ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

ป่วน!สมาพันธ์แพทย์รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ล้มโต๊ะ3ฝ่ายแก้ไขร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ชงประชาพิจารณ์

by twoseadj @August,04 2010 14.34 ( IP : 202...248 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ ฯยื่น จ.ม.ถึง"นายกฯอสิทธิ์"ถูก 2 หมอคนดังโจมตีใส่ร้าย  หลังออกมาคัดค้าน ประกาศล้มโต๊ะเจรจา 3 ฝ่ายไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมแก้ร่าง กม.คุ้มครองผู้เสียหายฯ นายกแพทยสมาคมไม่สน บอกความเห็นส่วนตัว ได้ชื่อฝ่าย กก.แพทย์แล้ว 6 คนเหลืออีก 2 ส่วน สธ.ส่งครบ 4 ฝ่าย ปชช. 8 คน มี"สารี อ๋องสมหวัง"นำทีม แพทยสภาเห็นด้วยตั้งคณะแก้ปัญหาร่วม แนะทำประชาพิจารณ์

สมาพันธ์แพทย์ร้องถูกใส่ร้าย

ภายหลังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นเจ้าภาพเปิดเวทีเจราหาข้อยุติของปัญหาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.ระหว่างแพทยสภา สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) กับเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ฯลฯ โดย นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. เป็นประธาน จนกระทั่งได้ข้อสรุปตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย เครือข่ายผู้ป่วยฯ ผู้ดูแลรักษาพยาบาล และฝ่ายรัฐ เพื่อทำหน้าที่หาข้อสรุปในประเด็นที่ควรแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนจะเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อประกอบการพิจารณานั้น

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษาสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ผ่านทาง นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษก ปชป. ร้องเรียนเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์และแพทย์    ภายหลังจากการประชุมรับฟังข้อเสนอแนะ เรื่องร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจากฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งมี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. เป็นประธาน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น แต่ปรากฏว่า นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้โจมตีใส่ร้ายกลุ่มที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านสื่อมวลชนทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและเกลียดชัง รวมทั้งทำให้เกิดความแตกแยกในเจตนารมณ์ที่จะมีการปรองดองหาข้อยุติและหาทางออกร่วมกัน

ล้มโต๊ะเจรจา3ฝ่ายไม่ส่งเข้าร่วม


ในฐานะตัวแทนสมาพันธ์ขอเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือใน 2 ประเด็น คือ

1.รัฐบาลต้องจัดให้มีนโยบายให้สำนักงานประกันสังคมและกรมบัญชีกลาง ในการอนุมัติเงินชดเชยให้กับผู้รับบริการทุกคน เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 41 รวมทั้งต้องขยายวงเงินอนุมัติจากรายละ 200,000 บาท เป็น 1 ล้านบาท

2.ต้องปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้บริการประชาชนได้ระดับชั้น 1 ไม่ใช่ชั้น 3 เหมือนที่ผ่านมา "  พญ.เชิดชูกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สมาพันธ์จะแต่งตั้งตัวแทนเข้ามาเป็นคณะทำงาน 3 ฝ่ายเพื่อแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่ พญ.เชิดชูกล่าวว่า จะไม่มีการตั้งคณะทำงานใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากเห็นว่าฝ่ายผู้สนับสนุนไม่มีความตั้งใจจริงในการหาทางออกในเรื่องดังกล่าว มีการโจมตีทำให้เกิดความเข้าใจผิดและแตกแยก ดังนั้น ทางสมาพันธ์จะไม่ขอร่วมเจรจาและหาทางออกในเรื่องนี้

แพทยสมาคมเมินความเห็นส่วนตัว

ด้าน พล.ต.ท.นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รายชื่อของคณะทำงานฝ่ายแพทย์ หรือผู้ที่ให้บริการรักษาพยาบาลนั้น อยู่ระหว่างรวบรวบรายชื่อ เพราะบางสภาวิชาชีพยังไม่พร้อม ซึ่งได้ส่งรายชื่อเบื้องต้นไปให้ทาง สธ.แล้ว ได้แก่ นพ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา พญ.พจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) นพ.ประเสริฐ สันยวิวัฒน์ เลขาธิการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ พญ.เชิดชูประกาศไม่เข้าร่วมกับคณะทำงาน 3 ฝ่ายเพื่อหาทางออกต่อร่าง พ.ร.บ.ฯดังกล่าวนั้น พล.ต.ท.นพ.จงเจตน์กล่าวว่า เป็นความเห็นส่วนบุคคล และ พญ.เชิดชูก็ไม่ได้ถูกแต่งตั้งให้อยู่ในคณะทำงานชุดนี้ แต่เป็น พญ.พจนามากกว่า

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวสั้นๆ ว่าได้ลงนามไปแล้ว ก็หวังว่าจะมาแก้ไข โดยให้ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา เป็นประธานคณะกรรมการสร้างเสริมสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข

กก.ฝ่ายแพทย์ได้แล้ว6-สธ.ครบ4

สำหรับรายชื่อของกลุ่มคณะกรรมการแพทย์ผู้ให้บริการเบื้องต้นได้ 6 คน จาก 8 คน  ประกอบด้วย 1.พญ.พจนา กองเงิน 2.นพ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์ 3.นพ.ประเสริฐ สันยวิวัฒน์  4.นพ.ฐานปวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า 5.พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ  รองประธานสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท. 6.นพ.วิสุทธิ์ ลัจฉเสวี ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ
ส่วนรายชื่อของคณะกรรมการฝ่ายกระทรวงสาธารณสุข มี 4 คน ประกอบด้วย 1.นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. เป็นที่ปรึกษา 2.นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะทำงาน 3.นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และ 4.นพ.วิสิทธิ์ ตั้งนภากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

ฝ่ายปชช.เสนอชื่อครบทั้ง8คน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ขณะนี้รายชื่อคณะทำงาน 3 ฝ่าย ที่จะร่วมพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ฝ่ายประชาชน 8 คน คือ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ดร.ยุพดี ศิริสินสุข ตัวแทนเครือข่ายเกษตรทางเลือก น.ส.บุญยืน  ศิริธรรม ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายสมหมาย พูนศรีโรจน์ กรรมการเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ โดยได้ส่งรายชื่อให้ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แล้ว


แพทยสภาแนะทำประชาพิจารณ์

ด้าน นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะมีการตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่ายดังกล่าว แต่ขอฝากให้พิจารณาประเด็นปัญหาให้รอบด้าน โดยเฉพาะจะทำอย่างไรไม่ให้ประเทศต้องแบกภาระด้านสุขภาพมากเกิน จนกระทั่งหมดตัว และต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้แพทย์ทำงานด้วยความสบายใจ อีกทั้งต้องทำให้ประชาชนอย่าหวาดระแวงแพทย์ เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว สิ่งสำคัญควรมีการทำประชาพิจารณ์ให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถานพยาบาลต่างๆ โรงเรียนแพทย์มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นตรงนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก


นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า หากคณะทำงานชุดนี้ตั้งใจจริงช่วยเหลือประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องการสร้างความมั่นใจให้แพทย์ก็น่าจะแก้ปัญหาความไม่เข้าใจกันได้ ส่วนประเด็นย่อยๆ แก้ไขได้ไม่ยาก โดยเฉพาะสัดส่วนคณะกรรมการที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยต้องการให้เพิ่มสัดส่วนของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ คณะทำงานควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มในส่วนของคณะกรรมการตรวจสอบกองทุนด้วย จะช่วยตรวจสอบความโปร่งใสได้ และควรเลือกผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียจริงๆ ขอให้แสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานข้อเท็จจริงเป็นหลัก ไม่ใช่อิงแต่ข้อมูลด้านเดียว

ทีมชมรมชนบทเน้นสัดส่วนกรรมการ

นพ.วชิระ บถพิบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ประเด็นที่พอจะยืดหยุ่นได้ และนำมาแก้ไขในร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ ในเรื่องของการกำหนดเพดานค่าใช้จ่าย ที่บางฝ่ายก็กังวลว่าหากไม่มีเพดานจะทำให้การควบคุมค่าใช้จ่ายยากขึ้น และในประเด็นสัดส่วนคณะกรรมการ ควรพิจารณาว่าจะมีการเพิ่มแพทย์เฉพาะทางในคณะอนุกรรมการชุดใดบ้าง ควรหารือให้ชัดเจน คิดว่าระยะเวลา 2 สัปดาห์ถือว่าเหมาะสมมาก

ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ที่ปรึกษาชมรมเภสัชกรชนบท กล่าวว่า กลุ่มเภสัชชนบท จะร่วมมือกับแพทย์ชนบท เพื่อทำความเข้าใจไปยังวิชาชีพอื่นๆ และชี้แจงต่อเพื่อนสมาชิกทั่วประเทศ เพราะเห็นว่าข้อมูลที่เกิดขึ้นมีความผิดพลาดเข้าใจผิด อยากให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ เพราะร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์ ทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์  ส่วนประเด็นที่ยังสงสัยและถกเถียง เชื่อว่าจะสามารถคุยกันได้ ในขั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องเป็นกังวล

ญาติเหยื่อฟ้อง31ล.พร้อมคุยโรงพยาบาล

ส่วนความคืบหน้าคดีนายธวัชสิทธิ์ ตวงสินกุลบดี และนางธัญญพัฒน์ ตวงสินกุลบดี สองสามีภรรยาบิดานายพีรวีร์ ตวงสินกุลบดี ผู้เสียชีวิต เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทโรงพยาบาลศิครินทร์ ที่ 1 บริษัทโรงพยาบาลไทยนครินทร์ ที่ 2 นพ.ดำรงค์ ประกายทิพย์ นพ.สุทธิศักดิ์ ไชยอัชนรัตน์ และ นพ.หิรัญย์ ศรีจินไตย แพทย์ รพ.ไทยนครินทร์ เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ เรื่องทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายในฐานะผู้บริโภค เรียกค่าเสียหาย 31.2 ล้านบาทนั้น

วันเดียวกัน นางธัญญพัฒน์กล่าวว่า หลังจากยื่นฟ้องโรงพยาบาลทั้งสองแล้วอยู่ระหว่างปรึกษาทนายความว่าจะนำพยานเข้าเบิกความอย่างไร ที่ผ่านมาตนกับโรงพยาบาลยังไม่เคยคุยกัน ตอนที่ไปแพทยสภาก็เข้าห้องประชุมคนละครั้งและยังไม่เคยพบหน้าแพทย์ทั้ง 3 คน ถ้าพบจะได้พูดคุยกัน แต่ที่ฟ้องไปก็เพราะเกรงว่าอายุความจะขาดลง

แจงรพ.บำรุงราษฎร์ดูแลดีก่อนสิ้น

นางธัญญพัฒน์กล่าวว่า ขอแก้ไขข่าวที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า นายพีรวีร์เสียชีวิตที่ รพ.ไทยนครินทร์นั้น ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน ความจริงไปเสียชีวิตที่ รพ.บำรุงราษฎร์ โดยญาติย้ายโรงพยาบาลจากไทยนครินทร์ไปที่ รพ.บำรุงราษฎร์กว่า 20 วัน และ รพ.บำรุงราษฎร์ไม่เรียกค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม ทั้งดูแลอย่างดี จนนายพีรวีร์เสียชีวิต


นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาโจทก์ในคดีนี้ ขอชี้แจงว่า เราไม่ต้องการลงโทษใคร ถ้าเป็นเรื่องความผิดพลาด แต่เมื่อมีคนตาย ก็ต้องมีคนรับผิดชอบ เรายังให้โอกาสจำเลยคดีนี้ โดยยินดีเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยของศาล เพื่อให้โรงพยาบาล แพทย์ และญาติผู้ตายได้มีโอกาสพบกันต่อหน้าศาล เพราะเดิมไม่มีผู้ใหญ่มาเป็นคนกลาง คดีจะได้ไม่ยืดเยื้อยาวนาน และจะได้มีความรู้สึกที่ดี เพราะก่อนนี้เคยไปร้องนายกรัฐมนตรีแล้ว เรื่องยังไม่มีอะไรคืบหน้าจึงมาพึ่งศาล

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง