลงหรือไม่รับเลยรวมทั้งสถานพยาบาลจิตเวชเฉพาะทางปรับ ตัวลดจำนวนวันนอนของผู้ป่วยในสถานพยาบาลลง) บ้างก็จึงมีอาการกำเริบรุนแรงจนไม่อาจรักษาให้หายขาด อาจคิดและฆ่าตัวตาย อาจกระทำผู้อื่นด้วยความรุนแรง หรือเป็นผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง เกิดเป็นปัญหาในครอบครัวและต่อผู้อื่นในชุมชนด้วยในที่สุด

นอกจากการขาดแคลนบริการจิตเวชจะเป็นปัญหาโดยรวม แต่ในพื้นที่บางแห่งมีผลกระทบสูงกว่า อาทิเช่น นอกกรุงเทพฯ หรือในบางกลุ่มวิชาชีพ บางกลุ่มชาติพันธุ์ในบางพื้นที่ มีตัวบ่งชี้ว่ามีความชุกของโรคจิตเวชสูง เป็นต้นว่าภาคเหนือ โดยพิจารณาจากอัตราการเพิ่มของเกษตรกรภาคเหนือฆ่าตัวตาย สถิติคนภาคเหนือที่ฆ่าตัวตายสูงกว่าทุกภาค จำนวนชาวไทยภูเขาบางกลุ่มมีปัญหาทางจิตประสาท เพราะการสูญเสียช่องทางทำมาหากินซ้ำซากที่เชียงรายและที่เชียงใหม่ ตัวเลขของกรมสุขภาพจิตก็บ่งชัดเจนว่าแพทย์และพยาบาลจิตเวชในภาคเหนือมีน้อย อย่างน่าตกใจ (ดูตารางประกอบ) สำหรับประชากรกลุ่มนี้ ราคายาที่ถูกลงอาจไม่ได้หมายถึงการเข้าถึงยาแต่อย่างใด พอดีพอร้าย ราคายาที่ถูกลงอาจหมายถึงการได้เข้าถึงและใช้ยาอย่างไม่ปลอดภัยด้วยซ้ำไป เพราะอาจซื้อง่ายขายคล่องขึ้นและใช้โดยไม่อยู่ในความดูแลของแพทย์จิตเวช

โดยที่บริการแพทย์พยาบาลจิตเวชยังขาดแคลน และส่วนใหญ่ของคนไทยผู้ป่วยจิตเวชต้องพึ่งพาอาศัยครอบครัว ญาติ และเพื่อน งานเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อผู้ป่วยจิตเวช จึงเพิ่มการให้ความรู้เบื้องต้นแก่ประชาชนทั่วไปทุกคนเกี่ยวกับโรคจิตเวช แม้ว่าจะไม่ใช่โรคที่ถึงตายได้ในเวลารวดเร็ว แต่ทว่าทำลายคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวอย่างสาหัสสากรรจ์ ไม่นับการสูญเสียทางเศรษฐกิจอีกมหาศาล โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าซึ่งหากได้รับการรักษาบำบัดยิ่งเร็วเท่าไร ยิ่งมีโอกาสดีขึ้นและหายได้แทนที่จะเรื้อรังรักษายาก

งานเร่งด่วนอันดับถัดมา คือ การเสริมสร้างเครือข่ายครอบครัวและผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชซึ่งขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีการริเริ่มและขยายกลุ่มในระดับตำบลหมู่บ้าน ระดับ อสม. อยู่แล้ว เพื่อเป็นการเฝ้ามองและให้บริการเบื้องต้น นับว่าเป็นการดียิ่ง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น วัด และภาคเอกชนทั่วไปน่าจะให้ความสนใจสร้างความเข้าใจร่วมมือส่งเสริมให้เข้ม แข็งยิ่งขึ้น

ในโอกาสที่ยาจิตเวชสองรายการนี้ราคาถูกลง ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาสเข้าถึงการรักษาบำบัดโรคจิตเวชควรได้รับความ รู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับยาสองรายการนี้ และได้ข้อมูลความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคจิตเวชไปด้วยพร้อมๆ กัน งานการศึกษา และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ควรจะได้เข้ามาช่วยงานสาธารณสุข ด้านนี้กันคนละไม้คนละมือ ทุกวันนี้ หากบุคลากรของกระทรวงทบวงหน่วยงานบริการสาธารณะด้านอื่นๆ อาทิเช่น การศึกษา ที่อยู่อาศัย คมนาคมฯ จะพยายามสร้าง "ความเป็นธรรม" และสร้างธรรมาภิบาลในวิชาชีพอย่างแข็งขันต่อเนื่องแบบเดียวกับบุคลากรแพทย์ โดยเฉพาะกลุ่ม "แพทย์ชนบท" ในการตรวจสอบการจัดซื้อต่างๆ ตั้งแต่เวชภัณฑ์ ยา ครุภัณฑ์ ซึ่งเคยทำมาก่อนจะมีปฏิบัติการโครงการไทยเข้มแข็ง ดังที่เป็นข่าวในระยะนี้ สังคมไทยก็จะดีขึ้นเป็นแน่แท้

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง