"หมอ-พยาบาล-จนท."ในรพ.ทั่วประเทศนัด"แต่งชุดดำ" แสดงจุดยืนค้าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ รพ.สงขลาเดือดหนัก "วางหรีด"ประท้วงดำประท้วง
เครือข่ายภาคปชช.รุมจวกแพทยสภาเคลื่อนไหวต้านกม.คุ้มครองผู้เสียหาย
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชมรมเพื่อนโรคไต มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิสุขภาพไทย สมาคมผู้บริโภคสงขลา สมาคมผู้บริโภคขอนแก่น และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ประมาณ 30 คนเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงแพทยสภา พร้อมทั้งนำเทียนพรรษาขนาดใหญ่ 2 เล่มไปจุดบริเวณหน้าป้ายแพทยสภา เพื่อเรียกร้องและผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย โดยมี นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภา เป็นผู้แทนรับหนังสือ จากนั้นเข้ายื่นหนังสือสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายต่อ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า แพทยสภาให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว เป็นข้อมูลที่มีอคติให้ร้ายร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ให้การรักษากับผู้ป่วย จึงต้องการเตือนสติแพทยสภาให้อยู่ในศีลธรรม เลิกให้ข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.
"แพทยสภามีตัวแทนร่วมร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มาตลอด แต่กลับบอกว่าเป็นร่างที่เกิดจากเอ็นจีโอ และผู้หญิงสติไม่ดีที่กดดันรัฐบาล ประเด็น คือ มาตรา 6 ลักษณะความเสียหายที่เกิดขึ้น และมาตรา 45 เรื่องการฟ้องในคดีอาญา ล้วนเป็นประเด็นที่แพทยสภาและภาคประชาชนร่วมกันทำงานทั้งสิ้น กว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มาจากการลงความเห็นของหลายฝ่าย ที่จุดเทียนพรรษาเพราะขณะนี้แพทยสภากำลังมืดบอด เพราะวันนี้สังคมต้องการข้อเท็จจริง"
แพทยสภาลงมติให้ถอนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯชี้ไม่สอดคล้องหลักการ-เหตุผล
ด้าน นพ.อำนาจกล่าวว่า แพทยสภาได้หารือร่วมกันและมีมติว่า 1.สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ไม่สอดคล้องกับหลักการและเหตุผลที่ระบุไว้ หากประกาศบังคับใช้จะไม่สามารถลดความขัดแย้งในระบบบริการสาธารณสุขได้ 2.หน่วยงานที่มีส่วนได้ส่วนเสียของร่างกฎหมายส่วนใหญ่ยังไม่ทราบรายละเอียดและมีส่วนร่วม 3.เนื้อหาของร่างกฎหมายจะมีผลกระทบรุนแรงต่อเนื่องต่อระบบการเงินการคลัง และบริการสาธารณสุขของประเทศ 4.เสนอให้มีการขยายการเยียวยาความเสียหายทางการแพทย์ให้ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ ผ่านระบบประกันสุขภาพที่มีอยู่ และ 5.ควรถอนร่างกฎหมายมาทบทวนให้รอบคอบ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ล้มร่างดังกล่าว โดยแพทยสภาจะเสนอประเด็นเหล่านี้ในที่ประชุมร่วมระหว่างภาคประชาชนและแพทย์ในสัปดาห์หน้าด้วย
"แพทยสภาเห็นว่าต้องมีการปรับเปลี่ยน เช่น มาตรา 7 สัดส่วนของคณะกรรมการที่ควรมีตัวแทนจากสภาวิชาชีพ ในสัดส่วนเท่าๆ กัน เพราะการจะพิจารณาว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการรักษาหรือไม่ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญลงความเห็น นอกจากนี้ มาตรา 5 การที่ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ต้องมีหลักเกณฑ์ที่ละเอียดกว่านี้ รวมถึงที่มาของกองทุนและการจ่ายเงินชดเชย จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน"
ด้านแพทยสภา ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา นายกแพทยสภากล่าวว่า สภาวิชาชีพทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภาการพยาบาล สภากายภาพบำบัด และสภาเภสัชกรรม ได้มีการหารือเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวและมีความเห็นคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เชิญผู้แทนสภาวิชาชีพทั้ง 6 เข้าหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้
แพทยสมาคมลงมติถอนร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ แนะตั้งคกก. 3 ฝ่าย หาข้อสรุปแก้ไขประเด็นปัญหา
พล.ต.ท.นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย แถลงข่าวจุดยืนของแพทยสมาคมต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่ห้องประชุมแพทยสมาคม วันที่ 29 กรกฎาคมว่า ขณะนี้มีการขัดแย้งกันระหว่างประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... ซึ่งประเด็นต่างๆหลายประเด็นไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ทำให้ผลประโยชน์ไม่เกิดแก่ประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งอาจเกิดผลกระทบกับการบริการสาธารณสุขของบุคลากรทางการแพทย์
พล.ต.ท.นพกล่าวว่า ทางคณะกรรมการบริหารแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้มีการประชุมร่วมกันและมีมติว่า รัฐบาลควรถอนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....ออกมาชั่วคราวก่อน เพื่อพิจารณารายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติให้เหมาะสมและลดความขัดแย้งในสังคม โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 ฝ่าย คือ 1.บุคลากรทางการแพทย์ 2.ภาคประชาชน และ3.ตัวแทนภาครัฐ ร่วมกันพิจารณาและแก้ไขในประเด็นที่มีความขัดแย้ง เพื่อให้พระราชบัญญัติดังกล่าวมีความสมบูรณ์และเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงต้องถอนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวออกมา ซึ่งหากในรายละเอียดยังไม่สมบูรณ์ก็สามารถแก้ไขและเพิ่มเติมรายละเอียดในชั้นสภาผู้แทนราษฎรได้ พล.ต.ท.นพ.จงเจตน์ กล่าวว่า หากร่างฉบับดังกล่าวผ่านเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็จะถกเถียงในประเด็นต่างๆลำบากและไม่คลอบคลุมประเด็นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งหากถอนร่างออกมาแล้วก็เสนอกลับเข้าไปใหม่ได้ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างไร
ด้านรศ.นพ.ประเสริฐ ศัลย์วิวรรธน์ เลขาธิการแพยสมาคม กล่าวว่า หากพิจารณาจากหลักการและเหตุผลจะเห็นได้ว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่หากดูลึกลงไปในรายละเอียดเนื้อหาบางประเด็นของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังกำกวมและมีการวางหลักเกณฑ์ไว้อย่างกว้างๆ ยังไม่มีการเจาะลึกลงไปในรายละเอียด รวมทั้งยังต้องมีการออกกฎหมายลูกออกมาเพื่อรองรับให้มีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้จุดประสงค์ของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการสาธารณสุข ซึ่งขัดกับเนื้อหาบางประเด็นที่ว่าหากมีการจ่ายเงินทดแทนแก่ผู้เสียหายไปแล้ว หากผู้เสียหายมีความประสงค์จะฟ้องร้องต่อแพทย์ก็สามารถกระทำได้ ซึ่งตรงนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันมาก
หมอเชียงใหม่แต่งดำประท้วง ลั่นบุกสธ.ร่วมค้านอีก
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 29 ก.ค. นพ.วรชัย อึ้งอภินันท์ ประธานองค์กรการแพทย์ โรงพยาบาลนครพิงค์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นำคณะแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจำนวน 100 คน ติดปลอกแขนสีดำและสวมเสื้อดำชุมนุมถือป้ายประท้วงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
นพ.วรชัย ได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการถอน พ.ร.บ.ดังกล่าวออกมาศึกษาให้รอบคอบก่อน เพราะถือว่าเป็นการทำลายสัมพันธภาพระหว่างหมอกับคนไข้ ก่อให้เกิดการร้องเรียนมากขึ้นและนำไปสู่ความหวาดระแวง และจะเกิดปัญหาแพทย์โรงพยาบาลขนาดเล็กไม่ยอมผ่าตัด แต่จะส่งคนไข้มาให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่แทน
นพ.วรชัย กล่าวว่า ในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ จะมีตัวแทนแพทย์และบุคลากรจำนวน 10 คน เดินทางจาก จ.เชียงใหม่ ไปร่วมแสดงพลังและความคิดเห็นที่หน้ากระทรวงสาธารณสุขร่วมกับเพื่อนในวงการด้วย
หมอ-พยาบาลรพ.พิจิตรกว่า200ชีวิตค้านพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย ขู่ก่อม็อบหน้าสภาฯ
เมื่อเวลา 12.00 น. หน้าโรงพยาบาลพิจิตรได้มีแพทย์พยาบาลกว่า 200 คน นำโดยนายเลี้ยง ตั้งสิทธิ์โชค อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิจิตร ออกมาเคลื่อนไหว คัดค้านเพื่อให้รัฐบาลทบทวนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เนื่องจากมีผลกระทบต่อผุ้ประกอบวิชาชีพแพทย์ พยาบาล ทำให้โรงพยาบาลรับภาระในเรื่องของค่ารักษาพยาบาล พร้อมขู่รัฐบาลยังดื้อดึงเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ทางแพทย์และพยาบาลจะนัดชุมนุมใหญ่ ที่หน้ารัฐสภา อีกครั้ง
ร.ร.พหลฯ เมืองกาญจน์ประท้วง"พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ
เมื่อเวลา 10.30 น. นพ.ชนินทร์ พันธุเตชะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ต.ปากแพรก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี และนพ.สมชัย อรุณรุวิวัฒน์ เลขาองค์กรแพทย์ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา พร้อมกับ บุคคลากรทางการแพทย์และพยาบาล โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนากว่า 50 คน ออกมาชุมนุมที่บริเวณลานจอดรถด้านหน้าตึกสมเด็จพระญาณสังวรสกลมหาปรินายก โดยแพทย์และพยาบาลแต่งกายสีขาวดำถือป้ายข้อความไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
นพ.สหเทพ สว่างเนตร รอง ผอ.รพ. ฝ่ายบริหาร ได้เปิดเผยว่า ตนและบุคลากรทางด้านสาธารณสุข รพ.พหลฯ ออกมาแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับ พรบ.คุ้มครองผู้เสียหาย เพราะ พ.ร.บ.นี้จะทำให้แพทย์และพยาบาลเกิดการอึดอัดในการปฏิบัติงาน เนื่องจากปกติเราทำการรักษาผู้ป่วยวันละ 1,600 คน แต่หากใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว อาจจะทำให้การดูและรักษาสามารถให้บริการผู้ป่วยได้เพียง 500 คนต่อวันเท่านั้น
หมอยะลารวมตัดค้าน พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม เวลา 12.00 น. ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา นายแพทย์ประชา ชยาภัม รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ยะลา พร้อมด้วยคณะแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจำนวนกว่า 30 คน ได้รวมตัวกันถือป้ายผ้า และป้ายเขียนข้อความเพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่ผ่านมติของคณะรัฐมนตรีแล้ว เนื่องจากว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการเบียดเบียนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์
นายกแพทยสมาคมแนะหาทางออกร่วมกัน พ.ร.บ.ผู้เสียหาย
พล.ต.ท.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ในฐานะนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงข่าววันที่ 29 ก.ค.เวลา 11.00 น.ณ ห้องประชุมแพทยสมาคม ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติบารมี 50 พรรษา ซอยศูนย์วิจัย เพื่อแสดงจุดยืนของแพทยสมาคม ที่มีการประชุมในวันนี้ โดยทางแพทยสมาคมไม่ได้คัดค้านหรือไม่ได้เห็นด้วย กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม เราเห็นด้วยกับทั้งสองฝ่าย แต่แทนที่จะออกมาประท้วงกันควรที่จะหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาแนวทางออกร่วมกัน ไม่ใช่เหมือนตอนนี้ที่ดูเหมือนมีฝ่ายหนึ่งชนะฝ่ายหนึ่งแพ้
หมอ รพ.กว่า 90 แห่ง พร้อมใจแต่งดำค้านพ.ร.บ.ผู้เสียหายวันนี้
นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี เปิดเผยว่า วันนี้ 29 ก.ค. แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขจากแพทย์ รพ.ศูนย์และรพ.ทั่วไปกว่า 90 แห่ง จะนัดกันแต่งดำทั่วประเทศเพื่อแสดงจุดยืน โดยในส่วนของ รพ.พระนั่งเกล้าจะนัดกันบ่ายโมงรวมกันบริเวณหน้าเสาธง คัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ
เมื่อถามว่า นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ คสช. มองว่าแพทย์ควรแต่งขาวไม่ใช่แต่งดำ นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวว่า การแต่งดำก็เพื่อแสดงออกว่าไม่เห็นด้วย ดังนั้นก็แล้วแต่ความคิดใครความคิดมัน เพราะการแต่งดำเป็นมติของสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์และรพ.ทั่วไป เพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย ดีกว่าไปเปิดเวทีปราศรัยโจมตีกัน
รพ.สงขลาพร้อมใจแต่งดำ "วางหรีด"ประท้วงพ.ร.บ.คุ้มครองฯ
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 29 ก.ค. แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ แต่งชุดดำรวมตัวกันหน้าเสาธงหน้าโรงพยาบาลสงขลา ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา พร้อมทั้งร่วมกันวางหรีดดำ เพื่อประท้วงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 1 ในวันที่ 3 ส.ค.เพราะจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่วงการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมาก
นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลสงขลาเปิดเผยว่า เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนต่อการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งหากผ่านการพิจารณาของสภาฯ และมีผลบังคับใช้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่วงการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมาก เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฯ ทางแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันแต่งชุดดำเพื่อคัดค้านดังกล่าว
แพทย์ รพ.อุตรดิตถ์แต่งชุดดำค้าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ทา เมื่อเวลา 09.00 น. นายแพทย์ดิเรก งานวาสีนนท์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ฝ่ายการแพทย์ นายแพทย์วีระวุฒิ มิ่งขวัญ แพทย์ด้านอายุรกรรม พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล จำนวนเกือบ 100 คน ร่วมกันแต่งชุดดำและรวมตัวกันที่บริเวณหน้าตึกศัลยกรรม 2 อาคาร 28 พร้อมแผ่นป้ายผ้า จำนวน 5 แผ่น เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.กฏหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
นายแพทย์วีระวุฒิได้อ่านแถลงการณ์เจตนารมณ์ของผู้บริหารและบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ว่า ขอคัดค้านและแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวและเห็นควรให้ถอนร่างกฏหมายฉบับนี้ออกจากสภาและให้มีการทบทวนเพิ่มเติม จำนวน 3 ข้อ เนื้อหาของแถลงการณ์ส่วนหนึ่งต้องการให้มีการตั้งคณะกรรมการดูแลกองทุนและคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พร้อมพิจารณาเนื้อหาการกระทำ เพื่อประกอบการจ่ายเงินชดเชย
เนื้อหาแถลงการณ์ยังได้กล่าวถึงว่า การคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข หมวด 4 มาตรา 34 สถานพยาบาลต้องรับภาระจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่วนหนึ่ง ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน สถานพยาบาลของรัฐได้รับงบประมาณที่จำกัดอยู่แล้ว สถานพยาบาลหลายแห่งของรัฐมีงบประมาณขาดดุลไม่เพียงพอที่จะจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เมื่อต้องส่งเงินเข้าสมทบกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ย่อมทำให้ลดค่าใช้จ่ายโดยการตัดงบประมาณค่ายา ค่าเวชภัณฑ์รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา ประชาชนที่มารับการรักษาต่อเนื่องก็จะได้รับการบริการที่ด้อยลงหรือไม่ได้มาตราฐาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นสุดท้ายในแถลงการณ์ระบุถึงการคุ้มครองผู้เสียหาย หมวด 1 มาตรา 6 ว่า เป็นมาตราที่บอกว่าไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย หากต้องชดเชยความเสียหาย ผู้รับบริการต้องไปฟ้องร้องทางอาญาว่า เจ้าหน้าที่มีความผิดจริงหรือไม่เข้าข่ายตามมาตรา 6 และเมื่อบุคลากรทางสาธารณสุขได้รับคำตัดสินว่ามีความผิด จึงจะกลับมาชดเชยความเสียหายได้ส่งผลทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขอาจต้องถูกพักใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือถูกออกจากราชการได้ ซึ่งจะส่งผลถึงความหวาดกลัวว่าจะเกิดความเสี่ยงหรือรักษาผิดมาตรฐาน ไม่กล้าให้การรักษาผู้ป่วย เช่น โรงพยาบาลชุมชน ก็จะส่งผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลจังหวัดก็จะส่งไปที่ศูนย์หรือศูนย์ส่งต่อโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ทำให้ผู้ป่วยเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและต้องรอคิวรับบริการนานขึ้น ในประเด็นสุดท้ายนี้ที่ทางคณะแพทย์และพยาบาลมีความเป็นห่วงและต้องการให้มีการแก้ไขมากที่สุด
หมอ-พยาบาล"รพ.พุทธชินราชฯ" แต่งดำค้านพ.ร.บ.คุ้มครองฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 29 กรกฏาคม ที่โรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก บุคลากร แพทย์พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ ของโรงพยาบาลร่วมกันแต่งกายด้วยชุดดำ เพื่อร่วมกันคัดค้านพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร ในวาระที่ 1 วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2553
บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจึงต้องการแสดงเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกับประชาคมสาธารณสุขส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องการให้ถอน ร่าง พ.ร.บ.นี้ออกจากสภาถึงแม้ว่าทางรัฐมนตรีจะรับปากว่าจะถอนแล้วก็ตาม โดยในช่วงเที่ยงบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจะร่วมกันแถลงเจตนารมณ์คัดค้านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว และจะส่งตัวแทนเข้าร่วมคัดค้านที่ส่วนกลางอีกครั้งหนึ่ง
หมอยะลารวมตัดค้าน พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม เวลา 12.00 น. ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา นายแพทย์ประชา ชยาภัม รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ยะลา พร้อมด้วยคณะแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจำนวนกว่า 30 คน ได้รวมตัวกันถือป้ายผ้า และป้ายเขียนข้อความเพื่อแสดงออกถึงการคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่ผ่านมติของคณะรัฐมนตรีแล้ว เนื่องจากว่า พรบ.ดังกล่าวเป็นการเบียดเบียนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์
นายแพทย์ประชา ชยาภัม รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ยะลา กล่าวว่า ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ยะลาทุกคน ขอแสดงความคัดค้านพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยจริงๆแล้วชื่อนี้เป็นชื่อที่สวยหรู แต่ตนจะขอเปลี่ยนเป็น พรบ.เบียดเบียนบุคลากรทางการแพทย์ มากกว่า คำพูดที่สวยหรูที่หลุดออกมาจากผู้ที่ร่าง พรบ.ฉบับนี้ ที่ชี้ให้เห็นว่าประชาชน หรือผู้ป่วย จะได้รับการเยียวยา แต่ข้อเท็จจริง แพทย์และพยาบาลทุกคนก็อยู่ข้างประชาชน อยู่ข้างผู้ป่วยอยู่แล้ว ผู้ที่ร่าง พรบ.ฉบับนี้แอบอ้างความเป็นพวกเดียวกับผู้ป่วยส่วนใหญ่ และประชาชนทั่วไป ที่ทราบว่าเคยไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกรณีความพิการของบุตรตัวเองถึง 50 ล้าน ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่ร่าง พรบ.นี้ทำเพื่อแก้แค้นในเรื่องส่วนตัวมากกว่า ใช้จุดยืนที่มีความรุนแรง เช่นจะไปนอนขวางกลางสภาพ หาก พรบ.นี้ไม่ผ่าน
“พ.ร.บ.ฉบับนี้ถ้าออกมา ก็จะทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ กับผู้ป่วย รวมทั้งแพทย์ที่เคยปฎิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ก็จะต้องหันหลังกลับ เพราะมีกรณีตัวอย่างที่ต้องติดคุกมาแล้ว หลังจากนั้นก็จะมีการตั้งกองทุน โดยเรียกเก็บภาษีจากประชาชนและเงินอุดหนุนจากสถานบริการ ในระยะยาว พรบ.เบียดเบียนบุคลากรทางสาธารณสุข ฉบับนี้ จะทำให้ แพทย์ทั้งหลายออกมาป้องกันตัวเอง ซึ่งจะมีผลเสียในระยะยาว เช่นผลักภาระให้ผู้อื่น เช่น แพทย์ท่านหนึ่งสามารถให้บริการรักษาอาการป่วยของคนไข้ได้ แต่เนื่องจากมีการฟ้องร้องสูง แพทย์ท่านนั้นก็อาจจะผลักภาระไปให้โรงพยาบาลอื่นที่สูงกว่า โดยอ้างเรื่องมาตรฐาน" นายแพทย์ประชา กล่าว
นพ.ประชากล่าวว่า นอกจากนั้นก็อาจจะมีการวินิจฉัยในสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็น เพื่ออ้างให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งหมดก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูง ทรัพยากรขาดแคลน และไม่ได้รับการรักษาบริการอย่างถ้วยหน้า รวมทั้งจะมีการฟ้องร้องสูงเช่นที่อเมริกา ซึ่งอนาคตจะส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ลดลง เพราะมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวทำให้บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ขอคัดค้านในการเบียดเบียนการทำงาน และขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนด้วย” นายแพทย์ประชา กล่าว
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)