ปธ.ชมรมแพทย์ชนบทหนุน กม.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ชี้เป็นธรรมต่อผู้รับบริการ-ลดปัญหาการฟ้องร้อง บอกไม่ต้องกังวลถูกฟ้องในคดีอาญามากขึ้น ยังไม่เคยมีกรณีถูกศาลตัดสินกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ ร้ายแรงมาก่อน
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม กรณีกลุ่มสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) จากทั่วประเทศ แต่งชุดดำประท้วง รวมทั้งล่ารายชื่อบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...ว่า ในส่วนของโรงพบาบาลที่เป็นเครือข่ายชมรมแพทย์ชนบททุกแห่งขอแสดงจุดยืนว่า เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และจะไม่ออกมาประท้วงแต่งชุดดำอย่างแน่นอน เนื่องจากเห็นว่าการมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะช่วยคุ้มครองผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์อย่างเป็นธรรม
"ที่ผ่านมากลุ่มแพทย์ชนบทได้ดำเนินการเรียกร้องในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ผมรู้สึกว่าคนที่ออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้อาจจะยังไม่ทราบเจตนารมณ์ที่แท้จริงของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่มีจุดประสงค์เพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้รับบริการและลดปัญหาการฟ้องร้อง หากไม่มี พ.ร.บ.ดังกล่าวจะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้รับบริการแย่ลงกว่าเดิม เพราะหากคนไข้ได้รับการชดเชยไปแล้ว ความรู้สึกไม่ดีหรือความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจะลดน้อยลง ส่งผลให้ปัญหาการฟ้องแพทย์ลดน้อยลงตามไปด้วย" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว
ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวว่า กรณีที่แพทย์กลุ่มคัดค้านกังวล หากมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... จะเป็นการเปิดช่องทางให้แพทย์ถูกฟ้องร้องในคดีอาญามากขึ้นนั้น ก็ไม่เป็นเรื่องจริง เพราะหากมองดูกันดีๆ จะเห็นว่าก่อนหน้านี้ก็มีเหตุการณ์คนไข้ฟ้องร้องแพทย์อยู่แล้ว ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับนักกฎหมาย ยังไม่เคยมีกรณีใดที่แพทย์ถูกศาลตัดสินว่าการกระทำนั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนถูกคำพิพากษาในคดีอาญา ดังนั้น แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์จึงไม่เห็นต้องกลัวการฟ้องร้องทางอาญา รวมทั้งต้องเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมว่า หากได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง ไม่ประมาทเลินเล่อแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ เพียงแต่อาจจะเสียความรู้สึก ซึ่งแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องทำใจหากต้องอยู่ในสถานการณ์นั้น
นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า ในส่วนของข้าราชการภาครัฐก็อย่าได้วิตกกังวลจนเกินเหตุ หากกฎหมายเอื้อให้มีการฟ้องร้องในทางอาญา เนื่องจากมี พ.ร.บ.ละเมิด มาตรา 5 ที่ระบุว่าหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ผู้เสียหายจะฟ้องร้องเจ้าหน้าที่โดยตรงไม่ได้ แต่จะต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐแทน นอกเสียจากการกระทำดังกล่าวเกิดจากเจตนาและความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง นั่นแสดงให้เห็นว่า ข้าราชการภาครัฐได้รับการปกป้องไปโดยปริยาย ทั้งนี้ เห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากระบบ เช่น การแพทย์ไปไม่ทั่วถึงผู้รับบริการทำให้เกิดความเสียหายนั้น ไม่ได้เป็นความผิดของแพทย์ ดังนั้น หากจะมีการชดเชยความเสียหาย แพทย์ก็ไม่สมควรต้องร่วมรับผิดชอบในการจ่ายเงินทดแทน แต่ภาครัฐต้องตั้งกองทุนขึ้นมาและแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งระบบโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งอาจจะจัดทำเป็นนโยบายแห่งชาติ เช่นเดียวกับมาตรการรถเมล์ฟรี เพื่อให้เป็นรัฐสวัสดิการที่แท้จริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนาเรื่อง "หาจุดร่วมสงวนจุดต่าง : ทางออก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข" ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สมาคมนักข่าวฯระหว่างเวลา 10.00-12.00 น. วันที่ 1 สิงหาคม เวทีนี้จะมีตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าร่วมเสวนาด้วย
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)