อย. ห่วงใยเด็กไทยเสี่ยงต่อการเกิดฟันตกกระ ก่อเกิดปัญหาสุขภาพ ออกประกาศปรับข้อกำหนดปริมาณฟลูออไรด์ของน้ำบริโภคจาก “1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร” เป็น “0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร” ป้องกันมิให้เด็กได้รับฟลูออไรด์เกินปริมาณจนเกิดผลเสียต่อสุขภาพ โดยผู้ผลิต นำเข้า น้ำดื่มที่ได้รับการจดทะเบียนไว้ก่อนแล้วต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด มีผล 25 ส.ค.นี้
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่า เด็กที่บริโภคน้ำที่มีฟลูออไรด์มากกว่า 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันตกกระ ประกอบกับองค์การอนามัยโลกได้มีรายงานไว้ว่า ปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคที่แนะนำ คือ 1.5 มิลลิกรัมต่อน้ำบริโภค 1 ลิตร แต่อย่างไรก็ตาม การกำหนดเป็นมาตรฐานของแต่ละประเทศนั้น ควรคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ภูมิอากาศ ปริมาณฟลูออไรด์ที่ได้รับจากการบริโภคน้ำและอาหารอื่นๆ ร่วมด้วย
ทั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยต่อเด็กไทยที่ยังพบปัญหาฟันตกกระ โดยเฉพาะเกิดขึ้นในเด็กช่วงวัย 1-6 ขวบ ที่อยู่ในระหว่างการสร้างฟัน ทั้งนี้ พบอาการฟันตกกระในเด็กที่อาศัยแถบจังหวัดภาคเหนือมากที่สุด รองลงมาในเขตพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้ เพราะฉะนั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดฟันตกกระในเด็ก จึงได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 23 เมษายน 2553 โดยปรับข้อกำหนดปริมาณฟลูออไรด์ของน้ำบริโภคจาก “1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร” เป็น “0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร” โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2553 สำหรับผู้ผลิต/นำเข้า น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุปิดสนิทที่ได้รับการจดทะเบียนรายละเอียดของอาหารไว้แล้วก่อนหน้านี้ ต้องปรับปริมาณฟลูออไรด์ ให้เป็นไปตามประกาศฯ ฉบับนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2553 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากพบน้ำดื่มบรรจุขวดมีคุณภาพหรือมาตรฐานไปเป็นไปตามประกาศ เข้าข่ายเป็นอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
เลขาธิการฯ อย.กล่าวต่อไปว่า สำหรับน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตอาหารและไอน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตที่สัมผัสกับอาหาร ให้ยังคงใช้ข้อกำหนดปริมาณฟลูออไรด์ไม่เกิน 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตรเช่นเดิม เนื่องจากน้ำที่ใช้ในการผลิตอาหารไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญเมื่อเทียบกับน้ำบริโภคที่ทำให้เกิดฟันตกกระ หากผู้ประกอบการ รายใดต้องการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดของประกาศการปรับเปลี่ยนฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม สามารถสอบถามได้ที่กองควบคุมอาหาร โทร.0-2590-7173 ทุกวันในเวลาราชการ
ที่มา:โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 21 กรกฎาคม 2553
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)