นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และรณรงค์ให้ประชาชนลดหรืองดการดื่มชนิดนี้ เพื่อลดสิ่งที่ทำลายสุขภาพ ขณะนี้คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มสุราประมาณ 15 ล้านคน
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงมากก็คือยังมีคนไทยที่ชอบดื่มสุราบางกลุ่มได้นำแอลกอฮอล์ที่มีชื่อว่าเมทธานอล(Methanol)หรือเมทธิลแอลกอฮอล์ (Methyl alcohol ) ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม นำมาดื่มโดยตรงหรือผสมกับเครื่องดื่มอื่น เพราะคิดว่า ดื่มได้เหมือนสุราทั่วไปที่มีส่วนผสมของเอทธานอลแอลกอฮอล์ หรือเอทธิลแอลกอฮอล์ จึงทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต อาจจะโดยรู้เท่าใม่ถึงการณ์หรือจากความตั้งใจนำมาดื่ม
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคได้รายงานในปี 2549 -2553 มีคนไทยได้รับพิษจากการดื่มเมทธานอล รวมทั้งหมด 156 ราย ในจำนวนนี้ เสียชีวิต 28 ราย ที่เหลืออีก 128 รายนอนโรงพยาบาล โดยเหตุการณ์ที่พบครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 ลูกเรือประมงไทยดื่มสุราที่ปนเปื้อนเมทธานอล ขณะนำเรือเทียบท่าที่เกาะปาปวน ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้เสียชีวิต 15 ราย ป่วย 90 กว่าราย และในปลายปีเดียวกัน พบนักโทษชายเรือนจนจำธัญญบุรี จ.ปทุมธานี นำเมทธานอลที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ มาผสมกับน้ำอัดลมดื่มแทนสุรา ทำให้เสียชีวิต 4 ราย ป่วย 30 ราย โดยมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน ชัก ไม่รู้สึกตัว
ส่วนในต่างประเทศมีรายงานผู้ได้รับพิษจากเมทธานอลที่ประเทศนิวกินี จำนวน 4 ราย ตาบอด 6 ราย เมื่อพ.ศ. 2520 และช่วงกลางปี 2552 พบชาวอินเดียเสียชีวิต 136 ราย เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 227 ราย จากการดื่มสุราในงานเลี้ยง ซึ่งคาดว่ามีสาเหตุจากการดื่มสุราที่ต้มเองในชุมชนและอาจมีสารเมทธานอลเจือปน จึงขอย้ำเตือนว่า เมทธานอล เป็นภัยอันตรายที่อยู่ใกล้ตัวของนักดื่มสุราเป็นประจำ
นายแพทย์ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า โดยทั่วไปเมทธานอลเป็นสารแอลกอฮอล์ที่สกัดจากไม้ มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่นเฉพาะตัว ระเหยได้ ติดไฟได้ นำมาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม เช่น ใช้ลอกสี สารทำละลายในน้ำหมึก น้ำยาเช็ดกระจก กาว เรซิน ทำเป็นแอลกอฮอล์แข็งที่ใช้อุ่นอาหาร หรือใช้ในอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกย้อมผ้า แอลกอฮอล์ชนิดนี้กินไม่ได้และมีราคาถูก โดยเมทธานอลนี้ สามารถพบได้ในสุรากลั่นพื้นบ้านหรือเหล้าต้ม ซึ่งชาวบ้านมักเรียกว่าเหล้าป่า และในสุราปลอม
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เคยตรวจปริมาณสารระเหยในสุรากลั่นในประเทศไทย เมื่อพ.ศ.2547 ตรวจ 28 ตัวอย่าง พบ 16 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 57 มีเมทธานอลปนเปื้อนในปริมาณ 9.2-291.8 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนใหญ่เป็นสุราปลอมและสุรากลั่นพื้นบ้าน
นายแพทย์ภาสกรกล่าวว่า กลุ่มที่เสี่ยงต่อการได้รับพิษจากเมทธานอลมี 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่ชอบดื่มสุราอยู่แล้ว และผู้ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เมทธานอล เช่น พนักงานเช็ดล้างกระจก ช่างทาสี ช่างลอกสี เป็นต้น ซึ่งอาจต้องสัมผัสหรือสูดดมเรื่อยๆ ระหว่างการทำงาน การเกิดพิษมีทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง การได้รับพิษที่รุนแรง
ส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มสุราที่ปนเปื้อนสารเมธานอลเข้าไป โดยอาจเกิดความไม่ตั้งใจหรือเข้าใจผิดคิดว่าป็น เอทธานอลแอลกอฮอล์ที่ส่วนประกอบที่สำคัญของสุรา อาการพิษจากเมทธานอล จะปรากฏภายใน 1 ชั่วโมง- 3 วัน พิษจะมีผลโดยตรงต่อระบบประสาทส่วนกลางเหมือนกับเอทธิลแอลกฮอล์ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเมทธิลแอลกอฮอล์จะถูกเปลี่ยนสภาพเป็นฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) หรือกรดฟอร์มิก (Formic Acid) เป็นพิษต่อตา อาจทำให้ตาบอดได้ โดยอาการที่ค่อนข้างจำเพาะได้แก่ พิษทางตา ผู้ป่วยจะมีอาการตาพร่า ตามัว แพ้แสง เห็นภาพขาวจ้าไปหมด มีอาการปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจหอบ ชักและหมดสติ
หากได้รับในปริมาณมากกว่า 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม อาจเสียชีวิตได้ทันที โดยเฉพาะผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง จะปรากฏอาการเร็วและรุนแรงแม้ว่าได้รับเมทธานอลในปริมาณน้อยประมาณ 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อาจเกิดพิษรุนแรง ทำให้ตาบอดหรือเสียชีวิตได้ง่ายกว่าคนทั่วไป แต่หากได้รับพิษโดยการสัมผัสอย่างเรื้อรัง จะทำให้เกิดโรคผิวหนัง ผิวหนังฝ่อ จากการที่ไขมันที่ผิวหนังลดลง
ในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับพิษเมทธานอล ให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป เพื่อลดการเกิดกรดฟอร์มิก และรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้ยาต้านพิษควบคู่กับการดูแลรักษาประคับประคองอาการ เมทธานอลโดยทั่วไปจะถูกขับออกทางไต ซึ่งอาจต้องล้างไตช่วยเพื่อขจัดพิษอออกจากร่างกายโดยเร็วที่สุด
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)