"กุ้งแห้ง" ที่เรารับประทานอยู่ทุกวันนี้มีหลายไซส์หลายราคา เกรดดีเกรดไม่ดี ก็แล้วแต่กำลังทรัพย์ ยิ่งกุ้งตัวอ้วนใหญ่ราคาก็จะสูงตามไปด้วย กุ้งแห้งที่ขายกันอยู่ในตลาดนั้นมีตั้งแต่ราคาละกิโลกรัมละร้อยกว่าบาทไปจนถึงพันบาท แต่ปัจจัยในการซื้อที่ควรคำนึงถึง ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องราคา ขนาด ความสะอาดและแหล่งผลิต แต่เราต้องไม่มองข้ามเรื่อง "สี" เพราะกุ้งแห้งที่ดีไม่ควรผสมสีใดๆ ลงไปทั้งสิ้น
ผลการทดสอบที่นำมาเสนอในครั้งนี้มาตากการเก็บตัวอย่างอาหารครั้งที่ 3 ของโครงการพัฒนากลไลการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค มีจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 8 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลาและสตูล
กุ้งแห้งที่นำมาทดสอบเป็นกุ้งแห้งขนาดเล็กไม่แกะเปลือกสำหรับใช้ประกอบอาหาร ที่ต้องการตรวจหาสิ่งปนเปื้อนในอาหาร 3 ชนิด ได้แก่ สารพิษจากเชื้อรา สีปรุงแต่งอาหาร และสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์
ผลการทดสอบ :
ไม่พบการปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อราในทุกตัวอย่าง
พบสีสังเคราะห์ในตัวอย่าง 2 ตัวอย่าง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของตัวอย่างทั้งหมดที่เก็บมา ทั้งนี้ ตัวอย่างที่เก็บจากร้านเจ๊รัตนา ในตลาดสดจังหวัดมหาสารคามพบสีตระกูลสีส้ม ซึ่งไม่ใช่สีสังเคราะห์ที่กฎหมายอนุญาตให้ใส่ในอาหาร และตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดจังหวัดพะเยา พบสีสังเคราะห์ชนิดสีแดง ปองโซ 4 อาร์ และชนิดสีเหลือง-ซันเซตเยลโลว์ เอฟซีเอฟ ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้กับอาหาร แต่ไม่อนุญาตให้ใช้กับกุ้งแห้ง
พบการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ในตัวอย่าง 4 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 50 ของตัวอย่างทั้งหมด คือ
1.กุ้งแห้งใหญ่ ยี่ห้อ BDMP ของบริษัทบางกอก ดีไฮเดรทมารีนโปรดักส์ จำกัด เก็บตัวอย่างจากห้างสยาม พารากอน กรุงเทพมหานคร พบแลมบ์ดาไซแฮโลทริน ปริมาณ 0.098 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และไซเปอร์เมทริน ปริมาณ 0.131 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
2.กุ้งแห้งจากร้านเจ๊มด ตลาดเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม พบแลมบ์ดาไซแฮโลทริน ปริมาณ 0.052 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพบไซเปอร์เมทริน ปริมาณ 0.235 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
3.กุ้งแห้งจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พบแลมบ์ดาไซแฮโลทริน ปริมาณ 0.031 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพบไซเปอร์เมทริน ปริมาณ 0.061 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
4.กุ้งแห้งนำเข้าจากประเทศจีน จากตลาดสดจังหวัดพะเยา พบแลมบ์ดาไซแฮโลทริน ปริมาณ 0.048 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพบไซเปอร์เมทริน ปริมาณ 0.33 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
ข้อสังเกต :
ตัวอย่างที่เก็บจากจังหวัดพะเยา พบการปนเปื้อนทั้งสีสังเคราะห์สีแดงและสีเหลือง และพบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอย์ หรือยาฆ่าแมลง
ผลิตภัณฑ์ที่ทำการทดสอบกว่าร้อยละ 90 ไม่มีการระบุยี่ห้อ ไม่ทราบวันผลิตและวันหมดอายุ และไม่ทราบผู้ผลิต
สาระน่ารู้เกี่ยวกับสิ่งปนเปื้อนในกุ้งแห้ง :
- สีผสมอาหาร นิยมใส่ในอาหารเพื่อทำให้อาหารมีสีสันน่ารับประทาน ซึ่งสีที่ใส่ในอาหารมีทั้งสีจากธรรมชาติและสีสังเคราะห์ ทั้งสองชนิดไม่มีคุณค่าทางอาหาร แถมถ้าสะสมในร่างกายมากๆ อาจเป็นอันตรายต่อตัวเราได้ โดยเฉพาะกับการทำงานของกระเพาะอาหาร เพราะสีผสมอาหารจะเคลือบกระเพาะ ทำให้การดูดซึมอาหารมีปัญหาตามมาและอาจลุกลามไปถึงการทำงานของไตอีกด้วย
วิธีง่ายๆ ในการดูว่ากุ้งแห้งที่เราซื้อนั้น ใส่สีหรือไม่ แนะนำให้ดูที่ท้องกุ้ง ถ้ากุ้งแห้งไม่ใส่สี ท้องกุ้งจะเป็นสีขาว แต่ถ้าเป็นสีแดงหรือส้ม ให้สงสัยได้เลยว่าใส่สี
- สารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอย์ เป็นสารเคมีในกลุ่มยาฆ่าแมลง ซึ่งสารพิษชนิดนี้จะทำอันตรายต่อคนได้ไม่มาก แต่ไม่ควรสัมผัสกับร่างกายหรือสูดดม แต่หากเข้าสู่ร่างกายโดยการดื่มกิน ต้องระมัดระวังโดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหอบหืด เพราะจำให้เกิดอาการหอบหืดได้ ส่วนอาการเบื้องต้นก็มีตั้งแต่ คลื่นไส้ อาเจียน ชีพจรเต้นช้า หายใจติดขัด ผิวหนังซีด เหงื่อออก กล้ามเนื้อกระตุก
ส่วนสาเหตุที่มีสารชนิดนี้ปนเปื้อนในกุ้งแห้งนั้น เป็นเพราะผู้ค้าบางคนนำสารเคมีดังกล่าวมาฉีดบนกุ้งแห้ง เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงวันมาตอม
- สารเคมีจากเชื้อรา หรืออะฟลาท็อกซิน เป็นสารที่เกิดจากเชื้อรา มีพิษทำอันตรายต่อตับ รวมทั้งอาจทำให้เกิดอาการสมองอักเสบ
วิธีทำกุ้งแห้ง
กุ้งที่นิยมนำมาทำเป็นกุ้งแห้ง คือ กุ้งทะเลเปลือกบาง นำมาต้มหรือนึ่งจนสุกโดยเคล้าเกลือให้พอมีรสเค็ม จากนั้นให้นำไปตากแดด ถ้าแดดดีๆ เพียงวันเดียวก็สามารถใช้ได้แล้ว จากนั้นให้หาถุงผ้าใส่กุ้งลงไปแล้วบุบหรือทุบด้วยไม้ตีพริก เพื่อทำให้เปลือกกุ้งร่อนออก แล้วให้แกะส่วนเปลือกทิ้งไป เราก็จะได้กุ้งแห้งอย่างดีและไม่ปนเปื้อนสารเคมี
สำหรับบ้านที่ไม่มีที่ตากแดด ก็สามารถทำกุ้งแห้งได้ โดยการนำกุ้งเคล้าเกลือแล้วอบด้วยเตาอบไฟฟ้า ก็พอจะเป็นกุ้งแห้งได้ ทั้งนี้ กุ้งสดน้ำหนัก 1 กิโลกรัม เมื่อตากแดดแล้วจะเหลือน้ำหนักกุ้งประมาณ 250 กรัม
*********************
ที่มา นิตยสาร "ฉลาดซื้อ" ฉบับที่ 112 เขียนโดย พชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการพัฒนากลไลการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ติดต่อ "ฉลาดซื้อ" ได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 4/2 ซ.วัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ 0-2248-3734-7 โทรสาร 0-2248-3733 อีเมล webmaster@consumerthai.org)
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)