ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

ธุรกิจขายตรง ขยายพันธุ์พุ่งเป้าสู่วัยรุ่น

by twoseadj @August,05 2010 08.54 ( IP : 202...248 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 500x342 pixel , 55,497 bytes.

ธุรกิจแบบเครือข่าย หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันดีในชื่อ ธุรกิจขายตรง เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูงมากในปัจจุบัน เริ่มแพร่หลายเข้ามาสู่ประเทศไทยจากบริษัทต่างประเทศ จนบัดนี้ก็มีบริษัทของคนไทยผุดขึ้นมาแล้ว ขายตั้งแต่เครื่องกรองน้ำไปจนถึงกะปิน้ำปลา###


      เรื่องราวของธุรกิจประเภทนี้ถูกโจษขานกันมาก ในฐานะธุรกิจที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ส่วนเหรียญอีกด้านของมันที่คนถึงกับร้องยี้ คือในฐานะธุรกิจที่สร้างความบาดหมางกับคนรอบข้าง
      เพราะเป็นธุรกิจประเภทต้องหาดาวน์ไลน์ (สมาชิกในสังกัด) แล้วหารายได้จากดาวน์ไลน์กันเป็นทอดๆ สร้างฐานกำลังกันเป็นรูปพิระมิด ผู้ที่อยู่บนสุดของพิระมิด คือคนที่จะมีรายได้มากที่สุด เป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ หากไม่คิดจะพยายามก็จะอยู่ในโลกธุรกิจแบบเครือข่ายไม่ได้
      เพราะฉะนั้นคุณต้องพยายาม ต้องมุ่งมั่น มีเป้าหมาย แล้วจะทำสำเร็จ
      แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หลายๆ คนก็ล้มลุกคลุกคลาน บ้างก็เสียเพื่อน เสียแฟน เหตุเพราะคุณจะไปหาดาวน์ไลน์มาจากไหน ถ้าไม่ใช่คนรอบตัวของคุณ แล้วถ้าคนเหล่านั้นไม่เล่นด้วยล่ะ ปัญหาก็เกิด
      ตราบใดที่คนยังกระหายในความสำเร็จ ธุรกิจประเภทนี้ก็จะยังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ที่น่าสนใจในปรากฏการณ์นี้ก็คือ นอกจากคนวัยทำงานแล้ว ธุรกิจกลุ่มนี้ได้ขยายฐานให้กว้างขึ้น มุ่งหน้าเข้าหานักธุรกิจในวัยเรียนกันแล้ว
      ปัจจุบัน ธุรกิจขายตรงได้หันเหมุ่งเป้าจากคนวัยทำงานสู่เด็กวัยรุ่นนักศึกษารั้วมหาวิทยาลัยอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
      แล้วนิสิตนักศึกษาในวัยเรียนเหล่านี้ เขาคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง ต่อการหยิบยื่นความสำเร็จมาให้ถึงในรั้วมหาวิทยาลัย
      เพื่อนหนูเปลี่ยนไป
      ธุรกิจแบบเครือข่ายนี้ เขาจะสร้างชุดความคิดขึ้นมาเพื่อให้คนที่ทำรู้สึกว่าตนเองจะต้องมุ่งไปสู่ความสำเร็จให้ได้ ทุกๆ คนมีโอกาสด้วยกันทั้งนั้น แม้ว่าอาจจะต้องตากหน้าโทรศัพท์หาเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันนาน เพื่อถามว่า เธอจะมาเป็นดาวน์ไลน์ฉันไหม เขาก็ต้องทำ ซึ่งสิ่งนี้ย่อมก่อให้เกิดความรู้สึกตะขิดตะขวงใจกับคนที่ถูกชักชวนอย่างแน่นอน และ ปารีณา ลักษิตานนท์ หรือ แยม นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็คือหนึ่งในคนเหล่านั้น
      "เคยมีเพื่อนสนิทมาขายตรงค่ะ เป็นเพื่อนที่ราชบุรี ซึ่งไม่ได้เจอกันมา 2 ปีแล้ว วันหนึ่งเขาก็โทร.มาบอกว่าอยากเจอ เขามาทำงานในกรุงเทพฯ แล้ว พอเราถามว่าเขาทำงานอะไรเขาก็ไม่บอก เสร็จแล้วเขาก็ทำเริ่มชวนเข้าไปฟัง ซึ่งเราก็เอะใจนิดหน่อยว่าจะชวนไปฟังอะไร พอเราถามว่าขายตรงหรือเปล่าเขาก็อึกอักไป จนเราต้องบอกไปว่าเราไม่ชอบการขายตรงจริงๆ"
      ส่วนสาเหตุที่แยมรู้สึกไม่ดีกับธุรกิจนี้ก็เพราะเป็นงานที่ดูไม่จริงใจ
        "มันดูไม่จริงใจค่ะ ยิ่งเป็นเพื่อนสนิทที่ไม่ได้คุยกันนานมากแล้วยิ่งเสียความรู้สึก เหมือนจะชวนเราไปเข้าโรงงานหรืออะไรไม่รู้ ไม่ค่อยชอบ รู้สึกเหมือนเป็นการขายวิญญาณ เพราะคนที่มาคุยกับเราแต่ละคนเรามองเห็นว่านี่ไม่ใช่เพื่อนที่รู้จักกันมา รู้สึกเหมือนเป็นหุ่นเชิด หรือมีหน้ากากอะไรติดมาอยู่ ด้วยวิธีพูดและน้ำเสียงที่มันแปลกไปหมด"
      ส่วนประเด็นของรายได้ต่อเดือนที่สูงล่อตาล่อใจ นิสิตสาวรายนี้เผยว่า ตัวเธอเองก็มีรายได้ประจำจากการสอนพิเศษอยู่แล้วและสบายใจกับงานนี้มากกว่า
      "เราเองไม่ได้ต้องการเงินเยอะขนาดนั้นค่ะ ทุกๆ วันนี้เท่าที่หาได้ก็กินอิ่มอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีทางเลือกจริงๆ การขายตรงก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่มีความหวังดี

      "เราก็เคยลองถามเพื่อนนะว่าแกได้เงินก้อนจริงๆ จากการทำธุรกิจขายตรงแล้วเหรอ เขาก็ตอบเราไม่ได้ แต่จริงๆ ก็เข้าใจเพราะที่บ้านเขาลำบากอยู่เหมือนกัน คือถ้าทำแล้วมันช่วยให้อะไรดีขึ้นเราก็ยอมรับได้"
      ผมไม่เคลิ้มไปกับเขา
      นักธุรกิจตัวน้อยหลายคน ก็ใช้วิธีการชักชวนคนในคณะเดียวกันไปร่วมเป็นดาวน์ไลน์ ซึ่งวิธีการก็จะเป็นไปในรูปแบบเดียวกันคือ เริ่มจากการตีสนิท พูดจาชมเชย ทำให้รู้สึกดี และพูดให้ผู้ฟังเกิดความมั่นใจว่างานนี้คุณก็สามารถทำได้ แต่ก่อนจะเข้าถึงตัวผู้ฟังได้นั้น เขาก็ต้องสร้างสถานการณ์ขึ้นมาอย่างหนึ่งก่อนเพื่อให้ได้มีเวลาคุยกับคนที่ต้องการชักชวน เช่น เรียกให้มาที่ห้องโดยไม่บอกก่อนล่วงหน้าว่าจะให้ไปทำอะไร หรือบางครั้งถึงกับบอกไปว่ามีเรื่องต้องขอความช่วยเหลือ
      เสฎฐวุฒิ รัตนเดชาพิทักษ์ หรือ ไบรท์ บัณฑิตหมาดๆ จากรั้วคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล่าให้เราฟังว่า เขาเคยถูกชักชวนจากเพื่อนๆ ในคณะให้ไปทำธุรกิจประเภทนี้เหมือนกัน แต่เขาไม่สนใจ เพราะมันมักจะเริ่มต้นด้วยการชักชวนอย่างไม่บอกจุดประสงค์ก่อน ซึ่งเขาคิดว่าทำไม่ถูก
      “เราเป็นพวกหัวแข็งไง ยิ่งรู้ว่าโดนหลอกมาฟังนี่ จะยิ่งต่อต้านเลย คิดว่าโง่นักเหรอ นี่เพื่อนกันนะ เราก็สะเทือนใจ ไม่ควรจะทำกันอย่างนี้ ถ้าเกิดบอกตรงๆ เลยว่า เออจะขายนะ จะชวนไปขายนะ มันก็ยังดีกว่าชวนไปนู่นนี่แล้วหลอกไปนั่งฟัง คือแค่เริ่มต้นก็หลอกกันแล้ว ทำไปมันจะรุ่งเหรอ เพื่อนกลุ่มที่ขายเขาก็จะรู้กันเลยว่าอย่ามายุ่งกับคนนี้ ไม่อย่างนั้นจะโดนด่ากลับมา”
      จากประสบการณ์ที่เคยถูกชักชวนมาหลายครั้ง ทำให้ไบรท์รู้เลยว่าคนที่เข้ามามักจะมีลักษณะอย่างหนึ่งร่วมกันคือ ยกยอปอปั้นให้รู้สึกเคลิ้มจนตัวลอย แล้วทำให้เราเกิดความอยากได้อยากมี ถ้าเขาเห็นว่าเพื่อนหรือคนรู้จักเริ่มเข้ามาแปลกๆ เขาก็จะถอยหนีทันที
      “คือเราโดนแบบนี้บ่อย 3-4 ครั้งแล้ว ลักษณะการพูดอย่างเช่น พี่ให้น้องฟังเฉยๆ นะครับ ว่างหรือเปล่า กลัวรบกวน พอมาแนวนี้เราก็เริ่มผิดสังเกตแล้ว ถ้าเราเจอพวกขายไม่เก่งเขาก็จะเขินๆ เกร็งๆ เดาทางได้ เหมือนเขาไปเข้าโรงเรียนฝึกมา แล้วออกมาพูดเหมือนกันหมดเลย ถ้าเป็นพวกโปรๆ หน่อย เขาก็จะพยายามหาว่าเขามีอะไรที่เหมือนเราบ้าง ความสนใจอะไรเป็นแบบเดียวกันกับเราบ้าง แล้วก็ตีซี้ คือยังไม่ขายหรอก เขาจะพยายามฟังว่าเราพูดอะไรบ้าง แล้วก็ยกยอเรา โอ๋เราหน่อย”
      เมื่อถามเขาว่า คิดว่าทำไมวัยรุ่นถึงได้อยู่ดีๆ ก็มาทำงานแบบนี้ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนจะเป็นคนวัยทำงาน ไบรท์ก็ให้ความเห็นที่น่าสนใจไม่น้อยว่า

      “ก็เหมือนว่าพอเราใกล้จะจบ เราก็จะรู้สึกหดหู่ แบบว่าจะออกไปทำงานอะไรดีนะ เขาก็จะเข้ามาเหมือนกับขายประกันนั่นแหละ เช่นว่างานพวกนี้มันสามารถทำได้ตลอดเลยนะ มีงานประจำก็ทำไปด้วยได้นะ เรียนก็ทำไปด้วยได้ ไม่กระทบอะไรหรอก คนมันก็อยากหาเงิน อยากดูแลตัวเองได้ โดนเขายอนิดหน่อยก็ไปแล้ว มันก็แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละคน คือถ้าเขาเข้ามาในช่วงเวลาที่เราอ่อนแอ แล้วมาทำให้เรามีคุณค่า ใครก็ชอบทั้งนั้น”
      เคยลอง แต่มันไม่ใช่แนว
      แน่นอนว่าในบรรดานักธุรกิจเหล่านี้ก็ต้องมีบ้างที่ล้มเลิกไป ซึ่งมักจะมาจากปัญหาคนรอบตัวเริ่มตีจาก ปราศจากเงินต่อทุน แต่บางคนก็ล้มเลิกเพราะรู้สึกว่าธุรกิจขายตรงไม่เหมาะกับตัวเอง
      น้องเก๋ (ขอสงวนชื่อจริง) เป็นคนหนึ่งที่เคยทำธุรกิจขายตรงมาก่อน ครอบครัวของเธอก็ได้ร่วมทำธุรกิจนี้ด้วย แต่ทว่าวันนี้เธอเลิกทำโดยสิ้นเชิงแล้ว
      “คือเราไม่ชอบเนื้องาน ปลายทางเป็นอะไรที่ดีนะ แต่เนื้องานมันต้องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ซึ่งเราไม่ค่อยชอบ ตอนแรกรู้สึกว่าอดทนทำไปก่อน จนถึงจุดที่มันสำเร็จก็น่าจะโอเคนะ แต่ไปๆ มาๆ รู้สึกว่าเราไม่ต้องการชีวิตแบบนี้ คือมันต้องทำเยอะเพื่อกว่าจะไปถึงจุดนั้น บางทีทำแล้วก็โดนล้อบ้าง โดนแซวบ้าง ซึ่งเราเองไม่ได้ภูมิใจกับการทำงานตรงนี้ แต่บางคนเขาอาจจะไม่ได้แคร์ตรงนี้ หรือไม่เขาก็อาจจะมีวิธีพูดหรือการเข้าหาคนอื่นที่มันดีกว่าเรา เราเลยรู้สึกว่าเลิกดีกว่า”
      ซึ่งสิ่งที่กลัวนั้น มันก็ส่งผลกระทบโดยตรงกับเธอจริงๆ เพราะเมื่อทำได้ไม่นานเธอก็รู้สึกว่าเพื่อนของเธอน้อยลงไปอย่างถนัดตา
      “บางครั้งก็เสียเพื่อนด้วย เหมือนเขาไม่ค่อยอยากรับโทรศัพท์เราอีก แต่ทั้งหมดนี้มันก็อยู่ที่ว่าใครจะมีวิธีการยังไง ซึ่งตอนนี้ไม่คิดจะกลับไปทำแล้ว แต่เราก็ไม่ได้อคติกับคนที่ทำ เราก็ชื่นชมคนที่ทำสำเร็จนะ เพราะคนที่ทำได้แสดงว่าเขาอยากทำอะไรเพื่อใครจริงๆ เช่น ทำเพื่อคนรัก พ่อ แม่ หรือแม้แต่ตัวเอง ตอนเราเข้าไปฟัง เราก็คิดถึงพ่อคิดถึงแม่ว่าเราจะดูแลท่านให้อยู่สบายได้จริงๆ คือคนที่ทำเขาต้องมีเป้าหมายบางอย่าง”
      ปัจจุบันเก๋ เบนเข็มจะไปทำงานด้านวิทยุการบิน และเลิกขายตรงเพื่อเอาเวลามาศึกษาหาความรู้ เพื่อจะนำมันไปใช้ในการสอบ
      “เราสนใจเรื่องนี้มากกว่า มันน่าสนใจ ท้าทาย และเลี้ยงตัวเองได้ ที่สำคัญเราภูมิใจมากกว่า สำหรับการขายตรงนั้น เราไม่ชอบเนื้องานของมัน แต่ถ้ามองไปที่ปลายทางหรือความสำเร็จ ใครๆ ก็คงอยากทำ”
      ความสำเร็จก็มีอยู่จริง
      แม้ว่าธุรกิจประเภทนี้จะถูกต่อต้านจากคนที่ไม่ได้ทำขนาดไหน จะถูกพ่วงมาด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าทำอย่างไรก็ไม่มีวันสำเร็จมากมายเพียงใด แต่ตัวอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ก็มี นั่นก็คือ นรินทร์ ลีลาภรณ์ หรือ ทีม
      ทีมเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการทำสิ่งที่เขาเรียกว่าธุรกิจเครือข่าย วันนี้ เขาบอกว่า ด้วยการทำธุรกิจของเขา ทำให้เขาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างเต็มภาคภูมิ
      “ผมทำธุรกิจเครือข่ายอยู่ครับ บริษัทเป็นเครือข่ายของคนไทย เปิดมา 5 ปีแล้ว มีทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค มีทั้งอาหารเสริม เครื่องสำอาง แชมพู สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ ผมเพิ่งทำมาไม่ถึง 2 ปี ตอนนี้มีเครือข่ายอยู่ประมาณสามถึงสี่พันคน ส่วนมากเป็นนักศึกษาเกือบทั้งหมด ตอนนี้ทำมาเกือบจะครบ 2 ปีแล้ว มีรายได้ 280,000 บาทต่อเดือนครับ”
      จำนวน 3,000 - 4,000 คน ไม่ใช่ตัวเลขน้อยๆ ที่สามารถมองข้ามไปได้ ทีมบอกว่า
      “ในปัจจุบัน ถึงไม่ได้เข้ามาทำธุรกิจเครือข่าย เราก็ต้องเป็นเครือข่ายของใครสักคนหนึ่งอยู่ดี ที่ผมทำอยู่เป็นเครือข่ายผู้บริโภค 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้นทุนต่ำและประสบความสำเร็จได้เร็ว ทำให้นักศึกษาเข้ามาทำได้ เพราะการเข้าระบบเรียนรู้นั้นฟรีทั้งหมด ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย และถ้าเราทำเป็นก็จะใช้เวลาไม่มาก มีคนที่อยู่ในวัยรุ่น มาสมัครกับผมเยอะเหมือนกัน ซึ่งมันเป็นเรื่องดี เพราะเราสามารถตอบแทนพระคุณพ่อแม่ได้ทันทีไม่ต้องรอทำงานประจำ”
      แต่กระนั้น ก็เป็นธรรมดาที่ในเกมจะมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ ซึ่งน้อยคนนักที่จะสามารถไปยืนในจุดเดียวกับที่ทีมยืนอยู่ แต่ทีมยืนยันกับเราอย่างหนักแน่นว่า การทำธุรกิจเครือข่ายนั้นไม่เคยมีใครล้มเหลว
      “ในการทำธุรกิจให้สำเร็จนั้นต้องมีการเรียนรู้ เพราะงานเครือข่ายนั้นมันเป็นงานนอกระบบของค่านิยมในประเทศไทย ในมหาวิทยาลัยไม่มีคณะธุรกิจเครือข่ายเปิดสอน บางคนมาทำโดยใช้วิธีคิดแบบเดิม การทำงานเลยยาก ซึ่งนั่นเกิดจากการไม่ยอมเรียนรู้ แต่เท่าที่เจอมาผมยังไม่เห็นใครที่ล้มเหลวจริงๆ เพราะผมเห็นแต่คนที่ท้อและล้มเลิกไปก่อนที่จะสำเร็จ”
      เหตุใดจึงมาเยือนวัยรุ่น
      แม้เราจะยกตัวอย่างหลายๆ กรณีมาให้ดูว่าเด็กวัยรุ่นตอนนี้เขามีความคิดเห็น หรือเคยสัมผัสกับธุรกิจแบบเครือข่ายนี้กันมาอย่างไรบ้าง แต่มันก็เป็นเรื่องยากทีเดียวที่จะเฟ้นหาปัจจัยทุกตัวมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น กระนั้นเอง หากเราลองไล่เรียงดูอย่างคร่าวๆ ก็จะพบว่า เหตุใดกลุ่มนักศึกษาจึงเป็นกลุ่มที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจประเภทนี้
      สิ่งแรกที่คงปฏิเสธกันไม่ได้ก็คือ ค่านิยมเรื่องการประสบความสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันถูกนิยามด้วยหน้าที่การงานและฐานะทางการเงิน ยิ่งถ้าได้ชื่อว่าสามารถประสบความสำเร็จได้ตั้งแต่อายุยังน้อยด้วยแล้ว ความสำเร็จนั้นก็ยิ่งเป็นสิ่งสวยงามเกินธรรมดา ซึ่งธุรกิจแบบเครือข่ายก็เสนอมาว่าสามารถหยิบยื่นความสำเร็จให้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว อย่างคำเชิญชวนของบางบริษัทที่ว่า
      ‘2 ปี เพื่อเกษียณ 4 ปี เพื่อไลฟ์สไตล์’
      นอกจาก ‘ความสำเร็จ’ แล้ว มันยังมาควบคู่กับคำว่า ‘การหารายได้พิเศษ’ อันเป็นสิ่งที่นักศึกษามองว่าเป็นเรื่องดีที่จะหารายได้เพื่อเป็นทุนการศึกษาและใช้จ่ายโดยไม่ต้องรบกวนทางบ้าน ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจที่ชักพาเข้าสู่วงการ
      รวมถึงการเข้าสู่ธุรกิจเครือข่ายยุคนี้ก็ไม่ได้มีต้นทุนสูงเหมือนในอดีต ทำให้นักศึกษาสามารถเข้าเป็นสมาชิกได้ง่ายกว่าเดิม อย่างบางบริษัทซื้อสินค้าเพียง 900 บาท ก็กลายเป็นสมาชิกได้แล้ว และจากนั้นก็มีข้อตกลงว่าต้องซื้อสินค้าอย่างต่ำเดือนละ 900 บาท เพื่อรักษาสถานภาพสมาชิก
      และก็รู้ๆ กันอยู่ว่า กลุ่มวัยรุ่น ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ มีกำลังซื้อสูง หากเข้าถูกทาง จับตลาดถูกกลุ่ม ย่อมหมายถึงผลตอบแทนที่เป็นกอบเป็นกำ การเคลื่อนย้ายตัวเองเข้าหากลุ่มวัยรุ่นจึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจแบบเครือข่ายหมายตา
      ส่วนความเชื่อทำนองว่าเป็นเพราะนักศึกษาถูกชักจูงง่าย ตะล่อมง่ายกว่าผู้ใหญ่ มุมนี้คงสรุปฟันธงไม่ได้ แต่เป็นเรื่องความคิดเห็นส่วนตัวของแต่ละคนเสียมากกว่า

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง