ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

เล่ห์ร้ายบริษัทยาปม กังขา "ทามิฟลู"

by twoseadj @July,22 2010 18.15 ( IP : 222...149 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์ , ยา
photo  , 630x378 pixel , 55,745 bytes.

พญ.อภิญญ์เพ็ญ สาระยา ร่วมกับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่ายาโอเซลทามิเวียร์...ทามิฟลู Oseltamivir (Tamiflu) รวมทั้งยาซานามิเวียร์ Zanamivir (Relenza) ถูกยกเป็นยาวิเศษในการป้องกันรวมถึงรักษาไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล, ไข้หวัดนก H5N1, ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1) องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้นานาประเทศ...เก็บสะสมสำรองยานี้ตั้งแต่ปี 2004 รับมือกับการระบาดครั้งใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเกิดไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั่วโลก

ประเทศไทยเองก็มีการสำรอง...สั่งจ่ายยาให้ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น...ระดับโรงพยาบาล คลินิก จนเกิดการจ่ายยาเกินจริงทั้งที่ผู้ป่วยมีอาการไม่มาก และไม่ได้เกิดจากไข้หวัดใหญ่ด้วยซ้ำ...เป็นไปตามนโยบายประชานิยมของนักการเมือง ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งถึงกับขายยาทามิฟลู เม็ดละ 400 บาท...ให้ประชาชนซื้อเก็บไว้

ความแตก...เมื่อมีการตีพิมพ์บทความการศึกษาโดยวารสารการแพทย์ของอังกฤษ (British Medical Journal-BMJ) ในเดือนธันวาคม 2009

เปิดโปงและตั้งข้อสงสัยว่า...ที่มาของการกล่าวสรรพคุณ มีหลักฐานจริงหรือไม่ โดยไม่พบว่ามีหลักฐานที่ชัดเจน ที่สามารถยืนยันถึงประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในการป้องกัน รักษาผลแทรกซ้อนรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ในคนปกติ หลักฐานที่อ้างและขานรับตามกันโดย WHO และศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) ก็มาจากกลุ่มนักวิจัยที่มีผลประโยชน์กับบริษัทยา...

อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นกรรมการ WHO ในการให้ความเห็นซึ่งนำมาสู่การยกระดับการระบาดไข้หวัดใหญ่ให้เป็นระดับ 6 คือ...โรครุนแรงลุกลามทั่วโลก ทั้งยังออกข้อแนะนำให้เกิดมีการสำรองยาต้านไวรัสในนานาประเทศ

บทความนี้แปลรวบรวมและอ้างอิงจากวารสาร BMJ ฉบับเดือนธันวาคม 2009 (volume 339) ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2010 เบื้องหลังการเตรียมความพร้อมในการรับมือไข้หวัดใหญ่ลามโลก (pandemic flu) ของ WHO ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 1999โดยเอกสารของ WHO ที่จัดทำโดยคณะทำงานทางวิทยาศาสตร์ของยุโรป (ESWI) ซึ่งก็ได้รับเงินสนับสนุนทั้งหมดจากบริษัท Roche และบริษัทผลิตยาอื่นๆ บุคคลอื่นๆ เช่น R.Snacken และ D.Lavanchy

Dr.Snacken ในขณะนั้นทำงานให้กับกระทรวงสาธารณสุขเบลเยียมก็เขียนบทความส่งเสริมการขายให้บริษัท Roche และ Dr.Lavanchy ขณะที่เป็นเจ้าหน้าที่ WHO ในฝ่ายของโรคติดต่อจากไวรัส ก็ร่วมในการประชุมที่ Roche เป็นสปอนเซอร์ปี 1998 คณะทำงานยังมี Prof.Karl Nicholson (อังกฤษ) และ Prof.Albert Osterhaus (เนเธอร์แลนด์) ซึ่งสนับสนุนการขายของ Roche ดังปรากฏในเอกสารระหว่างปี 1998-2000...ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 คนเป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงในการศึกษาประสิทธิภาพของยาโอเซลทามิเวียร์ จนได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Lancet ในปี 2000 โดยที่การศึกษานี้ บริษัท Roche เป็นสปอนเซอร์ และบทความชิ้นนี้ถูกใช้เป็นหลักฐานสำคัญที่สนับสนุนประสิทธิภาพ

อิทธิพลของคณะทำงานทางวิทยาศาสตร์ของยุโรป (ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยาทั้งหมด)...ยังมีผลต่อเนื่องมาอีก 10 ปีในการล็อบบี้ต่อ WHO สถาบัน Robert Koch และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของยุโรป ดังที่ปรากฏในเอกสารนโยบายปี 2009 การเตรียมตัวรับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ลามโลก

Prof.Osterhaus เองก็ยืนยันว่าคณะทำงานทางวิทยาศาสตร์ยุโรป มีสายสัมพันธ์กับรัฐสภาของยุโรปและนักการเมือง เอกสารที่จัดทำนี้สำหรับแผนปี 2006-2009 กล่าวชัดเจนถึงการให้มีการผลักดันให้รัฐบาลนานาประเทศมีการผลิตวัคซีนและยา...รวมทั้งสำรองยาต้านไวรัสในประเทศ (stockpiling) โดยย้ำว่าวัคซีนและยาเหล่านี้มีหลักฐานพิสูจน์ชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ อีกทั้งสนับสนุนให้มีการจับมือกับบริษัทยา ในการเตรียมวัคซีนและยาต้านไวรัส และในเอกสารของ Roche เอง...มีแผนที่จะยกระดับให้บริษัทกลายเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการร่วมกับองค์กรที่น่าเชื่อถืออื่นๆ

ความสัมพันธ์ล้ำลึกของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในการร่วมสนับสนุนการขายกับบริษัทยา และยังเป็นผู้ออกนโยบายในระดับของ WHO ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง...จากการประเมินขององค์กร Health Action International และ Institute of Medicine การสนับสนุนการขายเช่นนี้...ไม่ใช่เจาะจงเฉพาะต่อการรับมือกับไข้หวัดใหญ่ลามโลก เช่น หวัดใหญ่ 2009 เท่านั้น

แต่...เป็นการสร้างแรงผลักดันให้มีการใช้สำหรับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (seasonal influenza) อีกด้วย

รวบรัดตัดความที่จะกล่าวถึงรายละเอียดปลีกย่อย...ข้อกังขาในประสิทธิภาพสรรพคุณยา แม้ว่าบริษัทยาผู้ผลิตจะให้ข้อมูลมาบ้าง แต่ในทางวิชาการก็ไม่สามารถใช้วิเคราะห์ประสิทธิภาพของยาทามิฟลูได้

นอกจากนี้ คณะผู้ติดตามคลี่ปมสำคัญยังพบสิ่งไม่ปกติในกลุ่มประชากรวิจัยของการศึกษาทั้ง 10 รายการ โดยพบว่า...ประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัยคือกลุ่มคนที่มี "อาการของไข้หวัดใหญ่" ได้แก่ มีอาการเจ็บคอหรือไอ ร่วมกับมีไข้หรืออ่อนเพลีย โดยไม่ได้ตรวจยืนยันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ทั้งนั้น มีการใช้งานวิจัยอ้างโดยสรุปแบบรวบรัดด้วยว่า มีผู้ป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อ influenza สูงถึง 68 เปอร์เซ็นต์

ชัดเจนว่า...ขัดแย้งกับข้อมูลของทางการสหรัฐฯในการติดตามการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ (United States virological surveillance) ที่พบว่า...

แม้จะเป็นฤดูระบาดของไข้หวัดใหญ่ สัดส่วนผู้ป่วยที่พบว่าเกิดจากเชื้อ influenza จริงมีเพียง 25-35% เท่านั้น...ทำให้การอนุมานถึงประโยชน์ของยาทามิฟลูอาจคลาดเคลื่อน และไม่สามารถนำมาใช้ได้

น่าสนใจที่ว่า บริษัทผู้ผลิตยายังได้เคยออกมาแถลงว่า ทามิฟลู (Tamiflu) ไม่สามารถลดอาการและภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัส influenza เท่ากับว่า...ประโยชน์ของการใช้ทามิฟลูอาจไม่แตกต่างจากยาพาราเซตามอลหรือยาในกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) ก็เป็นได้

การจะยืนยันว่ามีประสิทธิภาพจริง ต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปจึงจะเป็นที่เชื่อถือได้

กระนั้น...ความเชื่อตามรายงานวิเคราะห์อนุมานที่ผ่านมาก็ทำให้กองควบคุม โรคของสหรัฐฯ (CDC) ออกแถลงการณ์ว่า...การให้ยาทามิฟลูแก่ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะลดอัตราการเกิดปอดบวม และจำนวนวันที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล

มีการใช้จ่ายเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อผลิตและเก็บสำรองยา พร้อมกับการยกฐานะของทามิฟลูขึ้นเป็นยาจำเป็นทางสาธารณสุขของชาติ

นี่คือตัวอย่างให้เห็นว่า ก่อนที่จะรับรองยาใดๆเป็นยาจำเป็นของชาติ ซึ่ง ทำให้รัฐบาลในแต่ละประเทศต้องทุ่มเทงบประมาณมากมายมหาศาลในการจัดหา ควรที่จะมีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียด อย่าเชื่อถือรายงานของการศึกษาใดการศึกษาหนึ่งมากเกินไป

ประเด็นสำคัญ อย่าลืม...ตรวจสอบความไม่เที่ยงตรง ผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงข้อมูลดิบในการทดลอง แต่ละการทดลองต้องเข้าถึงได้

หลังจากที่มีการเปิดโปงกระบวนการที่ไม่ชอบมาพากลในการยกระดับยาต้านไวรัสเป็นยาสำคัญระดับโลก...ได้มีรายงานจากประเทศเม็กซิโก สหรัฐฯ รวมทั้งไทยว่า...ทามิฟลูสามารถช่วยลดการเกิดปอดบวม อัตราการเสียชีวิตจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้

แต่เป็นการรายงานจากการสังเกตรวบรวมข้อมูล โดยตั้งข้อกำหนดอยู่แล้วว่า...ยาต้านไวรัสมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันยังไม่มีคำอธิบายได้ว่าทำไม? คนบางคนที่ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงกลับเกิดอาการรุนแรงแล้วเสียชีวิต กลไกการทำลายปอดเกิดจากกระบวนการของไวรัสอย่างเดียวหรือมีบทบาทของการอักเสบที่เกินเลยขอบเขต ฯลฯ

ข้อสรุปของประโยชน์ของยา ไม่ได้รวมวิเคราะห์ถึงผู้ป่วยอีกเป็นจำนวนมากที่มีอาการหนักไม่ได้รับยาแต่ก็ไม่เกิดอาการปอดบวมแทรกซ้อน และอีกเป็นจำนวนมากที่แม้มีปอดบวมแต่ก็รอดชีวิต แม้จะไม่ได้รับยาหรือได้รับเมื่อมีอาการไปแล้วหลายวัน

ล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบในเรื่องนี้แล้ว...เบื้องลึก เบื้องหลัง ยาทามิฟลูดีจริงหรือ? ถ้าไม่ดีจริง ก็หมายความว่านี่คือการสร้างธุรกิจขนาดใหญ่บนชีวิตมนุษย์ทั้งโลก.

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง